30 พ.ค. 2024 เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Plaza Accord ครั้งใหม่เป็นทางออกสำหรับปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ก่อนที่เราจะมาวิเคราะห์กันว่า Plaza Accord ครั้งใหม่เป็นทางออกสำหรับปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือไม่นั้นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกับคำว่า "Plaza Accord" กันก่อน
พลาซาแอคคอร์ด (Plaza Accord) ก็คือ ข้อตกลงที่ลงนามโดย 5 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (G5) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, และสหราชอาณาจักร ในวันที่ 22 กันยายน 1985 ที่เกิดขึ้นที่โรงแรม Plaza ในเมืองนิวยอร์ก
ทำไม Plaza Accord ถึงต้องเกิดขึ้น....
ย้อนกลับไปในช่วงปีต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์วิกฤตเงินเฟ้อครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ (The Great Inflation)
ในช่วงเวลานั้น ธนาครากลางของสหรัฐฯ (Fed) ได้มีการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดอยู่หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่านโยบายการเงินของสหรัฐฯ นั้นสามารถส่งผลกระทบกับนโยบายการเงินและสกุลเงินของประเทศต่างๆทั่วโลกได้ ซึ่งเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ปี 1944 หลังจากมีการก่อตั้งระบบการเงินโลกใหม่อย่าง Bretton Woods และได้มีการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินหลักของโลก
การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในขณะนั้น โดยทั่วไปก็จะทำให้สกุลเงินของพวกเขาแข็งค่าขึ้น
อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น ทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐของพวกเขาแข็งค่าขึ้นอย่างมาก เมื่อนำไปเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยเฉพาะสกุลเงินของประเทศที่มีนัยทางการค้าอย่างเยนของญี่ปุ่น
ที่มา wikipedia
แต่ในช่วงนั้นเองก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับในปัจจุบันที่ทุกคนต่างมองว่า สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลุมหลบภัยจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
และเนื่องจากเป็นสกุลเงินที่แข็งแรงที่สุดหากเทียบกับสกุลเงินอื่นที่อ่อนค่าลงอย่างมากในขณะนั้น ทุกคนจึงนิยมถือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ความต้องการดอลลาร์สหรัฐจึงเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งทำให้เกิดการแข็งค่ามากขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่านั้นสร้างแรงกดดันเป็นอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ เนื่องด้วยเงินที่แข็งค่าขึ้นทำให้สินค้าของพวกเขามีราคาแพงและส่งออกสินค้าได้ยาก
ซึ่งเป็นผลให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการขาดดุลการค้าอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปีทศวรรษ 1980 เพราะพวกเขานำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออกในระดับที่สูง รวมถึงในช่วงเวลานั้นเอง รัฐบาลสหรัฐฯก็มีการใช้จ่ายที่สูงซึ่งซ้ำเติมภาวะการขาดดุลของพวกเขา
  • แผนภูมิดุลการค้าของสหรัฐฯ
ที่มา tradingeconomics
แต่ในขณะที่ประเทศคู่แข่งทางการค้าสมัยนั้นอย่างญี่ปุ่น กลับได้รับประโยชน์จากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ เนื่องด้วยมันทำให้สกุลเงินเยนของพวกเขาอ่อนค่าลง ทำให้พวกเขาส่งออกได้ง่ายและมีปริมาณเพิ่มขึ้น รวมถึงในช่วงเวลานั้นเองรัฐบาลญี่ปุ่นก็มีการส่งเสริมการค้าเสรีและนโยบายอุตสาหกรรมมากมาย และยังเป็นช่วงที่ประชากรของญี่ปุ่นยังคงเติบโตดีอยู่
หลายปัจจัยส่งผลทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายมาเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก จนหลายคนในตอนนั้นเชื่อกันว่า ญี่ปุ่นนี้แหละจะมาท้าทายตำแหน่งมหาอำนาจใหม่กับสหรัฐฯ
  • แผนภูมิผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของญี่ปุ่น
ที่มา tradingeconomics
เพื่อที่จะหยุดภัยคุกคามนี้ของสหรัฐฯ Plaza Accord นั้นจึงได้เกิดขึ้น....
ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำที่หลือ ได้แก่ ญี่ปุ่น, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, และสหราชอาณาจักร
โดยสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า ข้อตกลงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแทรกแซงและควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน โดยการทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่ามากเกินไปในขณะนั้นอ่อนค่าลง ด้วยการให้ธนาคารกลางของประเทศ G5 ซื้อเงินเยน และ ขายเงินดอลลาร์สหรัฐ ในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของค่าเงินและการค้าระหว่างประเทศ
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมญี่ปุ่นถึงยินยอมที่จะเซ็นข้อตกลงดังกล่าวนี้
นั่นอาจเป็นเพราะว่า ญี่ปุ่นมองว่าการเซ็นข้อตกลงอาจช่วยรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของญี่ปุ่น การยอมลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะช่วยลดแรงกดดันทางการค้าระหว่างสองประเทศและส่งเสริมความร่วมมือในด้านอื่นๆ
รวมถึงการที่สกุลเงินเยนอ่อนค่าลงเป็นเวลานาน จะเป็นผลให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศ การยอมให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอาจช่วยลดแรงกดดันทางเงินเฟ้อและเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้งญี่ปุ่นเองก็ต้องการมีบทบาทในการร่วมมือกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินโลก
ซึ่งผลลัพธ์หลังจากข้อตกลง Plaza Accord ในปี 1985 เป็นผลสำเร็จ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมากถึง 25.8% อย่างรวดเร็วภายในเวลา 2 ปี สิ่งนี้มีส่วนช่วยทำให้ภาวะการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ดีขึ้น (สังเกตจากแผนภูมิดุลการค้าของสหรัฐฯ)
แต่กลับกันหลังจากการเซ็นข้อตกลงสิ้นสุด สกุลเงินเยนก็เริ่มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อดุลการค้าของญี่ปุ่น ทำให้การนำเข้าและส่งออกของญี่ปุ่นในช่วงนั้นมีความผันผวนที่สูง และเริ่มส่งออกสินค้าได้น้อยลง
  • แผนภูมิดุลการค้าของญี่ปุ่น
ที่มา tradingeconomics
และเพื่อที่จะรับมือกับผลกระทบจากสกุลเงินเยนที่แข็งค่า ญี่ปุ่นจึงเลือกใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย จนส่งผลให้เกิดฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นของญี่ปุ่น
ซึ่งฟองสบู่นี้พังทลายลงในช่วงต้นทศวรรษปี 1990 นำมาซึ่ง "ทศวรรษที่สูญหาย" หรือ The Lost Decade ของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เรารู้จักกันนั่นเอง
กลับมาที่ปัจจุบัน...
ปัจจุบันเราจะสังเกตได้ว่า สหรัฐฯ ยังคงประสบกับการขาดดุลการค้าสูงเช่นเดียวกับในช่วงทศวรรษปี 1980 (ย้อนไปดูที่แผนภูมิดุลการค้าของสหรัฐฯ)
ซึ่งแม้ว่าการขาดดุลโดยรวมนี้จะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเองก็ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้สินค้าของสหรัฐฯ มีราคาแพงขึ้นในตลาดโลก และทำให้พวกเขาแข่งขันได้น้อยลงและส่งเสริมการขาดดุลการค้าเข้าไปอีก โดยเฉพาะกับประเทศจีน
  • DXY Dollar Index
ที่มา tradingeconomics
  • แผนภูมิมูลค่ารวมของการส่งออกและนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2014 ถึง 2023
ที่มา statista
หน้ำซ้ำเหตุการณ์ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกับญี่ปุ่น จีนมีการเติบโตที่รวดเร็วเหมือนกับญี่ปุ่นในอดีต สินค้าของพวกเขาสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
ซึ่งสหรัฐฯ เองก็มองสิ่งนี้เป็นภัยคุกคามของพวกเขาเหมือนครั้งอดีตเช่นกัน โดยสังเกตได้จากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองประเทศนี้ในปัจจุบัน
หากนำมาเปรียบเทียบและวิเคราะห์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการที่จะมีข้อตกลงในลักษณะเดียวกันกับ Plaza Accord เกิดขึ้นอีกครั้ง ก็ดูมีความเป็นไปได้จากข้อมูลที่กล่าวมา
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันระบบการเงินโลกเรามีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากกว่าในช่วงทศวรรษปี 1980 อย่างมาก การแทรกแซงตลาดเงินตราแบบที่ทำใน Plaza Accord อาจมีผลกระทบที่ไม่คาดคิดและอาจสร้างความไม่เสถียรให้กับระบบการเงินโลก
และตอนนี้ธนาคารกลางทั่วโลกเองก็มีการใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายและซับซ้อนกว่าในอดีตในการปรับค่าเงินตราและควบคุมเศรษฐกิจ การแทรกแซงตลาดเงินตราแบบ Plaza Accord อาจไม่จำเป็นหรืออาจนำมาใช้ได้ยาก
การเจรจาระหว่างประเทศในปัจจุบันเอง ก็มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย การหาข้อตกลงร่วมกันในประเด็นเศรษฐกิจอาจยากขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น
อีกทั้งหากมีข้อตกลงในลักษณะเดียวกันกับ Plaza Accord เกิดขึ้นอีกครั้ง จีนเองที่มีธนาคารประชาชนจีน (PBOC) ที่เป็นหนึ่งในธนาคารกลางหลักของโลกนี้ ก็อาจจะไม่ร่วมลงนามในข้อตกลง เนื่องจากพวกเขาได้เรียนรู้และรับรู้ถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นในครั้งอดีตแล้วนั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา