2 ก.ค. เวลา 23:00 • ธุรกิจ

Freemium Model โมเดลธุรกิจที่นิยมใช้ในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ

เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีโอกาสได้ใช้แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์บางแห่งแบบฟรีๆ ไม่ว่าจะฟังเพลงฟรี ดูหนังฟรี เก็บไฟล์ฟรี แต่พอใช้ไปสักพัก ฟีเจอร์เด็ดๆ เหล่านั้นดันต้องเสียเงินซะงั้น ในเชิงธุรกิจสิ่งนี้ถูกเรียกว่า Freemium
Freemium เป็นการผสมผสานระหว่างคำว่า "ฟรี" และ "พรีเมียม" กลายเป็น "ฟรีเมียม" เป็นรูปแบบธุรกิจประเภทหนึ่ง
ธุรกิจประเภทนี้จะนำเสนอบริการพื้นฐานหรือเวอร์ชั่นทดลองแบบฟรีๆ ให้แก่ลูกค้าในช่วงแรกของการใช้งาน แต่เมื่อครบโควต้าที่กำหนดหรือหากลูกค้าอยากเข้าถึงฟีเจอร์เพิ่มเติม ลูกค้าต้องจ่ายค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมเพิ่ม
ซึ่งเราจะพบเห็นโมเดลนี้บ่อยที่สุดในธุรกิจที่เกี่ยวกับดิจิทัล และโมเดลนี้มักได้รับความนิยมเป็นพิเศษในหมู่แอพพลิเคชั่น ซอฟต์แวร์และธุรกิจบนโลกอินเทอร์เน็ต
โดยโมเดลนี้เป็นที่นิยมใช้ของบริษัทหรือแบรนด์ต่างๆ ในช่วงแรกของการออกผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ
เนื่องด้วยการนำเสนอบริการพื้นฐานหรือเวอร์ชั่นทดลองแบบฟรีๆ ในช่วงแรกนั้นจะทำให้อุปสรรคในการเข้าใช้งานต่ำลง ทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการเข้าถึงฐานผู้ใช้งานได้กว้างขวางและจะได้มาซึ่งการเติบโตของผู้ใช้งานจำนวนมากในช่วงแรก
แล้วยิ่งในช่วงเริ่มต้นมีผู้ใช้งานมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่ธุรกิจจะสามารถแปลงผู้ใช้งานเวอร์ชั่นฟรีเหล่านั้น มาเป็นผู้ใช้งานที่ยอมจ่ายเงินก็ยิ่งมีมากขึ้นตาม แต่อย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆด้วย
อย่าง Google Drive ของบริษัท Google เป็นธุรกิจ Software as a Service (SaaS) ที่เกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลบนโลกออนไลน์และดิจิทัล เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของโมเดล Freemium ที่ประสบความสำเร็จ
มีหลายบุคลากรในหลากหลายสายอาชีพที่ใช้ Google Drive ในการทำงาน พวกเขาใช้ Google Drive ในการแชร์ข้อมูล แชร์เอกสาร สำรองข้อมูล จัดเก็บไฟล์สำคัญ และอื่นๆ โดยทาง Google Drive จะมีพื้นที่เก็บข้อมูลให้ฟรีที่ 15 GB
แต่นั่นอาจจะไม่เพียงพอสำหรับผู้ใช้งานที่มีไฟล์ขนาดใหญ่ เพราะต้องไม่ลืมว่าในบริบทการทำงานนั้น เรามักจะมีการจัดเก็บหรือสำรองไฟล์ข้อมูลเป็นจำนวนมาก
ซึ่งใครที่ทำงานออฟฟิศหรือทำงานในองค์กรขนาดใหญ่จะเข้าใจสิ่งนี้เป็นอย่างดี ดังนั้นบุคลากรหรือองค์กรเหล่านั้นจึงจำเป็นต้องมีการจ่ายเงินเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูลใน Google Drive ให้กับบริษัท Google
โดยนอกจากข้อดีและจุดแข็งอย่างการเข้าถึงฐานผู้ใช้งานที่กว้างขวางแล้ว ตัวธุรกิจยังได้ข้อมูลที่มีคุณค่าเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานผ่านข้อมูลการใช้งานจากเวอร์ชั่นฟรี ข้อมูลเหล่านั้นสามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการหรือเพิ่มจำนวนธุรกิจดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วให้ครบถ้วนมากขึ้น รวมถึงกำหนดเป้าหมายลูกค้าที่มีโอกาสจะยอมจ่ายเงินให้ธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพดีมากขึ้น
และหากผลิตภัณฑ์หรือบริการเวอร์ชั่นฟรีเหล่านั้น เป็นที่น่าประทับใจหรือสามารถแก้ไขปัญหาให้ผู้ใช้งานได้ดีในระดับหนึ่ง ก็อาจนำไปสู่ความภักดีของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น และผู้ใช้งานที่ภักดีเหล่านั้นอาจกลายมาเป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่ยินดีจะจ่ายเงินให้กับฟีเจอร์เพิ่มเติมของธุรกิจ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ Canva ที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับออกแบบกราฟิกที่ใช้งานง่ายและไม่ซับซ้อนเหมาะสำหรับมือใหม่ แต่ทาง Canva เองก็มีการกักเครื่องมือหรือฟีเจอร์เพิ่มเติมที่สามารถทำให้งานออกแบบกราฟิกของผู้ใช้งานนั้นสวยงามและดูเป็นมืออาชีพมากขึ้นได้ ซึ่งหากต้องการใช้งานเครื่องมือหรือฟีเจอร์เพิ่มเติมเหล่านั้น ก็ต้องมีการจ่ายเงินเพิ่มเติม
แต่ความที่ใช้งานง่ายและไม่ซับซ้อนในการออกแบบงานกราฟิก ซึ่งเป็นการแก้ไข Pain Point ของผู้ใช้งานมือใหม่ที่มักจะรู้สึกว่า การออกแบบงานกราฟิกนั้นยาก ทำให้ผู้ใช้งานมือใหม่ที่ใช้งานแพลตฟอร์ม Canva เวอร์ชั่นฟรีเหล่านั้น เต็มใจที่จะยอมจ่ายเงินให้กับ Canva เพื่อเข้าถึงเครื่องมือหรือฟีเจอร์เพิ่มเติมของแพลตฟอร์ม
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าโมเดลธุรกิจนี้จะไม่มีข้อเสียหรือจุดอ่อน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ยินดีจะจ่ายเงิน แม้ว่าบริการฟรีจะดึงดูดผู้ใช้งานได้เป็นจำนวนมาก แต่โมเดล Freemium ก็ไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้ หากมีเพียงผู้ใช้จำนวนน้อยเท่านั้นที่ยินดีจ่ายเงินสำหรับเครื่องมือหรือฟีเจอร์เพิ่มเติมของธุรกิจ
อีกทั้งอาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ใช้งานฟรีเหล่านั้น ซึ่งรวมถึงการพัฒนาและบำรุงรักษา การให้บริการลูกค้า และการตลาด เพราะหากผู้ใช้งานลดลง โอกาสที่โมเดลธุรกิจนี้จะสร้างรายได้ได้ก็จะลดลงตามไปด้วย
และอาจทำให้ต้องใช้ระยะเวลาที่นานและเงินทุนจำนวนมากในการสร้างธุรกิจ Freemium ที่ทำกำไรได้นั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา