21 เม.ย. เวลา 02:30 • อาหาร

หม้ออวยสีเขียว | ของคุณยาย

ทำไมถึงเรียก "หม้ออวย"
ครั้งหนึ่งเมื่อครั้งยังเป็นเด็กเคยมึนงงสงกาเกี่ยวกับหม้ออวยอยู่สองเรื่อง
หนึ่ง หม้ออวย เกี่ยวข้องยังใงกับการอวยพร หรือจะเป็นไปได้ว่าเป็นหม้อที่ใส่กับข้าวกับปลาไปอวยพรผู้ใหญ่เลยเรียกหม้ออวย
สอง ข้อนี้เป็นข้อข้องใจหนักมาก เพราะทุกครั้งที่คุณยายใช้ไปหยิบหม้ออวยในครัว ไม่เคยจะหยิบหม้ออวยสีตรงตามที่คุณยายบอกเลย เพราะคุณยายให้ไปหยิบหม้ออวยสีเขียว แต่ในครัวกลับมีแต่หม้ออวยสีน้ำเงิน
สองเรื่องของ หม้ออวย พึ่งมาถึงบางอ้อพอเข้าใจก็ตอนโตนี่แหละ
"หม้ออวย" ที่เรียก "หม้ออวย" นั้น จริง ๆ แล้ว คำว่า "อวย" เป็นคำยืมมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว คนไทยเรียกติดปากกันมาตั้งแต่โบราณจากคนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ประเทศไทย
หม้ออวยทำจากสังกะสี แล้วนำไปเคลือบสาร อีนาเมล (Enamel) คือการเคลือบแก้ว เพื่อให้ไม่ติดปนเปื้อนอาหาร ปี ๑๗๖๐ เยอรมันคิดทำขึ้นก่อน จนช่วงปี ๑๘๕๐ ก็แพร่หลายไปในอเมริกา และประเทศอื่น ๆ แต่เดิมมีเพียงสีขาว หรือครีมเท่านั้น ต่อมาก็จึงมีการเพิ่มสีอื่นลงไป
ส่วนที่คุณยายเรียกหม้ออวยสีน้ำเงิน ว่าสีเขียว นั้นก็พออนุมานได้ว่า
ปัญหาระหว่างสีเขียวและสีฟ้า-น้ำเงิน ล้วนเกิดกับหลาย ๆ ประเทศ (ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น) ส่วนใหญ่จะมีความสับสนระหว่างการเรียกสี ๒ สีนี้ เพราะทุกคนรู้ภาษาอังกฤษว่าสีเขียวคือ Green และสีฟ้าคือ Blue (อย่างไทยเอง Blue ก็ยังได้ทั้งสีฟ้า และสีน้ำเงิน) แต่หากลองแยกกลุ่มของภาษาทั้งหมดบนโลก ที่ใช้เรียกสีน้ำเงินและเขียวที่ต่างกัน จะแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มหลัก ๆ
กลุ่มแรก คือ กลุ่มภาษาที่แยกคำเรียกสีเขียว สีฟ้าและสีน้ำเงินอย่างชัดเจน มักจะอยู่ในโซนยุโรปเป็นส่วนใหญ่ (ปัจจุบันไทยก็ขออยู่ในข้อนี้ด้วย)
กลุ่มต่อมา คือ กลุ่มภาษาที่เรียกสีเขียว และสีน้ำเงิน ด้วยคำ ๆ เดียวกัน ส่วนมากจะเป็นแถบประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งมีอากาศร้อน และแสงแดดแรง โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ (Ohio University) คิดว่ารังสียูวีบีในแสงแดด อาจส่งผลทำให้เลนส์ตาเสื่อมจึงมองเห็นสีน้ำเงินได้น้อยลง
กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่เรียกสีน้ำเงินว่า สีมืด แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดออกมายืนยันว่าทำไมถึงเรียกสีมืด
ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ครั้งหนึ่งจะเห็นผู้ใหญ่หลายคนเรียกสีน้ำเงินเป็นสีเขียว เพราะนอกจากความใกล้เคียงระหว่างสองสีนี้แล้ว อีกหนึ่งข้อสังเกต คือ ในสมัยก่อนนั้นยังไม่มีสีน้ำเงิน และสีจริง ๆ จะมีชื่อเรียกแค่ ๒ สีเท่านั้น คือ สีที่ออกโทนเย็นจะเรียกว่า สีเขียว หากสีที่ออกไปทางโทนร้อนจะเรียกว่า สีแดง ซึ่งเราจะเห็นว่าบางครั้งผู้ใหญ่หลาย ๆ คน ก็จะเรียกสีส้มว่าสีแดงด้วยเช่นกัน
#ติดเตาเล่าเรื่อง
"พอเข้าครัวเริ่มติดเตา เสียงเล่า เสียงลือ เซ็งแซ่ สนุกสนานตั้งแต่ต้นครัวยันท้ายครัว ช่วงเวลาแห่งความสุขเกิดขึ้นที่นี่เสมอ Baan Khun Yai-บ้านคุณยาย"
-หม้ออวยสีเขียวของคุณยาย-
ไม่ว่าผ่านมานานแค่ไหน หม้ออวย จะสีอะไร คำตอบคงไม่สำคัญเท่ากับความทรงจำที่จำได้ไม่ลืม ก็คือทุกครั้งที่คุณยายใช้ให้ไปหยิบหม้ออวย นั่นหมายความว่า กำลังจะได้กินของอร่อยจากรสมือคุณยายอย่างแน่นอน
ทุก ๆ ครั้งที่เปิดฝาหม้ออวยของคุณยายล้วนแต่เป็นช่วงเวลาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข เมื่อใดที่เห็นหม้ออวยคุณยายแขวนอยู่นั่นหมายความความเรายังอิ่มท้องเสมอ
Baan Khun Yai-บ้านคุณยาย
หม้ออวย เกี่ยวอะไรกับ หมูในอวย
ทว่าหมูในอวยคือสำนวนไทยที่อุปมาอุปไมย ถึงสิ่งที่อยู่ในกำมือแล้วจะทำอย่างไรกับสิ่งนั้นก็ได้ ต้องการเมื่อไรก็ได้เมื่อนั้น เฉกเช่นเนื้อหมูที่ต้มสุกอยู่ในหม้ออวยแล้ว เวลาจะกินก็กินได้ง่าย ๆ แต่ก็ต้องระวังเหมือนกันนะ ครั้งยังเป็นเด็กจำได้ว่าทุกครั้งที่เปิดหม้ออวยคิดว่าหวานหมูแน่นอนที่ไหนได้เปิดปุ๊บน้ำมันหมูเต็มหม้อเลย
ปล.หม้ออวยคุณยาย | หม้ออวยแห่งความสุข ที่ยังถูกเปิดอยู่ในความทรงจำไม่ลืม
รฦก รัก l รฦก รส l ตำรับคุณยาย
#หม้ออวย
#หม้อเขียว
#หม้ออวยสีเขียวของคุณยาย
โฆษณา