3 มิ.ย. 2024 เวลา 05:13 • ประวัติศาสตร์

คนและปรัชญา EP.1 โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes)

โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) ถือว่าเป็นนักปรัชญาทางการเมืองคนสำคัญในยุคการตื่นรู้ทางปัญญา ซึ่งอยู่ในช่วงปี 1650-1700 หรือในช่วงศตวรรษที่ 17 เป็นช่วงเวลาที่ความรู้ทางปรัชญา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การเมือง กฎหมาย กำลังรุ่งเรืองในหมู่ผู้คนทั่วไปในยุโรป โทมัส ฮอบส์ซึ่งมีช่วงชีวิตอยู่ในยุคการตื่นรู้ทางปัญญาในช่วงนี้ ทำให้ฮอบส์แวดล้อมด้วยสภาพแวดล้อมต่างๆที่เอื้อให้เขาก้าวมาเป็นนักปรัชญาทางการเมือง เขาถือเป็นนักปรัชญาทางการเมืองคนแรกๆในยุคการตื่นรู้ทางปัญญา
โทมัส ฮอบส์ เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน ค.ศ.1588 ที่เมืองเวสต์พอร์ต ใกล้กับเมืองมัลเมสเบอรี่ ประเทศอังกฤษ โดยเกิดในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง โดยที่พอของเขานั้นเป็นบาทหลวง ส่วนแม่ของเขานั้นไม่ปรากฏข้อมูลใดๆ ฮอบส์เข้ารับการศึกษาแรกที่โรงเรียนท้องถิ่นของเวสต์ฟอร์ต เมื่ออายุ 14 ปี ฮอบส์ก็ได้เข้าไปเรียนต่อที่โรงเรียนประจำเวสมินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน
การเข้ามาเรียนในโรงเรียนประจำเวสมินสเตอร์ของฮอบส์นี้ทำให้ฮอบส์ได้รับการศึกษาด้านภาษากรีกและภาษาละติน ทำให้เขาสามารถอ่านภาษากรีกและภาษาละตินได้ ซึ่งหากเราศึกษาประวัติของนักปรัชญาทางการเมืองในยุคนี้จะพบว่า เขานั้นสามารถอ่านภาษากรีกและละตินได้ ซึ่งเป็นภาษาที่บรรดานักปรัชญาในยุคกรีก-โรมัน ใช้กัน
ซึ่งทำให้นักปรัชญาในยุคนั้นสามารถศึกษาแนวคิดกรีก-โรมันจากต้นฉบับได้ เมื่อสำเร็จการศึกษาขั้นต้น ฮอบส์ได้เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยแมคดาเลน มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด โดยที่ฮอบส์เข้าศึกษาในด้านมนุษยศาสตร์และปรัชญาคลาสสิค
ชีวิตในมหาวิทยาลัยของฮอบส์นั้นนอกจากเข้าจะเข้าศึกษาในด้านมนุษยศาสตร์และปรัชญาคลาสสิคแล้ว ฮอบส์ยังศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และปรัชญาธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาขาที่เขามีความสนใจโดยเขาศึกษาด้วยตัวเอง หลังจบการศึกษาแล้ว ฮอบส์ได้ทำหน้าที่เป็นครูพิเศษให้กับลูกชายของงวิลเลียม คาเวนดิช บารอนแห่งฮาร์ดวิก การเข้ามาทำหน้าที่นี้ทำให้ฮอบส์มีความสนิทสนมกับครอบครัวของคาเวนดิชเสมอมา
ในการสอนวิลเลียมผู้เยาว์นั้นทำให้เขาได้มีโอกาสเดินทางไปยังต่างประเทศ จนฮอบส์ได้กล่าวถึงช่วงเวลานี้ว่า “การเดินทางครั้งใหญ่” โดยเขาได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆในยุโรป ซึ่งการเดินทางไปยังที่ต่างๆทำให้ฮอบส์ได้ศึกษาแนวคิดต่างๆในยุโรปภาคพื้นทวีปทำให้ฮอบส์ได้เพิ่มพูนแนวคิดทางปรัชญา โดยเฉพาะแนวคิดทางการเมืองซึ่งกำลังเฟื่องฟู
ต่อมาหลังการเดินทางอันยาวนานของฮอบส์และวิลเลียมผู้เยาว์ ในปี 1628 บารอนแห่งฮาร์ดวิก หรือต่อมาได้ถูกเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเอิร์ลแห่งเดวอนเชอร์ได้เสียชีวิตลง ภรรยาของคาเวนดิชได้เลิกจ้างเขา ทำให้การเดินทางของเขาสิ้นสุดลง แต่ไม่นานเขาก็ได้เป็นครูพิเศษให้กับลูกของเซอร์เกอร์วาส คลิฟตันซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในปารีส แต่ไม่นานเขาก็ได้กลับไปทำงานให้กับตระกูลคาเวนดิชซึ่งฮอบส์ได้กลับมาในฐานะครูสอนให้กับลูกชายของวิลเลียมผู้เยาว์ศิษย์เก่าของเขา
การเดินทางไปยุโรปภาคพื้นของฮอบส์ในตลอดหลายปีทำให้เขาได้เรียนรู้ในหลากหลายสาขาวิชา โดยส่วนใหญ่เขาได้รับมาจากฝรั่งเศส ฮอบส์ได้ศึกษาแนวคิดด้านคณิตศาสตร์ ปรัชญาและวิทยาศาสตร์จากหลายคน เช่น ปิแอร์ กาสเซนดี เรอเน เดการ์ตส์ นอกจากนี้ฮอบส์ยังได้แนวคิดจากผลงานของกาลิเลโอ กาลิเลอิ อีกด้วย
ในด้านของปรัชญาการเมือง แนวคิดของฮอบส์ถือว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ฮอบส์ได้นำความรู้จากหลากหลายสาขาวิชาที่เขาได้สั่งสมไว้มาผสมผสานกับปรัชญาคลาสสิคและแนวคิดทางการเมืองจนเป็นแนวคิดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ มนุษยศาสตร์และปรัชญาธรรมชาติถือว่ามีอิทธิพลอย่างมากในแนวคิดทางการเมืองของฮอบส์ โดยฮอบส์ได้ตีพิมพ์ผลงานทางการเมืองต่างๆมากมาย
โดยในปี 1640 ฮอบส์ได้ตีพิมพ์ผลงานชื่อ The Elements of Law, Natural and Politic หรือ องค์ประกอบของกฎหมาย ธรรมชาติและการเมือง โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์และอำนาจกับการถือกำเนิดรัฐ โดยฮอบส์กล่าวว่า ธรรมชาติของมนุษย์ มีองค์ประกอบด้วยกันอยู่ 4 ส่วน อันได้แก่ การรับรู้และความคิดซึ่งเกิดจากผลกระทบทางกายและการสัมผัสได้จากทางกาย ซึ่งแตกต่างกับความรู้สึกและอารมณ์ที่เกิดจากผลกระทบทางกายและประสบการณ์ที่เรียนรู้จากอดีต
ซึ่งมีบทบาทในการกระทำต่างๆของมนุษย์ ซึ่งการรับรู้และอารมณ์ความรู้สึกนำไปสู่ความต้องการและความปรารถนา ซึ่งทำให้ธรรมชาติของมนุษย์มีความเห็นแก่ตัวเพื่อเสาะแสวงหาความสุขและหลีกเลี่ยงความทุกข์ ซึ่งนำไปสู่หลักการกระทำของมนุษย์ โดยความต้องการของมนุษยนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจในการกระทำต่างๆของมนุษย์
นอกจากธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ฮอบส์ยังกล่าวถึงรัฐสัญญาประชาคมและรัฐ โดยที่ฮอบส์กล่าวว่า สภาวะทางธรรมชาติ เป็นสภาวะที่ไม่มีอำนาจใดๆ ซึ่งเป็นสภาวะที่โหดร้ายสำหรับมนุษย์และขาดเสถียรภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์นั้นซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความไม่มั่นคง มนุษย์จึงรวมตัวกันและทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อสร้างรัฐและก่อตั้งรัฐบาล
โดยสถาปนาอำนาจอธิปไตยซึ่งเกิดจากการสละอำนาจ สิทธิและเสรีภาพเพียงบางส่วนเพื่อทำให้รัฐบาลเกิดความเข้มแข็งและมีอำนาจในการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย ในการปกครองของรัฐบาลนั้นจำเป็นจะต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์และโครงสร้างของระบบยุติธรรมเพื่อรักษาระเบียบและความสงบเรียบร้อยภายในรัฐ
หลังจากตีพิมพ์ผลงานชิ้นแรก ในปี 1651 ฮอบส์ก็ได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นเอกของเขานั่นคือ เลเวียทาน (Leviathan) ซึ่งได้เสนอแนวคิดที่ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน นั่นคือ ส่วนแรก เป็นส่วนของมนุษย์ โดยฮอบส์เสนอว่า มนุษย์นั้นมีความเห็นแก่ตัวและมีความต้องการเป็นสัญชาตญาณ
โดยที่เขากล่าวด้วยเช่นกันว่า มนุษย์นั้นมีความเท่าเทียมกันทั้งในทางกายและจิตใจ ซึ่งก่อให้เกิดการแข่งขันกันจนเกิดความไม่ไว้วางใจกันและกันเพื่อที่จะให้ตนเองมีอำนาจเหนือผู้อื่น นอกจากนี้ฮอบส์ยังกล่าวว่า โดยธรรมชาติเป็นสภาวะที่ไม่มีอำนาจใดเป็นอำนาจสูงสุด
ส่วนต่อมา เป็นส่วนของรัฐ โดยฮอบส์กล่าวว่า รัฐถือกำเนิดขึ้นจากการที่มนุษย์ได้ทำสัญญาและข้อตกลงร่วมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงสถานะที่ไม่มั่นคง ในการทำสัญญาร่วมกันคือการที่มนุษย์ยอมสละสิทธิและเสรีภาพเพียงบางส่วนให้กับรัฐบาลมีอำนาจเพื่อปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย นอกจากนี้ฮอบส์ยังกล่าวด้วยว่า รัฐที่เข้มแข็งนั้นจะต้องเหมือนเลเวียทาน ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานเทพนิยายที่มีอำนาจเด็ดขาด โดยที่การมีรัฐที่เข้มแข็งและอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์นั้น ก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ
ส่วนที่สาม เป็นส่วนของรัฐและศาสนจักร ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาอย่างยาวนานในยุโรปมาโดยตลอด เนื่องจากที่ผ่านมานั้นศาสนจักรมักจะเข้าไปมีบทบาททางการเมืองในหลายประเทศ ฮอบส์ได้กล่าวว่า อำนาจควรแบ่งเป็นอำนาจทางโลกและอำนาจทางธรรม โดยอำนาจของผู้ปกครองหรืออำนาจทางโลกนั้นควรอยู่เหนืออำนาจทางศาสนาหรืออำนาจทางธรรม เพื่อป้องกันการถูกแย่งอำนาจและความขัดแย้งทางศาสนา ซึ่งศาสนานั้นฮอบส์มองว่า บทบาทของศาสนาควรอยู่ในฐานะผู้สนับสนุนผู้ปกครองในการปกครองรัฐ ไม่ใช่เข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรง
ส่วนสุดท้ายนั้นคือ ส่วนของอาณาจักรแห่งความมืดมนหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากศาสนจักร ฮอบส์ได้วิจารณ์ว่าหากศาสนาถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด มีการบิดเบือนหลักคำสอนเพื่อเข้ามามีอำนาจในการปกครองจะทำให้รัฐสูญเสียอำนาจในการปกครองด้วยตัวเอง ดังนั้นอำนาจทางปกครองควรอยู่เหนืออำนาจทางศาสนาเพื่อป้องกันอำนาจถูกแย่งไปและก่อให้เกิดความขัดแย้ง
เลเวียทานถือเป็นแนวคิดที่สำคัญเป็นอย่างมากในยุคการตื่นรู้ทางปัญญาเป็นอย่างมาก ซึ่งต่อมาจะถูกพัฒนาเป็นแนวคิด สัญญาประชาคม ในที่สุด ทำให้ฮอบส์ ถูกยกย่องว่า เป็นผู้ทำให้เกิดแนวคิดสัญญาประชาคม ซึ่งแนวคิดของ 2 ผลงานนี้ทำให้ผลงานชิ้นต่อๆมามีเนื้อหาในทำนองนี้
ในช่วงบั้นปลายชีวิตของฮอบส์ เขาได้กลับมาอังกฤษ ซึ่งตรงกับในรัชสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 หลังจากการกลับมาอังกฤษของฮอบส์ เขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากลูกศิษย์คนเก่าของเขาเมื่อตอนที่เขาอยู่ที่ฝรั่งเศส นั่นคือ ชาร์ลส์ที่ 2 ซึ่งเคยได้รับการเรียนการสอนจากฮอบส์เมื่อประทับอยู่ที่ฝรั่งเศส ฮอบส์รับการสนับสนุนจากราชสำนักของชาร์ลส์ที่ 2 โดยมอบเงินบำนาญให้และสนับสนุนในงานเขียนของเขาต่อไป
แต่ในขณะเดียวกันในช่วงบั้นปลายชีวิตฮอบส์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในผลงานของเขา โดยเฉพาะเลเวียทาน ซึ่งกลุ่มคนที่มีความขัดแย้งกับผลงานของเขานั้นคือ ศาสนจักร ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านผลงานของเขา อีกทั้งยังกล่าวหาว่าเขาเป็นพวกปฏิเสธและไร้ศาสนา นอกจากศาสนาแล้วนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์รุ่นต่อมาก็ยังวิพากษ์วิจารณ์เขาด้วยเช่นกัน
แม้ว่าเขาจะถูกวิจารณ์อย่างหนักจากหลายๆฝ่าย ฮอบส์ยังตีพิมพ์ผลงานอยู่ต่อไป โดยผลงานชิ้นสุดท้ายของฮอบส์ถูกตีพิมพ์ในปี 1681 นั่นคือ Behemoth ซึ่งมีเนื้อหาในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองและสงครามของอังกฤษ นอกจาก Behemoth แล้วฮอบส์ยังตีผลงานเป็นการแปลหนังสือของโฮเมอร์ด้วย
ฮอบส์ได้ใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายในบ้านของตระกูลคาเวนดิช ที่เมืองแช็ตสเวิร์ธ ซึ่งเขายังคงความสัมพันธ์อันดีและสนิทสนมมาโดยตลอด ฮอบส์ได้ล้มป่วยลงด้วยโรคหลอดเลือดในสมองจนทำให้เขาเป็นอัมพาต จนกระทั่งวันที่ 4 ธันวาคม ปี 1679 ขณะมีอายุ 91 ปี โทมัส ฮอบส์เสียชีวิตลงอย่างสงบในบ้านของตระกูลคาเวนดิช
แนวความคิดของฮอบส์มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในทางการเมือง โดยเฉพาะแนวคิดสัญญาประชาคม เลเวียทาน ถูกหยิบยกนำมาใช้ในการอธิบายเหตุผลของการเกิดขึ้นของรัฐและอำนาจอธิปไตย จนเกิดเป็น ทฤษฎีสัญญาประชาคม ในทฤษฎีกำเนิดรัฐ และยังถูกนำมาอ้างถึงอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้นเป็นของปวงชน ซึ่งในยุคก่อนหน้านี้และในช่วงที่ฮอบส์มีชีวิตอยู่นั้น แนวคิดเทวสิทธิ์และแนวคิดว่าอำนาจอธิปไตยของรัฐเป็นของพระเจ้าหรือของกษัตริย์นั้นเป็นแนวคิดที่แพร่หลายและถูกนำมาใช้ทั้งในรัฐเยอรมัน ออสเตรีย สเปน และฝรั่งเศส
อีกทั้งฮอบส์ยังเป็นตัวอย่างของนักปรัชญาที่สร้างแนวความคิดใหม่ๆในเรื่องของธรรมชาติมนุษย์และการปกครองรัฐ ซึ่งยังเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญและยังถูกนำมาหยิบยกและปรับใช้จนปัจจุบัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา