2 มิ.ย. เวลา 12:00 • หนังสือ

รีวิวหนังสือ LIFE SCIENCE ร่างกายดีระดับเซลล์

วันนี้มีโอกาสได้อ่านหนังสือที่มีชื่อว่า LIFE SCIENCE ร่างกายดีระดับเซลล์ โดยหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับเทคนิคการใช้ชีวิตให้ยืนยาว โดยเจาะลึกลงไปถึงระดับเซลล์ (ใครที่ตอนเด็กไม่ชอบวิชาชีวะ ลองมาเปิดใจอ่านหนังสือเล่มนี้ดู)
ผู้เขียน ทะมทสึ โยชิโมริ จบการศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยโอซากา ศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ แต่ตัดสินใจลาออกเพื่อมาเป็นผู้ช่วยมหาวิทยาลัยเอกชนแทน และศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีจนเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านการกลืนกินตัวเองของเซลล์ ในปี 2018 เข้ารับตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยวิทยาการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
วัตถุประสงค์ของผู้เขียนเล่มนี้ก็คือ การถ่ายทอดความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการกลืนกินตัวเองของเซลล์ ที่เกี่ยวข้องกับคนทั่วไปคือสามารถนำความรู้ไปดูแลตัวเองได้ ช่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น แต่ด้วยความที่นักวิทยาศาสตร์หลายคน (ในหนังสือกล่าว) "เป็นกบในกะลา" คิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ธรรมดาในมุมมองของคนทั่วไป จึงไม่บอกเล่าสิ่งที่ตนกำลังทำหรือสิ่งที่ตนได้รู้
เข้าสู่เนื้อหา
หนังสือเล่มนี้มีทั้งหมด 5 บท แบ่งได้อีกเป็น 19 คอลัมน์
.
.
<<< บทที่ 1 ฝึกคิดเชิงวิทยาศาสตร์ให้เป็นนิสัย >>>
ในบทแรกผู้เขียนจะปูพื้นฐานความเป็นนักวิทยาศาตร์ในตัวคุณ เริ่มตั้งแต่กระบวนการคิด วิทยาศาสตร์ คือ การทดสอบสมมติฐานจนได้ความจริง การเลือกเชื่อข้อมูลที่เห็นได้ตามอินเทอร์เน็ต เพราะบางแหล่งข้อมูลที่ส่งต่อกันมาไม่เป็นความจริงหรือส่งผลเสียต่อเราอีกต่างหาก หลักคิดอีกอย่างคือ ทุกอย่างมีทั้งประโยชน์และโทษ ดังนั้นถ้าคุณเห็นอะไรที่มีแต่ข้อดีก็อย่าปักใจเชื่อไปซะทีเดียว ลองพลิกหาอีกมุมมอง
นอกจากนี้ในบทแรกมีสิ่งที่น่าสนใจอีกก็คือ การทำให้ผู้อ่านเข้าถึงวงการวิจัย ทั้งการเลือกอ่านบทความหรือวิจัยที่มีคุณภาพ ต้องมีการเอาไปใช้อ้างอิงได้ในหลายงานวิจัยอื่น ความก้าวหน้าของงานวิจัยทั้งในประเทศจีนและประเทศทางฝั่งตะวันตก
<<< บทที่ 2 ถ้ารู้จักเซลล์ก็รู้จักพื้นฐานของชีวิต >>>
ในบทนี้เราจะได้เริ่มอ่านเกี่ยวกับเซลล์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิต ในร่างกายของเรามี 37 ล้านล้านเซลล์ แต่ถ้าหากมีมากขึ้นนั่นแสดงว่าเรามี เซลล์มะเร็ง เพราะมันสามารถเติบโตได้นั่นเอง ในร่างกายโปรตีนเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดเกิดจากการรวมตัวกันของกรดอะมิโน 3 ตัว เรียกว่ารหัส แต่ถ้าหากร่างกายได้รับสารเคมีก็จะทำให้รหัสเพี้ยนที่ก่อให้เกิดโรคได้
เคยสงสัยมั้ยว่าทำสิ่งทีชีวิตบนโลกถึงต้องมีความแตกต่าง หลากหลาย ถ้ามีเฉพาะสิ่งมีชีวิตชั้นเลิศก็คงจะดี ในหนังสือได้อธิบายว่า “เมื่อปราศจากความหลากหลาย ชีวิตก็ดับสูญ”
ไม่มีชีวิตใดไม่ควรค่าแก่กการดำรงอยู่
หนังสือ LIFE SCIENCE
แม้ในประเทศญี่ปุ่นมีการถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาผู้พิการเพิ่มมากขึ้น ถึงขนาดมีคนประกาศว่า “ไม่อยากให้มีพันธุกรรมคนพิการ” “อย่าเอาทรัพยากรไปรักษาแก่คนไม่ควรค่าแก่การมีชีวิต” แต่ในทางวิทยาศาตร์ชีวภาพ ยิ่งผู้คนมีพันธุกรรมที่หลากหลายมากเท่าไหร่ มนุษย์ก็จะห่างไกลคำว่าล่มสลายมากเท่านั้น
<<< บทที่ 3 ทำความรู้จักกับความเจ็บป่วย >>>
ถ้าร่างกายเราป่วยนั่นแสดงว่า เซลล์เรากำลังเสื่อม เกิดได้จากการถูกทำลายหรือถูกฆ่าโดยเชื้อ ซึ่งเชื้อที่ว่านั่นก็คือ ไวรัส แบคทีเรีย ฟังไจและโปรโตซัว ไวรัสจัดอยู่ในกลุ่มสิ่งไม่มีชีวิต เนื่องจากตัวมันมีแค่จีโนมกับเยื่อมหุ้มจีโนม การที่มันจะเข้าทำลายเซลล์ได้ ก็คือจะเข้าสู่เซลล์สิ่งมีชีวิตนั้นและคัดลอกสำเนาจีโนม เพื่อสร้างโปรตีนของตัวเองขึ้นมาภายในเซลล์ของอีกฝ่าย
แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะร่างกายของเรามีภูมิคุ้มกันที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้ามา เป็นเสมือนตำรวจคอยดักจับผู้ร้าย การที่เราเป็นไข้ ไอ ตัวร้อน ก็เป็นผลจากการที่ภูมิคุ้มกันเรากำลังทำงานอยู่ บางครั้งเรากินยาไปก็อาจจะไปหยุดการทำงานภูมิคุ้มกัน เชื้อจึงแพร่กระจายออกไป ทำให้อาการหนักขึ้น
การกินยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ถ้ายังจำกันได้คุณหมอมักจะบอกว่ากินยาให้ครบโดส แม้อาการจะหายแล้วก็ตาม นั่นเป็นเพราะว่า ถ้าเชื้อยังไม่หมดแต่ไม่มีอาการแสดงแล้ว ถ้าเราหยุดกินยาเชื้อก็จะมีความแข็งแกร่งขึ้น การใช้ยาตัวเดิมรักษาจึงอาจไม่ได้ผลหรือที่เราเรียกว่า การดื้อยา ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้ตัวยาที่แรงขึ้น ราคาก็ต้องแพงขึ้น
<<< บทที่ 4 รู้จักกลไกการกลืนกินตัวเองของเซลล์ซึ่งได้ชื่อว่าอนาคตของเซลล์ >>>
มาถึงบทที่ผู้เขียนภูมิใจนำเสนอ เนื่องจากเรื่องกลไกการกลืนกินตัวเองของเซลล์เป็นเรื่องที่ผู้เขียนถนัดและได้รับรางวัลโนเบล เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มให้ความสนใจและมาศึกษากันมากขึ้น เพราะมีมนุษย์บางส่วนอยากเป็นอมตะ ยับยั้งความแก่ชราหรือยืดอายุขัย
มุมมองของผู้เขียนต่อการเป็นอมตะ ดูจะไม่ค่อยเป็นทางที่ดีสักเท่าไหร่ โดยมีเหตุผล 2 ประการ ได้แก่ เด็กเกิดน้อยส่งผลให้ไม่มีวิวัฒนาการ ประชากรเท่าเดิมแต่ทรัพยากรลดลง ทำให้อาหารไม่เพียงพอ เกิดการแย่งชิงกันในที่สุด เราคงไม่อยากให้ถึงวันนั้นกันแน่นอน หากเรานำเรื่องกลไกการกลืนตัวเองของเซลล์มาใช้ในเรื่องของการดูแลให้สุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว ลดระยะเวลาการเจ็บป่วยหรือนอนติดเตียงก่อนเสียชีวิตคงจะเป็นทางที่ดีกว่า
<<<บทที่ 5 เราจะยืดอายุขัยได้อย่างไร >>>
มาถึงบทที่เรารอคอยวิธีที่เราจะใช้ในการดูแลตัวเอง หลังอ่านบทนี้จบ พูดได้เลยว่าอึ้งมากเพราะวิธีที่ผู้เขียนนำเสนอนั้นเป็นวิธีที่ง่ายมาก ได้แก่ การจำกัดการกินและการออกกำลังกาย ไม่ใช่วิธีที่ทำได้ยากหรือใช้เงินมหาศาลเลย
การจำกัดการกินอาหารหรือที่คนลดน้ำหนักส่วนใหญ่มักทำก็คือ การทำ IF ที่จะมีช่วงเวลาที่กินอาหารได้และช่วงที่ต้องอดอาหาร แต่ไม่ใช่ว่าอดจนร่างกายได้สารอาหารไม่เพียงพอเพราะนั่นจะนำไปสู่กล้ามเนื้อลีบสิ่งนี้ไม่ดีแน่ ดังนั้นช่วงเวลาที่กินได้ควรเลือกรับประทานสารอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
อาหารที่ในหนังสือแนะนำ คือ นัตโตะ เห็ด และไวน์แดง เพราะเป็นสิ่งที่ต่อต่านสารอนุมูลอิสระ ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ French Paradox ปรากฏการณ์ย้อนแย้งของชาวฝรั่งเศส แม้จะบริโภคเนื้อสัตว์ไขมันสูง แต่กลับมีปัญหาเรื่องหัวใจและอัตราการเสียชีวิตเนื่องจากโรคเสื่อมน้อยกว่า 3 เท่าของประชากรประเทศอื่น นั่นเป็นเพราะพวกเขาดื่มไวน์กัน แต่อาหารที่ไม่แนะนำคือ ไขมันจากของทอด เพราะจะไปเพิ่มรูบิคอนที่เป็นตัวยับยั้งการกลืนกินของเซลล์ทำให้เซลล์เสื่อมเร็ว
การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรให้ความใส่ใจเพื่อมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี การดูแลสุขภาพประกอบด้วยด้านหลักๆคือ การกินและออกกำลังกาย ที่ในหนังสือเล่มนี้ได้กล่าว นอกจากนี้การตรวจสุขภาพประจำปี การนอนหลับให้เพียงพอ การทำจิตใจให้สงบ เป็นเรื่องที่ควรทำเช่นกันเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุข

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา