29 เม.ย. 2024 เวลา 05:26 • หุ้น & เศรษฐกิจ

วันหยุดธนาคารที่ไม่มีวันจบสิ้น [Ep.2/18]

ในวันที่ 31 กรกฎาคม 1914 ช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 มีประชาชนมากมายมายืนออกันหน้าธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ พวกเขามาเพราะอยากแลกธนบัตรเป็นทองคำ เป็นปกติที่ในสภาวะสงครามผู้คนต่างวิ่งเข้าหาสินทรัพย์ Safe heaven ที่มีความมั่นคงสูง ในช่วงเวลานั้นธนาคารจ่ายทองคำออกไปมากมายจนเกือบหมดสภาพคล่อง แต่ธนาคารก็ยังรอดมาได้หวุดหวิดเพราะหาข้ออ้างในการปิด Gold window สำหรับรับแลกทองคำไว้ได้ทัน
สงครามคือข้ออ้างที่ใช้ได้ผลเสมอในการยึดอำนาจบางอย่างจากประชาชน ช่วงเดือนสิงหาคม 1915 อังกฤษออกประกาศครั้งสำคัญในเชิงขอความร่วมมือจากประชาชน ข้ออ้างด้านความมั่นคงของประเทศถูกนำมาใช้เพื่อการดึงเอาทองคำกลับเข้าคลัง และสนับสนุนให้ประชาชนใช้ธนบัตร นี่ถือเป็นก้าวแรกที่โลกออกจากมาตรฐานทองคำไปสู่ระบบเฟียต ประกาศครั้งนั้นอาจเทียบได้กับ Fiat Whitepaper เลยทีเดียว
และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษก็ไม่ได้กลับมาเปิดให้ประชาชนนำธนบัตรกลับมาแลกทองคำได้อย่างเต็มรูปแบบอีกเลย จากการขอความร่วมมือชั่วคราว ก็กลายเป็น New Normal อย่างถาวรของ Fiat standard
ที่จริงแล้วก่อนหน้าความพยายามในการ Centralize ทองคำแบบนี้ อังกฤษได้ออกพันธบัตรเพื่อการทำสงคราม (War bond) มาแล้ว แต่ประชาชนไม่ค่อยสนใจทำให้ขายไม่หมด เมื่อไม่ได้รับ Consent จากประชาชน รัฐบาลเลยต้องหาวิธี Funding สงครามในรูปแบบอื่น รัฐเลือกใช้วิธีการดึงทองคำเข้าคลัง เพื่อเพิ่มเครดิตและขยายวงเงินสินเชื่อสำหรับทำสงคราม
ตลอดช่วงปี 1914-1921 กระทรวงการคลังทำการ Centralize ทองคำด้วยวิธีการต่างๆนาๆ ทั้งซื้อคืน อายัด ระงับการถอน ระงับธุรกรรมต่างประเทศที่ทำให้ทองคำไหลออก ในช่วงเวลานั้นทองคำในคลังเพิ่มขึ้นประมาณ 455 ตัน หรือเทียบเป็นมูลค่า 20,000 ล้านปอนด์ในปัจจุบัน
ผลสรุปคือรัฐบาลมีเงินในการไปทำสงคราม และเงินปอนด์ก็ไม่ได้อ่อนค่าลงด้วย ความพยายามในการ Manipulate supply ทองคำและธนบัตร โดยการดึงทองคำเข้าคลังและผลักธนบัตรสู่ประชาชนแบบนี้ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนทองคำต่อปอนด์ยังคงเท่าเดิมได้ ทำให้ประชาชนเชื่อว่าเงินปอนด์ก็ดีไม่ต่างจากทองคำ คำว่า Gold standard ของอังกฤษยังคงความขลังอยู่
ณ จุดนี้เหมือนฉากที่ตัวร้ายเข้าใจเวทมนต์ดำ เข้าใจว่าการใช้ข้ออ้าง ข้อบังคับ และอำนาจผูกขาดเหล่านี้ ทำให้เขาควบคุมระบบการเงินได้ เสกทองคำขึ้นมาได้ ขโมยเงินในอนาคตมาใช้เพื่อผลตอบแทนระยะสั้นก่อนได้ และทุกอย่างก็ยังดูปกติดี
หลังสงครมจบไม่นาน ผลจากการเล่นแร่แปรธาตุนี้ยังไม่กำเริบ แต่พอผ่านไปก็เริ่มออกอาการให้เห็น ช่วงปี 1915-1920 ปัญหาเงินเฟ้อ การว่างงาน สินค้าขาดแคลนก็ถาโถมเข้ามา แทนที่อังกฤษจะยอมรับความจริง ลดค่าเงินปอนด์และกลับสู่มาตรฐานทองคำ แต่อังกฤษดันเลือกหนทางที่เป็นไปไม่ได้ นั่นคือการฝืนใช้เวทมนต์ต่อไป ซึ่งแน่นอนว่ามีจุดจบที่ไม่ค่อยสวยรออยู่
ในที่สุดความพยายามในการฝืนรักษาค่าเงินปอนด์ก็หมดลงในปี 1931 อังกฤษออกประกาศลดค่าเงินปอนด์ทันที 25% เป็นการยอมรับความจริงว่าสกุลเงินนั้นเสื่อมค่าลงเมื่อเทียบกับทองคำ จากการหว่านเมล็ดพันธ์ของปัญหาของธนาคารอังกฤษในครั้งนี้ ประเทศอื่นๆก็เริ่มทำตาม และกลายมาเป็น practice ปกติของระบบเฟียต แน่นอนว่าในที่สุดก็พบจุดจบเหมือนๆกัน
ฝั่งสหรัฐฯเริ่มการลักลอบพิมพ์เงินในปี 1917 เนื่องจากทั้งสองประเทศมีทองคำเยอะ เงินปอนด์และดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่ง และเป็นสื่อกลางในการชำระบัญชีระหว่างประเทศอยู่แล้ว เป็นเหตุผลที่เปิดช่องให้มหาอำนาจสามารถผลิตเงินเพิ่มขึ้นได้
ตั้งแต่ 1917 เป็นต้นมาในอเมริกาก็มีปัญหามากมาย Boom and bust cycle ทางเศรษฐกิจรุนแรง The Great depression ก็เกิดในช่วงนี้ และในที่สุดอเมริกาก็ลดค่าเงินดอลลาร์ในปี 1934 ผ่านการกระทำที่อุกอาจมากของ Fraklin D Roosevelt เขาได้ออกคำสั่งยึดทองคำจากประชาชน ที่ในขณะนั้นราคา 20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และเมือยึดเสร็จแล้วก็ประกาศเปิดรับซื้อทองคำคืนได้ที่ 35 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นการลดค่าเงินไป 43% ต่อหน้าต่อตาประชาชน
การเล่นแร่แปรธาตุทางการเงิน เพื่อการพิมพ์เงินเพิ่มแบบนี้นั้นมีข้อเสียมากมาย แต่มันเป็นหนทางการขึ้นสู่อำนาจที่หอมหวานที่สุดบนระบบเฟียต
Playbook ของประเทศมหาอำนาจคือเริ่มจากการทำงบขาดดุล ใช้อำนาจยึด อายัด และระงับธุรกรรมที่เกี่ยวกับทองคำ จากนั้นก้ผลิตเงินเพิ่มและยัดเยียดให้ประเทศอื่นถือสกุลเงินนั้นๆ แค่นี้ก็ถือเป็นการขโมยเงินจากอนาคตมาสร้างความเจริญได้ก่อน และสร้างชาติได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆที่ไม่มีอำนาจพอจะทำได้ ประเทศที่เล่นเกมนี้ได้เก่งที่สุดคือสหรัฐอเมริกา
หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกากลายเป็นประเทศที่มีสถานะทางการเงินแข็งแกร่งสุด มีทองคำมากที่สุด และทั้งโลกก็ถือดอลลาร์มากที่สุด อเมริกาจึงมีอำนาจในการเซทระบบการเงินโลกใหม่ได้ นั่นคือระบบ Bretton wood system
คอนเซปต์ง่ายๆของ Bretton wood คือ มีแค่ดอลลาร์เท่านั้นที่แลกทองคำได้ ส่วนสกุลเงินอื่นๆนั้นตรึงกับดอลลาร์อีกที ดอลลาร์จึงกลายเป็นสกุลเงินที่เหนือกว่า และอำนาจในการพิมพ์เงินของอเมริกาก็เพิ่มขึ้นไปอีก ในช่วงปี 1960s ประเทศต่างๆก็มีความพยายามเอาเงินดอลลาร์มาแลกทองคำกันอย่างดุเดือด ทองคำเริ่มไหลออกจากอเมริกา จนใกล้หมดสภาพคล่อง
ในฐานะประเทศที่คุมระบบอยู่ อเมริกาต้องทำยังไงก็ได้ให้คนอื่นหยุดแลกทองคำ และแล้วก็เกิดเหตุการ Nixon shock ในปี 1971 ที่ถือเป็นการออกจากมาตรฐานทองคำ และเข้าสู่ Fiat standard โดยสมบูรณ์
Richard Nixon ประกาศไม่รับแลกดอลลาร์เป็นทองคำอีกต่อไป เป็นการตัดทองคำออกไปจากสมการทั้งหมด เหลือไว้แค่เพียงดอลลาร์ที่กลายเป็นกระดูกสันหลังของระบบการเงินโลก เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็น The great rug pull ที่ทุกประเทศถูกหักหลัง และต้องจำใจถือเงินดอลลาร์ห่วยๆต่อไป
นี่คือเรื่องราวตั้งแต่ 1914-1971 ตอนนี้ทุกอย่างถูกติดตั้งเข้าที่เรียบร้อย กลายมาเป็น Fiat standard ในปัจจุบัน จะเห็นว่า Fiat standard นั้นไม่ใช่ระบบที่เกิดจากการออกแบบทางวิศวกรรมที่ถูกคิดมาอย่างดี แต่เป็นความกระเสือกกระสนเอาตัวรอดจากการล้มละลายอย่างหวุดหวิดครั้งแล้วครั้งเล่า และเราอยู่บนระบบแบบนั้นมากว่า 50 ปีแล้ว…

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา