6 พ.ค. เวลา 10:57 • ศิลปะ & ออกแบบ

แฝดสวรรค์ผู้สถิตนิรันดร์บนฟากฟ้า : Castor and Pollux

อันที่จริงยังมีอะไรต่อมิอะไรให้ได้ดูที่พิพิธภัณฑ์คาปิโตลิเนอีกเยอะนะ อย่างเช่น สิ่งของที่ได้มาจากสุสาน ที่บ่งบอกชีวิตของชาวโรมันไว้หลากหลายคน ลงไปดูชั้นใต้ดินแล้วเห็นภาพของเมืองที่มีชีวิตชีวาเปี่ยมด้วยเรื่องราวสุขทุกข์ของมนุษย์เมื่อช่วงหลายพันปีมาแล้ว เรารู้เรื่องพวกเขาจากจารึกต่างๆ และบางทีก็มาจากจากหลุมฝังศพของพวกเขาเหล่านั้น ถูกหยิบยกมาเล่าขานให้เราได้ทราบกันจนถึงวันนี้
ตอนที่ผมออกมาจากพิพิธภัณฑ์นั้น มีความงงเล็กน้อยเพราะตอนแรกเห็นที่มี 2 อาคาร คิดว่าเข้าไปอาคารแรกจะได้เดินต่ออาคารที่สอง แต่พอออกมาได้เราก็มาอยู่ทางออกตึก 2 ไปซะแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ เพราะที่นี่มีอุโมงค์เชื่อม 2 ตึกเข้าด้วยกัน แต่มันแนบเนียนทำให้เราลอดเข้าไปอยู่ในอีกตึก และเดินดูจนพรุนแบบไม่รู้ตัว
ในที่สุดเราก็มาพบกับจักรพรรดิมาร์กุส เอาเรลิอุส อีกครา ก็ต้องขอลาพระองค์ไว้ตรงนี้ แต่คราวนี้เราจะกลับออกไปอีกทิศหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ได้เห็นประติมากรรมบุรุษขี่ม้าคู่หนึ่งเฝ้าบันไดทางลงไป แลดูอ่อนเยาว์และช่างน่าสงสัยว่าลูกใครหนอช่างชวนให้รู้จัก
Castor และ Pollux อยู่คนละข้างของบันได แต่ใครคือ Castor ใครคือ Pollux คนเขียนก็ไม่รู้เหมือนกันแหละ
พ่อหนุ่มสองคนนี้มีนามกรว่าคาสเตอร์ (Castor) และพอลลักซ์ (Pollux) ฟังดูอาจไม่ค่อยคุ้นเคย แต่อันที่จริงพวกเราส่วนใหญ่คงได้รู้จักพวกเขาแล้วแต่อาจไม่ค่อยคุ้นชื่อ ทั้งสองเป็นบุตรชายของพระนางลีดา (Leda) ราชินีของพระเจ้าทินดารูส (Tyndareus) กษัตริย์แคว้นสปาร์ตาของกรีก ซึ่งนอกจากจะมีบุตรชายคือพี่น้องนี่แล้ว ก็ยังมีลูกคนอื่นๆอีก และที่สำคัญคือบุตรีนามว่าเฮเลน
หลายคนคงรู้สึกคุ้น ๆ นะ
ถ้าคุณคิดถึง เฮเลนแห่งทรอย ละก็ ขอบอกว่าใช่เลย เฮเลนคนนี้แหละที่จะเป็นตัวก่อเกิดสงครามมหาวินาศจนจดจำได้หลายพันปีต่อมา ทว่าตอนนี้เราจะไม่ได้เล่าเรื่องนั้น เอาละมาโฟกัสที่สองหนุ่มกันต่อ ขอบอกว่าจริงๆแล้วพี่น้องสองคนนั้น ไม่ใช่พี่น้องแท้ๆ เพราะมีแม่เดียวกันแต่เต่างพ่อ ในขณะคาสเตอร์เป็นบุตรที่เกิดจากกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ แต่พอลลักซ์เกิดจากเทพเจ้าซีอุสซึ่งปลอมตัวอวตารลงมาเป็นหงส์แล้วแอบสมสู่กับนางลีดาจนได้ตัวตนคนนี้ออกมาแหละ
ลีดากับหงส์ ในงานประติมากรรมกรีกโบราณ
แม้ว่าทั้งคู่มักจะถูกสร้างให้ดูเป็นฝาแฝดราวกับจะมาเหมือนกันไปทั้งหมด แต่ DNA นั้นต่างกันมาก อย่าลืมว่าพอลลักซ์นั้นเป็นบุตรของเทพเจ้าชั้นสูง ก็เลยได้คุณสมบัติล้ำค่าที่คาสเตอร์ไม่มี นั่นก็คือความเป็นอมตะที่ถูกถ่ายทอดมาจากผู้พ่อ
ทั้งคู่เป็นพี่น้องที่รักกันมากมายเรื่อยมาด้วยความผูกพันฉันท์พี่น้อง แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเมื่อดังนั้นเมื่อคราวที่เกิดเหตุวิวาทบางอย่างขึ้นทำให้คาสเตอร์ถูกสังหารลง ขณะที่กำลังจะสิ้นใจตาย พอลลักซ์จึงขอให้พ่อของเขาช่วยเหลือโดยการแบ่งปันความเป็นอมตะของเขาให้กับคาสเตอร์
ดั่งนี้ ทั้งสองจึงคงมีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์ และเทพซีอุสก็ได้วางตำแหน่งให้พี่น้องนี้สถิตอยู่ ณ ฟากฟ้าเบื้องบนจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น มนุษย์อย่างเราก็สามารถเฝ้ามองเขาได้ในยามราตรีในรูปของกลุ่มดาว Gemini ที่เราเรียกกันว่ากลุ่มดาวคนคู่ อันเป็นกลุ่มดาวประจำราศีเมถุนนั่นเอง
รูปหนุ่มแฝดตรงบันไดคาปิโตลิเนคู่นี้ ถูกขุดค้นในปี 1562 จากจุดที่เคยเป็นวิหารคาสเตอร์และพอลลักซ์มาแต่เดิม แต่ถ้าใครคิดว่าคู่แฝดสองคนซึ่งเป็นวัยรุ่น สัดส่วนไม่ค่อยจะสง่าผ่าเผย อยากพบเจอในเวอร์ชันที่ดูกล้าแกร่งสมชายกว่านี้ ก็มีให้เห็นได้อีกที่หนึ่งในกรุงโรม เป็นอนุสาวรีย์ข้างน้ำพุ (แต่ว่าไม่ค่อยจะมีน้ำแล้วนะ) แถวบ้านพักประธานาธิบดี ซึ่งผมเองไม่ได้ไปแถวนั้นหรอก จึงมีแต่ภาพเอามาให้ดู
เป็นคู่แฝดกำยำล่ำสัน แกร่งและกร่างวางท่าให้ท่านประธานาธิบดีได้เห็นอยู่บ่อยๆ ท่านผู้ใดเป็นชาวราศีเมถุน จะไปคารวะก็ขอเชิญนะครับ (เอาพวกมาลัย น้ำแดง ไปฝากท่านบ้างเน้อ)
แต่ถ้าใครอยากจะดูเวอร์ชันอ้อนแอ้นนุ่มนวลก็มีให้ดูด้วยนะ อย่างเช่นรูปนี้
ชิ้นนี้อยู่ที่มาดริด
ที่แวร์ซายก็มี
แถมอีกหน่อย เรื่องราวของคุณแม่ลีดาที่ได้หงส์ซีอุสมาเป็นชู้รัก ถูกนำไปใช้ทำงานศิลปะหลายชิ้นแล้ว ยกตัวอย่างมาให้ดูบางส่วน อันนี้เป็นไอคอนยอดฮิตของเทพปกรณัมกรีกอันหนึ่ง
ว่ากันว่าภาพนี้ก๊อปปี้มาจากงานของไมเคิลแองเจโลที่สูญหายไปแล้ว (แต่เราว่าไม่น่าจะใช่ เพราะดูทันสมัยเกินไปหน่อย)
ลีโอนาร์โด ดาวินชี ก็มีผลงานกะเขาด้วยเหมือนกัน
อันนี้ของเซซาน
จะเห็นได้ว่าศิลปินดัง ก็ชื่นชอบแม่นางลีดากันหลายคน และก็ยังมีอีกหลายต่อหลายคนวาดไว้จนบรรยายไม่หวาดไหว
ถ้าคุณได้ไปเห็นรูปผู้หญิงกับหงส์คู่กัน ลองดูดีๆ
อาจเป็นพระนางลีดากับเทพซีอุสก็ได้นะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา