30 เม.ย. 2024 เวลา 03:33 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เครดิตภาษีเงินปันผล คืออะไร?

นักลงทุนที่มีการลงทุนในหุ้นทุกคน มักคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุน หนึ่งในนั้นคือ “เงินปันผล” หรือ เงินส่วนแบ่งกำไรจากกิจการนั้นๆ ที่ลงทุนไป
ซึ่งก็มาจากกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน ที่ได้เสียภาษีไปแล้วครั้งหนึ่งในรูปของภาษีเงินได้นิติบุคคล (ร้อยละ 20)
และเมื่อนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ก็ต้องนำเงินดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้ง จึงเข้าข่ายเป็น “การเสียภาษีซ้ำซ้อนจากกำไรก้อนเดียวกัน”
“เครดิตภาษีเงินปันผล” จึงเกิดขึ้น และเป็นสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลมอบให้แก่นักลงทุนเพื่อป้องกันการเสียภาษีซ้ำซ้อนนั้นเอง
และเพื่อป้องกันการเสียภาษีซ้ำซ้อนนั้น ทำให้เรามีทางเลือกหรือวิธีการเสียภาษีได้ 2 แบบ โดยดูที่ “ฐานภาษีของเรา” เปรียบเทียบกับ “ฐานภาษีของบริษัท” (ภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 20)
โดยหากอัตราภาษีของเรามากกว่าอัตราภาษีของบริษัท ให้เลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และก็ไม่ต้องนำเงินปันผลมารวมคำนวณเป็นเงินได้ (Final Tax หรือสิทธิ์ในการเลือกเสียภาษีโดยถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้วจบ หรือถ้าไม่อยากจบก็เอามายื่นภาษีได้)
กรณีหากเรามีรายได้สูงจนมีฐานภาษีเกินร้อยละ 20 ไปแล้ว แล้วยังนำเงินปันผลมารวมคำนวณก็อาจจะทำให้ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมไปอีกก็ได้
ในทางตรงกันข้าม หากฐานภาษีของเราน้อยกว่าอัตราภาษีของบริษัท เช่น มีเงินได้รวมทั้งปีแล้วอยู่ในฐานภาษีร้อยละ 10 ก็ให้เลือกขอ “เครดิตภาษีเงินปันผล” โดยให้นำเงินปันผลและเครดิตภาษีเงินปันผล ไปรวมคำนวณเป็นเงินได้ด้วย เพื่อขอเครดิตภาษีคืน
ทั้งนี้ เราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะนำเงินปันผลจากตัวใดตัวหนึ่ง หรือนำแค่บางงวดมารวมคำนวณเพื่อขอเครดิตภาษีเงินปันผลในตอนยื่นภาษีฯ (บางบริษัทจ่ายเงินปันผลมากกว่า 1 งวดต่อปี) แต่ต้องนำเงินได้ที่เป็นปันผลจากหุ้นทุกตัวและทุกงวดมารวมคำนวณทั้งหมด
โดยในส่วนของเงินปันผลนั้นจะมีการชี้แจงรายละเอียดไว้ใน “หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวี แห่งประมวลรัษฎากร” ที่จะจัดส่งเอกสารขนาด A4 พับครึ่งมาให้เราถึงบ้าน
ซึ่งเงินปันผลส่วนนี้ต้องศึกษาในรายละเอียดที่ระบุไว้ ที่จะมีทั้ง "กรณีที่ได้รับเครดิตภาษี" และ "กรณีไม่ได้รับเครดิตภาษี" แยกบรรทัดไว้อย่างชัดเจน
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวี แห่งประมวลรัษฎากร
ซึ่งปัจจุบันก็สะดวกมากขึ้นเพราะสามารถดูออนไลน์ได้ผ่านเว็บไซต์ของบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD ว่าส่วนไหนได้รับเครดิตภาษี หรือส่วนไหนไม่ได้รับเครดิตภาษี
รวมถึงยังสามารถดึงข้อมูล “การรับสิทธิประโยชน์ เงินปันผล ดอกเบี้ย หนังสือรับรองการหักภาษี” เพื่อใช้สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีนั้นๆ ได้อย่างสะดวกสบาย และครบถ้วนอีกด้วย
การคำนวณเพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสม จึงน่าจะช่วยให้สิทธิประโยชน์ของเราไม่หลุดลอยไป และได้ภาษีคืนในอัตราสูงสุดกลับมาไม่มากก็น้อย.
Source:
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- THE MONEY COACH
- TAXBugnoms

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา