9 มิ.ย. เวลา 12:00 • หนังสือ

สรุปหนังสือ DIY Your Heart คู่มือ "ดีต่อใจ"

ว่ากันว่า...ถ้าคุณไม่สามารถมีความสุขกับกาแฟอร่อยๆได้ เรือยอชต์หลายสิบล้านก็ไม่มีทางที่จะทำให้คุณมีความสุขได้ ได้ยินโควทนี้ครั้งแรกจากคุณรวิศ หาญอุตสาหะ เพจ Mission To The Moon ที่สะท้อนให้เห็นว่าความสุขขึ้นอยู่กับแนวคิดของตัวเรา แม้สิ่งที่ทำจะเป็นสิ่งเล็กๆ หากเรามีมุมมองที่ดีก็ทำให้เรามีความสุขได้ แต่หากไม่รู้จักพอ ต่อให้มีเงินทอง ของมีค่ามากแค่ไหนก็คงทำให้มีความสุขไม่ได้
ถ้าคุณไม่สามารถมีความสุขกับกาแฟอร่อยๆได้ เรือยอชต์หลายสิบล้านก็ไม่มีทางที่จะทำให้คุณมีความสุขได้
นาวาล รวีกันต์ ผู้ประกอบการและนักลงทุน ชาวอินเดีย-อเมริกัน
วันนี้จึงอยากจะบอกเล่าหนังสือที่สามารถสร้างความสุขได้ด้วยตัวเอง ที่มีชื่อว่า DIY Your Heart คู่มือ “ดีต่อใจ” เหมาะสำหรับการตามหาความสุขที่เริ่มจากตัวเรา การลงมือทำสิ่งเล็กๆ การได้รู้จักตัวเอง สำรวจอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ที่ในหลายๆครั้ง เรามองข้ามส่วนนี้ไป
หนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือที่อ่านได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการลงมือทำถึงจะเห็นผลลัพธ์ จากคำนิยมของคุณนิ้วกลมที่ว่า ถ้าผ่านหนังสือเล่มนี้อาจจะเดินผ่านไปก่อน เพราะเป็นหนังสือวิธีทำมากกว่าวิธีคิด แต่ด้วยประสบการณ์หลายอย่างทำให้ตัดสินใจอ่านหนังสือเล่มนี้ และค้นพบความสุขที่ได้จากการลงมือทำ
ภายในหนังสือมีเรื่องราวที่น่าสนใจ 8 หมวดหมู่ ได้แก่
หมวดที่ 1 Nature ธรรมชาติ
หมวดที่ 2 Movement การเคลื่อนไหว
หมวดที่ 3 Creativity ความคิดสร้างสรรค์
หมวดที่ 4 Work การทำงาน
หมวดที่ 5 Volunteer จิตอาสา
หมวดที่ 6 Relationship ความสัมพันธ์
หมวดที่ 7 Learning การเรียนรู้
หมวดที่ 8 Bhavana ภาวนา
ในแต่ละหมวดหมู่จะมีการอธิบายความเป็นมา ความสำคัญ หลังจากนั้นก็จะเริ่มทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับหมวดหมู่นั้นๆ
สำหรับกิจกรรมที่ชอบมากๆ มี 2 กิจกรรม
กิจกรรมหนังสือเดือนละ 1 เล่ม จัดอยู่ในหมวดหมู่การเรียนรู้ โดยการทำกิจกรรม คือ ใน 1 ปีให้เลือกอ่านหนังสือตามโจทย์ เดือนละ 1 เล่ม จะทำคนเดียวหรือชวนเพื่อนมาทำร่วมก็ได้ กิจกรรมนี้น่าสนใจตรงที่แต่ละเดือนเป็นหนังสือแนวไม่ซ้ำกันเลย เป็นไอเดียที่แปลกใหม่เพราะปกติเรามักเลือกหนังสือพัฒนาตนเองเพียงอย่างเดียว บางทีการทำกิจกรรมนี้อาจทำให้เราค้นพบหนังสือแนวที่เราชื่นชอบอีกก็ได้ หรือเป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจได้อีกด้วย
กิจกรรมหนังสือเดือนละ 1 เล่ม จากหนังสือ DIY Your Herat คู่มือ "ดีต่อใจ"
กิจกรรมแผนที่ความเงียบ จัดอยู่ในหมวดหมู่ภาวนา โดยให้นำกระดาษเอสี่ มาตัดเป็นวงกลมให้ใหญ่ที่สุด จากนั้นนำปากกาจุดลงกลางกระดาษหรือทำสัญลักษณ์แทนตัวเรา พื้นที่รอบๆคือโลกรอบตัวเรา หลังจากนั้นให้หลับตา ฟังเสียงรอบๆตัว ให้รับรู้ถึงทิศทาง ระยะ และลักษณะของเสียง จากนั้นลืมตาขึ้นและเขียนเสียงที่ได้ยินลงในกระดาษ เช่น “พั่บ พั่บ” ด้านหน้าของเรา “จิบ จิบ” ทางด้านซ้าย และสุดท้ายเขียนบรรยายความรู้สึกหลังทำกิจกรรม ตัวอย่างกิจกรรมที่เราทำเองด้านล่างนี้ (ส่วนใหญ่เสียงนกทั้งนั้น ฮ่าๆ)
กิจกรรมแผนที่ความเงียบ
ในทุกกิจกรรมจะต้องมีการเขียนความรู้สึกหลังทำกิจกรรม ให้เขียนออกมาให้หมดทั้งดีและไม่ดี และการทำกิจกรรมไม่ได้ทำเพียงครั้งเดียว ให้เราทำบ่อยๆ จะทำให้เราได้รับรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบกิจกรรม เพราะการทำเพียงครั้งเดียวเราอาจตัดสินไม่ชอบ เพียงเพราะสิ่งแวดล้อมตอนนั้นไม่เอื้ออำนวยก็เป็นได้ การทำอีกครั้งให้ปรับปรุงแก้ไขจนถึงจุดลงตัวในที่สุด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา