1 พ.ค. เวลา 04:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เทคโนโลยีประกอบร่างเงินเฟียต [Ep.3/18]

ถึงจุดนี้เราพอรู้ความเป็นมาของระบบเฟียตกันแล้ว ในบทนี้จะเริ่มมาเจาะลึกถึงโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายทางการเงินของระบบเฟียต มาดูกันว่าความซับซ้อนยุ่งเหยิงและเอาแน่เอานอนไม่ได้ของระบบเฟียตนี้มันส่งผลอย่างไรบ้าง
บทที่ 2 เราได้เห็นว่าระบบเฟียตเกิดขึ้นจากความพยายามที่รัฐบาลไม่อยากชำระหนี้ทองคำที่ก่อขึ้น โดยการกู้เงินจากอนาคตมาใช้ ราวกับว่าเป็นเงินในปัจจุบัน
เมื่อมีพลังวิเศษในการหยิบยืมเงินจากอนาคตมาใช้ได้ ผู้กู้และผู้ให้กู้ก็ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงอีกต่อไป สามารถผลักความเสี่ยงไปที่การด้อยค่าของสกุลเงินในอนาคตได้ ก็เลยสามารถสร้างหนี้ใหม่ได้เรื่อยๆ Mindset นี้ไม่ได้เกิดเฉพาะรัฐบาลหรือธนาคารกลาง แต่ในระดับชั้นที่รองลงมาทั้งธนาคารพาณิชย์ บริษัทเอกชน บุคคลทั่วไปด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนกู้ซื้อบ้าน 1 ล้านบาท ธนาคารไม่ได้ไปหยิบเงินเก็บ 1 ล้านบาทออกมาจากตู้เซฟ แต่เสกตัวเลขในบัญชีขึ้นมาเฉยๆด้วยความเชื่อว่าผู้กู้จะจ่ายครบตามกำหนด เงิน 1 ล้านบาทนี้ไม่เคยมีตัวตนมาก่อนจนกระทั่งธุรกรรมนี้ แต่ธุรกรรมนี้กลับสามารถส่งมอบบ้านที่มีตัวตนอยู่ได้จริง
ระบบแบบนี้ดูเผินๆก็เหมือนจะดี เพราะคนสามารถซื้อบ้านได้ง่ายโดยไม่ต้องเก็บเงินก่อน ผู้พัฒนาโครงการบ้านก็ได้เงินจากธนาคารไปเลยทันที ผู้รับความเสี่ยงดูเหมือนจะเป็นธนาคารผู้มอบเครดิต แต่สุดท้ายจริงๆแล้วถ้าเกิดวิกฤตขึ้น ธนาคารก็เสกเงินจากอนาคตเพิ่มได้ หรือให้ธนาคารกลางเสกเงินมาอุ้มได้อยู่ดี ดังนั้นความเสี่ยงจริงๆแล้วจะไปตกอยู่ที่การด้อยค่าของเงินที่ทุกๆคนถือนั่นเอง
ระบบแบบนี้ทำให้ผู้กู้และผู้ให้กู้ไม่มี “Skin in the game” หรือการที่ผู้ได้รับผลประโยชน์ (reward) ของการกระทำนั้น ไม่จำเป็นต้องรับโทษ (penalty) ของการกระทำนั้นๆ เหล่าธนาคารจึงลอยตัวได้โดยไม่ต้องแบกรับความเสี่ยง ส่วนคนที่ต้องแบกรับความเสี่ยงจริงๆนั้น คือทุกคนในระบบที่กำลังถือเงินไว้เฉยๆนั่นแหละ พวกเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรมการกู้เหล่านี้ แต่ต้องถูกลงโทษด้วยการที่เงินด้อยค่าลงทุกวันๆ
Fiat network การเชื่อมต่อเครือข่ายในระบบเฟียต
ผู้เล่นที่สำคัญในระบบเฟียตมีดังนี้ เริ่มจากองค์กรระดับโลกอย่าง IMF ที่มีธนาคารกลางประเทศสมาชิกประมาณ 190 แห่ง ธนาคารกลางเหล่านี้กำกับดูและธนาคารพาณิชย์ในท้องถิ่นอีกเป็นหมื่นๆแห่งทั่วโลก ทุกคนในโลกถูกบังคับให้เชื่อมต่อกับ node ของระบบเฟียตในถิ่นที่อยู่ของตัวเอง และต้องใช้ Fiatcoin ในถิ่นนั้นเป็นเงินตามกฎหมาย
ธนาคารกลางสหรัฐมีอำนาจเหนือกว่าธนาคารกลางอื่นๆ อาจกล่าวได้ว่าเป็น Full node แต่เพียงผู้เดียวในระบบนี้ มีอำนาจสั่งการ กำกับ ควบคุม อายัดทุกธุรกรรมบนโลกได้
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็เป็นสกุลเงินที่มีศักดิ์ศรีเหนือว่าสกุลเงินอื่น อาจกล่าวได้ว่าดอลลาร์คือสกุลเงินใน base layer โดยมี Fiatcoin อื่นๆเป็นสกุลเงินชั้นที่สอง ที่เป็นอนุพันธ์ของดอลลาร์อีกที เพราะ Fiatcoin เหล่านั้นมีค่าได้จากการมีดอลลาร์หนุนหลังอยู่ จึงไม่แปลกที่ Fiatcoin เหล่านี้ไม่เคยแข็งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับดอลลาร์เลย
อัตราดอกเบี้ย หรือราคาของเงินทุน เป็นตัวแปรหลักในการควบคุมกลไกการผลิตเงิน เทียบได้กับ Diffuculty adjustment ของ Bitcoin แต่ในระบบเฟียตนี้ อำนาจในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ธนาคารกลางสหรัฐ FED เป็นผู้กำหนด FED fund rate และคนอื่นในระบบก็ใช้มันอ้างอิง โดย Node ที่อยู่ใกล้กับ FED ก็จะได้ดอกเบี้ยถูกกว่า Node ที่อยู่ไกลออกไป และสามารถได้รับผลประโยชน์จากการสร้างเงินได้มากกว่า
จะเห็นว่าระบบเฟียตนั้นตั้งอยู่บนการบังคับใช้อำนาจ ผูกขาดให้ทุกคนต้องใช้ Fiatcoin และ Node ของประเทศที่มีอำนาจจะมีศักดิ์ศรีเหนือกว่าอย่างไม่ชอบธรรม ผิดกับระบบ Bitcoin ที่ตั้งอยู่บนความสมัครใจและกลไกตลาดเสรี ไม่เคยมีใครถูกบังคับให้ใช้มัน และทุกคนสามารถเป็น Node ได้อย่างชอบธรรมภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน
Fiat technology เทคโนโลยีเบื้องหลังระบบเฟียต
ธนาคารกลางแต่ละแห่งภายใต้ระบบเฟียตมีหน้าที่ 4 อย่างดังนี้
1. ผูกขาดอำนาจในการจัดการอุปทาน Fiatcoin ของประเทศ และกำหนดราคาของมัน : รัฐบาลไม่สามารถสั่งให้สิ่งที่ไร้ค่ากลายเป็นมีค่าขึ้นมาเฉยๆได้ ในการบังคับใช้และผลิต Fiatcoin ท้องถิ่น รัฐบาลจำเป็นต้องสำรองเงินในลำดับชั้นที่สูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นดอลลาร์หรือทองคำ แม้ในยุคเฟียตเต็มรูปแบบนี้ รัฐบาลทุกประเทศต่างก็กระหายที่จะเก็บทองคำอย่างบ้าคลั่ง เป็นการแสดงให้เห็นความไร้สาระของการมีอยู่ของ Fiatcoin
2. ผูกขาดอำนาจในการชำระบัญชีระหว่างประเทศ : การชำระเงินระหว่างประเทศจำเป็นต้องทำผ่านธนาคารกลาง ทำให้รัฐบาลมีอำนาจในการควบคุมการค้าและการลทุนระหว่างประเทศ ในการทำธุรกรรมต่างประเทศ รัฐบาลต้องซื้อเงินสกุลสำหรับแลกเปลี่ยนก่อน แล้วค่อยเอาเงินไปซื้อของ ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศก็เติบโตเป็นผลจากการ Arbitrage บนความผันผวนของสกุลเงิน ธุรกรรมเหล่านี้ไร้ Productivity แต่ทุกคนในโลกถูกบังคับให้ต้องทำ
3. ผูกขาดอำนาจในการควบคุมธนาคารในประเทศ ท้ังการออกใบอนุญาต ข้อบังคับ และสำรองเงินทุน : หน้าที่หลักอย่างหนึ่งที่ธนาคารกลางต้องทำคือการเป็น “Lender of last resort” ให้ธนาคารในประเทศ เมื่อไรที่ธนาคารจะล้ม ธนาคารกลางก็จะเข้ามาอุ้ม ด้วยการผลิตเงินเพิ่มมหาศาล วัฒนธรรมการ Bailout นี้ส่งผลให้เหล่าธนาคารไม่มี Skin in the game และลงเอยแบบเดิมเสมอ
4. ออกเงินกู้ให้รัฐบาลไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลของตัวเอง : เป็นพิธีกรรมไร้สาระที่ธนาคารกลางทุกแห่งในระบบเฟียตกำลังทำอยู่ ธนาคารกลางมักจะถูกกดดันจากรัฐบาล ให้สนับสนุนการใช้จ่ายภาครัฐ เปรียบเสมือนเด็กที่งอแงและบังคับให้พ่อแม่ซื้อของเล่นให้ นำไปสู่วงจรการผลิตเงินและการด้อยค่าสกุลเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่ออำนาจและหน้าที่ทั้ง 4 อย่างนี้ไปอยู่ในมือองค์กรที่มีอำนาจผูกขาดและไม่ต้องแข่งขันกับใครอย่างธนาคารกลาง มันก็กลายเป็นรากเหง้าวิกฤตเศรษฐกิจทั้งโลก
วิธีการใช้เงินทั้ง 4 แบบนี้มันพัวพันและขัดแย้งกันอย่างยุ่งเหยิง ธนาคารกลางต้องสำรองทองคำเพื่อค้ำประกันสกุลเงิน แต่กลับต้องใช้ดอลลาร์ชำระบัญชีระหว่างประเทศ รัฐบาลกดดันให้พิมพ์เงินมาซื้อพันธบัตรและกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ยังต้องรักษาให้สกุลเงินไม่เสื่อมค่า จึงอาจต้องขายทุนสำรองเพื่อรักษาเสถียรภาพ ซึ่งก็จะขัดกับประโยคแรกอีกที ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการใช้เงินที่มั่วซั่วและเป็นไปไม่ได้
โดยแก่นแท้ระบบเฟียตนี้มันทำลายความสามารถในการเก็บออมเงินของทุกคน ผูกขาดอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เพื่อแลกกับการมีระบบชำระเงินห่วยๆขึ้นมาหนึ่งอัน บทหน้าจะไปเจาะลึกมายากลการผลิตเงิน ซึ่งเป็นเหตุผลหลักว่าทำไมเหล่าผู้มีอำนาจจึงชอบระบบเฟียตนี้ รอติดตามกันครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา