2 พ.ค. 2024 เวลา 08:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เหตุผลในการมีอยู่ของเงินเฟียต [Ep.6/18]

อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนคงได้เห็นภาพกันแล้วว่าเงินเฟียตและระบบเฟียตนั้นเลวร้ายมากแค่ไหน แต่เมื่อพิจารณาเรื่องข้อจำกัดทางเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 20 แล้ว ก็ต้องยอมรับว่าที่มาและเหตุผลในการมีอยู่ของมันก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้
ในหนังสือ The Bitcoin standard ได้เน้นเล่าวิวัฒนาการทางการเงินผ่านมุมมอง Salability across time เป็นหลัก จาก Stock-to-flow model เราได้เห็นว่ามนุษย์ค่อยๆเปลี่ยนไปใช้เงินที่มี S2F สูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งตอนนี้ในยุคเงินเฟียต ที่อยู่ๆเราก็ดันไปใช้เงินที่มีค่า S2F ต่ำลง
แต่เมื่อพิจารณาผ่านมุมมอง Salability across space บ้าง เราก้จะทำความเข้าใจการเปลี่ยนไปใช้เงินเฟียตได้มากขึ้น
เงินที่มี Salability across space ที่ดี สามารถวัดได้จากผลกระทบจากความห่างของระยะทางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เงินที่ตอบโจทย์ข้อนี้ มูลค่าในการแลกเปลี่ยนจะต้องไม่ตกลง หรือตกลงน้อย ไม่ว่าจะแลกเปลี่ยนที่ระยะทางไกลเท่าใด
บ้านและที่ดินอาจเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่าได้ แต่ตัวมันเองไม่มี Salability across space เลยแม้แต่น้อย, โค กระบือ สามารถใช้แลกเปลี่ยนกันได้ในสังคมเล็กๆเท่านั้นเนื่องจากเคลื่อนย้ายลำบาก
สิ่งที่ดีที่สุดจึงเป็นสิ่งที่มีมูลค่าต่อน้ำหนักสูง เพื่อให้สามารถพกพามูลค่าและเคลื่อนย้ายไปที่ต่างๆได้สะดวก มนุษย์ค่อยๆเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนไปใช้เงินที่ขนย้ายง่ายกว่า และต้นทุนการขนส่งงต่ำลง ซึ่งโลหะมีค่าโดยเฉพาะทองคำจึงสามารถตอบโจทย์นี้ได้มาเกือบ 5000 ปี
อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษที่ 19-20 เทคโนโลยีการเดินทางทำให้ทั้งโลกเชื่อมต่อกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โอากาสการขายสินค้าข้ามประเทศเปิดออก และการใช้ทองคำเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนนั้นก็เริ่มที่จะยุ่งยากเกินไป
เราเลยเริ่มเปลี่ยนไปใช้ระบบบัญชีที่แยกระหว่าง Payment layer และ Settlement layer โดย payment layer นั้นเป็นการจดๆตัวเลขไว้ในบัญชีระหว่างกัน ส่วน Settlement layer นั้นก็ค่อยมาแลกเปลี่ยนกันด้วยทองคำจริงเป็นครั้งคราว
ระบบนี้ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศสะดวกขึ้นและต้นทุนต่ำลง สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งมอบทองคำได้มหาศาล แต่ระบบนี้ก็ต้องแลกมาด้วยการรวมศูนย์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ เราค่อยๆมอบอำนาจให้ตัวกลางอย่างธนาคารกลางเพื่อแลกกับความสะดวก
ยิ่งนับวันผู้คนก็ค่อยๆออกห่างจากทองคำ และชินกับการใช้ตั๋วแลกทองคำมากขึ้นเรื่อยๆ เงินจึงค่อยๆเปลี่ยนสถานะไปเป็นหนี้ของสถาบันการเงิน
และเมื่ออำนาจได้มาอยู่ในมือสถาบันการเงิน แน่นอนว่าในที่สุดเขาก็ต้อง Abuse อำนาจนั้นเสมอ เหล่าธนาคารเริ่มทำสิ่งที่เรียกว่า Fractional reserve banking (การสำรองเงินเพียงบางส่วน) ที่ถือเป็น secret sauce ที่ทำให้ธนาคารสามารถทำกำไรอย่างน่ามหัศจรรย์ได้
การทำ Fractional reserve banking เปิดโอกาสให้ธนาคารสามารถออกสินเชื่อมากกว่าเงินสำรองที่มีอยู่ได้หลายเท่า การเก็บเงินและปล่อยกู้ไปพร้อมๆกันแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการทำ Double spending ซึ่งไม่สามารถเกิดได้ในระบบการเงินที่แข็งแกร่งอย่าง Bitcoin
ระบบธนาคารรูปแบบนี้จะสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ตราบใดที่ผู้คนไม่แห่มาถอนเงินออกไปจนเกิด Bank run แต่ที่จริงแล้วหากเกิดเหตุการณ์นั้นจริง ก็ยังไม่ธนาคารมาคอยอุ้มอีกอยู่ดี
เมื่อกติกาเป็นแบบนี้ ก็คงไม่มีธนาคารไหนที่โง่จนเลือกที่จะไม่ทำ Fractional reserve banking วิธีการเดียวที่จะสู้คนอื่นได้คือต้องเข้าร่วมมหกรรมการพิมพ์เงินเท่านั้น ธนาคารต้องรีบกอบโกยให้ได้มากที่สุด เพื่อไปถึงเส้นชัยที่เรียกว่า “Too big to fail”
จุด Too big to fail นั้นคือการที่ธนาคารใหญ่ใหญ่มากจนส่งผลกระทบต่อสังคมและภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง มากจนไม่มีทางที่รัฐบาลและธนาคารกลางจะปล่ยอให้ล้มไปได้ และเมื่อนั้นธนาคารก็จะอยู่ในจุดที่สามารถใช้พลังวิเศษทำกำไรได้มหาศาล โดยไม่มีความเสี่ยงใดๆ
มีข้ออ้างที่บอกว่า Fractional reserve banking นั้นจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะอุปทานเงินที่เพิ่มขึ้นจะนำมาซึ่งผลผลิตที่มากขึ้น สามารถพัฒนาโครงการต่างๆได้ง่าย ลดการว่างงาน และทำให้ทั้งสังคมรวยขึ้น กลับกันหากไม่ทำ Fractional reserve banking เศรษฐกิจจะต้องฝืดเคือง และคุณภาพชีวิตผู้คนตกต่ำลง
ความพังของตรรกะแบบนี้คือความไม่เข้าใจว่า เงินหรือสินเขื่อนั้นไม่ใช่สินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดผลผลิตใดๆ มันเป็นแค่เพียงตั๋วที่นำไปซื้อและเป็นหน่วยวัดของผลผลิตจริงๆเท่านั้น ตราบใดที่ไม่ได้มีการเพิ่มผลผลิตจริง การผลิตเงินนั้นก็ไม่ได้ช่วย เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ระบบนี้เหมือนการผลิตตั๋วเข้าชมฟุตบอลเพิ่มขึ้น โดยที่นั่งในสนามนั้นยังคงมีเท่าเดิม
โดยสรุปแล้วระบบนี้ไม่ได้เสกทุนหรือทรัพยากรใดๆเพิ่มขึ้นให้กับสังคม มันแค่มอบอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรให้กับตัวกลาง แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปจามกลไกธรรมชาติ ผ่านการคิดอย่างรอบคอบของผู้สะสมทุน
ในที่สุดแล้วระบบนี้ทำให้สังคมโดยรวมจนลงผ่านการเสื่อมค่าของเงิน และทำให้เหล่านายทุนและนายธนาคารรวยขึ้น จากสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงเงินได้ก่อน
บทนี้หนังสือได้ชี้ให้เห็นว่าเหตุผลในการเกิดขึ้นของเงินเฟียตนั้น มันก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และสมเหตุสมผลในบริบททางประวัติศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยจุดอ่อนมากมายของเงินเฟียต มันก็หลีกเลี่ยงผลลัพธ์แย่ๆแบบนี้ไม่ได้เลย
ใน 6 ตอนแรกนี้เราได้เข้าใจแล้วว่าระบบเฟียตทำงานอย่างไร ในส่วนต่อไปของหนังสือจะพาไปสำรวจผลลัพธ์ที่เกิดจากระบบเฟียต ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนกัน รอติดตาม “วิถีชีวิตเฟียต” ได้ในบทหน้าเลย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา