Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
จิด.ตระ.ธานี #ให้ภาพเล่าเรื่อง
•
ติดตาม
7 พ.ค. 2024 เวลา 16:07 • ความคิดเห็น
‘ความเชื่อ’ หรือ ‘ความจริง’ ข้อคิดจากพิธีศพ
ไม่กี่วันก่อน ผมเดินทางไปร่วมพิธีฌาปนกิจคุณแม่ของเพื่อนสนิทสมัย ม.ต้น ส่วนตัวผมจะให้ความสำคัญกับงานศพมากกว่างานมงคลต่างๆ (อาทิ งานแต่ง งานบวช บลาๆ) เพราะรู้สึกว่าเป็นงานที่จริงที่สุดแล้ว โดยธรรมชาติมนุษย์ทุกคนล้วนรักตัวกลัวตาย จนหลายคนลืมเสียสนิทว่า ทุกๆ ครั้งที่มีการ “เกิด” ปลายทางก็คือ “ความตาย” อย่างแน่นอน
บางคนกลัวมาก ถึงขนาดต้องเลี่ยง ห้ามพูดถึง เพราะ “ถือ” ว่าไม่มงคล แต่....ไม่ว่าคุณจะเชื่อจะ “ถือ” อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าใคร...ก็ไม่สามารถหนีพ้นไปจากความตายได้แม้แต่คนเดียว เสียเวลาที่จะเอาความเชื่อนู่นนี่นั่น มาโปะปะแต่งให้สวยหรู แล้วกลั้วคำแย้งว่า “ไม่ๆ กูไม่ตาย”
สำหรับผม “การระลึกถึงความตายในทุกๆ วินาที” กลับให้ความรู้สึกสงบและเป็นมงคลสูงสุดเสียมากกว่า นอกจากจะทำให้เราไม่ประมาทแล้ว ยังสามารถช่วยลดความกระเหี้ยนกระหือรือลงไปได้เยอะ
เพราะท้ายที่สุด ไม่ว่าคุณจะเก็บเกี่ยว...ครอบครองอะไรเอาไว้มากมายแค่ไหน ไม่ว่าสินทรัพย์ เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ หรือบุคคลอันเป็นที่รัก อาทิ ลูก เมีย ผัว ในท้ายที่สุด คุณก็ต้องทิ้ง ทิ้ง ทิ้ง และก็ทิ้งทุกๆ อย่างไว้ข้างหลังอยู่ดี (เข้าทำนองสำนวน “สมบัติผลัดกันชม”) ไม่ต่างอะไรกับเวลาที่คุณเกิดมา ก็มีเพียงตัวเปล่าเปลือยล่อนจ้อนกันมาทั้งนั้น
ปกติงานศพมักมีพิธีกรรมนู่นนี่นั่น แต่สาระสำคัญจริงๆ ก่อนที่จะก่อกำเนิดเป็นพิธีกรรมนั้นๆ ผู้คนกลับลืมเสียสิ้น จนเหลือเพียงแค่การกระทำตามๆ กันมาอย่างนกแก้วนกขุนทอง ซึ่งผมเห็นว่าหลายๆ พิธีกรรม ทั้งเยิ่นเย้อ รกเรื้อ หากสามารถยกเลิกเพิกถอนออก หรือสามารถปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัยได้ จะช่วยประหยัดทั้งเงินและเวลา และอาจได้กระทำในสิ่งที่เป็นสาระประโยชน์มากขึ้น
เมื่อคนตายไม่รับรู้อะไรอีกแล้ว เป้าประสงค์ของพิธีกรรมในงานศพ จึงมีเพื่อ “คนเป็น” เป็นหลัก จริงมั้ยครับ?
“บทสวด อภิธรรม 7 คัมภีร์” คือบทสวดหลักที่พระสงฆ์ใช้สวดศพในพิธีพุทธ แน่นอนว่าพอขึ้นชื่อว่า #อภิธรรม (“อภิ” แปลว่า ยิ่ง พิเศษ เหนือ, “ธรรม, ธรรมะ” หรือคำว่า ธรรมดา มีความหมายเดียวกัน) ย่อมหมายถึง ข้อธรรมที่ลึกซึ้งเป็นพิเศษ อาทิเช่น กล่าวถึง #ขันธ์ห้า ที่ประกอบด้วย 1. รูป 2. เวทนา 3. สัญญา 4. สังขาร 5. วิญญาณ เมื่อประชุมร่วมกันครบทั้ง 5 อย่างนี้แล้ว จึงสมมุติเรียกว่า “สัตว์” (ในคติพุทธคำว่า “สัตว์” ใช้เรียกรวมทั้ง มนุษย์ และอมนุษย์ อาทิ เทวดา พรหม เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน และสัตว์นรก)
คนทั่วไปส่วนใหญ่ ที่ไม่เคยศึกษาหลักธรรมเชิงลึกมาก่อน แม้จะฟังเป็นภาษาไทยก็เข้าใจได้ยากอยู่แล้ว ยิ่งการสวดแบบไม่แปลเลย สวดเป็นบาลีล้วนๆ ก็ยิ่งไม่เข้าใจกันเข้าไปใหญ่ หากใครได้อ่านคำแปลบทสวด “อธิธรรม 7 คัมภีร์” นี้ จะทราบว่า มีจุดประสงค์เพื่อสวดให้กับคนเป็นฟัง (ไม่ใช่ผู้ตาย)
ให้ระลึกว่า ขันธ์ทั้งห้า (ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรา) นี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทั้งบังคับไม่ได้ และไม่เป็นไปตามใจเรา ไม่ควรยึดถือ ธรรมใดที่เป็นกุศลควรปฏิบัติ ธรรมใดเป็นอกุศลควรละเลิกเสีย (เพราะคนตายไม่ว่าจะกุศลหรืออกุศล ก็ทำไม่ได้อีกแล้ว)
แต่..........ว่ากันตามความเป็นจริง คนที่ไปร่วมพิธีศพ นอกจากจะฟังสวดกันโดยไม่รู้ความหมายใดๆ แล้ว อาจคิดเอาเองเป็นตุเป็นตะว่า ฟัง (เฉยๆ) กูก็ได้บุญๆ แล้ว หรือยังมีคนกลุ่มใหญ่ที่มักคิดกันว่า พระ (ต้อง) สวดให้นะ เพื่อผู้ตายจะได้บุญ บุญอะไร? (ไม่ใช่เลย อย่างที่กล่าวมาข้างต้น) บางคนที่ยึดติดกับพิธีกรรมมากๆ จะยิ่งกลัวหนักว่า ถ้าหากไม่มีพระมาทำพิธีสวดให้ ผู้ตายจะไม่ได้บุญ ไปไม่ดี นี่ก็ยิ่งไปกันใหญ่
ใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ผมเห็นว่า...การสวดศพแบบทุกวันนี้เกิดประโยชน์น้อยมาก จนกลายสภาพเหลือเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น คนตายก็ไม่รับรู้อะไรอยู่แล้ว คนเป็นๆ ที่นั่งฟังกันอยู่ (ซึ่งจริงๆ คือกลุ่มเป้าหมายหลัก) ก็ฟังไม่รู้เรื่องอีก ได้แต่คิดว่า ฟังแล้วๆ ได้บุญๆ แล้ว แต่บุญที่ว่า...ได้มานั้นคืออะไร? ก็ตอบไม่ได้ พอพระสวดจบ ก็รับซองไปเท่านั้นรึ? เปรียบไปก็เหมือนกับเราไปเข้าคอร์ส ที่อาจารย์ตั้งใจสอนเป็นภาษาต่างประเทศ แต่เราฟังไม่รู้เรื่อง แล้วเราจะได้วิชาความรู้อะไรกลับมาเล่า?
#บังสุกุล มาจากคำบาลี ปํสุ (อ่านว่า ปัง-สุ) แปลว่า ฝุ่น และคำว่า กุล (อ่านว่า กุ-ละ) แปลว่า เปื้อน, คลุก เมื่อสมาสคำทั้งสองเข้าด้วยกันเป็น ปํสุกุล (อ่านว่า ปัง-สุ-กุ-ละ) จึงแปลว่า “ผ้าที่เปื้อนฝุ่น” หรืออาจหมายถึง “ผ้าสกปรก” ก็ได้
สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าเครื่องนุ่มห่มจากฆราวาส แต่อนุญาตให้เก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้ว ผ้าไม่ใช้แล้วมาใช้ได้ และผ้าชิ้นใหญ่ที่ถูกทิ้ง เหมาะกับการทำจีวร จึงเป็นผ้าห่อศพที่เปรอะเปื้อนไปด้วยน้ำเลือดน้ำหนองส่งกลิ่นเน่าเหม็น ซึ่งเป็นผ้าที่คนทั่วไปหวาดกลัวรังเกียจ (เพราะมองว่าเป็นของผี) โดยภิกษุจะนำผ้านั้นมาซักล้างทำความสะอาด และตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่มต่อไป
จิตรกรรมฝาผนัง ภิกษุกำลังพิจารณาศพ
พระวินัยข้อนี้...ให้หลักคิดอย่างไร อย่างแรกคือ พระพุทธเจ้าต้องการให้ภิกษุเป็นคนสมถะ กินอยู่ง่าย ลดทิฐิมานะ ไม่เบียดเบียนชาวบ้านให้เดือดร้อน ต้องไม่แสดงความรังเกียจผ้าห่อศพที่ชาวบ้านมองว่าเป็นของต่ำ สกปรกและไม่เป็นมงคล แต่ภิกษุกลับยินดีนำมาห่มร่างกาย ถือเป็นอนุสติที่ช่วยลด “มานะ” (ชื่อกิเลส แปลว่า ความถือตัว) อย่างหนึ่ง เมื่อภิกษุยินดีน้อมตัวลงให้ต่ำที่สุด จึงได้รับความเคารพสูงสุดเป็นการตอบแทนเช่นกัน
แต่การบังสุกุลทุกวันนี้กร่อนลงไปจากเดิมมาก จนเหลือเพียงพิธีกรรมเช่นกัน จากผ้าห่อศพที่พระต้องไปดึงเอาจากศพในป่าช้า กลายเป็นผ้าสำเร็จรูปอยู่ในห่อพลาสติก กลายเป็นกิจกรรมที่มีเกียรติ
โดยเจ้าภาพจะเชิญแขกผู้มีเกียรติทั้งหลาย ถือห่อผ้าสำเร็จรูปนั้นมาวางหน้าโลง ทำทีคล้ายกับว่าผ้าสำเร็จรูปนี้เป็นผ้าห่อศพที่ผู้ตายจะอุทิศให้กับพระ จากนั้นจึงเชิญพระขึ้นมากล่าวบทสวดสั้นๆ ว่า “อนิจฺจา วต สงฺขารา........ ไปจบที่ เตสํ วูปสโม สุโข” แล้วถือเอาผ้านั้นกลับออกไปทีละรูปๆ (เจ้าภาพบางรายอาจมีซองแนบให้ด้วย) เป็นอันเสร็จพิธี และผ้าสำเร็จรูปหลายผืนนี้ ก็จะถูกนำกลับมาเวียนใช้ในพิธีศพรายต่อไป
กรณีพิเศษ หากพระที่ขึ้นมารับผ้าบังสุกุลนี้ เป็นระดับพระมหาเถระผู้ทรงสมณศักดิ์ต่างๆ ก็จะยิ่งเชิดหน้าชูตาเจ้าภาพยิ่งขึ้นไปอีก เข้าทำนอง #ยศช้างขุนนางพระ ทำให้คติดั้งเดิมที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ว่าให้พระน้อมตัวลงให้ต่ำที่สุด แม้ผ้าห่อศพที่เปรอะเปื้อนไปด้วยน้ำเลือดน้ำหนองก็ไม่รังเกียจ จึงถูกทำลายลงจนสิ้น
ใช่ว่า....ผมจะไม่เข้าใจยุคสมัย แล้วให้ย้อนยุคกลับไปหาผ้าห่อศพในป่าช้านะครับ ซึ่งยุคนี้มันหาแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว แต่ผมว่าคติดั้งเดิมมันถูกทำให้กร่อนลงไป จนเหลือเพียงพิธีกรรมและประเพณีที่ปฏิบัติสืบๆ กันมานานแล้วเท่านั้น และคำว่า “ประเพณีหรือพิธีกรรม” ที่กระทำสืบๆ กันมาอย่างช้านานนี้แหละ ถึงจะเห็นแย้งอย่างไร ก็คงไปรื้อทิ้งได้ยาก.......
สิ่งสำคัญในงานศพ นอกจากจะเป็นการระลึกถึงผู้ตายเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว สิ่งที่หายไปเกือบหมดก็คือ....การให้สติกับคนเป็นๆ ว่า ความตายนั้นอยู่รอบตัว และใกล้ชิดเรามากกว่าที่คิด สักวันหนึ่ง....เราก็จะได้นอนเป็นศพแบบเดียวกันนี้เลย...ไม่ต่างกัน
งานศพคุณแม่เพื่อนในครั้งนี้ มีพิธีกรรมทุกๆ อย่างครบ ดังที่ผมกล่าวมา และมีการกล่าวถึงประวัติของผู้ตาย ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นการอวยเท่านั้น (ค่อนข้างน่าเบื่อ เพราะมักจะอวยกันเสียยืดยาว แต่...ตรงนี้ผมพอเข้าใจได้ เพราะคงไม่มีใครอยากพูดถึงเรื่องไม่ดีในอดีตของผู้ตาย) แต่ครั้งนี้เพื่อนผมมันมาแปลก เพราะสิ่งที่พูดออกไมค์กลับเป็นเรื่องจริงมากกว่าการอวย เช่น คุณแม่เป็นเด็กกำพร้าและพิการมาแต่กำเนิด (เป็นโปลิโอ) ไม่เคยรู้วันเกิดตัวเอง รู้แค่ปีที่เกิด
ยากจนมากและเติบโตมาได้ด้วยการอุปถัมภ์ของผู้ที่ไม่ใช่พ่อแม่บังเกิดเกล้า และชื่อแรกที่ถูกตั้งคือ “บุญทิ้ง” (แค่ฟังชื่อก็โคตรระทมแล้ว) ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อใหม่ จนได้พบรับกับคุณพ่อ (เสียชีวิตแล้ว) ที่เป็นช่างรับเหมา และร่วมกันก่อร่างสร้างตัวกันมาด้วยลำแข้งจริงๆ จนลูกๆ ทุกคนมีอนาคตที่ดี ลูกถือเป็นดวงใจของแม่ แม่มักจะพูดให้ลูกฟังอยู่เสมอว่า “ชาตินี้แม่เกิดมาใช้กรรม เมื่อไหร่จะใช้หมดเสียที”
ตรงนี้ผมขอเสริมหน่อย เนื่องจากชาวพุทธไทยจำนวนมากมีความเชื่อฝังหัวแบบนี้กันมาก และพยายามโทษทุกๆ อย่าง (ด้วยความทดท้อและพยายามปลอบใจตัวเอง) ว่า “เกิดจากกรรมเก่า” โอเค ตามหลักพุทธ ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่เกินกว่ากรรมไปได้
(พุทธศาสนาไม่มีพระผู้เป็นเจ้า มีแต่หลักที่ว่าด้วยเหตุและผล เพราะสิ่งนี้มี (เหตุ) จึงมีสิ่งนี้ (ผล) ถ้าสิ่งนี้ไม่มี (ไม่มีเหตุ) สิ่งนี้ก็ไม่มีเช่นกัน (ผลไม่เกิด) แต่ความเชื่อฝังหัวข้างต้นมาจาก “#ลัทธิกรรมเก่า” ซึ่งไม่ใช่คำสอนในพุทธศาสนา แต่เป็นคำสอนของเหล่าเดียรถีย์ (นักบวชนอกพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยพุทธกาล) มีทั้งหมด 3 ลัทธิ ดังนี้
1.
อะไรใดๆ ก็ตาม (ทั้งสุขและทุกข์) เป็นเพราะกรรมเก่าที่เคยทำไว้ตั้งแต่ชาติปางก่อน #บุพเพกตวาท
2.
อะไรใดๆ ก็ตาม (ทั้งสุขและทุกข์) เกิดเพราะเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นผู้ดลบันดาล #อิศวรนิรมิตวาท
3.
สิ่งทั้งหลายล้วนไม่มีเหตุและปัจจัย แล้วแต่บังเอิญจะเป็นไป คือลัทธิโชคชะตา #อเหตุวาท
สามลัทธินี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นลัทธิที่ผิด เพราะทำให้คนปราศจาก #ฉันทะ (1 ใน #อิทธิบาทสี่ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสู่ความสำเร็จ ที่เกิดจากการกระทำของตัวเราเอง) จึงไม่มีความเพียรที่จะทำอะไร เพราะเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ ขึ้นอยู่กับตัวการภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำของตัวเราเอง มีอะไรก็ต้องก้มหน้ารับกรรม (เก่า) ไป เพราะเราทำอะไรไม่ได้แล้ว
อ้าว....แล้วที่พุทธสอนว่า #ไม่มีอะไรที่ยิ่งใหญ่เกินกว่ากรรม ล่ะ? มันดูย้อนแย้งกันหรือเปล่า? อธิบาย: คนเราเกิดมา ได้เพศกำเนิดเป็นชายหรือหญิง ได้ครอบครัวที่มีฐานะอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากกรรมในอดีตชาติ แต่พุทธะไม่เคยสอนให้ยอมจำนนกับกรรมเก่า เพราะทุกๆ ที่คนเกิดมา สามารถพัฒนากรรมใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้ และกรรมใหม่นี่แหละจะเป็นตัวกำหนดทิศทางชีวิตของตัวเราเองในอนาคต ไม่ใช่พอมีอะไรไม่เป็นไปดั่งใจ ก็โทษแต่กรรมเก่าร่ำไป จนกลัว งอมืองอเท้า ไม่กล้าทำอะไรอีก
อีกเรื่องนึงที่ผมรู้สึกประทับใจจากงานศพครั้งนี้คือ ก่อนคุณแม่เพื่อนจะเสียชีวิต เพื่อนผมได้พูดออกไมค์ยอมรับตรงๆ ว่า “เพราะความเห็นแก่ตัวของเรา อยากรั้งไว้ ให้แม่อยู่กับเรานานๆ จึงพาแม่กลับไปที่โรงพยาบาล แต่แม่เคยบอกไว้นานแล้วว่า แม่อยากกลับบ้าน” หมายความว่าแม่ต้องการกลับไปตายที่บ้าน และไม่ต้องการการรักษาที่เป็นการยื้อชีวิตโดยไร้ประโยชน์ คือแม่ต้องการตายแบบธรรมชาติมากกว่า
(เพราะการยื้อชีวิตด้วยวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ เป็นการทรมานผู้ป่วยมากกว่า) สุดท้ายเพื่อนจึงตัดสินใจพาแม่ออกจากโรงพยาบาลกลับมาที่บ้าน และได้ดูใจกันเป็นครั้งสุดท้ายแวดล้อมด้วยลูกหลาน
ความตายไม่ได้ไกลตัว ไม่เคยเลือกอายุหรือเพศ ปีที่แล้ว..ญาติพี่น้องผมก็เพิ่งสูญเสียลูกชายในวัยเพียง 20 ปีเศษ การที่ลูกตายก่อนพ่อแม่ (ถ้าใครไม่เคยประสบด้วยตนเอง) คงอธิบายได้ยากว่า....นำความเจ็บปวดทุกข์ทรมานใจมาให้มากน้อยแค่ไหน
ทำให้ผมนึงถึงนิทานเซ็นเรื่อง #คำอวยพรที่ดีที่สุด กล่าวถึงอาจารย์เซ็นชื่อ “เซียนหยา” (仙崖) มหาเศรษฐีนิมนต์ท่านมาเขียนคำอวยพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่วงตระกูล ให้ร่ำรวย เจริญรุ่งเรือง ไม่มีวันอับจนชั่วลูกชั่วหลาน อาจารย์เซียนหยารับปาก แล้วจรดพู่กันลงบนแผ่นกระดาษ เขียนเพียง 3 คำว่า “พ่อตาย ลูกตาย หลานตาย” เมื่อมหาเศรษฐีเห็นข้อความดังกล่าว จึงโกรธจัดและกล่าวตำหนิอาจารย์เซียนหยาว่า ทำไมจึงเขียนถ้อยคำล้อเล่นกันรุนแรงเช่นนี้
อาจารย์เซียนหยาตอบว่า ข้ามิได้ล้อเล่น เพราะความตายเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนต้องพบเจอ ไม่อาจปฏิเสธได้ หากลูกชายสิ้นชีวิตก่อนท่าน ท่านต้องทุกข์ทรมานยิ่งนัก และหากหลานเสียชีวิตก่อนบิดาของเขา ทั้งท่านและบุตรชายของท่าน ยิ่งต้องทุกข์ทรมานอีกนับเท่าพันทวี ตรงกันข้ามหากครอบครัวของท่านต่างสิ้นอายุขัยตามธรรมชาติจากรุ่นสู่รุ่น ตามลำดับที่ข้าได้เขียนไว้ ข้าถือว่าเป็นความสุขความเจริญ เป็นสิริมงคลต่อครอบครัวของท่าน
ความตาย เป็นสัจจะ เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ ไม่ควรพูดถึง หรือน่ากลัวแต่อย่างใด หากว่าตามคติพุทธ จิตสุดท้ายก่อนตายสำคัญที่สุด เพราะมันคือวินาทีสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนในการเคลื่อนภพ (ตายปุ๊บแล้วเกิดปั๊บ คือเกิดทันที ไม่ใช่จิตออกจากร่างแล้ว ลอยละล่องเป็นสัมภเวสีไปแสวงหาที่เกิดอีกรอบ นั่นคือคำสอนในลัทธิอื่น) ส่วนจะได้ภพดีหรือเลวนั้น จะตัดสินจากจิตสุดท้ายก่อนตายนี้ และมันก็จะพาไปที่ชอบๆ จริงๆ นั่นแหละ
เวลายังมีชีวิตอยู่ หากเราหมั่นสร้างกุศลไว้เนืองๆ ถ้ายิ่งรักษาศีลได้มากด้วย (ศีล 5 ถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากๆ ที่ทำให้ “มนุษย์” (แปลว่า “ผู้มีใจสูง”) ยังคงความเป็นมนุษย์อยู่ได้) แต่หากเป็นตรงกันข้าม คือทำแต่อกุศลมาตลอดชีวิต จิตสุดท้ายก่อนตายก็จะสั่งสมแต่กรรมชั่วไว้ เมื่อตาย (เคลื่อนภพ) จะเกิดนิมิต
นิมิตถึงกรรมในอดีตเรียกว่า “กรรมนิมิต” นิมิตถึงที่ที่จะไปเกิดเรียกว่า “คตินิมิต” อย่างเช่น เราชอบตกปลา ก็นิมิตเห็นเบ็ดตกปลา (ซึ่งเป็นเครื่องมือในการกระทำบาป) หรือนิมิตเห็นดอกไม้ธูปเทียน ไม่ได้เห็นพระตรงๆ (คือเห็นเครื่องมือที่เคยประกอบกรรมดี) นิมิตจะคล้ายความฝัน ตอนยังเป็นๆ ถ้าเราไม่สามารถเลือกความฝันได้เช่นไร เวลาใกล้จะตาย เราก็ไม่สามารถเลือกความฝันได้เช่นนั้น แต่มันจะไปตามที่ชอบๆ คือ จิตคุ้นเคยกับการกระทำกรรมแบบไหน มันก็จะให้ผลจากกรรมนั้นขึ้นมาก่อน
เล่าแบบนี้ หลายคนที่ไม่คุ้นเคย ฟังแล้วอาจจะงง และอาจเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ผมมั่วเป่าเนี่ย (ฮา) ไม่ได้มั่วนะครับ ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนมาแบบนี้ แต่หากท่านใด....ที่ไม่เชื่อเรื่องภพชาติ เชื่อว่าตายแล้วสูญ หายแว้บไปเลย นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง
แต่ความเชื่อก็คือเรื่องหนึ่ง ความจริงก็คือเรื่องหนึ่ง และความเชื่ออาจจะไม่ตรงกับความจริงเลยก็ได้ ถ้าไม่เชื่อ....แนะนำว่า ต้องศึกษาให้รู้จริงครับ! ไม่ใช่ “ขู่” ล่วงหน้าไว้ก่อนว่า “ห้ามลบหลู่” ส่วนตัวผมไม่ชอบคำว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” เท่าไหร่ มันดูกวนทรีนนิดๆ และยังไม่ตรงกับวิธีการแสวงหาเหตุและผลตามแบบฉบับของพุทธ
พุทธมีคำสอนเกี่ยวกับความเชื่อ ที่สำคัญมากประโยคหนึ่งคือ “มา สมโณ โน ครูติ” แปลว่า “อย่าเพิ่งเชื่อแม้ว่าผู้นั้นจะเป็นครูของเรา”
ครูที่ท่านว่านี้ ยังหมายถึงรวมไปถึงพระพุทธเจ้าด้วย คำสอนเกี่ยวกับหลักความเชื่อ (อย่าเพิ่งเชื่อ...) นี้มีทั้งหมด 10 ข้อ ถ้าใครสนใจลองเสิร์ชหาคำว่า #กาลามสูตร ดูนะครับ
▸ facebook:
www.facebook.com/jitdrathanee
▸ Youtube:
www.youtube.com/Jitdrathanee?sub_confirmation=1
▸ instagram:
www.instagram.com/jitdrathanee
▸ twitter:
https://twitter.com/jitdrathanee
▸ website:
www.jitdrathanee.com
▸ blockdit:
www.blockdit.com/jitdrathanee
พุทธศาสนา
พิธีกรรม
งานศพ
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เล่าสู่กันฟังนะครับ
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย