10 พ.ค. 2024 เวลา 11:00 • การศึกษา

“ครูสตางค์ปล่อยของ” การเงินจากห้องเรียนเล็ก สู่ภารกิจระดับชาติ

การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นภารกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความสำคัญและผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้ในเชิงป้องกัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะทางการเงิน (financial literacy) ให้กับกลุ่มวัยเรียนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต เพราะเชื่อว่า “อนาคตของประเทศชาติจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับคุณภาพเด็กในวันนี้”
พระสยาม BOT MAGAZINE ขอพาท่านผู้อ่านไปดูจุดเริ่มต้นและการต่อยอดห้องเรียนการเงินบางส่วนจากงาน “ครูสตางค์ปล่อยของ” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์การเรียนรู้ ธปท.
จุดเริ่มต้น “ห้องเรียนการเงิน”
ธปท. ได้ริเริ่มโครงการ “ครูสตางค์” ขึ้นในปี 2566 เพื่อพัฒนาและสร้างเครือข่ายครูแกนนำที่มีประสบการณ์ในการนำความรู้ทางการเงินไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียนจริง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างห้องเรียนการเงินในสถานศึกษาเพื่อสร้างเกราะป้องกันทางการเงินให้กับเด็กไทยและต่อยอดสู่ความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดี (financial well-being) ไปตลอดชีวิต
ครูทุกท่านตั้งใจเข้าร่วมโครงการเพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญของความรู้ทางการเงินและต้องการให้นักเรียนมีความรู้เพื่อเตรียมพร้อมสู่การใช้ชีวิตในอนาคต รวมถึงครูก็ได้รับความรู้ทางการเงินด้วยเช่นกัน
จากการที่ ธปท. จัดอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ และสมรรถนะทางการเงินให้กับครูแกนนำ โจทย์สำคัญของครูทุกคนคือจะนำความรู้ที่ได้รับมาไปถ่ายทอดให้นักเรียนผ่านการสร้าง “ห้องเรียนการเงิน” และบูรณาการกับวิชาของตนเองได้อย่างไร
ต่อยอดความรู้ สู่กิจกรรมในห้องเรียน
ครูแตง เบญญา อนันตประเสริฐ จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา จ.สงขลา หนึ่งในครูที่ต่อยอดมาจากโครงการ Fin. forward “การเงินตระหนักรู้…สู่ New Gen” ของ ธปท. สำนักงานภาคใต้ กับการสร้างห้องเรียนทางการเงินในรายวิชาสังคมศึกษา ซึ่งได้นำหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่มีอยู่แล้วมาปรับเปลี่ยนมุมมองให้เข้ากับบริบทในชีวิตจริงมากขึ้น
แต่เดิมหากพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง เด็ก ๆ จะนึกถึงแค่เกษตรกรรม และมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวเพราะไม่ได้ประกอบอาชีพดังกล่าว แต่ในชีวิตจริงหลักเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข สามารถนำมาใช้กับการเงินประจำวันซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวได้อย่างดี
การเงินใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ลูกศิษย์ของเราจำเป็นต้องมีความรู้ทางการเงินตั้งแต่เด็ก
วิธีการสอนนักเรียนได้รับแรงบันดาลใจมาจากการอบรมความรู้ทางการเงินของ ธปท. ที่ค่อย ๆ ทำให้ตระหนักได้ว่าเรื่องการเงินใกล้ตัวมากกว่าที่คิด บางเรื่องที่อาจละเลยไป เช่น การวางแผนการเงินเผื่อฉุกเฉิน แต่หลังจากอบรมแล้วก็ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาได้และตื่นตัวอยู่เสมอ จึงนำวิธีการเดียวกันนี้มาประยุกต์ใช้กับนักเรียนและได้รับแรงบันดาลใจในการทำกิจกรรมในห้องเรียนมาจากบอร์ดเกม “รู้ก่อน ทำก่อน รวยกว่า” ของ ธปท.
สู่กิจกรรม “Shop เก่ง ระวัง Shock” โดยเป็นการสอนที่เน้นเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่นและทดลองตัดสินใจการวางแผนการเงินของตนเอง เพราะครูมีวิสัยทัศน์ว่าโรงเรียนเปรียบเสมือนกระบะทรายให้เด็กลองผิดลองถูกก่อนออกไปเจอชีวิตจริง
สอดแทรกความรู้ทางการเงินผ่านการต่อยอดอาชีพของชุมชน
ห้องเรียนการเงินในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนระดับประถมศึกษาของ ครูลูกน้ำ ธนวรรณ ต๊ะแก้ว และ ครูไอซ์ เกศราพร ฟองน้อย นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูจากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ซึ่งได้นำความรู้จากการอบรม และกรอบสมรรถนะทางการเงินเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ (financial competency framework) ฉบับร่างของ ธปท. ไปประยุกต์กับการประดิษฐ์เหรียญโปรยทาน เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน
เมื่อประดิษฐ์เสร็จแล้ว เด็ก ๆ จะนำเหรียญโปรยทานไปวางขายในชุมชนและขายออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก “เหรียญโปรยทาน บ้านฟ้าขาว” และนำเงินที่ได้มาคิดต้นทุนและกำไรด้วยตนเอง กิจกรรมนี้มิใช่เพียงเด็ก ๆ เท่านั้นที่ได้รับความรู้ทางการเงินและได้รับประสบการณ์จากการลงทุนในการทำธุรกิจจริง แต่ยังรวมไปถึงคุณครูในโรงเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชนที่มาร่วมกิจกรรมด้วย
ความรู้ทางการเงิน เพลิดเพลินทั้งเรียนและเล่น
ครูปอนด์ ณชพล ฐานะอุดมมงคล และ ครูปิง วชิระ สามกองาม จากโรงเรียนสตรีวิทยา ครูผู้เปิด “วิชาห้องเรียนทางการเงิน” และ “วิชาทักษะการเงิน” เน้นให้ความรู้ทางการเงิน การตระหนักรู้ถึงการวางแผนการเงิน การวางแผนอนาคต การลงทุน ภัยทางการเงิน และอื่น ๆ ซึ่งเป็นการผสานทฤษฎีและกิจกรรมบูรณาการเข้าด้วยกัน รวมถึงมีการวัดและประเมินผลร่วมด้วย
นอกจากนี้ยังมี “ชุมนุมการเงิน” ให้กับนักเรียนที่สนใจและในอนาคตจะเปิดวิชาทางการเงินแบบเลือกเสรีให้กับนักเรียนเพิ่มเติม รวมถึงโรงเรียนมีแผนพานักเรียนไปเปิดประสบการณ์นอกห้องเรียน ศึกษาดูงานหรือนิทรรศการต่าง ๆ ที่ ธปท. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้เห็นประสบการณ์จริง ข้อมูลจริง และเกิดแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้มากยิ่งขึ้น
เสียงสะท้อนจากผลผลิตของห้องเรียนการเงิน
เมื่อ “เด็กคืออนาคตของชาติ” การฟังเสียงสะท้อนจากเด็กจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องเปิดใจรับฟัง จากผลสำรวจของ Rocket Media Lab ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ในวันเด็กแห่งชาติปี 2567 พบว่าเด็กอยากเรียนวิชาการเงินและการลงทุนมากที่สุด เราลองมาฟังมุมมองของผู้เรียนจริงในห้องเรียนการเงินของครูสตางค์กันบ้าง
จากการเรียนการสอนในช่วงนำร่องของโครงการครูสตางค์ปี 2566 ที่ผ่านมา นักเรียนที่ได้เข้าร่วมห้องเรียนการเงินชอบทั้งความรู้ที่ได้รับ กิจกรรมที่ได้ทำ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเงินในชีวิตและตระหนักได้ว่าการเงินเป็นเรื่องใกล้ตัว อีกทั้งยังสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องการเงินทั้งจากห้องเรียนและหาความรู้เพิ่มเติมเองมากขึ้น
ต่อยอดครูสตางค์สู่การศึกษาไทย ก้าวต่อไปจากความร่วมมือ
จากความสำเร็จของโครงการครูสตางค์ในปี 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ ธปท. เดินหน้าขยายจังหวัดนำร่องโครงการครูสตางค์เพื่อให้เข้าถึงครูและนักเรียนได้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนสำคัญในการเดินหน้าโครงการนี้ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ ตลท. ที่คอยสนับสนุนและร่วมมือกันในการทำโครงการนี้ สู่ก้าวต่อไปในการผลักดันให้การศึกษาไทยเกิดห้องเรียนการเงินมากขึ้น เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับเด็กไทย
ครูสตางค์ ใคร ๆ ก็เป็นได้
หากครูท่านใดที่อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้วเกิดแรงบันดาลใจอยากนำความรู้ทางการเงินไปส่งต่อให้นักเรียนของตนเองบ้าง แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มห้องเรียนการเงินอย่างไรดี ทั้งด้านความรู้และกิจกรรมที่จะนำไปใช้สอน หรือยังมีความลังเลว่าจะทำดีไหม จะทำได้ไหม ครูที่เข้าร่วมโครงการแล้วอยากบอกท่านว่า…
สุดท้ายนี้ ธปท. ขอเชิญชวนทุกท่านรับชมตัวอย่างและแนวทางการทำห้องเรียนการเงินผ่านช่องทาง “สตางค์ School” (https://www.bot.or.th/th/satang-story/satang-school.html) ในเว็บไซต์ ธปท. และขอเป็นกำลังใจให้ครูทุกท่านในการทำห้องเรียนการเงินที่เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ทางการเงินให้กับเด็กไทย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา