6 มิ.ย. 2024 เวลา 01:11 • ประวัติศาสตร์

สร้าง Landmark EP.1 อนุสรณ์สถานสันติภาพฮิโรชิมะ

ญี่ปุ่น ถือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่สำคัญแห่งหนึ่งในโลก แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีพื้นที่เพียงแค่ 377,975 ตารางกิโลเมตร แต่นอกเหนือสภาพเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ทำให้คนทั้งโลกตกตะลึงอยู่เสมอ สถานที่ท่องเที่ยวในญี่ปุ่นก็เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก อ้างอิงจาก มาสเตอร์การ์ด พบว่า ในปี 2023 กรุงโตเกียวเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 9 ของโลกด้วยจำนวนที่สูงถึง 12,930,00 คน
และตามด้วยเมืองโอซากะที่อยู่อันดับที่ 12 ด้วยจำนวนถึง 10,140,000 คน ด้วยความสวยงามของสถานที่และด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของญี่ปุ่นที่สามารถทำให้วัฒนธรรมและประเพณีที่เก่าแก่คงอยู่ได้อย่างกลมกลืนกับการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างก้าวกระโดด แต่กระนั้นก็ตามนอกจากศาลเจ้าที่สวยงาม แหล่งการค้าที่คึกคักและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่กลมกลืนกับโลกสมัยใหม่
ยังมีสถานที่หนึ่งที่เป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและเราควรจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ดินแดนอาทิตอุทัยอันแสนสงบ สวยงามและสันติสุข นั่นคือเมืองเล็กๆบริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ที่มีพื้นที่เพียง 905 ตารางกิโลเมตร เมืองนั้นเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ สันติภาพ และบาดแผลที่ฝังลึกอยู่ในใจของคนชาวญี่ปุ่นและแทบจะคนทั้งโลก เมืองนั้นมีชื่อว่า ฮิโรชิมะ
ซากปรักหักพังของอาคารส่งเสริมอุตสาหกรรมประจำเมืองฮิโรชิมะเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจอยู่เสมอว่าสงครามคือสิ่งที่โหดร้ายและเป็นสิ่งที่ไร้ซึ่งพรากชีวิตผู้คนมากมายมาหลายชีวิต โดมอันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสันติภาพหลังสงครามถูกตั้งชื่ออันแสนจะขมขื่นใจว่า โดมปรมาณู อันเป็นเครื่องตีตราว่า สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่รอดจากการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกจากสหรัฐอเมริกาและระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลก
ในปี 1939 หลังช่วงเวลาแห่งสันติสุขอันกระท่อนกระแท่นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1918 ด้วยความคับแค้นใจของชาวเยอรมันที่ถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบจากู้ชนะสงคราม ความอดอยากของผู้คนในเยอรมันและประเทศถังแตกประกอบกับความไม่พอใจกับผู้ชนะสงครามอย่างอิตาลีและญี่ปุ่นที่ได้ผลประโยชน์อันน้อยนิด ทำให้ชนวนสงครามอันก่อให้เกิดความไม่พอใจและก่อให้เกิดปัญหาซึ่งนำไปสู่การก่อสงครามเกิดขึ้นหลังปลายปากกาจรดลงบนสนธิสัญญาแวร์ซาย อันเป็นสนธิสัญญาสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1
พร้อมกับบังคับให้เยอรมนีจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลและการแบ่งผลประโยชน์ต่างๆของเหล่าผู้ชนะสงคราม แม้ว่าทั่วทั้งยุโรปและทั่วโลกจะพูดว่าสนธิสัญญานี้จะนำไปสู่สันติภาพที่ยาวนาน ประกอบกับการก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ อันมีบทบาทในการดูและความสงบสุขและสร้างสันติภาพของโลก สันติภาพที่ถูกยัดเหยียดโดยผู้ชนะสงครามนั้นดูเหมือนจะเป็นสันติภาพที่ไม่ใช่สิ่งที่ทั้งโลกปรารถนา เป็นเหมือนการที่ผู้ชนะใช้เทปปิดปากผู้พ่ายแพ้แล้วคอยพูดแต่คำว่า เพื่อสันติสุขเราต้องทำ
แต่ผู้พ่ายแพ้และผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อันแสนจะน้อยนิดนั้นกลับไม่ยอมที่จะนั่งอยู่เฉยๆและคอยให้ผู้ชนะที่มุ่งหาผลประโยชน์จากการชนะสงครามพูดต่างๆนานา และแล้วในปี 30 มกราคม ปี 1933 คนเยอรมนีก็เริ่มหาไฟแช็กมาจุดชนวนสงครามอันใหญ่โต เพราะในปีนั้นเองความสันติสุขก็เริ่มที่จะส่อเค้าลางแห่งสงคราม เนื่องจากเยอรมนีหรือในตอนนั้นคือสาธารณรัฐไวมาร์ ได้ผลัดเปลี่ยนผู้นำคนใหม่ และผู้นำคนใหม่ของไวมาร์คนนั้นมีชื่อว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้ที่จะเป็นผู้จุดไฟระเบิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมา และมันเกิดขึ้นที่โปแลนด์
ในสงครามครั้งนี้แม้ว่าจะยังคงมีการแบ่งฝ่ายเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายอักษะ และ ฝ่ายสัมพันธมิตร เช่นเดียวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งแบ่งเป็น 2 ฝ่ายเหมือนกัน แต่ในเกมสงครามในครั้งนี้มีการปรับเปลี่ยนชาติที่เข้าร่วมสงครามโดย อิตาลี นำโดย เบนิโต มุสโสลินี และญี่ปุ่น ซึ่งนำโดย ฮิเดกิ โทโจ ในนามของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ได้เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะซึ่งมีเยอรมนีเป็นแกนนำหลัก
แม้ว่าในช่วงต้นก่อนสงครามจะเกิดขึ้นอย่างเต็มตัว มีความพยายามที่จะรักษาสันติภาพอย่างยาวนานเพียง 21 ปี เราคงจะเคยเห็นภาพชายคนหนึ่งเดินลงจากเครื่องบิน พร้อมชูกระดาษแผ่นหนึ่งขึ้นมา พร้อมกล่าวว่า “โลกจะมีสันติภาพอย่างยืนยาว”
นายเนวิลล์ แชมเบอร์เลน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ถือเอกสารข้อตกลงมิวนิก... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/articles/804936/
การกระทำของเนวิลล์ แชมเบอร์เลน เป็นตัวแทนของคำว่า การดื้อแพ่งที่ไม่ยอมรับความจริง ในเรื่องที่ว่า สันติภาพ 21 ปีที่ผ่านมาของพวกเขาได้หายไปแล้ว และแล้วความจริงที่พวกเขาพยายามไม่ยอมรับและพยายามปกปิดประหนึ่งคนที่พยายามใช้มืออุดรอยรั่วของเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ และในปี 1939 ความจริงที่พวกเขาพยายามปิด ก็ได้ระเบิดออกและสงครามได้เกิดขึ้น
สงครามในครั้งนี้เป็นโศกนาฏกรรมที่สุดแสนจะโหดร้าย มีผู้เสียชีวิตทั้งทหารและพลเรือนมากกว่า 73 ล้านคน นอกจากสงครามในภาคพื้นยุโรปที่ดุเดือดแล้ว สงครามในภาคพื้นแปซิฟิกก็ถือว่าดุเดือดและเข้มข้นไม่แพ้กัน ญี่ปุ่นกำลังรุกรานประเทศต่างๆในเอเชียทั้งสาธารณรัฐจีน อาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส อาณานิคมมลายูของอังกฤษ และประเทศต่างๆในมหาสมุทรแปซิฟิก
แม้ว่าญี่ปุ่นในยุคนั้นเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุด แต่ปัญหาของญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องรุกรานในหลากหลายประเทศ นั่นคือ สภาพภูมิประเทศของญี่ปุ่นมีทรัพยากรที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศและมีปัจจัยในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่มากพอ ทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องบุกยึดดินแดนต่างๆเพื่อแสวงหาทรัพยากรมาจุนเจือความต้องการของตัวเอง
ภาพชัยชนะของญี่ปุ่นในการยุทธการบุกยึดนานกิง
การเปลี่ยนแปลงของสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อสหรัฐอเมริกานำโดยประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลท์ ได้ยกเลิกการส่งออกสินค้าให้กับญี่ปุ่นโดยเฉพาะน้ำมันและเหล็ก ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหารที่สำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วยในกรณีที่ญี่ปุ่นบุกยึดแมนจูและรุกรานจีน ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นพยายามจะเจรจากับสหรัฐฯหลายต่อหลายครั้ง แต่สหรัฐฯก็ยังคงยื่นคำขาดว่า ญี่ปุ่นจะต้องยุติการบุกยึดจีน
การเจรจาจึงล้มเหลวทุกครั้งเพราะญี่ปุ่นไม่ยอมยุติการยึดจีนและถอนตัวออกจากอินโดจีน ทำให้ญี่ปุ่นไม่พอใจเป็นอย่างมาก ในที่สุดวันที่ 7 ธันวาคม ปี 1941 ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจปฏิบัติการโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐฯ หลังการโจมตีในครั้งนั้นนำไปสู่การเข้าร่วมสงครามของสหรัฐฯ
ยุทธการณ์โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์
การเข้ามาของสหรัฐฯในสงครามนั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงในสงครามเป็นอย่างมาก จากเดิมที่ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งในขณะนั้นเหลือเพียงอังกฤษเพียงชาติเดียวที่ยังไม่ถูกยึดครองเนื่องจากฝรั่งเศสถูกยึดครองโดยเยอรมนีไปแล้ว ประกอบกับเยอรมนีได้ฉีกสนธิสัญญาไม่รุกรานโซเวียตและเริ่มปฏิบัติการบาบารอสซา ทำให้โซเวียตเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร หลังการเข้ามาของสหรัฐฯได้ไม่นาน 8 พฤษภาคม ปี 1945 สงครามโลกในภาคพื้นยุโรปสิ้นสุดลง ทำให้ฝ่ายอักษะเหลือเพียงญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังไม่ยอมแพ้ และยังทำสงครามอยู่
จนกระทั่งสหรัฐได้ตัดสินใจที่จะใช้อาวุธลับชิ้นใหม่ที่เพิ่งจะทดลองที่ลอสอาลาโมส ในโครงการที่ชื่อ “โครงการแมนแฮตตัน” ในวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณูที่มีชื่อว่า “Little boy” ที่เมืองฮิโรชิมะ สาเหตุของการทิ้งระเบิดของสหรัฐนั้นเกิดจากความต้องการให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโดยเร็วที่สุดและยอมแพ้โดยที่สหรัฐมีบทบาทในญี่ปุ่นเพื่อป้องกันไม่ให้สหภาพโซเวียตเข้ามามีบทบาทในญี่ปุ่นและเป็นการสกัดกั้นการแผ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ของโซเวียต ก่อนหน้านี้สหรัฐพยายามยื่นคำขาดให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม
แต่การยื่นคำขาดนั้นกลับไม่ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามตามที่หวัง ทำให้สหรัฐตัดสินใจเผด็จศึกและเร่งจุดจบของสงคราม ทำให้สหรัฐตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมะ และ 3 วันต่อมาก็ได้ทิ้งระเบิดปรมาณูอีกครั้งที่เมืองนางาซากิ ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในที่สุด
ซากปรักหักพังหลังการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมะกลายเป็นอนุสรณ์สถานสันติภาพ
หลังสงครามสิ้นสุดลง ซากปรักหักพักที่หลงเหลืออยู่จากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมะได้ถูกตั้งขึ้นเป็นอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กระนั้นก็ตามแม้ว่าอนุสรณ์สถานสันติภาพที่เมืองฮิโรชิมะจะเป็นดั่งตัวแทนของสันติภาพของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นมันไม่ได้สงบสุขเช่นดั่งว่า
เพราะหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง โลกเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรงไม่ต่างกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ประกอบกับ 2 ปีหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกก็เข้าสู่สงครามเย็นอันเป็นสงครามระหว่างโลกสังคมนิยม นำโดย สหภาพโซเวียต และฝ่ายโลกเสรีนิยม ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก นี่คือ สันติภาพที่ทั้งโลกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรารถนาอย่างนั้นหรือ แม้ว่าความรุนแรนจะไม่ได้มากเมื่อเทียบกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม
แต่สงครามเย็นเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า สันติภาพที่ผู้คนทั้งโลกหลังสงครามโลกถวิลหานั้นมันยังไม่มาถึง นอกจากสงครามเย็นแล้ว ยังมีสงครามปะทุอีกเป็นจำนวนมากทั้งในฐานะสงครามตัวแทนของสงครามเย็นอย่างสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม หรือแม้แต่สงครามอิรัก–อิหร่าน นอกจากสงครามที่ปะทุขึ้นแล้วยังมีการเกิดขึ้นของวิกฤตต่างๆอีก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์คิวบา เหตุการณ์ 9-11 เหตุการณ์เหล่านี้สร้างความตึงเครียดให้กับประชาคมโลกเป็นอย่างมาก ยิ่งกว่าความขัดแย้งบริเวณกำแพงเบอร์ลินเสียอีก
สวนอนุสรณ์สถานสันติภาพ สถานที่ตั้งของดวงไฟสันติภาพที่ถูกจุดขึ้น
ถึงภายหลังสงครามเย็นจะสิ้นสุดลง กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย แม้จะดูเหมือนสันติภาพที่พวกเขาปรารถนากำลังจะล่องลอยมาหา และดวงไฟที่จุดขึ้นบริเวณอนุสรณ์สถานสันติภาพจะดูโชติช่วงขึ้นอีกครั้ง แต่กระนั้นก็ตามสันติภาพก็ดูเหมือนกำลังจะลอยหายไปอีกครั้งและดวงไฟกำลังจะริบหรี่ลง เนื่องจากสงครามที่เกิดขึ้นอีกครั้งทั้งปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ถูกกล่าวขาน และสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่เขาร่ำลือกัน หรือแม้แต่ปัญหาความขัดแย้งจะส่อแววจะเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน
สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะทำให้สันติภาพที่พวกเรามุ่งแสวงหามาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หรืออาจจะลากยาวไปถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือจริงๆแล้วสันติภาพที่เราต้องการมันไม่เคยทำให้เกิดขึ้นเลยหลังสงคราม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา