5 ก.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

แก้หนี้ครัวเรือนเชิงรุก ปลูกฝังความรู้ สู่ความยั่งยืน

“หนี้ครัวเรือน” เป็นความกังวลของหลายภาคส่วนว่าหากไม่ได้รับการแก้ไข อาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจและสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว ฉะนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” จึงได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง
1
พระสยาม BOT MAGAZINE จึงอยากหยิบเอาหนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจในงาน Money Expo BANGKOK 2024 มหกรรมการเงินกรุงเทพ ครั้งที่ 24 นั่นก็คือ การเสวนาในหัวข้อ “หนี้ครัวเรือน” โดยคุณอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน มาเล่าให้ฟัง โดยมีคุณขวัญชนก วุฒิกุล พิธีกรรายการ “ทีเด็ดลูกหนี้” เป็นผู้ชวนคุยอย่างออกรส
Q: จริง ๆ แล้ว สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยสาหัสมากแค่ไหน
A: ระดับหนี้ครัวเรือนที่เป็นจุดที่ควรเฝ้าระวังจากการศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) อยู่ที่ไม่เกิน 80% ของจีดีพี เนื่องจากหากเกินระดับนี้ภาระหนี้ที่พอกพูนจะส่งผลลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งมากกว่าผลบวกต่อการเพิ่มการบริโภคในระยะสั้นเสียอีก
ฉะนั้น หนี้ครัวเรือนไทยที่ขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนมาอยู่ที่กว่า 91% ต่อจีดีพี จึงถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง และมีผลโดยตรงต่อสภาพคล่องในมือของประชาชนที่จะนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงผลกระทบต่อศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าด้วย
Q : แล้วทำไมคนไทยถึงเป็นหนี้กันเยอะมาก
 
A : สาเหตุในการเป็นหนี้ของแต่ละคนแตกต่างกันไป โดยอาจเกิดจากความจำเป็นเฉพาะหน้าเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดคิด เช่น ตกงาน เจ็บป่วย ควบคู่กับคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมเผื่อฉุกเฉินในระดับที่เพียงพอ
1
จากความร่วมมือในการสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ ธปท. แสดงให้เห็นว่ามีคนไทยเพียง 22.4% เท่านั้นที่มีเงินออมเพียงพอสำหรับรองรับค่าใช้จ่าย 6 เดือนขึ้นไป และมีเพียง 15.7% ที่สามารถเก็บออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณได้สำเร็จตามที่วางแผนไว้
เพราะฉะนั้น การปลูกฝังพฤติกรรมการออมตั้งแต่อายุยังน้อยจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้คนไทยมีความมั่นคงทางการเงินและพึ่งพาการกู้หนี้ยืมสินน้อยลงในอนาคต
Q : แบงก์ชาติมีบทบาทในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างไร
 
A : การเริ่มต้นที่ดีของการแก้หนี้ครัวเรือนก็คือ การเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลของแบงก์ชาติ เราพบว่าควรโฟกัสไปที่ 4 กลุ่มหลัก นั่นคือ (1) คนที่ไปต่อไม่ไหวเพราะ “หนี้เสีย” (2) คนที่เดินวนเวียนอยู่กับ “หนี้เรื้อรัง” ปิดจบไม่ได้เสียที (3) “หนี้ใหม่” ที่อาจซ้ำเติมปัญหาในอนาคต และ (4) “หนี้นอกระบบ” ที่ซ่อนอยู่ในสังคมมาอย่างยาวนาน
แบงก์ชาติในฐานะผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลสถาบันการเงิน ให้ความสำคัญกับ “การคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้” มาโดยตลอด เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับสิทธิขั้นต่ำอย่างเหมาะสม ดังนั้น ภายใต้แนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งได้เริ่มไปแล้วเมื่อต้นปี 2567 เราจึงได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ที่สำคัญก็คือ “การปรับโครงสร้างหนี้”
แบงก์ชาติจึงได้กำหนดให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ต้องเสนอการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่แสดงอาการจ่ายหนี้ไม่ไหวหรือเริ่มผิดนัดชำระหนี้ (บนพื้นฐานว่าต้องเป็นทางเลือกที่ลูกหนี้สามารถจ่ายคืนไหว) เพราะเรามองว่าเป็นสิทธิ์ที่ลูกหนี้ควรได้รับตั้งแต่ก่อนที่จะกลายเป็นหนี้เสีย นอกจากนี้ สำหรับคนที่เคยปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังกลับมาเป็นหนี้เสียอีก แบงก์ชาติก็กำหนดให้เจ้าหนี้ทำการเจรจาอีก 1 รอบ เพื่อให้ลูกหนี้มีสิทธิ์ในการปรับโครงสร้างหนี้รวมอย่างน้อย 2 ครั้ง
ทั้งนี้ แบงก์ชาติมีการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเข้าไปดูข้อมูลว่าคนที่เป็นหนี้เสียรายใหม่เคยได้รับการเสนอปรับโครงสร้างหนี้ก่อนหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่าประกาศที่ออกไปได้ถูกนำไปปฏิบัติและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
อีกมาตรการสำคัญก็คือ “การแก้หนี้เรื้อรัง” ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นจากการที่เราเห็นสัญญาณของหนี้ที่พอกพูนจากการจ่ายแค่ขั้นต่ำ (3% ของยอดหนี้ทั้งหมด) มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกหนี้บัตรกดเงินสดที่อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง (อยู่ที่ 25%) ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน ก็คือ ลูกหนี้ที่มีหนี้ 15,000 บาท หากจ่ายแค่ขั้นต่ำ 450 บาท ไปเรื่อย ๆ จะต้องใช้เวลาถึง 18 ปี ถึงจะปิดจบหนี้ได้
ภายใต้มาตรการแก้หนี้เรื้อรังนี้ ลูกหนี้จะยังคงสามารถจ่ายหนี้เท่าเดิมได้ โดยเจ้าหนี้ต้องลดดอกเบี้ยให้เหลือไม่เกิน 15% ตามเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนดไว้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถปิดจบหนี้ให้ได้ภายใน 5 ปี ซึ่งก่อนที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้ ทีมงานของแบงก์ชาติก็ได้ลงไปตรวจสอบความพร้อม ทั้งเรื่องระบบฐานข้อมูล เอกสาร และการให้บริการ อย่างเช่น การสุ่มตรวจคุณภาพการตอบข้อซักถามของคอลเซนเตอร์และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ลูกหนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ตามที่กำหนดไว้ในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา
1
Q: ในส่วนของลูกหนี้ มีแผนการดำเนินการอย่างไร
 
A : การแก้หนี้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของเจ้าหนี้ อย่างเช่น การโฆษณาสินเชื่อที่ต้องบอกข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา และไม่ทำให้คนเข้าใจผิด แต่เพียงเท่านั้นคงไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นก็คือ “วินัยของลูกหนี้”
การสร้างรากฐานที่ดีให้กับคนไทย จึงเป็นสิ่งที่เราผลักดันมาต่อเนื่อง โดยแบงก์ชาติได้ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอนที่จะสามารถช่วยสร้างพฤติกรรมทางการเงินที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ
อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ภายใต้กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการขับเคลื่อนการยกระดับทักษะทางการเงินให้สอดคล้องกับสมรรถนะทางการเงิน (financial literacy competency) ของนักเรียนในแต่ละช่วงวัยด้วย
ยกตัวอย่างเช่น หลักสูตรวิชาคณิตศาสตร์ ที่ในบ้านเรามักตั้งโจทย์การบ้านเกี่ยวกับการซื้อ เช่น แม่ให้เงิน 100 บาท เอาไปซื้อส้ม 30 บาท ซื้อกล่องดินสออีก 40 บาท จะเหลือเงินกี่บาท แต่หากไปดูของต่างประเทศจะเห็นว่ามีการสอดแทรกเรื่องการออมเข้ามา เช่น แม่ให้เงิน 100 บาท เก็บไว้ไปเที่ยวช่วงปิดเทอม 40 บาท เก็บเงินไว้ซื้อของเล่นอีก 20 บาท จะเหลือเงินเท่าไหร่ ซึ่งจะช่วยปลูกฝังให้เด็ก ๆ รู้ว่าควรเก็บออมก่อนแล้วจึงค่อยนำเงินที่เหลือไปใช้จ่าย (ตามสมการที่ว่า รายได้ - เงินออม = เงินที่ใช้จ่าย)
จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่า จริง ๆ แล้ว การสร้างทักษะทางการเงินไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ทั้งหมด แต่สามารถสอดแทรกเนื้อหาหรือเพิ่มเครื่องมือและสื่อการสอนเข้าไปในวิชาที่มีอยู่เดิมได้
นอกจากนี้ ในปี 2566 แบงก์ชาติยังได้มีโครงการ “ครูสตางค์” ขึ้นมา เพื่อช่วยพัฒนาความรู้ทางการเงินและทักษะกระบวนการเรียนรู้ที่จำเป็นให้กับกลุ่มคุณครู เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการนำไปสอนและประยุกต์ใช้ในห้องเรียนจริง ซึ่งคุณครูท่านใดที่มีความสนใจ สามารถเข้าร่วมโครงการ “ครูสตางค์” กับ ธปท. หรือสามารถนำสื่อการสอนและตัวอย่างการสร้างห้องเรียนการเงินที่เราได้รวบรวมเอาไว้แล้วบนเว็บไซต์ของแบงก์ชาติ ได้ที่...
Q : ช่วงหลังๆ มานี้ ได้ยินคำว่า “หมอหนี้” บ่อย ๆ โครงการนี้ต้องการตอบโจทย์อะไร
 
A : เพื่อช่วยคนที่กำลังเครียดและมืดแปดด้านกับปัญหาทางการเงิน เราจึงได้ริเริ่ม โครงการ “หมอหนี้เพื่อประชาชน” ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถโทรศัพท์เข้ามาเพื่อปรึกษาและขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้และประสบการณ์ได้ง่าย ๆ โดยผู้ที่ต้องการขอคำปรึกษายังสามารถเข้าไปกรอกข้อมูลรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาระหนี้ บนเว็บไซต์เพื่อให้หมอหนี้ช่วยวิเคราะห์ปัญหาและความสามารถในการชำระหนี้ให้
ยกตัวอย่างเช่น ลูกหนี้ที่มีหนี้นอกระบบ ที่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยสูง ๆ และต้องกู้หนี้ใหม่โปะหนี้เก่าอยู่เรื่อย ๆ นั้น หมอหนี้ก็จะแนะนำให้ลูกหนี้ลองดูว่าสามารถรวมหนี้ทั้งหมดเข้ามาอยู่ในระบบได้หรือไม่ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็มีโครงการช่วยเหลือให้สินเชื่อเพื่อให้นำเงินก้อนไปปิดหนี้นอกระบบและย้ายหนี้เข้ามาอยู่ในระบบแทน
นอกจากนี้ ปัจจุบันแบงก์ชาติยังอยู่ระหว่างการจัดทำหลักสูตรเพื่อสร้างหมอหนี้เพิ่มทั่วประเทศ โดยจะร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงานเพื่อขยายเครือข่ายหมอหนี้ให้สามารถเข้าถึงคนในวงกว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
สุดท้ายนี้ อยากฝากลูกหนี้ที่กำลังมีปัญหาว่า อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยรอจนปัญหาบานปลายและกลายเป็นประวัติเสีย สามารถโทรมาปรึกษาหมอหนี้ได้ที่ 1213 แล้วต่อ 99
สำหรับพี่น้องที่อยู่ในต่างจังหวัด สามารถมาหาความรู้และปรึกษาหมอหนี้แบบตัวต่อตัวได้ที่บูธของแบงก์ชาติ ในงาน Money Expo 2024 มหกรรมการเงินกรุงเทพ ครั้งที่ 24 ที่จะจัดขึ้นที่ต่างจังหวัด (หาดใหญ่ อุดรธานี และเชียงใหม่) ได้ แล้วมาพบกันค่ะ
เรื่อง : กองบรรณาธิการ วารสารพระสยาม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา