16 มิ.ย. เวลา 12:00 • หนังสือ

สรุปหนังสือ ลำไส้ดี ไม่มีโรค

พูดเลยว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มโปรดในปี 2024 ของเราเลยก็ว่าได้ แม้ในตอนแรกได้อ่านเพียงหน้าปกเลยไม่ค่อยสนใจสักเท่าไหร่ แต่หารู้ไม่ว่า ด้านหลังปกมีสิ่งที่ดึงดูดให้เราเลือกอ่านหนังสือเล่มนี้คือ อาการของโรคลำไส้รั่ว แม้ตัวเราจะไม่ได้มีอาการดังกล่าวครบทุกข้อ แต่คิดว่าลำไส้ของเราคงดูดซึมไม่ดีดังที่หนังสือกล่าว
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ คุณสุชาวดี เฉลิมวงศาเวช เป็นโค้ชด้านสุขภาพ เป็นครูสอนอัษฏางค์โยคะ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาทางด้านผิวหนังและระบบลำไส้โดยการปรับเปลี่ยนอาหารและวิถีการดำรงชีวิต ถ้าถามว่าหนังสือเล่มนี้ดีอย่างไร คงจะตอบว่าเพราะหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้ถ่ายทอดวิธีการแก้ปัญหา โดยการเล่าประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยพบเจอ ได้แก่ ในวัยเด็กมีผื่นขึ้น วัยรุ่นก็เป็นสิวอักเสบ วัยผู้ใหญ่ก็เป็นผิวหนังอักเสบ ปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนหาหนทางการแก้ไขจนนำมาซึ่งวิธีที่กล่าวในหนังสือ
เข้าสู่เนื้อหาในหนังสือ
หนังสือมีทั้งหมด 9 บท และมีภาคผนวกเกี่ยวกับการออกกำลังกาย โยคะ วิธีต่าง ๆ ที่กล่าวในบทก่อนหน้าซึ่งได้อธิบายไว้อย่างละเอียด และเมนูอาหาร เครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ
บทที่ 1-4 เราจะได้รู้จักเกี่ยวกับอาการของภาวะลำไส้รั่ว ความสำคัญของลำไส้
ขอกล่าวก่อนว่าอาการที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นการวินิจฉัยของภาวะลำไส้รั่ว แต่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ทางที่ดีควรไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยได้ตรงตามตัวโรคที่แท้จริง
สำหรับการวินิจฉัยลำไส้เน่า มีดังนี้
• มีความผิดปกติทางผิวหนัง เช่น ผื่น สิว เป็นต้น
• ปวดท้อง ไม่ทราบสาเหตุ
• ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
• ท้องผูก ท้องเสีย เป็นประจำ
• มีอาการภูมิแพ้
• ข้ออักเสบ ปวดข้อ
• หายใจติดขัด ไซนัส ไมเกรน
• เครียด หรือมีความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า สมาธิสั้น
• ภูมิต้านทานไม่ดี ป่วยง่าย
• สมองตื้อ ความจำไม่ดี
• เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เป็นประจำ
• น้ำหนักเกิน
ความสำคัญของลำไส้
ว่ากันว่า ลำไส้เปรียบเสมือนสมองที่สองของร่างกาย โดยในร่างกายมนุษย์ลำไส้มีทั้งลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีหน้าที่ทั้งแตกต่างและคล้ายคลึงกัน ต่างก็มีประโยชน์มากมาย ดังนี้
ลำไส้เล็ก: มีความยาว 6-7 เมตร ขดอยู่ในช่องท้องของเรา แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ลำไส้เล็กส่วนต้น(Duodenum) ลำไส้เล็กส่วนกลาง(Jejunum) และลำไส้เล็กส่วนปลาย(Ileum) ลำไส้เล็กเป็นอวัยวะที่ย่อยแป้ง โปรตีน และไขมัน ดูดซืมสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด และยังมีจุลินทรีย์ แบคทีเรียที่ดีต่อร่างกาย
ลำไส้ใหญ่: มีความยาวประมาณ 1.5 เมตร มีหน้าที่ในการรับกากอาหารที่ย่อยจากลำไส้เล็ก ช่วยดูดซึมน้ำ วิตามิน แร่ธาตุและกลูโคสที่หลงเหลือกลับเข้าสู่กระแสเลือด
จุลินทรีย์ในร่างกาย มีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งร่างกายทำหน้าที่ปรับสมดุลของทั้งสองไว้
จุลินทรีย์ชนิดดี: โพรไบโอติกส์ ช่วยย่อยและดูดซึมสารอาหาร ควบคุมและทำลายเชื้อก่อโรค เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ทำความสะอาดลำไส้และช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายให้ทำงานได้ดี
จุลินทรีย์ชนิดไม่ดี: มีทั้งในลำไส้และได้รับจากภายนอก ทำอันตรายต่อเรา ได้แก่ เปลี่ยนสารอาหารให้กลายเป็นพิษ ซึ่งสารพิษก็จะก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ผื่นแพ้ ปวดกล้ามเนื้อ
สำหรับสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้ลำไส้เราไม่ดี ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน จากสารเคมี สารโลหะหนัก อาหารที่ดัดแปลงพันธุกรรม กินอาหารที่แพ้แต่ไม่รู้ตัว กินยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น กินยาแก้แกเสบกลุ่ม NSAIDs ดื่มแอลกอฮอล์ เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด รวมไปถึงพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ มีอารมณ์ด้านลบ เครียด เป็นต้น
บทที่ 5-7 เราจะได้วิธีที่จะนำไปปฏิบัติเพื่อฟื้นฟูลำไส้ โดยในหนังสือได้นำเสนอ กฎ 4 ข้อ ดังนี้
กฎข้อที่ 1 ลด ละ เลิก อาหารและพฤติกรมที่เป็นสาเหตุของลำไส้ไม่ดี ได้แก่ น้ำตาล กลูเตน อาหารที่มีสารเคมี แอลกอฮอล์ และความเครียด
สำหรับผู้ที่มีอาการติดหวาน โดยมีอาการคือ รู้สึกอยากรับประทานแต่ขนมหวาน ผลไม้รสหวาน หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เมื่อไม่ได้รับประทานอาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของแป้งหรือน้ำตาลจะรู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด มีอาการหิวบ่อย รับประทานอาหารหวานต่อจากอาหารคาวเป็นประจำ
ถ้าคุณมีอาการดังต่อไปนี้ผู้เขียนแนะนำวิธีแก้อาการติดหวาน คือ ดื่มน้ำผสมน้ำมะนาว ทานผักที่มีรสหวานจากธรรมชาติ เช่น หอมหัวใหญ่ มันหวาน แครอต กินโปรตีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เลี่ยงการรับประทานเค็มเพราะจะทำให้อยากกินหวาน
กฎข้อที่ 2 เติมเต็มและทดแทน หลังจากการลด ละ เลิก แล้วเรามาเติมส่วนที่ขาดหายไปกันบ้าง ในหนังสือได้แนะนำอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว น้ำซุปตุ๋นจากกระดูกสัตว์ ไขมันธรรมชาติ เช่น ปลาแซลมอน อะโวคาโด
กฎข้อที่ 3 ซ่อมแซมและฟื้นฟู เพื่อให้ลำไส้กลับมาทำงานได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มความแข็งแรงของภูมิคุ้มกัน ได้แก่ การรับประทานโอเมก้า-3 วิตามินดี สังกะสี รวมไปถึงอาหารเสริมโพรไบโอติกส์
กฎข้อที่ 4 พักผ่อนและผ่อนคลาย ให้เวลากับการฟื้นฟูสุขภาพ เช่น นอนหลับให้มีคุณภาพ สังเกตได้จากเมื่อตื่นนอนจะรู้สึกสดชื่น ระหว่างวันไม่ง่วงนอน สมองปลอดโปร่ง สำหรับการแนะนำเพื่อให้นอนหลับอย่างมีคุณภาพ คือ เลี่ยงอาหารมื้อหนัก รสจัด ก่อนนอน 4 ชั่วโมง เลี่ยงกาแฟอีน ปิดอุปกรณ์สื่อสารอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนนอน และเข้านอนเวลาเดิม ช่วงเวลาที่ดีในการเข้านอนคือ 21.00-23.00 น. ตื่นนอนเวลาเดิมทุกวัน
นาทีทองของการนอนหลับคือ 22.00-02.00 น.
สิ่งที่สำคัญที่หลายคนมองข้ามคือ อยู่ในสภาวะเครียด ใช้เวลาเร่งรีบในแต่ละวัน ทางที่ดีเราควรให้เวลากับตัวเองอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ทบทวนความคิด ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
บทที่ 8-9 ในสองบทสุดท้ายเราจะได้อ่านผลลัพธ์ของการเข้าโปรแกรมฟื้นฟูลำไส้ 28 วัน โดยได้จากประสบการณ์จริงของลูกค้าและบทสุดท้ายการตอบคำถามที่พบบ่อย เช่น เราต้องงดอาหารที่ชอบตลอดเลยหรือ งดหวานไม่ได้ทำอย่างไรดี กินอาหารว่างได้หรือไม่ เป็นต้น
การดูแลลำไส้เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพโดยรวมและป้องกันปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น อาการท้องผูก ท้องเสีย หรือโรคเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่ดังที่ได้กล่าวมา ในหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวเกี่ยวกับวิธีการดูแลลำไส้โดยอิงจากประสบการณ์จริง นำมาสู่ขั้นตอนและโปรแกรมฟื้นฟูลำไส้ 28 วัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา