13 ก.ย. 2024 เวลา 04:35 • หุ้น & เศรษฐกิจ

อยากลงทุนใน "กองทุนรวม" ต้องรู้อะไรบ้าง

กองทุนรวม (Mutual Fund) คือ การรวบรวมเงินของนักลงทุน นำมาลงทุนตามนโยบายที่กองทุนรวมนั้นๆ กำหนดไว้ โดยมี “ผู้จัดการกองทุน” (Fund Manager) ที่เป็นมืออาชีพช่วยบริหารจัดการเงินของกองทุน
1
จุดเด่น คือ มีเงินน้อย เบี้ยน้อยหอยน้อย ก็ลงทุนได้ มีนโยบายการลงทุนหลากหลาย ทั้งลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีผลตอบแทนและความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป
วันนี้เราได้รวบรวมประเด็นหลักๆ สำหรับผู้ที่อยากจะเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวมว่ามีอะไรบ้างที่ควรจะรู้เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจลงทุน...
1. แต่ละกองทุนมีผลตอบแทน/ความเสี่ยงที่แตกต่างกันตามประเภทสินทรัพย์ที่ไปลงทุน
ควรเลือกให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุน และระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ เช่น รับความเสี่ยงได้น้อย/ยอมรับผลตอบแทนระดับต่ำได้ก็เน้นกองทุนรวมตราสารหนี้ แต่หากรับความเสี่ยงได้มากหน่อย (ผันผวนมาก) ได้ผลตอบแทนสูงก็เลือกลงทุนในกองทุนรวมทองคำ/น้ำมัน เป็นต้น
2. ควรศึกษารายละเอียดด้านพอร์ตการลงทุนเพิ่มเติม (ไม่ควรดูแค่นโยบาย)
ต้องดูในรายละเอียดในลึกๆ ลงไปว่า กองทุนรวมนั้นๆ ลงทุนในตราสารประเภทใด สัดส่วนการลงทุนเป็นอย่างไร เพราะสัดส่วนการลงทุนที่แตกต่างกัน ความเสี่ยง/ผลตอบแทนย่อมแตกต่างเช่นกัน
3. พิจารณาผู้จัดการกองทุน (Fund Manager)
กองทุนนั้นๆ มีผู้ที่บริหารพอร์ตแบบคนเดียวหรือเป็นทีม เพราะการบริหารเป็นทีมส่วนใหญ่มักจะเสี่ยงน้อยกว่าคนเดียวหากมีใครลาออกไป, ด้านประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ของ ผจก.กองทุน แต่ละคนต่างกัน เก่งหุ้น เก่งตราสารหนี้ หรือเก่งลงทุนต่างประเทศ? ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องนำมาขบคิดทั้งสิ้น
4. ต้องเข้าใจเกี่ยวกับ "ผลตอบแทน" ของกองทุนรวม
# ผลตอบแทนที่รวมเงินปันผลเข้าไปแล้ว (Total Return) โดยดูผลตอบแทนนี้เป็นหลักเพราะบางกองทุนรวมมีนโยบายจ่ายเงินปันผล แต่บางกองทุนก็ไม่มี
# ผลตอบแทนที่ไม่ได้รวมการจ่ายเงิน ปันผล (Price Return) ซึ่งโดยปกติแล้ว Price Return จะต่ำกว่า Total Return
# ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (Annualized Return) ผลตอบแทนในแต่ละปีมาบวกกันแล้วหารจำนวนปีที่ต้องการดูค่าเฉลี่ย เช่น ผลตอบแทนปี 2565-2567 คือ 5, 10 และ 15 ตามลำดับ ให้นำ (5 + 10 + 15) / 3 = 10 บาท
# ผลตอบแทนแบบสะสม (Cumulative Return) นำผลตอบแทนแค่ปีแรกกับปีที่ต้องการคำนวณปีล่าสุดมาดู (ไม่สนใจตัวเลขปีระหว่างนั้น) เช่น ผลตอบแทนปี 2564-2567 คือ 5, 7, 9 และ 10 ตามลำดับ ให้นำ 10 – 5 = 5 บาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น (10 - 5) / 5 x 100 = 100%
5. ต้องดูความเสี่ยงของกองทุนรวมด้วย
ให้ดู “ค่าความผันผวน” (Standard Deviation) ยิ่งต่ำยิ่งดี NAV จะไม่เหวี่ยงมากเกินไป (ส่วนระดับความเสี่ยงหรือ “Risk Spectrum” มีทั้งหมด 1-8 เลขมากยิ่งเสี่ยงมาก แต่ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง)
ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
6. เปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนรวมกับตัวชี้วัด (Benchmark)
เช่น ถ้าเป็นกองทุนรวมก็ต้องเทียบผลตอบแทนกับดัชนีหุ้นไทย (SET Index) เป็นต้น (จะเรียกกว่าเป็นการวัดฝีมือ ผจก.กองทุน ก็คงไม่ผิด)
7. เปรียบเทียบกับกองทุนรวมประเภทเดียวกัน
โดยเปรียบเทียบค่าตอบแทน/ค่าใช้จ่าย/ค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น บางกองฯ ผลตอบแทนดูดี แต่ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงมาก สุดท้ายแล้ว Total Return กลับออกมาไม่สูงดังหวัง ก็ต้องอย่าลืมคำนึงถึงจุดนี้ด้วย
8. ผลการดำเนินงานย้อนหลัง
แน่นอนว่าข้อมูลหรือสถิตินี้ สะท้อนถึงความเชี่ยวชาญของแต่ละ บลจ. ว่ามีความเชี่ยวชาญการลงทุนด้านไหน อย่างไรก็ตามข้อมูลในอดีตก็ไม่ได้การันตีผลตอบแทนในอนาคต เพราะการลงทุนมาพร้อมกับความเสี่ยงเสมอ
9. ค่าใช้จ่าย แบ่งเป็น 2 ส่วน
- จ่ายให้ บลจ. เช่น ค่าธรรมเนียมซื้อ-ขาย
- จ่ายให้กองทุน โดยจะหักออกจาก NAV เรียกว่า “Total Expense Ratio” เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ, ค่าสอบบัญชี, ค่าประชาสัมพันธ์ (PR) เป็นต้น ซึ่งจะมีการแจ้งรายละเอียดผ่านหนังสือรายงานประจำปี
และสุดท้าย...เหนือสิ่งอื่นใด คือ “ต้องมีเงินก่อน” ถึงจะลงทุนใดๆ ได้ เราจึง...
ควรต้องวางแผนจัดสรรเงินได้ส่วนหนึ่งมาเป็นเงินลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยไม่ไปกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันแต่ละมื้อแต่ละเดย์ หรือการจ่ายคืนหนี้ที่ยังมีอยู่
คำสำคัญ:
"NAV" หรือ “Net Asset Value” คือ มูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดของกองทุนรวม รวมถึงผลประโยชน์ต่างๆ ที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุน หักออกด้วยค่าใช้จ่าย/หนี้สินของกองทุนรวมนั้นๆ
โดยปกติจะถูกคำนวณและเปิดเผยให้ทราบทุกวันตามราคาตลาด (Mark to Market) ซึ่ง NAV จะเป็นตัวเลขสะท้อนผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่ดีที่สุดว่ามีการบริหารกองทุนได้กำไร/ขาดทุนมากน้อยแค่ไหน โดยดูได้ที่มูลค่าต่อหน่วยลงทุน (NAV ต่อหน่วย) เทียบกับราคาซื้อ
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา