2 มิ.ย. 2024 เวลา 04:42 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

The Teachers’ Lounge (2023) – สมรภูมิแห่งจริยธรรม

ว่ากันว่า ตัวตนของคนเราจะถูกรังสรรค์และสร้างขึ้น ผ่านการหลอมรวมจากสภาพแวดล้อมที่คน ๆ นั้นเติบโตมา ผ่านสถาบันต่าง ๆ ตั้งแต่พื้นฐาน ทั้ง เพื่อนฝูง สถาบันครอบครัว หรือกระทั่ง สถาบันการศึกษา ที่เป็นที่ฟูมฟักและพัฒนาชุดความรู้ หรือกระทั่ง ทัศนคติทางความคิด โดยที่บางครั้ง มันก็คือการให้เด็กได้ดำรงชีวิตภายใต้สภาพแวดล้อมโดยจำลอง ที่มีครูเป็นผู้ควบคุมและดูแลความปลอดภัย
หนังสัญชาติเยอรมันเรื่องหนึ่ง จึงหยิบเอาสภาพแวดล้อมนี้ มาใส่เป็นหนังดราม่าเจือกลิ่นระทึกขวัญ ที่ชวนโต้แย้งถึงมูลเหตุอันเคลือบแคลง ก่อนส่งผลกระทบไปยังความเชื่อมั่นแบบไม่คาดคิด ในหนังที่ได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลออสก้าร์ครั้งที่ 96 สาขา ภาพยนตร์นานาชาติ อย่าง “The Teachers’ Lounge“
“The Teachers’ Lounge” เล่าเรื่องของครู คาร์ลา โนวัค ที่เพิ่งย้ายมาทำหน้าที่ครูประจำชั้นในโรงเรียนมัธยมต้นแห่งหนึ่งในเยอรมัน ด้วยสถานการณ์ไม่สู้ดีจากเหตุการณ์ลักขโมยในรั้วโรงเรียน ทำให้เหล่าคุณครูพยายามสอบสวนเพื่อตามหาต้นเหตุตัวการ
แต่แล้วเมื่อการขั้นตอนสอบสวน และการอนุมานขั้นต้น ยังไม่อาจนำไปสู่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นทั้งระหว่างคุณครู ผู้ปกครอง และเด็กนักเรียนสั่นคลอน จนทำให้ทุกอย่างเริ่มบานปลายจากรั้วโรงเรียนอันเงียบสงบ กลายเป็นข้อโต้เถียงทางมโนธรรม และสมรภูมิแห่งจริยธรรมของทุกฝ่าย
แม้จะเป็นหนังดราม่าก็ตาม แต่หนังก็ปรุงแต่งบรรยากาศ ด้วยกลวิธีที่ทำให้มวลของหนังเจือด้วยความระทึกขวัญ จากเหตุขโมยของในโรงเรียน ที่ทำให้เกิดความต้องสงสัยในรั้วโรงเรียนว่าตัวการแท้จริงคือใคร ก็ชวนให้นึกถึงกลิ่นอายหนังสืบสวนแบบ “whodunnit” แต่กระนั้น หนังก็เพียงแค่ใช้องค์ประกอบสืบสวน เพื่อใช้สำรวจพื้นที่อย่างโรงเรียนซึ่งเป็นเซ็ตติ้งหลัก ผ่านเหตุการณ์ประจำวันทั้งในห้องเรียนและห้องพักครู
หนังใช้ตัวละคร ครูคาร์ลา เป็นศูนย์กลางของเรื่องราว โดยไม่เล่าถึงภูมิหลังเท่าไหร่นัก (หนังแทบทั้งเรื่อง เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียน) เพื่อให้เราได้ติดตามเธอโดยปราศจากอคติ ผ่านสถานการณ์ต่าง ทั้งจากการเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ เธอได้สอนนักเรียน ผ่านวิธีการที่ทำให้นักเรียน ได้เรียนรู้จักถึงวิธีคิดและจริยธรรมขั้นพื้นฐาน
รวมวิธีการจัดการต่าง ๆ ของคณะคุณครูเพื่อตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ทำให้เห็นว่า วิธีจัดการนั้นไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แถมขณะที่เหมือนตัวหนังจะดำเนินไปสู่บทสรุป แต่กลับกลายเป็นว่า มันยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก
ความเก่งกาจของตัวหนัง ก็คือการสับเปลี่ยนจังหวะและโทนของเรื่องราว จากเรื่องสืบสวนที่ควรมีต้นเหตุ กลับทำให้เราสนใจถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า รวมถึงคาดการณ์บทสรุปของเรื่องราวที่พลิกผันบานปลายเกินคาดเดา นำไปสู่ข้อโต้เถียงทางจริยธรรม ผ่านเหตุการณ์เล็กน้อยในรั้วโรงเรียน ที่ลุกลามใหญ่โตจนสั่นคลอนซึ่งความเชื่อมั่นที่พึงจะมี สะท้อนภาพจำลองของสังคมอันซับซ้อนได้อย่างแยบยล
เพราะจริง ๆ แล้ว “The Teachers’ Lounge” ไม่ได้มีปลายทาง คือการตามจับตัวการที่แท้จริง หากแต่เป็นการฉายภาพมิติซับซ้อนของสังคมผ่านสภาพแวดล้อมในรั้วโรงเรียน ความชาญฉลาดของหนัง คือการใช้สองเซ็ตติ้ง ระหว่างการสอนในห้องเรียน กับการจัดการปัญหาในห้องพักครู เป็นตัวเปรียบเทียบ (juxtapose) ที่สะท้อนภาพไปกลับได้อย่างคมคาย นั่นคือ สิ่งที่เราได้เห็นเด็กเรียนรู้จากในห้องเรียนแล้วนั้น เราก็จะได้เห็นผ่านการตัดสินใจจากผู้ใหญ่ แบบที่คุณครูพยายามจัดการในรูปแบบข้อคิดที่ครูโนวัคเคยสอนเด็กไว้
อย่างการพิสูจน์ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นขั้นเป็นตอนผ่านโจทย์คณิตศาสตร์ การแสดงซึ่งรูปแบบของความซื่อสัตย์ผ่านการลอกข้อสอบ การแสดงถึงความชิงดีชีเด่นผ่านข้อโต้เถียงของการประกาศคะแนนสอบ การตั้งข้อสังเกตเพื่อคาดคะเนสุริยคราสของทาแลส ทุกอย่างดูจะควบรวมเป็นพื้นฐานการใช้ชีวิต ที่ดูจะมีจุดประสงค์เดียว ก็คือการดำรงชีวิตร่วมสังคม โดยไม่ด่วนสรุปหรือตัดสินสิ่งใดไปก่อน จนกว่าจะได้ซึ่งบทสรุปที่อาจต้องนำไปพิสูจน์ข้อเท็จจริง เพียงแต่สังคมจริงอาจไม่ได้ง่ายดายแบบในห้องเรียน
ความน่าขบขัน ปนความพรั่นพรึงของสมรภูมิแห่งจริยธรรมนี้ คือการฉายภาพซึ่งข้อโต้แย้งอันรุนแรงภายในรั้วโรงเรียน ซึ่งมีที่มาจากการบั่นทอนความเชื่อมั่น ผ่านข้อตกลงร่วมที่ผู้ปกครองและเด็ก ได้ทำไว้กับทางคุณครู คือการยกมอบสิทธิเรียนการสอน รวมถึงการดูแลขั้นต้นให้กับคุณครู เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตขึ้นไปกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีวิจารณญาณ มีความคิดความอ่าน ความตระหนักรู้ที่ไม่เพิกเฉยต่อปัญหา รวมถึงมีวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม
คาร์ลา แม้จะเป็นคุณครูที่มีภูมิหลังแตกต่างจากคุณครูคนอื่น รวมถึงมีหลักการสังเกตลูกศิษย์และวิธีการเรียนการสอน รวมถึงปกป้องสิทธิของเด็กได้ดีสมกับเป็นคุณครู แต่หนังก็เลือกจะฉายข้อบกพร่องของเธอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความบานปลายในสถานการณ์ โดยไม่ละเลยซึ่งความเป็นมนุษย์ไป หากแต่เธอเหมือนจะอยู่ในสภาพแวดล้อม ที่ทุกอย่างดูยากเกินกว่าจะแก้ไข เพราะมันลุกลามจนเกินมือเธอไปแล้ว
บทสรุปของเรื่องราว จึงไม่ได้มาพร้อมคำตอบแบบที่เราคาดหวังไว้ และดูจะเป็นการเฉลิมฉลองมากกว่าเป็นตอนจบที่ชวนดราม่าสะเทือนใจ เพราะดูจะเป็นบริบทของการปลดแอกจากสภาพแวดล้อมทางสังคมจำลอง ซึ่งล้มเหลวในการปกป้องซึ่งสิทธิพื้นฐานที่สังคมนั้นได้กำหนดไว้
สรุปแล้ว “The Teachers’ Lounge” หนังดราม่าระทึกขวัญ ที่เหตุของหายในรั้วโรงเรียนกลับบานปลายกลายเป็นเหตุระทึกขวัญของการสูญเสียความเชื่อใจในรั้วโรงเรียน ฉายมิติซับซ้อนของสังคมผ่านสภาพแวดล้อมในรั้วโรงเรียน ผ่านข้อโต้เถียงทางจริยธรรมและมโนธรรม จากวิธีการรับมือและแก้ไขซึ่งปัญหาที่ลุกลาม ถือเป็นบทเรียนที่ดีแก่เด็กและผู้ใหญ่ในคราวเดียว
4 / 5
The Teachers’ Lounge “Das Lehrerzimmer” (2023)
Directed by İlker Çatak
Written by Johannes Duncker & İlker Çatak

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา