9 มิ.ย. เวลา 01:49 • สัตว์เลี้ยง

‘คน’ กับ ‘สัตว์’ EP 0 สัตว์ก็มีความรู้สึก

สัตว์เองก็มีความรู้สึก: ความสัมพันธ์ของคนและสัตว์เลี้ยง ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องของการควบคุมและทำให้เชื่อง
เดิมทีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ตกอยู่ภายใต้ความเข้าใจในฐานะที่สัตว์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวโยงกับการใช้ชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งพลังงานและแรงงาน หรือในฐานะที่เป็นเพื่อนและศัตรูของมนุษย์
ขณะที่การก่อตัวของวัฒนธรรมสัตว์เลี้ยง (pet culture) ได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์โดยที่มีมนุษย์เป็นเจ้าของหรือเป็นผู้เลี้ยงและสัตว์ที่ถูกเลี้ยงให้อยู่ในพื้นที่ที่จำกัดไว้และถูกควบคุมการใช้ชีวิตตั้งแต่การกินไปจนถึงการผสมพันธุ์ สัตว์จึงถูกเลี้ยงดูให้เชื่องและฟังคำสั่งของมนุษย์ผ่านการฝึกฝนเพื่อให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกครอบครัวของเจ้าของ (John Berger, 2009)
วัฒนธรรมสัตว์เลี้ยงที่ก่อตัวและแพร่หลาย จึงเป็นผลของสภาวะความสัมพันธ์ที่ทลายสภาวะคู่ขนานระหว่างมนุษย์กับสัตว์ลง (parallelism) กล่าวคือ สัตว์ได้เข้ามาอยู่อาศัยในสังคมมนุษย์มากขึ้น แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวกลับกลายเป็นการสถาปนาอำนาจของมนุษย์ผ่านรูปแบบของการควบคุม โดยมีมนุษย์เป็นผู้มีอำนาจ ควบคุมสัตว์เลี้ยงให้เชื่อง จนสามารถใช้งานในวิถีชีวิตของมนุษย์ เช่น
การใช้แรงงานควายในการทำภาคการเกษตรของมนุษย์ การใช้ม้า หรือช้าง เป็นพาหนะในการเดินทางไกล เป็นต้น ความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นลักษณะของการที่มนุษย์เข้าไปใช้ประโยชน์จากสัตว์เพื่อดำรงชีพในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมสัตว์เลี้ยงก็เปิดพื้นที่ของความสัมพันธ์ที่แตกต่างออกไป สัตว์บางชนิดอย่างสุนัข เป็นสัตว์เลี้ยงที่มนุษย์เปิดพื้นที่ให้เข้ามาอยู่ร่วมกับบ้านของมนุษย์ ความหมายของการเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตจึงถูกแทนที่ด้วยชุดความคิดของสัตว์เลี้ยงว่าเป็นมากกว่าสัตว์ โดยเฉพาะกับสุนัขที่มนุษย์ให้นิยามว่า ‘เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์’ โดยที่มนุษย์เองก็สถาปนาอำนาจในการควบคุมชีวิตของสัตว์ในเกือบทุกมิติ (พนา กันธา, 2560)
ที่ผ่านมาเราทำความเข้าใจแง่มุมของสัตว์ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการตีกรอบว่าสัตว์เป็นสปีชีส์หนึ่งที่อาศัยในโลกมนุษย์ โดยศึกษาผ่านพฤติกรรม และแง่มุมชุดคำอธิบายทางชีววิทยา ซึ่งบางครั้งเราอาจละเลยมุมมองที่สัตว์เลี้ยงอาจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกับมนุษย์ ที่ไม่ได้มีมนุษย์เท่านั้นที่เป็นผู้ควบคุมสัตว์ สัตว์เลี้ยงก็สามารถกระทำบางอย่างที่ทำให้มนุษย์ตอบสนองและโต้ตอบกลับมา (John Knight, 2005) เช่น แมวที่อ้อนขออาหารจากมนุษย์ในมุมเดิม หรือสุนัขที่คาบกิ่งไม้มาให้มนุษย์โยนเล่นด้วย เป็นต้น
มองอย่างไรให้เข้าใจความสัมพันธ์ของมนุษย์ และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์
การศึกษาและทำความความเข้าใจในเรื่องของสัตว์ในทางสังคม เริ่มต้นมาจากการแบ่งแยกระหว่างมนุษย์ และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human) ให้แยกขาดออกจากกัน หมายความว่ามนุษย์พยายามแบ่งแยกกรอบของความเป็นธรรมชาติ และวัฒนธรรมมนุษย์ออกจากกัน ความเข้าใจของปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์จึงถูกอธิบายโดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการมอง (anthropocentric) สัตว์จึงถูกอธิบายด้วยมุมมองที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางและกลายเป็นเพียง ‘วัตถุกรรม’ (object) ที่เป็นทรัพยากรสำหรับกิจกรรมในชีวิตของมนุษย์
ดังนั้นแล้ว สัตว์จึงถูกอธิบายผ่านมุมมองของตัวมนุษย์เพื่อทำความเข้าใจตัวของมนุษย์เองในขณะที่มุมมองของสัตว์ไม่ได้มีความจำเป็นต่อการทำความเข้าใจของมนุษย์เพราะสัตว์ปราศจากความสามารถในการให้เหตุผล ภาษา และวัฒนธรรมได้เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์
งานศึกษาของมานุษยวิทยา เริ่มมองสัตว์มาจากการเป็นส่วนหนึ่งที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่มนุษย์นำธรรมชาติรอบตัวมาใช้เพื่อกิน (good to eat) เพื่ออยู่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต
ขณะที่บางครั้งสัตว์ก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่มนุษย์นำมาหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมผ่านเรื่องเล่า และนิทานปรัมปรา (good to think) (Lévi-Strauss, 1963: 89) ซึ่งอีกแง่มุมหนึ่ง เริ่มมีการมองสัตว์ในแบบที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์มากขึ้น โดยที่สัตว์เองก็สามารถตอบโต้กับมนุษย์ และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ (good to live)
งานของ Philippe Descola ในหนังสือ Beyond Nature and Culture ซึ่งเสนอกรอบแนวคิด และมุมมองความเข้าใจต่อภววิทยา (Ontology) ทั้ง 4 แบบ ซึ่งกรอบภววิทยาของ Descola ช่วยทลายกรอบความเข้าใจแบบขั้วตรงข้าม แล้วเสนอการทำความเข้าใจของสังคมมนุษย์ใหม่ โดยไม่ละเลยต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวมนุษย์ รวมถึงสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์
มุมมองลักษณะดังกล่าว ทำให้เรามองธรรมชาติในลักษณะที่มีความซับซ้อนและส่งผลต่อการกระทำของมนุษย์มากขึ้น เช่น ชาวประมงพื้นถิ่น สามารถกำหนดวันที่จะออกเรือเพื่อหาปลาฝูงใหญ่ได้ ผ่านการเฝ้าดู และรอการมาถึงของนกบางชนิด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์อาศัยการรับรู้ถึงฝูงปลาผ่านการรับรู้ของนกที่รอคอยจับปลาเป็นอาหารเช่นกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์เลี้ยงกับเจ้าของถูกจัดวางไว้ในสภาวะที่ซ้อนซ้อนเกินกว่าที่สัตว์จะกลายเป็นฝ่ายที่ครอบงำโดยมนุษย์อยู่ฝ่ายเดียว สัตว์เลี้ยงจึงมีฐานะของความเป็นองค์ประธาน (subject) ที่สามารถกระทำการ (actor) กลับไปยังมนุษย์ได้ ดังนั้น แนวคิดดังกล่าวจึงสร้างมุมมองที่ทำให้มนุษย์หันมาเข้าใจถึงสิ่งรอบตัว
โดยเฉพาะการใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่ใช่แค่การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ แต่หมายรวมถึงการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยง แต่ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่มนุษย์ควรจะต้องใส่ใจมากขึ้น ซึ่งเป็นฐานคิดของการใส่ใจดูแลชีวิตต่างสายพันธุ์ (Multispecies Care)
หากเรามองสัตว์เลี้ยงในฐานะที่มีภาวะผู้กระทำการที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ หรือสามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้ แม้จะไม่มีภาษาที่สื่อสารเข้าใจได้เฉกเช่นที่มนุษย์สื่อสารกัน แต่การอยู่ร่วมกันระหว่างสัตว์เลี้ยงกับเจ้าของกลับสร้างความผูกพันผ่านความทรงจำร่วมกัน นำไปสู่การทลายเส้นแบ่งของวัฒนธรรม (มนุษย์) และธรรมชาติ (สัตว์) ที่มนุษย์และสัตว์บางชนิดอยู่ร่วมกันด้วยความรู้สึกที่เห็นอกเห็นใจ (empathy) และผูกพันไม่ต่างจากที่เรารู้สึก และมองมนุษย์ด้วยกัน
เมื่อมนุษย์มองสัตว์เลี้ยงเป็นเพียงวัตถุหนึ่งที่ตอบสนองตามความคาดหวัง
ถึงแม้ความสัมพันธ์ของมนุษย์และสัตว์ในบางชนิด จะมีลักษณะของการพึ่งพาอาศัยระหว่างกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับสุนัขที่มนุษย์ได้ใช้เพื่อช่วยเหลือในการดำรงชีวิตทั้งล่าสัตว์ ต้อนแกะ รวมถึงในสังคมสมัยใหม่ที่เลี้ยงสุนัขเพื่อเป็นเพื่อนรู้ใจ และคอยทำหน้าที่เฝ้าบ้านให้ในบางครั้ง
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าคิดตามคือ เรากำลังมองสุนัขเป็นเพื่อนจริง ๆ หรือเป็นเพียงเพื่อนแก้เหงาที่วันใดวันหนึ่งหากไม่ตอบสนองต่อความต้องการก็พร้อมจะทอดทิ้งในสักวัน เช่นเดียวกับการเปิดคลิป reels ในปัจจุบัน ที่ใครหลายคนอาจเห็นภาพที่สุนัขถูกทอดทิ้งจนผอมแห้ง แล้วมีคนใจดีเข้ามารับไปดูแลจนแข็งแรงอีกครั้ง
ที่กล่าวมาไม่ได้กำลังอธิบายว่ามนุษย์ทุกรายจะมองสัตว์เลี้ยงในแบบดังกล่าว แต่ถึงกระนั้นเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ตกอยู่ภายใต้สถานะของผู้ควบคุม (มนุษย์) และผู้ถูกควบคุม (สัตว์เลี้ยง) ซึ่งวันใดวันหนึ่งมนุษย์อาจเลือกที่จะทอดทิ้งให้สัตว์เลี้ยงเหล่านี้ต้องออกจากบ้านที่เคยอาศัยร่วมกับมนุษย์มาอยู่ข้างถนนโดยที่ไม่เคยเรียนรู้ที่จะมีชีวิตรอดโดยการหาอาหารมาก่อน
Sanders (1999) อธิบายว่ามนุษย์มักมีความคาดหวังการใช้ประโยชน์จากสุนัข ทั้งเป็นเพื่อนแก้เหงา ป้องกันอันตรายที่รุกล้ำเข้ามาในบ้าน รวมถึงในบริบทปัจจุบันอย่าง การดมกลิ่นตามหาผู้ร้าย หรือระเบิด เป็นต้น ซึ่งความหมายดังกล่าวเป็นการมองสุนัขเป็นเพียง ‘วัตถุที่ถูกใช้ประโยชน์’ กล่าวคือมนุษย์ปฏิบัติต่อสุนัขด้วยความรู้สึกที่ต้องการสิ่งตอบแทนกลับคืนมา หากสุนัขสามารถตอบกลับได้ตามที่หวังจึงจะได้รับรางวัลตอบแทน
ขณะที่ Haraway อธิบายในทำนองเดียวกันว่า มนุษย์ต้องการให้สุนัขสามารถตอบรับความปรารถนา กล่าวคือแม้มนุษย์จะเปิดพื้นที่ของสุนัขให้เข้ามาอยู่ในสังคมของมนุษย์ แต่มนุษย์เองก็พยายามทำให้สุนัขสามารถตอบรับสิ่งที่มนุษย์ปรารถนาคืนกลับมา (เชื่อฟังคำสั่ง / ทำให้เชื่อง) ขณะที่สุนัขที่ไม่สามารถตอบสนองตามสิ่งที่ปรารถนาได้ (มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้) อาจนำไปสู่การถูกกำจัดออกไปจากสังคมมนุษย์
ความสัมพันธ์ที่ Haraway อธิบายจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องระวังจากความคาดหวังของมนุษย์ที่มีต่อสุนัขโดยเฉพาะสังคมสมัยใหม่ที่ต้องการสุนัขเป็นที่พึ่งทางใจ และเพื่อนแก้เหงา และยามใดที่สุนัขไม่สามารถตอบสนองความคาดหวัง อาจถูกมนุษย์ทอดทิ้ง ซึ่ง Haraway เสนอว่าเราควรตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว และมองสุนัขให้เป็นเหมือนสหายต่างสายพันธุ์ที่มนุษย์ต้องเคารพและเห็นใจมากขึ้น
ดังนั้นแล้ว มนุษย์เองก็ต้องตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันกับสุนัข ไม่ใช่แค่ในฐานะของสัตว์เลี้ยง แต่ให้ความรู้สึกของความเห็นอกเห็นใจ และเคารพในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ที่อยู่ร่วมกับสังคมมนุษย์มายาวนาน
ไม่ใช่ความคาดหวังที่มนุษย์มีต่อสัตว์เลี้ยงก็ดี แต่สัตว์เลี้ยงก็มีความคาดหวังจากมนุษย์หรือผู้เลี้ยงในอีกรูปแบบ ความสัมพันธ์ที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างการใช้เวลาอยู่ร่วมกัน กลายเป็นความผูกพันที่เกิดขึ้น ซึ่งอย่างน้อยที่สุดตัวผู้เลี้ยงเองจะเข้าใจนิสัยของสัตว์เลี้ยงของตัวเองได้ดีกว่าใคร
มุมมองที่เรามองต่อสัตว์สปีชีส์อื่นในความสัมพันธ์ที่นอกเหนือจะการควบคุมสัตว์ให้เชื่อฟัง จะทำให้เรามองเห็นสัตว์เลี้ยงในฐานะที่เป็นมากกว่าบางสิ่งที่ต้องตอบสนองตามความคาดหวังเสมอไป แต่ให้เป็นเรื่องของผู้เลี้ยงที่จะสร้างประสบการณ์ในการใช้ชีวิตร่วมกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งสัตว์เลี้ยงเองก็สามารถที่จะรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของเรา เพียงแต่มนุษย์เองก็ต้องไม่ลืมที่จะใส่ใจความรู้สึกของสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกัน
ไม่ใช่สัตว์ทุกชนิดที่มนุษย์อยากสร้างปฏิสัมพันธ์ด้วย มนุษย์จึงมีความลำเอียงทางสายพันธุ์
นอกจากสัตว์ที่มนุษย์คุ้นเคยอย่างสุนัขและแมวแล้ว ยังมีสัตว์ชนิดอื่นที่มัลักษณะจำเพาะแตกต่างออกไป เช่น แฮมสเตอร์ กระต่าย นก ปลา และอื่น ๆ ซึ่งลักษณะการปฏิสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงแต่ละสปีชีส์ก็แตกต่างออกไป หากจะพูดถึงสัตว์เลี้ยงทุกชนิด คงอาจไม่หมด และยืดยาว ยังไม่นับรวมถึงสัตว์เลี้ยงบางจำพวกซึ่งเป็นที่ยอมรับในบางกลุ่มอย่าง exotic pet หรือสัตว์แปลก ที่ไม่ได้มีลักษณะของ pop culture และอาจไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีสัตว์บางจำพวกที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง และตกอยู่ในสปีชีส์ที่มนุษย์เลือกที่จะลำเอียงทางสายพันธุ์ เนื่องจากสัตว์เหล่านี้มนุษย์จัดเรียงให้ไกลออกจากสังคมมนุษย์มากกว่าสัตว์บางชนิด เช่น สัตว์จำพวก แมง แมลง สัตว์เลื้อยคลาน เป็นต้น เช่นเดียวกับที่ใครหลายคนไม่ได้ชื่อนชอบ หรือมองว่างู หรือแมงมุมเป็นสัตว์เลี้ยงแสนน่ารักเหมือนคนอีกกลุ่มหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ที่มนุษย์มองกับสัตว์แต่ละชนิดจึงต่างกัน รวมไปถึงการใช้อารมณ์รวมกับสัตว์แต่ละชนิดก็แตกต่างกันในแต่ละคน มนุษย์รู้สึกเห็นอกเห็นใจกับสุนัข หรือแมวตามท้องถนน มากกว่าจะเห็นแมลงสาบไต่อยู่ตามบ้าน หรือมนุษย์อาจชอบใจที่สัตว์บางชนิดอย่างกิ้งกือโดนน้ำพัดพาไป นั่นเป็นเพราะมนุษย์เลียงที่จะลำเอียงต่อสายพันธุ์บางชนิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีที่มาที่ไปที่มนุษย์สร้างวัฒนธรรมในการเข้าไปมีส่วนร่วมต่อสัตว์แต่ละชนิดได้ไม่เหมือนกัน
สัตว์จำพวกหนูท่อ และแมลงสาบ อาจเป็นตัวอย่างของสปีชีส์ที่ให้คำอธิบายได้ชัดเจน เนื่องจากทั้งคู้เป็นสัตว์ที่มนุษย์สร้างชุดของคำอธิบายโดยจัดให้อยู่ในจำพวกของความสกปรก และพาหะนำโรค ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรอยู่ร่วมกับมนุษย์ โดยหนูท่อจะอยู่อาศัยตามท่อสกปรก
ขณะที่ยังนำพามาซึ่งโรคฉี่หนูซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ในขณะที่แมลงสาบเป็นสัตว์ที่ถูกจัดให้เป็นผู้ย่อยสลาย แต่เมื่อมาอยู่ในสังคมมนุษย์จึงอยู่ตามแหล่งที่เป็นขยะ รวมถึงเศษซากอาหารที่มนุษย์เหลือทิ้งไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความหมายของที่อยู่อาศัย และเมือง (urban) ที่ต้องมีเรื่องของความสะอาดเข้ามาเกี่ยวข้อง
ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ซึ่งต้องมาพร้อมเรื่องของความสะอาด จึงต้องจัดให้ห่างไกลจากสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน คือ ความสกปรก ให้แยกห่างออกจากกัน เหมือนคำที่ว่าเมืองที่ดีควรจะต้องมีพื้นที่ตามท้องถนนที่สะอาด เป็นระเบียบ ดังนั้น สัตว์ที่อยู่อาศัย หรือทำหน้าที่ย่อยสลายดูจะเป็นความหมายขั้วตรงข้าม (binary opposition) กับสังคมมนุษย์ที่ควรจะเป็น มนุษย์จะพยายามกีดกัน (รวมถึงกำจัด) สัตว์เหล่านี้ให้ออกไป กล่าวคือไม่ต้องการให้อยู่อาศัยร่วมกับมนุษย์เช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่น
ในบทความเรื่อง “ทำไมเราจึงรังเกียจแมลงสาบ?: แมลงสาบในสังคมวัฒนธรรม” ของ ลีลา วรวุฒิสุนทร ได้ชี้ให้เห็นว่าทำไมแมลงสาบซึ่งเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติกลับเป็นที่รังเกียจของมนุษย์
โดยแบ่งความขยะแขยงออกเป็น 2 เรื่อง คือ ความขยะแขยงในฐานะกลไกตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นกลไกการป้องกันตัวตามธรรมชาติของมนุษย์จากสิ่งที่ไม่น่าไว้ใจ หรือสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค และความขยะแขยงในฐานะผลผลิตของวัฒนธรรม ที่ถูกสร้างและผลิตซ้ำว่าแมลงสาบเป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากภาพจำที่เกิดจากโฆษณาผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง จนเกิดเป็นภาพจำของความสกปรก
เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงที่ในจำพวกของ exotic pet ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสัตว์ที่มนุษย์ไม่ได้คุ้นเคยกับการเปิดพื้นที่ให้เข้ามาอยู่อาศัยร่วมกัน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่ทำให้มนุษย์มีความลำเอียงทางสายพันธุ์ และเลือกปฏิบัติกับสัตว์แต่ละชนิดแตกต่างกัน
อีกทั้งมนุษย์ยังลำดับ และหมวดหมู่ของสัตว์แต่ละชนิดในจำพวกที่ต่างกัน จึงเป็นเรื่องที่แปลกใหม่หากมนุษย์จะมีปฏิสัมพันธ์นอกเหนือไปจากที่มนุษย์เคยจัดเรียงความสัมพันธ์ไว้ ม้าเป็นสัตว์พาหนะ มนุษย์จัดหมวดหมู่ในฐานะของประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ขณะที่งู แมงมุม แมงป่อง มนุษย์จัดวางให้อยู่ในหมวดหมู่ของสัตว์อันตรายต่อมนุษย์ ดังนั้นการนำสัตว์จำพวกนี้มาเป้นสัตว์เลี้ยงจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องที่แปลกต่อวัฒนธรรมสัตว์เลี้ยงที่มนุษย์เคยรับรู้มา
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์จัดเรียงความสัมพันธ์ไว้เพื่อเลือกที่จะปฏิสัมพันธ์ด้วยไม่เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าวันหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ ความสัมพันธ์ของกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ exotic pet จึงเป็นการมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์บางชนิดที่มนุษย์เปิดรับให้เข้ามาอยู่พื้นที่ของสังคมมนุษยืมากขึ้น ถึงแม้จะมีเรื่องของธรรมชาติของสัตว์ที่จะต้องปรับเปลี่ยนเพื่ออยู่ร่วมกับมนุษย์ เช่นเดียวกับที่สุนัขที่เรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ การเข้าใจความสัมพันธ์ของสัตว์แต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน เช่น การเลี้ยงปลาสวยงาม รวมถึงแมลงกว่างชน ก็มีลักษณะ และรูปแบบที่แตกต่างกับสัตว์ชนิดอื่น จึงต้องอาศัยความเข้าใจในปฏิสัมพันธ์ร่วมกันตามธรรามชาติของสัตว์แต่ละชนิดด้วย
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์ถูกจัดวางอยู่ในลักษณะของมนุษย์เป็นผู้มีอำนาจในการควบคุม เพียงแต่การเข้าใจมุมมองของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์ จะช่วยให้เราเข้าใจถึงบริบทเฉพาะมากขึ้น รวมถึงการมองสัตว์ในฐานะที่ผู้กระทำการ หรือเป็นสิ่งที่โต้ตอบกับเราด้วยความรู้สึกที่ตอบกลับมาหาเราได้ เช่น กรณีของสุนัขที่มักเข้ามาอยู่ข้าง ๆ เวลาที่เจ้าของกำลังรู้สึกเศร้า และเสียใจ ดังนั้น เวลาที่สุนัขถูกทอดทิ้งก็มีความรู้สึกไม่ต่างจากไปจากที่มนุษย์รู้สึก เพียงแต่ไม่สามารถพูดเป็นภาษาออกมาให้เข้าใจได้
การอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงจึงไม่ใช่แค่การทำให้สัตว์เลี้ยงเชื่อฟัง หรือบังคับให้ต้องทำตามสิ่งที่เจ้าของปรารถนาเพียงรูปแบบเดียว แต่ยังมาพร้อมกับความเห็นอกเห็นใจที่มนุษย์ไม่ได้มีต่อมนุษย์ด้วยกัน แต่ยังสามารถมีให้กับสัตว์เลี้ยงได้เช่นกัน
ผู้เขียน: ณัฐภัทร ตระกูลทวีสุข
อ้างอิง
พนา กันธา. (2560). พหุภววิทยาในโลกคู่ขนานระหว่างสัตว์กับมนุษย์. วารสารสังคมศาสตร์, 13 (2), 5-24.
สายพิณ ศุพุทธมงคล. (2560). ไปสวนสัตว์ ดู(สวน)สัตว์. สิงสาราสัตว์: มานุษยวิทยาว่าด้วยสัตว์และสัตว์ศึกษา ใน สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ (บก.) กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ), 151 -200.
Berger, John. (2009). Why look at Animals?. London: Penguin Book.
Descola, Philippe. (2014). Beyond Nature and Culture. In Graham Harvey (ed.), The Handbook of Contemporary Animism (pp.77-91). London and New York: Routledge.
Haraway, D. (2008). When species meet. Minneapolis: University of Minnesota Press.
Knight, J. (2005). Introduction. In Animals in person: cultural perspectives on human-animal intimacies, 1-13.
Lévi-Strauss, C. (1963). Totemism. Boston: Beacon Press.
Sanders, C. (1999). Understanding Dogs: Living and Working with Canine Companions. Philadelphia, PA: Temple University Press.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา