18 พ.ค. เวลา 01:00 • สุขภาพ

ข้อแนะนำ การกายภาพบำบัดหลังเป็นสโตรก ในระยะเฉียบพลัน

ความพิการที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองนั้นส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย แพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทำกายภาพบำบัด เพราะการทำกายภาพบำบัดมีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ ลดภาระพึ่งพาต่อผู้อื่นน้อยที่สุด ซึ่งนักกายภาพบำบัดจะกำหนดกิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป
การกายภาพบำบัดหลังการรักษาในระยะเฉียบพลัน พบว่ามีประสิทธิภาพและเห็นผลดีที่สุดอยู่ในช่วง 6 เดือนแรก หรือที่เรียกกันว่า GOLDEN PERIOD
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์
หลังจากมีอาการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และพ้นจากช่วงอาการวิกฤตมาแล้ว จึงต้องเร่งให้การรักษาเพื่อกระตุ้นเซลล์สมองให้กลับมาทำงานและสามารถสั่งให้ร่างกายที่ผิดปกติกลับมาทำงานได้ใหม่ โดยแบ่งเป็นสามช่วง คือ ระยะเฉียบพลัน ระยะฟื้นตัว และระยะทรงตัว
- ระยะเฉียบพลัน -
เป็นการรักษาและเฝ้าระวังในระยะ 1-2 สัปดาห์ การบำบัดฟื้นฟูในช่วงนี้ จะเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยยังไม่สามารถช่วยตนเองได้ ในขณะที่ผู้ป่วยยังนอนอยู่บนเตียง ภายหลังจากที่ล้มป่วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
  • 1.
    ป้องกันการหดตัวของกล้ามเนื้อและการยึดติดของข้อต่อ
  • 2.
    ป้องกันและลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น แผลกดทับ จากการนอนนาน ภาวะสำลักอาหาร โรคปอดอักเสบ เป็นต้น
การฟื้นฟูในช่วงนี้เพื่อให้ผู้ป่วยสูญเสียพละกำลังไปน้อยที่สุด รวมถึงการทำให้ผู้ป่วยเสียความเป็นตัวเองให้น้อยที่สุด โดยแพทย์จะทำการประเมินอาการของผู้ป่วยด้วยการทดสอบ การตอบสนองของร่างกาย จากนั้นจึงวางแผนร่วมกับสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ออกแบบโปรแกรมการรักษาให้ตรงจุดของอาการผู้ป่วย เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
- ระยะฟื้นตัว -
เป็นการเร่งให้การรักษาเพื่อกระตุ้นให้เซลล์สมองข้างเคียงของส่วนที่ตายไป เร่งกลับมาทำงานและสามารถสั่งให้ร่างกายที่ผิดปกติกลับมาทำงานได้ใหม่ ภายในช่วงเวลา 3-6 เดือน
โดยโปรแกรมการรักษา ควรต้องรวมศาสตร์หลายแขนงเข้าด้วยกัน เช่น แพทย์ด้านสมองและระบบประสาท นักกายภาพ นักโภชนาการบำบัด การผสมผสานในการรักษาเหล่านี้ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาในส่วนที่ผู้ป่วยเป็น และยังช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติหรือใกล้เคียงปกติ อาการของผู้ป่วยในช่วงนี้จะเริ่มทรงตัว และสามารถนั่งเป็นเวลานานๆได้ จึงจะเริ่มทำการบำบัดฟื้นฟูที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือแผนกกายภาพบำบัดเฉพาะทาง
- ระยะทรงตัว -
หลังจากพ้นระยะฟื้นตัว โดยทั่วไปผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการฟื้นฟูที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงแรกภายหลังจากที่ล้มป่วยใหม่ๆ แต่ในทางตรงกันข้าม หากสมรรถนะใดไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติได้ในช่วงนี้ ก็มีโอกาสสูงที่อาการบกพร่องพิการนั้นจะเหลือติดตัวไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยจะต้องทำการบำบัดต่อเนื่องเพื่อรักษาอาการบกพร่องดังกล่าวไม่ให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
ผลของการทำกายภาพบำบัดนอกจากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติแล้ว ยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยได้อีกด้วย
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำเป็นต้องเริ่มการฝึกกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูร่างกายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งมักจะเริ่มต้นที่โรงพยาบาล และต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว ยิ่งทำเร็ว ยิ่งทำเยอะ ผลลัพธ์ยิ่งดีค่ะ
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.udeemeesuk.com
โฆษณา