18 ธ.ค. เวลา 06:20 • ธุรกิจ

ตัวเลข D&A ในงบการเงินบอกอะไรเรามากกว่าที่คุณคิด

เคยสงสัยไหมว่าตัวเลข D&A ในงบการเงินบ่งบอกอะไรกับเราได้บ้าง?
หลายคนอาจมองข้ามตัวเลขเหล่านี้ เพราะเป็นตัวเลขของสินทรัพย์ที่เสี่อมราคาลงซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่แท้จริงแล้วตัวเลข D&A นั้นเปรียบเสมือนกุญแจสำคัญที่ปลดล็อกข้อมูลล้ำค่าเกี่ยวกับบริษัทนั้นๆเลยทีเดียว
บทความนี้ จะพานักลงทุนมือใหม่ไปเจาะลึกเกี่ยวกับตัวเลข D&A และเผยให้เห็นแง่มุมต่างๆ ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังตัวเลขเหล่านี้
D&A ย่อมาจากคำว่า Depreciation และ Amortization หรือก็คือ ค่าเสื่อมราคาและ ค่าตัดจำหน่าย
- ค่าเสื่อมราคา (Depreciation)
หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากมูลค่าของสินทรัพย์ถาวรที่ลดลงตามกาลเวลา โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ถาวรลดลง ก็คือ การใช้งาน
หากนึกไม่ออกให้นึกถึงรถยนต์ที่มีมูลค่าจะลดลงตามกาลเวลาและการใช้งาน
- ค่าตัดจำหน่าย (Amortization)
หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากมูลค่าของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนลดลงตามกาลเวลา คล้ายๆกับค่าเสื่อมราคา แค่เปลี่ยนเป็นมูลค่าของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น สิทธิการเช่า ลิขสิทธิ์ ซอฟต์แวร์ ฯลฯ
เมื่อเราทราบแล้วว่าความหมายของตัวเลข D&A นั้นคืออะไร ทีนี้เราจะมาลองเจาะลึกกันว่านักลงทุนสามารถนำตัวเลขดังกล่าวไปวิเคราะห์ในลักษณะใดได้บ้าง
  • บอกอายุการใช้งานของสินทรัพย์ในบริษัท
ประโยชน์ประการแรกเลย ก็คือ D&A สามารถบอกเราได้ว่าบริษัทนั้นได้คาดการณ์ว่าสินทรัพย์จะมีอายุการใช้งานไว้นานแค่ไหน
อีกทั้งนักลงทุนจะสามารถนำตัวเลข D&A ไปวิเคราะห์หรือศึกษาเพิ่มเติมต่อได้ว่า บริษัทมีวิธีการจัดสรรต้นทุนของสินทรัพย์อย่างไร และสินทรัพย์เหล่านั้นจะส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทไปอีกนานแค่ไหน
ตัวอย่าง
บริษัท MKK ซื้อรถบรรทุกราคา 2,000,000 บาท และคาดว่าจะมีอายุการใช้งาน 5 ปี บริษัท MKK จึงบันทึกค่าเสื่อมราคาไว้ปีละ 400,000 บาท (2,000,000 บาท / 5 ปี)
นั่นหมายความว่า บริษัทคาดว่ารถบรรทุกจะมีมูลค่าลดลง 20% จากต้นทุนทุกปีนั่นเอง
  • ใช้วิเคราะห์ศักยภาพการทำกำไรในอนาคต
เนื่องจาก D&A เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด แต่แสดงถึงค่าใช้จ่ายที่แท้จริงที่เกิดขึ้นจากการใช้งานสินทรัพย์ของบริษัท
ดังนั้นนักลงทุนจึงสามารถใช้ตัวเลข D&A ประกอบกับข้อมูลอื่นๆ ในงบการเงิน เพื่อวิเคราะห์ว่า บริษัทมีแนวโน้มที่จะทำกำไรมากน้อยแค่ไหนในอนาคตได้
ตัวอย่าง
บริษัท MKK ซื้อเครื่องจักรใหม่ในราคา 1,000,000 บาท และคาดว่าจะมีอายุการใช้งาน 5 ปี ดังนั้นบริษัทจึงบันทึกค่าเสื่อมราคาไว้ปีละ 200,000 บาท (1,000,000 บาท / 5 ปี)
แต่กำไรสุทธิของบริษัทปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 500,000 บาท นั่นหมายความว่ากำไรสุทธิของบริษัท MKK อาจลดลงในปีหน้าหากไม่มีการเติบโตของกำไร เนื่องจากบริษัทมีค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้นมาและต้องนำมาหักลบกับรายได้นั่นเอง
  • ใช้เปรียบเทียบผลประกอบการระหว่างบริษัท
D&A จะถูกคำนวณโดยใช้วิธีการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายทางบัญชีของแต่ละบริษัท ซึ่งนักลงทุนจำเป็นต้องพิจารณาวิธีการคำนวณ D&A ก่อนเปรียบเทียบผลประกอบการระหว่างบริษัทต่างๆ
ซึ่งวิธีการคำนวณค่า D&A ที่นิยมใช้ ได้แก่
- วิธีคิดแบบเส้นตรง (Straight-line method) คิดค่า D&A เท่าๆกันทุกปีตลอดอายุการใช้งานของสินทรัพย์
ตัวอย่าง
ค่า D&A ต่อปี = 1,000,000 บาท / 5 ปี = 200,000 บาท
ซึ่งวิธีแบบเส้นตรงนี้จะเหมาะสมกับธุรกิจที่มีสินทรัพย์ถาวร ที่มีมูลค่าลดลงสม่ำเสมอตามกาลเวลา เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจบริการ เป็นต้น
- วิธีคิดแบบลดต้นทุนคงเหลือ (Declining balance method) คิดค่า D&A ในช่วงแรกๆ มากกว่าช่วงหลังๆ ของอายุการใช้งานของสินทรัพย์
ตัวอย่าง
ค่า D&A ในปีที่ 1 = 1,000,000 บาท x 20% = 200,000 บาท หลังจากนั้นค่า D&A ในปีที่ 2 = (1,000,000 บาท - 200,000 บาท) x 20% = 160,000 บาท และในปีที่ 3 ค่าเสื่อมราคา = (800,000 บาท - 160,000 บาท) x 20% = 128,000 บาท
ซึ่งวิธีแบบลดต้นทุนคงเหลือนี้จะเหมาะสมกับธุรกิจที่มีสินทรัพย์ถาวรที่มีมูลค่าลดลงมากในช่วงแรกๆ ของอายุการใช้งาน เช่น เครื่องจักร ยานพาหนะ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
โดยตัวอย่างธุรกิจที่ใช้การคำนวณแบบนี้ก็อย่างเช่น ธุรกิจผลิต ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจเทคโนโลยี เป็นต้น
- วิธีคิดแบบตามหน่วยการผลิต (Units-of-production method) คิดค่า D&A ตามจำนวนหน่วยของการผลิตที่สินทรัพย์นั้นผลิตได้
สมมุติว่า เครื่องจักรราคา 1,000,000 บาท ผลิตสินค้าได้ 100,000 หน่วย ตลอดอายุการใช้งานระยะ 5 ปี
ค่า D&A ต่อหน่วยจึงเท่ากับ 1,000,000 บาท / 100,000 หน่วย = 10 บาท
ดังนั้นค่า D&A ในปีแรกจะเท่ากับ 10 บาทต่อหน่วย x 20,000 หน่วย (จำนวนหน่วยที่ผลิตในปีแรก) = 200,000 บาท นั่นเอง
ซึ่งวิธีแบบตามหน่วยการผลิตนี้จะเหมาะสมกับธุรกิจที่มีสินทรัพย์ถาวรที่มีการใช้งานไม่แน่นอน เช่น เครื่องจักรที่ใช้ผลิตสินค้าตามออเดอร์
โดยตัวอย่างธุรกิจที่ใช้การคำนวณแบบนี้ก็อย่างเช่น ธุรกิจพิมพ์ ธุรกิจแปรรูปอาหาร ธุรกิจเหมืองแร่ เป็นต้น
เมื่อนักลงทุนทราบวิธีการคำนวณค่า D&A ของธุรกิจแต่ละประเภทแล้ว นักลงทุนจึงจะสามารถนำตัวเลขเหล่านั้นมาเปรียบเทียบและวิเคราะห์แนวโน้มผลประกอบการระหว่างบริษัทได้
ตัวอย่าง บริษัท ABC และ DEF ต่างซื้อเครื่องจักรราคา 1,000,000 บาท
บริษัท ABC บันทึกค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรง ปีละ 200,000 บาท (1,000,000 บาท / 5 ปี) ในขณะเดียวกัน บริษัท DEF บันทึกค่าเสื่อมราคาแบบลดต้นทุนคงเหลือ ปีแรก 300,000 บาท ปีที่สอง 210,000 บาท และลดลงเรื่อยๆ ในปีต่อๆไป
ดังนั้นตัวเลข D&A จะบอกเราว่า บริษัท ABC มีโอกาสที่กำไรสุทธิจะมากกว่าบริษัท DEF ในปีแรก แต่บริษัท DEF อาจจะมีกำไรสุทธิมากกว่าในปีต่อๆไปนั่นเอง
  • ใช้ประเมินความเสี่ยงทางการเงิน
เนื่องด้วย D&A เป็นการประเมินค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากสินทรัพย์ของบริษัท ดังนั้นมันจึงส่งผลต่อกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานของบริษัท
ซึ่งนักลงทุนสามารถนำตัวเลข D&A มาใช้ประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอหรือไม่ได้นั่นเอง
ตัวอย่าง
บริษัท MKK ซื้อซอฟต์แวร์ราคา 500,000 บาท บริษัทคาดว่าจะมีอายุการใช้งาน 3 ปี จึงบันทึกค่าตัดจำหน่ายไว้ปีละ 166,667 บาท (500,000 บาท / 3 ปี)
ในขณะที่บริษัทมีกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานอยู่ที่ 1,000,000 บาท นั่นก็หมายความว่า บริษัท MKK จะยังมีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะชำระค่าตัดจำหน่ายและเหลือใช้ดำเนินงานในธุรกิจนั่นเอง
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าตัวเลข D&A หรือค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย นั้นเป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถบ่งบอกแนวโน้มสถานะทางการเงินและการบริหารจัดการสินทรัพย์ของบริษัทได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับใช้ในการประกอบตัดสินใจของนักลงทุน
และแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วตัวเลข D&A ที่ต่ำ มักจะถูกมองว่าดี แต่อย่างไรตามตัวเลข D&A ที่สูง อาจไม่ใช่สัญญาณที่แย่เสมอไปขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ตัวเลข D&A นั้นสูง
ตัวอย่างเช่น บริษัทที่อยู่ในช่วงขยายธุรกิจ
ตัวเลข D&A ที่สูง ในบริษัทที่อยู่ในช่วงขยายธุรกิจ อาจบ่งบอกว่าบริษัทอาจจะกำลังลงทุนในสินทรัพย์ถาวรใหม่จำนวนมาก เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจจึงส่งผลให้ตัวเลข D&A สูง
เมื่อธุรกิจเติบโต บริษัทจะสามารถสร้างรายได้จากสินทรัพย์ถาวรเหล่านั้น และส่งผลให้ตัวเลข D&A ต่ำลงในภายหลัง
ดังนั้นนักลงทุนจำเป็นต้องวิเคราะห์ตัวเลข D&A ร่วมกับปัจจัยอื่นๆของบริษัทที่สนใจจะลงทุนเพื่อประเมินว่าการที่ตัวเลข D&A ของบริษัทนั้นต่ำหรือสูง จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดีหรือแย่นั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา