1 พ.ค. 2024 เวลา 08:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สำรวจเหมืองขุดเงินเฟียต [Ep.4/18]

ถึงตรงนี้เราพอจะรู้กันแล้วว่าอุปทานเงินเฟียตนั้นถูกผลิตขึ้นมาอย่างบ้าคลั่งมาเป็นเวลากว่าศตวรรษ แต่อาจยังไม่เห็นภาพว่าวิธีการขุดเงินเฟียตนั้นทำอย่างไร ในบทที่ 4 นี้ หนังสือจะพาไปสำรวจกลไกการทำงานของเหมืองขุดเงินเฟียตกัน
โดยหลักการแล้วการผลิตเงินเฟียตคือการสร้างหนี้ ใครก็ตามที่สามารถหาวิธีให้ผู้อื่นเป็นหนี้ได้ ก็จะได้รับประโยชน์จากการผลิตเงินนั้น รวมถึงดอกเบี้ยที่จะได้รับด้วย ในระบบเฟียต การหาลูกหนี้จึงเปรียบเสมือนการขุดเหมืองเงินเฟียต
ตลอดประวัติศาสตร์ เมื่อสังคมใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเงิน ก็จะมีความพยายามในการผลิตสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นเสมอ ซึ่งถ้าเงินนั้นสามารถผลิตเพิ่มได้ง่าย มันก็จะล่มสลายไป เหมือนหินรายแห่งเกาะแยป และลูกปัดอักรีในแอฟริกา (ที่ได้กล่าวถึงใน The Bitcoin standard) ที่ต้องเสื่อมค่าไปเพราะเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัยกว่าของเหล่าผู้ยึดครอง
ในยุคสมัยทองคำและแร่เงิน ก็มีความพยายามมากมายที่จะขุดแร่เหล่านี้เพิ่ม แต่ด้วยธรรมชาติที่หายากและความคงกระพันทำให้อุปทานไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้มากนัก ส่วนในระบบ Bitcoin เอง เหล่านักขุดก็พยายามไขว่คว้าและเร่งกำลังขุดให้มากที่สุด แต่ก็ยังต้องอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และ difficulty adjustment อยู่ดี
ส่วนในระบบเฟียตปัจจุบัน เหล่านักการเมืองและนักการธนาคารต่างกระเหี้ยนกระหือรือที่จะสร้างหนี้เพิ่มเสมอ โดยแทบจะไม่มีกลไกถ่วงดุลหรือความข้อจำกัดใดๆในการสร้างอุทานเงิน ผลลงเอยด้วยการผลิตเงินเพิ่มอย่างไม่ยั้ง
ข้ออ้างในการขุดเงินเฟียตมักจะเป็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี แน่นอนว่าการอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามานั้นทำให้เศรษฐกิจหมุนไปและตัวเลขทางเศรษฐกิจสวยได้ แต่มันได้ทิ้งปัญหาเรื้อรังที่จะปรากฎในอนาคตไว้เสมอ ซึ่งนักการเมืองเหล่านั้นก็ไม่จำเป็นต้องสนใจเท่าไร เพราะไม่ว่าอย่างไรมันจะเป็นปัญหาสำหรับสมัยต่อๆไป พวกเขาขอแค่ทำให้ดีระยะสั้นในสมัยตัวเองก็พอ
อีกหนึ่งข้ออ้างในการขุดเงินเฟียตจำนวนมหาศาลในเวลาอันสั้น คือการจัดการวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อไรก็ตามที่มีปัญหาธนาคารพาณิชย์เสี่ยงล้มละลาย (ซึ่งมีให้เห็นเสมอในทุกประเทศทุกยุคสมัย) ธนาคารกลางก็มีหน้าที่ต้องเข้ามาอุ้ม เป็นความจำเป็นที่จะต้องผลิตเงินและอัดฉีดสภาพคล่องใส่ระบบ เพราะไม่งั้นถ้าปล่อยให้ธนาคารล้มก็จะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั้งสังคม
1
หากเจอวิกฤตเศรษฐกิจและอัดฉีดสภาพคล่องไม่พอ สิ่งที่ต้องเกิดคือ Deflationary recession ซึ่งเหล่าผู้มีอำนาจสมองเฟียตเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย ที่จะปล่อยให้เกิดไม่ได้เด็ดขาด ดังนั้นการผลิตเงินเพิ่มจึงเป็นคำตอบเสมอในทุกวิกฤต
ความคิดเหล่านี้เป็นวงจรอุบาทว์ที่ทำให้เรามองข้ามความเป็นไปได้ที่จะป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดตั้งแต่แรก และมองข้ามผลกระทบระยะยาวจากการผลิตเงิน
2
ระบบเฟียตนี้จึงพอกพูนปัญหาและลากสังขารต่อไปเรื่อยๆ วัฏจักรแล้ววัฏจักรเล่า ผ่านช่วงเวลาที่ฟูฟ่องเกินจริงจากการผลิตเงิน ตามมาด้วยช่วงที่เกิดภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจเสี่ยงจะพังลง วนเปลี่ยนไปเรื่อยๆเหมือนฤดูกาล ที่จะมีสภาพอากาศโหดร้ายรุนแรงขึ้นในทุกวัฎจักร
มีสถิติหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความบ้าคลั่งในการผลิตเงิน ข้อมูลอัตราการเจริญเติบโตของอุปทานเงินตั้งแต่ช่วง 1960-2020 จากทั้งหมด 167 ประเทศ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 29% ต่อปี โดยกรณีที่ดีที่สุดของระบบเฟียตคือประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (6.5%) สหรัฐ (7.4%) สวีเดน (7.9%) และเดนมาร์ก (8.2%) ในขณะที่อุปทานทองคำเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2% ต่อปีเท่านั้น
นักเศรษฐศาสตร์และนักกำหนดนโยบายมักเป็นโรคชนิดหนึ่ง นั่นคือโรคกลัวเงินฝืด ภาวะเงินฝืดอาจเกิดได้จากหลายกรณี ทั้งจากการที่เศรษฐกิจถดถอย หรือภาวะเงินฝืดจากอัตราการผลิตที่เพิ่มขึ้น (Productivity driven)
ภาวะเงินฝืดแบบหลังคือธรรมชาติที่เมื่อเราพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต สินค้าก็จะถูกลง อำนาจการซื้อของเงินจะมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ส่งผลให้ผู้คนมีแรงจูงใจจะเก็บออม และไม่ได้ส่งผลเสียใดๆต่อสังคมเลย แต่สิ่งนี้ก็ยังขัดกับความคิดของนักเศรษฐศาสตร์สมองเฟียต ที่มองว่าเมื่อไรที่ผู้คนชะลอการใช้จ่ายจะเท่ากับหายนะเสมอ
ตัวอย่างที่ชัดเจนของเรื่องนี้คืออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ที่แม้จะอยู่ท่ามกลางมหกรรมการผลิตเงิน แต่ด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เร็วมาก ทำให้มันมีราคาถูกลงได้เมื่อเวลาผ่านไปได้อยู่ดี เราจึงใช้เงินน้อยลงเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์ที่ดีขึ้นและหน่วยความจำที่มากขึ้นได้
ในโลกเงินเฟ้อนิยมในปัจจุบันนี้ เราจำเป็นต้องพูดถึงมาตรวัดสำคัญอย่าง CPI ที่ใช้วัดอัตราเงินเฟ้ออย่างแพร่หลาย ปัญหาของ CPI มีมากมายตั้งแต่คอนเซปต์หลักอย่างการใช้ตะกร้าสินค้า การใช้ดุลพินิจในการเลือกสินค้าตัวแทน และการไม่คำนึงถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้สินค้าถูกลง
CPI เป็นมาตรวัดไร้หน่วยที่มีขอบเขตไม่ชัดเจน สินค้าในตะกร้าที่ถูกนำมาคิด CPI นั้นเปลี่ยนแปลงเกือบทุกปี อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นวิทยาศาสตร์เทียม (pseudoscience) ที่ทำให้การวัดเงินเฟ้อระหว่างสองช่วงเวลาด้วย CPI นั้นไร้สาระสิ้นดี สิ่งเดียวที่เป็นประโยชน์ของ CPI คือมันมอบอำนาจให้นักเศรษฐศาสตร์สามารถปิดซ่อนเงินเฟ้อที่แท้จริงได้
ในความเป็นจริงเมื่อสินค้าบางอย่างแพงขึ้น ผู้คนก็เปลี่ยนไปใช้สินค้าอื่นที่ราคาถูกกว่า สินค้าในตะกร้า CPI จึงเปลี่ยนไป ดังนั้นการวัด CPI ในสองช่วงเวลาจึงไม่ได้บอกถึงเงินเฟ้อที่แท้จริง แต่มันบอกได้แค่ว่าผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ห่วยลงแต่ต้องจ่ายแพงขึ้นเท่าไร
นอกจากนี้ ยังมีการเอาสินค้าที่ระดับราคาปรับตัวสูงขึ้น ออกจากตะกร้า CPI อยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ตัวเลขเงินเฟ้อดูไม่น่าตกใจจนเกินไป การแทรกแซง CPI ครั้งใหญ่ที่สุดคือการเอาราคาบ้านออกไป ด้วยข้ออ้างที่ว่าบ้านเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนไม่ใช่เพื่อการบริโภค ดังนั้น CPI ที่ใช้รายงานอัตราเงินเฟ้อกันทุกวันนี้ ไม่มีเรื่องราคาบ้านอยู่ในนั้นเลย
บทนี้ได้พาไปสำรวจ playbook ของการขุดเหมืองเงินเฟียตที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์ใช้มาอย่างยาวนาน เริ่มต้นจากความพยายามในการบริหารจัดการเศรษฐกิจด้วยความหวังดี แล้วหาข้ออ้างในการผลิตเงินเพิ่มขึ้น ลากปัญหาทางเศรษฐกิจให้พอกพูนไปเรื่อยๆในทุกวัฎจักร แล้วปิดซ่อนอัตราเงินเฟ้อที่แท้จริง ด้วยมาตรวัดเงินเฟ้อที่ถูก manipulate ได้ง่ายๆอย่าง CPI เท่านี้เหล่านักขุดเงินเฟียตก็สามารถลักลอบทำเหมืองต่อไปได้เรื่อยๆอย่างแยบยล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา