Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
19 มิ.ย. 2024 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เปิดประสบการณ์ตรงในการแก้หนี้กับโครงการของแบงก์ชาติ
“การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด” เพราะบางครั้งการได้มาซึ่งโอกาสต่าง ๆ อาจจำเป็นต้องกู้ยืม แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือการบริหารจัดการหนี้ให้เป็น เพราะหากไม่สามารถจ่ายหนี้ตามกำหนดได้ ท้ายที่สุดอาจกลายเป็น “หนี้เสีย” ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตทางการเงินอย่างมาก ดังนั้นหากเริ่มเห็นสัญญาณว่าไม่สามารถจัดการหนี้ได้ หรือหนี้ที่มีกลายเป็นหนี้เสียไปแล้ว สามารถเข้าร่วมโครงการกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้
ทั้ง “โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน” ที่ให้คำปรึกษาแนวทางแก้หนี้รายบุคคล “โครงการทางด่วนแก้หนี้” ช่องทางเสริมที่ ธปท. เป็นตัวกลางรับแจ้งการขอรับความช่วยเหลือแก้ไขหนี้จากประชาชนไปยังสถาบันการเงินเจ้าหนี้ และ “โครงการคลินิกแก้หนี้” ที่จะเสนอการแก้ไขหนี้เสียที่เกิดจากบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน
จากการดำเนินงานของ ธปท. ที่ผ่านมา ทำให้ได้เข้าใจและเข้าถึง รวมทั้งช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีความเดือดร้อนจำนวนมาก และได้บทเรียนจากหลายกรณีศึกษา นำไปสู่การปรับปรุงนโยบายและมาตรการที่ดียิ่งขึ้น และจะศึกษาและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต
พระสยาม BOT Magazine ขอพาท่านผู้อ่านไปดูกรณีศึกษาจากลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อส่งต่อพลัง ความหวัง และแรงบันดาลใจในการแก้ไขปัญหาหนี้
ประสบการณ์ชีวิตพลิกผัน
พนักงานบริษัทเอกชนรายหนึ่งเผชิญปัญหาการเงินจากช่วงโควิด 19 และด้วยความชะล่าใจในการบริหารจัดการเงิน จึงนำไปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต จากเดิมเงินเดือน 150,000 บาท (เงินเดือนค่อนข้างสูง) ใช้จ่ายอย่างสบายไม่ติดขัด บัตรเครดิตก็ชำระเต็มจำนวนเสมอ แต่ช่วงโควิด 19 เงินเดือนลดลงจากเดิมมากเหลือเพียง 55,000 บาท (ประมาณ 1 ใน 3 จากที่เคยได้รับ)
แต่การใช้ชีวิต พฤติกรรมการใช้จ่ายยังคงเหมือนเดิม แม้เงินที่ได้รับจะไม่เพียงพอแต่ก็ใช้จ่ายผ่านเงินออมที่มีอยู่และบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอย่างสบายใจ เมื่อเวลาผ่านไปหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีเงินไม่เพียงพอที่จะชำระแม้แต่ขั้นต่ำของบัตรเครดิต แม้ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป
ท่านผู้อ่านอาจเกิดคำถามว่า เงินเดือนก็สูง ช่วงโควิด 19 ระบาดหนักก็ไม่กี่ปี จะเป็นหนี้สักเท่าไหร่กัน? คำตอบคือลูกหนี้รายนี้เป็นหนี้จากบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลจากเจ้าหนี้ 7 ราย จำนวน 10 บัญชี รวม 2,000,000 บาท และต้องผ่อนขั้นต่ำ 56,000 บาทต่อเดือน
จุดเปลี่ยนสำคัญคือการเข้าร่วมโครงการ “ทางด่วนแก้หนี้” และ “หมอหนี้เพื่อประชาชน” เมื่อได้ปรึกษาและได้รับคำแนะนำของหมอหนี้ให้ติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ เปลี่ยนทรัพย์เป็นเงินสด ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต จัดสรรเงินรายเดือน และหารายได้เสริม จึงแก้ปัญหาตามคำแนะนำโดยเริ่มจากการติดต่อเจ้าหนี้ทุกแห่งเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้สามารถชำระขั้นต่ำต่อเดือนได้จริงตามสถานการณ์ทางการเงินที่เปลี่ยนไป
ทำให้เหลือยอดชำระ 22,000 บาทต่อเดือนในปีแรก หลังจากนั้นปรับขึ้นเป็น 30,000 บาทต่อเดือน จากเดิมที่ต้องชำระขั้นต่ำทั้งหมดรวม 56,000 บาทต่อเดือน และได้ทำตามคำแนะนำอื่น ๆ ของหมอหนี้ จึงสามารถบริหารเงินเดือนให้ชำระหนี้และใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้
หนี้เสีย “คลินิกแก้หนี้” เป็นอีกที่ที่ช่วยได้
เมื่อภาระ สิ่งจำเป็น และความต้องการของแต่ละคนไม่เท่ากัน ลูกหนี้รายนี้จึงเป็นหนี้ ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต และหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล รวม 10 บัญชี แต่มีรายได้เพียง 34,000 บาทต่อเดือน ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย แต่ก็เลือกที่จะใช้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในการเดินไปข้างหน้ามาตลอด กระทั่งวงเงินเต็มทุกบัตร หนี้รวมทั้งหมดประมาณ 1,700,000 บาท เฉพาะหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
ยอดรวมกว่า 450,000 บาท ยอดจ่ายขั้นต่ำอยู่ที่ 22,000 บาท ยังไม่รวมหนี้บ้านและรถที่ต้องจ่าย จึงไม่สามารถชำระบางบัตรเครดิตและบางสินเชื่อได้ตามกำหนด และนำไปสู่การเป็น “หนี้เสีย” 3 ใน 10 บัญชี จึงตระหนักถึงผลเสียที่จะตามมาจากการเป็นหนี้เสีย และต้องการหาวิธีแก้ไข
จุดเปลี่ยนสำคัญของลูกหนี้ท่านนี้คือ การสมัครเข้าร่วม “โครงการคลินิกแก้หนี้” เนื่องจากมีคุณสมบัติตรงกับที่โครงการระบุไว้ หลังผ่านขั้นตอนต่าง ๆ จนได้เข้าร่วมโครงการก็ได้รับการเปลี่ยนจากหนี้หมุนเวียนให้เป็นหนี้แบบมีระยะเวลา ทำให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจาก 16-25% ต่อปี ลดลงเหลือ 3-5% ต่อปี ขยายระยะเวลาผ่อนเป็นสูงสุด 10 ปี
ชำระหนี้เสีย 3 ใบ ด้วยขั้นต่ำเพียง 2,500 บาทต่อเดือน เมื่อรวมกับหนี้อื่น ๆ แล้วยังมีกำลังพอที่จะชำระหนี้ทั้งหมดได้ และเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต วางแผนการเงิน ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ไม่ก่อหนี้ใหม่หากไม่ฉุกเฉิน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ทำให้สามารถก้าวผ่านสถานการณ์หนี้เสียไปได้ และมีเงินเพียงพอในการใช้ชีวิตประจำวัน
เหตุการณ์ของลูกหนี้ 2 รายนี้ เป็นเพียงอีกหนึ่งตัวอย่าง ที่แสดงให้เห็นว่าการบริหารจัดการหนี้ที่ผิดทาง อาจก่อให้เกิดผลเสียตามมา แต่ปัญหาหนี้ย่อมมีทางออก เมื่อมีปัญหาหนี้ ไม่รู้จะแก้อย่างไร ติดต่อ “ทางด่วนแก้หนี้” “หมอหนี้เพื่อประชาชน” และ “คลินิกแก้หนี้”
เรื่อง : ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน
เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ วารสารพระสยาม
เศรษฐกิจ
การเงิน
การลงทุน
บันทึก
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เจอหนี้ แก้หนี้
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย