28 พ.ค. เวลา 10:05 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

"Whales talk" นักวิจัย MIT ไขรหัสภาษา "วาฬ" ด้วย AI

"ภาษา" รูปแบบหนึ่งของการสื่อสาร หนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำ องค์ความรู้และทำให้เราแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตสายพันธ์อื่นบนโลกใบนี้ ปัจจุบันเชื่อว่ามนุษย์เราเป็นเพียงสายพันธ์ุเดียวที่ใช้ภาษาในการสื่อสารระหว่างกัน
ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางสายพันธ์ุเราพบพฤติกรรมที่มีการใช้เสียงในการสื่อสารกับสมาชิกในฝูงหรือแม้แต่สื่อสารกับสายพันธ์ุอื่น ๆ แต่ก็เป็นการสื่อสารเบื้องต้น เช่นการหาคู่ เตือนภัย ประกาศอาณาเขต ตัวอย่างเช่น ฝูงลิง เมียร์แคต สิงโต
ที่กล่าวมานี่คือสัตว์บก แต่ลึกลงไปในทะเลเหล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่าง วาฬ โลมา เราก็รู้ว่าพวกมันมีการใช้เสียงในการสื่อสารด้วยที่พวกมันอาศัยอยู่ในน้ำการสื่อสารด้วยเสียงนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าบนบกเพราะเสียงเคลื่อนที่ผ่านน้ำได้ดีกว่าอากาศ
วาฬหัวทุย(Sperm whale) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถือครองสถิติสิ่งมีชีวิตที่มีน้ำหนักสมองมากที่สุดในโลก
เหล่านักวิทยาศาสตร์มีความพยายามในการไขรหัสรูปแบบการสื่อสารของเหล่า วาฬ และโลมามาอย่างยาวนาน มีงานวิจัยที่ศึกษาและสรุปว่าพวกโลมานั้นมีรูปแบบการสื่อสารที่ซับซ้อนไม่ต่างจากภาษาที่เราใช้สื่อสารกัน
รวมถึงเคยมีการนำวาฬและโลมามาฝึกเพื่อให้พวกมันสามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้ โดยเฉพาะด้วยจุดมุ่งหมายทางการทหาร เช่นการฝึกโลมาสายลับ
ซึ่งล่าสุดก็มีงานวิจัยของทีมนักวิจัยจาก MIT กับการศึกษาข้อมูลเสียงที่ใช้สื่อสารกันระหว่างครอบครัววาฬหัวทุยซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณทะเลคาริเบียนตะวันออก จุดมุ่งหมายเพื่อศึกษารูปแบบการสื่อสารที่พวกมันใช้
สารพัดเซนเซอร์ที่ใช้บันทึกเสียงสื่อสารและข้อมูลอื่น ๆ ของครอบครัววาฬจนได้ชุดข้อมูลเสียงกว่า 9,000 ไฟล์เสียงเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์รูปแบบภาษาวาฬ
จากข้อมูลเสียงกว่า 9,000 ไฟล์เสียงของการสื่อสารกันในครอบครัววาฬที่นำมาใช้วิเคราะห์รูปแบบภาษาวาฬโดยอาศัย AI ที่พัฒนาโดย Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory(CSAIL) และทีมโปรเจค Cetacean Translation Initiative(CETI)
ซึ่งไม่ใช่แค่ข้อมูลเสียงเท่านั้น การเก็บข้อมูลนั้นรวบรวมทั้งในรูปแบบวีดีโอ ข้อมูลพฤติกรรม และสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ครอบครัววาฬอาศัยอยู่ ทั้งอุณหภูมิน้ำ ความลึก ตำแหน่งของฝูงปลาที่เป็นแหล่งอาหาร
เวลาวาฬ 2 ตัวคุยกันเราก็ต้องแยกแยะเสียงก่อนว่าเสียงไหนเป็นของใคร ก่อนที่จะจำแนกแยกประเภทของรหัสเสียงในแต่ละข้อความ
โดยเสียงที่พวกวาฬคุยกันนั้นจะฟังดูคล้ายเสียงคลิ๊กที่มีความถี่แตกต่างกัน และในรูปแบบที่แตกต่างกันนี้แหละที่เหล่านักวิทยาศาสตร์พยายามจะไขรหัสมาอย่างยาวนาน
ผลที่ได้จากการวิเคราะห์พบว่าเสียงที่พวกมันใช้สื่อสารกันนั้นมีรูปแบบซับซ้อนที่เกิดจากการผสมกันของจังหวะการปล่อยเสียงซ้ำ ๆ ตามช่วงเวลา ซึ่งสามารถจำแนกรูปแบบได้เป็น 4 ประเภทคือ
rhythm - จังหวะเสียงที่เว้นระยะห่างด้วยรูปแบบจำเพาะ 18 รูปแบบ คล้ายกับรหัสมอส
tempo - ความถี่ในการเปล่งเสียง ช้า-เร็ว เหมือนจังหวะเพลงช้าเพลงเร็ว
rubato - การปล่อยเสียงใส่เป็นจังหวะพิเศษเพิ่มเข้าไปใน rhythm & tempo มาตราฐาน
ornamentation - การเพิ่มความถี่เสียงในบางช่วง
4 รูปแบบการส่งเสียงที่ AI จำแนกออกมาได้จากเสียงที่พวกวาฬใช้สื่อสารกัน
ซึ่งทั้ง 4 รูปแบบนี้เมื่อนำมาผสมกันก็จะออกมาเป็นชุดข้อความเสียงที่ใช้สื่อสารเป็นเหมือนกับประโยคที่เราพูดคุยกันเรียกว่า "codas"
และ Codas นี้ก็คือเสียงที่เราได้ยินเวลาฝูงวาฬคุยกัน และเป็นเสียงที่นักเดินเรือรับรู้และเล่าขานกันมาอย่างยาวนาน เป็นบทเพลงของฝูงวาฬแห่งท้องทะเล
ผสม 4 รูปแบบออกมาเป็นเสียงที่เราตรวจจับได้เวลาพวกวาฬใช้สื่อสารกัน
ทีนี้ให้ลองนึกถึง rhythm เปรียบเป็นเหมือนกับพยัญชนะ tempo เป็นสระ rubato เป็นการออกเสียงซ้ำ ornamentation เป็น วรรณยุกต์ ซึ่งการผสมส่วนประกอบเหล่านี้เข้าด้วยกันก็จะกลายเป็นคำและประโยคที่เอาไว้สื่อสารได้
1
จากเสียงเพลงของเหล่าวาฬที่เล่าขานกันมา แท้จริงแล้วมันอาจเป็นการพูดคุยกันตามปกติของเหล่าวาฬในรูปแบบการใช้เสียงเพื่อสื่อสาร
พยัญชนะของภาษาวาฬหัวทุยที่ทีมวิจัยไขรหัสออกมาได้
ซึ่งผลวิจัยนี้ยังไม่ได้ถึงขั้นแปลภาษาวาฬออกมาได้ แต่กำลังบอกว่าพวกวาฬนั้นมีวิธีการสื่อสารที่ซับซ้อนแบบเดียวกับภาษาของเรา และน่าจะทำให้พวกมันสามารถสื่อสารกันด้วยข้อความที่มีข้อมูลมากกว่าการสื่อสารเบื้องต้น พวกมันอาจจะพูดคุยถามสารทุกข์สุขดิบกันหรือร้องเพลงพูดเรื่อยเปื่อยเมาท์มอยเหมือนกันกับเรา
ขั้นต่อไปของการวิจัยนั้นทีมวิจัยตั้งเป้าในการแปลความหมายของข้อความที่พวกวาฬสื่อสารกันและทำความเข้าใจว่าพวกมันกำลังคุยอะไรกัน ซึ่งก็คงต้องเก็บข้อมูลเพิ่มอีกมากเพื่อที่จะได้มีข้อมูลมากพอที่จะสามารถวิเคราะห์ความหมายออกมาได้
จะเห็นได้ว่า AI นั้นเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการทำความเข้าใจ "ภาษาสัตว์" เชื่อว่าในอนาคตเราอาจจะสามารถเข้าใจสิ่งที่พวกมันสื่อสารกันได้ และถึงที่สุดเราอาจจะสามารถคุยกับสิ่งมีชีวิตสายพันธ์ุอื่นบนโลกก็ได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา