23 พ.ค. 2024 เวลา 23:00 • การตลาด

สรุป Price Skimming of Apple การตั้งราคาแบบผู้นำฉบับ Apple

Apple แบรนด์ขึ้นชื่อเรื่อง Brand Loyalty หรือความจงรักภักดีที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ ซึ่งแบรนด์ Apple ก็ได้ใช้สิ่งนี้เพื่อสร้างผลกำไรให้กับตนเองได้อย่างมหาศาล
สิ่งที่อยู่เบื้องหลังที่สามารถดึงศักยภาพของแบรนด์และนำไปสู่ความสำเร็จนี้คืออะไร Apple ซ่อนกลยุทธ์อะไรไว้ ครั้งนี้เราจะมาบอกเล่าให้ฟัง
ในโลกของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต หลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อ "Apple" แบรนด์ชั้นนำที่ขึ้นชื่อเรื่องดีไซน์ล้ำสมัย เทคโนโลยีสุดล้ำ และแน่นอน... ราคาที่สูงลิ่ว
แต่น้อยคนจะรู้ว่าเบื้องหลังความสำเร็จของ Apple นั้น กลยุทธ์การตั้งราคาแบบ "Price Skimming" หรือ "การตั้งราคาแบบผู้นำตลาด" นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากในเรื่องนี้
Price Skimming เป็นกลยุทธ์การตั้งราคาที่มักพบเห็นในแบรนด์ที่มี Brand Loyalty ที่แข็งแรง โดยเป็นการตั้งราคาให้สูงไว้ในช่วงแรกแล้วค่อยๆ ปรับราคาลงเมื่อเวลาผ่านไป
ซึ่งจุดประสงค์หลักของกลยุทธ์นี้ คือ การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีตั้งแต่แรกเริ่มและมุ่งมั่นทำกำไรสูงสุดจากกลุ่มลูกค้าที่ยินดีจ่ายก่อนกลุ่มลูกค้าอื่นๆ
Price Skimming สร้างภาพลักษณ์สินค้าพรีเมียม ระดับผู้นำตลาดได้อย่างไร....
โดยปกติแล้วมนุษย์มีแนวโน้มจะเชื่อมโยงราคาสินค้ากับคุณภาพของมันโดยอัตโนมัติ หรือที่เรียกกันว่า "The Price-Quality Heuristic"
สินค้าที่มีราคาสูง มักถูกมองว่ามีคุณภาพดี วัสดุดี การออกแบบดี ในทางกลับกันสินค้าที่มีราคาถูก มักถูกมองว่ามีคุณภาพตามราคาของสิ่งนั้น
Price Skimming ที่เป็นกลยุทธ์การตั้งราคาที่สูงในตอนแรก จึงมีแนวโน้มที่จะสามารถสร้างการรับรู้ด้านภาพลักษณ์ที่ดีและสถานะทางสังคมของแบรนด์ในระดับที่สูงได้มากกว่าการตั้งราคาแบบต่ำๆ
ใครที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ Apple จะรู้กันดีว่า Apple ขึ้นชื่อเรื่องการตั้งราคาสินค้าที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตจากแบรนด์อื่นๆ ในตลาด
เมื่อเปิดตัวสินค้าใหม่ Apple จะตั้งราคาสินค้าไว้ค่อนข้างสูง เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเป็น "Early Adopter" หรือผู้ใช้กลุ่มแรกๆ ที่ยอมจ่ายเงินแพงเพื่อสัมผัสประสบการณ์ใหม่ หรือก็คือ ดึงดูดกลุ่มลูกค้าหลักที่เป็นสาวกของ Apple
ลองคิดตามดู ปกติด้วยราคาที่สูงลิ่วของผลิตภัณฑ์ Apple ก็ทำให้แบรนด์ Apple ดูมีความพรีเมียมในระดับผู้นำตลาดอย่างมากอยู่แล้วด้วยกลยุทธ์การตั้งราคาแบบผู้นำตลาด และยิ่งมีผู้บริโภคแบบ Early Adopter ที่พร้อมจะแย่งกันซื้อสินค้าใหม่ของแบรนด์ตั้งแต่ก่อนเปิดตัว จะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดูดีขึ้นขนาดไหน
ซึ่งการแย่งกันซื้อของลูกค้า Early Adopter จะยิ่งทำให้สินค้าของ Apple ดูมีความต้องการมากขึ้นในสายตาบุคคลภายนอกและกลุ่มลูกค้าอื่นๆ และอาจทำให้กลุ่มลูกค้าเหล่านั้นรู้สึกว่า ตนเองพลาดอะไรไปหรือเปล่า ซึ่งหลักจิตวิทยาการตลาดนี้ถูกเรียกว่า Loss Aversion จิตวิทยากลัวการสูญเสียนั่นเอง
และเมื่อมีประกาศเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ครั้งถัดไป Apple จะค่อยๆ ปรับลดราคาสินค้ารุ่นเก่านั้นลง เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีงบจำกัด ซึ่งก็คือ ดึงดูดกลุ่มลูกค้ารองที่ไม่ใช่สาวกของ Apple ขนาดนั้นแต่ก็อยากลองใช้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ Apple
และถ้าสังเกตผลิตภัณฑ์ของ Apple จะมีการแบ่งเป็น 3 ถึง 4 รุ่นย่อย เช่น iPhone รุ่นปกติ, iPhone Plus, iPhone Pro, iPhone Pro Max อีกทั้งยังสามารถปรับแต่งสเปคเครื่องเพิ่มเติมได้
ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะ เพื่อรับรองความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มลูกค้ารอง ซึ่งจะแตกต่างจากกลุ่มลูกค้าแบบ Early Adopter ที่จะยอดจ่ายสูงเพื่อให้ได้สินค้าที่ดีที่สุดของแบรนด์นั้นก่อนใคร แต่สำหรับกลุ่มลูกค้ารอง พวกเขาไม่ได้อยากจ่ายสูงขนาดนั้น พวกเขาแค่อยากลองใช้ผลิตภัณฑ์ของ Apple
เมื่อ Apple มีการเปิดตัวสินค้าใหม่ และปรับลดราคาสินค้ารุ่นเก่าลง กลุ่มลูกค้ารองของ Apple ที่มีงบจำกัดจะได้มีตัวเลือกสินค้าในหลายราคา และจะทำให้ Apple สามารถขายสินค้าได้ในจำนวนที่มากขึ้นนั่นเอง
ผลลัพธ์ของกลยุทธ์การตั้งราคาแบบผู้นำ หรือ Price Skimming นั้นประสบความสำเร็จอย่างมากสำหรับแบรนด์อย่าง Apple การตั้งราคาให้สูงไว้ในช่วงแรกเพื่อทำกำไรสูงสุดจากกลุ่มลูกค้าที่ยินดีจ่ายก่อน ซึ่งนอกจากรายได้ที่มากขึ้นแล้วยังสร้างภาพลักษณ์สินค้าพรีเมียมให้กับผลิตภัณฑ์ของ Apple ได้อีกด้วย
และด้วยภาพลักษณ์สินค้าระดับพรีเมียมนี้เอง ก็สามารถดึงดูดบุคคลภายนอกและกลุ่มลูกค้าอื่นๆ ให้มาสนใจผลิตภัณฑ์ของ Apple และขายสินค้าให้กับพวกเขาได้อีก
กรณีของแบรนด์ Apple ที่มี Brand Loyalty ที่แข็งแกร่งและมีสาวกที่เป็น Early Adopter จำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้กลยุทธ์ Price Skimming แสดงประสิทธิภาพได้ดีมากขึ้นไปอีก
Apple จึงสามารถสร้างฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น รักในแบรนด์ และยินดีจ่ายเงินแพงเพื่อซื้อสินค้าใหม่ ๆ อยู่เสมอ ส่งผลให้ Apple กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าทางการตลาดมากที่สุดในโลกบริษัทหนึ่งในอย่างยาวนาน
ขอบคุณรูปภาพจาก Photo by Brandon Romanchuk on Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา