11 พ.ค. เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

อธิบาย R-STAR (r*) เข็มทิศนำทางของ Fed แบบเข้าใจง่ายที่สุด

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนคงจะได้เห็นการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อที่ผันผวนจากหลายๆปัจจัย จนธนาคารกลางทั่วโลกต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายกันเพื่อหยุดยั้งเงินเฟ้อดังกล่าว
แต่นักลงทุนเคยสงสัยหรือตั้งคำถามกันมั้ยว่า ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ถึงจะพอหรือต้องขึ้นให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อกี่เปอร์เซ็นกันถึงเรียกว่าเหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น
คำถามนี้เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัว แม้กระทั่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เองก็ตอบไม่ได้
บทความนี้เลยจะพานักลงทุนมาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งเครื่องมือที่เหล่าธนาคารกลางใช้ในการประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายทางการเงิน
โดยที่เราจะมาบอกเล่ากันในครั้งนี้ นั่นก็คือ R-STAR หรืออัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางอย่างแท้จริง หรือที่บางคนเรียกกันว่า อัตราดอกเบี้ยตามธรรมชาติ นั่นเอง
R-STAR ถูกพูดถึงในการกล่าวสุนทรพจน์ในปี 2018 ที่การประชุมสัมมนานโยบายเศรษฐกิจประจำปีในเมืองแจ็กสันโฮล รัฐไวโอมิง ประเทศสหรัฐฯ โดยประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์
แต่จริงๆแล้วแนวคิดที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยตามธรรมชาตินี้มีมายาวนานกว่า 100 ปี ในหนังสือชื่อ Interest and Prices: A Study of the Causes Regulating the Value of Money ปี 1898 โดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวสวีเดนชื่อว่า นัต วิคเซลล์
เขากล่าวว่า อัตราตลาด (Market Rate) ในระดับที่สูงไม่ได้หมายความว่าก่อนหน้านั้นเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น และอัตราตลาดที่ต่ำก็ไม่ได้หมายความว่าก่อนหน้านั้นเศรษฐกิจประสบกับภาวะเงินฝืดอย่างที่เชื่อกันโดยทั่วไป
เผื่อนักลงทุนมือใหม่หลายคนไม่เข้าใจคำว่า "อัตราตลาด" ในมุมมองของนัต วิคเซลล์ หมายถึง อัตราดอกเบี้ยหรือราคาที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากกลไกของตลาดที่ประกอบด้วย
อุปสงค์และอุปทานของเงินทุน: ผู้กู้และผู้ให้กู้ในตลาดการเงิน
ความคาดหวังของนักลงทุน: เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
สภาพเศรษฐกิจ: ปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาสินค้าและบริการ อัตราการว่างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
หากนึกภาพไม่ออกก็นึกถึง อัตราดอกเบี้ยทั่วไปที่ธนาคารพาณิชย์กำหนดสำหรับการกู้ยืมก็ได้ หรืออัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งเป็นอัตราที่เกิดจากกลไกของตลาดเช่นกัน
นัต วิคเซลล์ เชื่อว่าอัตราตลาดไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจจริงๆ แต่เป็นเพียง "ผลลัพธ์" ที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ในตลาดก็เท่านั้น
และเขายังแย้งว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อนั้นก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงแค่อัตราตลาด แต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างอัตราตลาดและอัตราดอกเบี้ยตามธรรมชาติ (R-STAR) ด้วย
ที่นี้เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า อัตราดอกเบี้ยตามธรรมชาติ หรือ R-STAR กัน
อัตราดอกเบี้ยตามธรรมชาติ (R-STAR) เป็น "อัตราดอกเบี้ยในอุดมคติสำหรับเศรษฐกิจที่มั่นคง" หรือให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมซึ่งส่งผลดีต่อทั้งเสถียรภาพของเศรษฐกิจ การเติบโตอย่างยั่งยืน และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
หรือที่หลายคนนิยามมันว่าเป็น อัตราดอกเบี้ยที่ลงตัวกับทุกภาคส่วน ไม่สูงเกินไปจนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและไม่ต่ำเกินไปจนเกิดเงินเฟ้อ และเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ยังพอให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ใน "ภาวะที่เศรษฐกิจปกติ"
อย่างไรก็ตาม R-STAR นั้นไม่ได้มีองค์ประกอบที่ตายตัวนัก แต่โดยทั่วไปจะคำนวณจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านผลผลิตหรือการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงความปรารถนาของประชากรในการออมและลงทุน ของประเทศนั้นๆ ณ ขณะนั้น
ในกรณีของสหรัฐฯ จะคำนวณตามแบบจำลองของ Laubach Williams ที่ Federal Reserve Bank of New York
นอกจากนี้ R-STAR ยังถือเป็น Real Interest Rate หรือก็คือ เป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ได้มีการปรับความผันผวนของเงินเฟ้อแล้วนั่นเอง
แล้วเราจะนำ R-STAR มาใช้งานได้อย่างไรบ้าง?
ตามทฤษฎีกล่าวว่า หากธนาคารกลางกำหนดอัตราฐานต่ำกว่า R-star จะถือว่าธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนกับระบบเศรษฐกิจ ยิ่งต่ำกว่า R-star เท่าไหร่ก็ยิ่งผ่อนปรนมากขึ้น
แต่ถ้าสูงกว่า R-star ก็จะถือว่าธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดกับระบบเศรษฐกิจ ยิ่งสูงเท่าไหร่ก็ยิ่งเข้มงวดมากขึ้นเท่านั้น
กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ยตามธรรมชาติ หรือ R-star เป็นเหมือนจุดสมดุลในแง่การดำเนินหรือการกำหนดนโยบายทางการเงินนั่นเอง
ซึ่งคำถามที่จะผุดขึ้นมาในหัวของหลายๆคนก็คือ ถ้า R-star คือ อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจและเป็นจุดสมดุลจริง
ทำไมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไม่กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม R-star หรือสูงกว่าเล็กน้อยกันล่ะ ก็ในเมื่อ R-star เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สมดุลและลงตัวกับทุกภาคส่วนไม่ใช่หรอ
ที่มา Federal Reserve Bank of New York
จากแผนภูมิตามแบบจำลอง Laubach Williams จะเห็นว่า R-star ของสหรัฐฯในไตรมาส 4 ปี 2023 จะอยู่ที่ 1.12%
หรือในอีกแบบจำลองหนึ่งของ Holston Laubach Williams ที่ใช้ข้อมูลย้อนหลังเช่นเดียวกับ Laubach Williams แต่ปรับปรุงเพิ่มเติมโดยรวมข้อมูลหลังปี 2010 โดยคำนึงถึงผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกและการระบาดใหญ่ของ COVID-19
ที่มา Federal Reserve Bank of New York
จากแผนภูมิตามแบบจำลอง Holston Laubach Williams ก็จะเห็นว่า R-star ของสหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ปี 2023 จะอยู่ที่ 0.73%
ซึ่งอย่างที่หลายคนทราบว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ณ ขณะนี้ อยู่ที่ 5.25% - 5.5%
และอย่างที่กล่าวไว้ว่า R-star เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ได้มีการปรับความผันผวนของเงินเฟ้อแล้ว ดังนั้นหากเราจะเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยนโยบายว่า Fed ดำเนินนโยบายที่เข้มงวดหรือไม่ นั้นเราจะต้องนำดอกเบี้ยนโยบายมาปรับความผันผวนของเงินเฟ้อก่อน
โดยการนำดอกเบี้ยนโยบายมาหักลบกับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งจะเท่ากับ 5.5% - 3.5% = 2% ซึ่งจะทิ้งห่างจาก R-star อยู่ระดับหนึ่ง
สะท้อนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กำลังดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากและเกินกว่าจุดที่เหมาะสมกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจแล้ว
ซึ่งคำถามที่ว่าทำไมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไม่กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม R-star หรือสูงกว่าเล็กน้อย ทั้งๆที่ R-star เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สมดุลและเหมาะสมกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
ขอตอบว่า เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) นั้นมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณามากกว่าแค่ R-star และ R-star ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ใช้กำหนดนโยบาย เป็นเพียงจุดอ้างอิงหนึ่งเท่านั้น
จริงอยู่ที่ว่า R-star เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรามักพบว่าเงินเฟ้อที่เป็น "ตัวแปรหลัก" ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ นั้นถูกปัจจัยหลากหลายอย่างเข้ามากระทบ หรือบิดเบือน
ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านอุปสงค์ อย่างความต้องการของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง ตลาดแรงงานที่ตึงตัว รวมถึงโครงสร้างหนี้ของสหรัฐฯที่เปราะบางมากสุดในรอบหลายปี
และปัจจัยด้านอุปทานอย่างผลพวงจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจาก COVID-19 หรือสงครามการค้าและการเมืองโลก และปัจจัยอื่นๆ อย่างการคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงและแรงกดดันด้านค่าจ้าง
ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาทั้งสิ้น และบางปัจจัยก็เป็นปัจจัยจากภายนอกที่สหรัฐฯไม่สามารถควบคุมได้
ดังนั้นจึงไม่มีใครรู้ได้ว่าจะมีอะไรมากระทบกับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯบ้าง และไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดและอย่างไร
การที่จะปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปตาม R-star ในขณะที่มีเงินเฟ้อที่ผันผวนสูงแบบนี้คงไม่ใช่เรื่องดี และอาจส่งผลเสียหลายอย่างตามมา
นั่นเลยทำให้ในความเป็นจริงไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน เราจึงมักจะเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) อยู่สูงกว่า R-star ในหลายๆครั้ง เพราะอัตราดอกเบี้ยนั้นผันผวนไปตามเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากกลไกต่างๆ ของเศรษฐกิจนั่นเอง
ที่มา fred.stlouisfed.org และ Newyorkfed
อีกอย่างการที่จะตอบได้ว่า R-star เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจจริงๆหรือไม่นั้น ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในหมู่ผู้กำหนดนโยบายการเงิน นักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ และนักลงทุน ในเรื่องระดับที่แท้จริงของมัน
เนื่องด้วยนับตั้งแต่เกิดวิกฤติทางการเงินของสหรัฐฯ ในปี 2008 องค์ประกอบพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ใช้คำนวณ R-star ก็เริ่มมีความผันผวนที่สูงขึ้น ประชากรสูงวัย ต้นทุนการลงทุนที่ลดลง การก่อหนี้ที่สูงขึ้น ผลผลิตมีแนวโน้มที่ลดลง และอื่นๆ
ซึ่งองค์ประกอบพื้นฐานทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เริ่มไม่เป็นไปตามธรรมชาติและถูกบิดเบือนมากขึ้นเรื่อยๆ จากนโยบายทางการเงินและการคลังของสหรัฐฯเอง
แต่อย่างไรก็ดี พวกเราในฐานะนักลงทุน ทฤษฎีเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยตามธรรมชาติ หรือ R-star ยังคงเป็นเครื่องมือที่ดีที่ควรนำมาใช้ในการประเมินและประกอบการตัดสินใจ
ดังนั้นการทำความเข้าใจและการประมาณค่า R-star จึงมีส่วนสำคัญต่อการลงทุน และยังช่วยให้นักลงทุนเข้าใจแนวทางการกำหนดนโยบายการเงินของเหล่าธนาคารกลางได้ดีมากขึ้นไม่มากก็น้อยอีกด้วย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา