9 มิ.ย. เวลา 01:54 • สัตว์เลี้ยง

‘คนกับสัตว์’ EP 1 การใช้ความรุนแรงต่อสัตว์ ปัญหาที่สังคมไม่ควรมองข้าม

ถึงมนุษย์ในยุคปัจจุบันจะเริ่มเปิดพื้นที่ให้สัตว์บางชนิด เช่น สุนัข และ แมว ได้เข้ามาอยู่ในขอบเขตของสังคมมนุษย์มากขึ้น ทั้งในรูปแบบของเจ้าของและสัตว์เลี้ยงก็ดี หรือแม้แต่การเลี้ยงเพื่อใช้งานก็ดี แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่น่าเป็นห่วง
เนื่องจากลักษณะความสัมพันธ์ดังกล่าวมาพร้อมกับรูปแบบของการเป็นผู้ควบคุม และพยายามทำให้สัตว์ในภายใต้คำสั่งที่ต้องเชื่อฟังเจ้าของ และหากไม่สามารถควบคุม หรือสัตว์กระทำในสิ่งที่เกินขอบเขตที่เจ้าของคาดหวัง บางครั้งอาจนำไปสู่การกระทำที่เลยเถิดถึงขั้นนำไปปล่อยทิ้ง รวมถึงการทำร้ายทารุณกรรมสัตว์
อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมาจากการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์เลี้ยง ได้สร้างปัญหาให้กับสังคมตลอดมา อย่างเช่น ปัญหาประชากรสัตว์จรจัด โดยเฉพาะสุนัข และแมว ที่ยังพบเห็นอยู่ในปัจจุบัน อันนำมาซึ่งการแพร่พันธุ์จนทุกวันนี้เราสามารถพบเห็นสุนัขและแมวจรตามทางแทบจะเกือบทุกพื้นที่ไป
ขณะเดียวกัน กรณีของการทารุณกรรมสัตว์ กลับเป็นอีกปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เพราะไม่เพียงแต่แสดงถึงความสัมพันธ์ที่มนุษย์พยายามควบคุมสัตว์เลี้ยงของตนเองไม่ต่างจากการมองว่าเป็นเพียงวัตถุหนึ่ง (object) หากไม่เชื่อฟัง หรือทำตาม อาจนำไปสู่มุมมองที่เจ้าของคาดหมายว่าตนเองสามารถกระทำอย่างไรก็ได้ แม้แต่การทำร้ายก็ตาม สวนทางกลับมุมมองที่สังคมสมัยใหม่สร้างชุดความหมายว่าสัตว์เลี้ยงไม่ต่างจากคนในครอบครัว ก็เป็นเรื่องน่ากังวลว่าการทำร้ายสัตว์เลี้ยงอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อคนในครอบครัวต่อไป
ทั้งนี้ บทความนี้จะพูดถึงแง่มุมของการใช้ความรุนแรงต่อสัตว์ที่จำเพาะในเรื่องของสัตว์เลี้ยง เนื่องจากสังคมมนุษย์เปิดพื้นที่ให้สุนัข และแมว เป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่มนุษย์จัดวางให้อยู่ในรูปของเพื่อนต่างสายพันธุ์กับมนุษย์มากที่สุด แต่ประเด็นปัญหาที่ตามมาคือมนุษย์ยังคงจัดวางให้สัตว์เลี้ยงเหล่านี้ เป็นวัตถุหนึ่ง (object) ที่เจ้าของเป็นผู้ควบคุมมองว่าตนเองเป็นเจ้าของชีวิตที่สามารถทำอะไรก็ได้แม้จะขัดหลักศีลธรรม (moral) ทางสังคมก็ตาม
การทารุณกรรมสัตว์ สัญญาณของการใช้ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น
ในงานศึกษาของ อัญชลี จัตุรงค์แสง (2559) ชี้ให้เห็นว่าการทารุณกรรมสัตว์ ไม่เพียงแต่เป็นพฤติกรรมที่มีผลต่อการสร้างลักษณะนิสัยการใช้ความรุนแรง และขัดต่อศีลธรรม แต่ยังส่งผลต่อแนวโน้มที่อาจก่อเกิดการการใช้ความรุนแรง และก่ออาชญากรรมได้ ขณะที่พฤติกรรมดังกล่าวอาจบ่งชี้ถึงปัญหาทางจิตของผู้กระทำ ซึ่งในทางจิตเวชเรียกว่าโรคพฤติกรรมก้าวร้าว (Conduct Disorder: CD)
นอกจากนี้ งานของอัญชลียังอ้างอิงถึงงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าผู้ที่มีพฤติกรรมชอบทำร้ายสัตว์ มีแนวโน้มที่จะกระทำต่อมนุษย์ด้วยกันมากกว่าผู้ที่ไม่เคยทำร้ายสัตว์ สัมพันธ์กับรายงานของ FBI ที่พบว่าการทุณกรรมสัตว์เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรงในครอบครัวและสังคม ส่วนการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการใช้การทารุณกรรมสัตว์เลี้ยงเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงในครอบครัว
ดังนั้นแล้ว การกระทำรุนแรงต่อสัตว์จึงเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่นำมาสู่การอาญากรรมที่รุนแรงต่อมนุษย์ ตั้งแต่การใช้ความรุนแรงในครอบครัว อาชญากรรมในสังคม และมีแนวโน้มว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงในระดับที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของความรุนแรงที่คนรอบตัวไม่ควรมองข้ามไป
ที่ทางของสัตว์อยู่ตรงไหน ในวันที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงที่กระทำโดยมนุษย์
กรณีของการใช้ความรุนแรงก็มักจะปรากฎให้เห็นว่า ผู้กระทำมักจะอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีอำนาจเหนือไปกว่าผู้ถูกกระทำ เฉกเช่นเดียวกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้หญิง และเด็ก มักจะตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของฝ่ายชายเสมอ ขณะที่สัตว์เลี้ยงเองก็กลายเป็นเหยื่อของเจ้าของที่มีอำนาจเหนือกว่า
งานของ ณธัญ วงศ์วานิช (2562) ชี้ให้เห็นถึงข้อกังวลว่า ยังมีคนบางกลุ่มที่มองว่าสัตว์อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าคน ทำให้คนเหล่านี้มองว่าสามารถจะกระทำรุนแรง หรือทำร้ายสัตว์เพื่อตอบสนองอารมณ์ กล่าวคือเป็นที่รองรับอารมณ์ได้ โดยสัตว์ที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกทารุณกรรมมากที่สุด คือ สัตว์จรจัด ขณะที่สัตว์เลี้ยงเป็นอันดับรองลงมาที่ถูกกระทำโดยเจ้าของ
ปัญหาที่สัตว์ตกเป็นเหยื่อของการกระทำจึงมีจากการมองความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เอาตนเองเป็นศูนย์กลางที่เหนือกว่าสัตว์สายพันธุ์อื่นที่อยู่ร่วมโลก แล้วสถาปนาความสัมพันธ์ดังกล่าวโดยใช้อำนาจในการกระทำเหนือชีวิตสัตว์อื่นผ่านการทารุณกรรม และทำร้าย โดยมองว่าสัตว์ดังกล่าวไม่ใช่มนุษย์ แต่ไม่ต่างจากสิ่งของที่จะทำอย่างไรก็ได้
งานของ Donna J. Haraway (2003) นำเสนอเรื่องของสุนัขที่อิงกับทฤษฎีเฟมินิสต์ เนื่องจากเป็นการอิงอยู่กับประเด็นของคู่ตรงขั้ว (binary opposition) อย่างชายและหญิง ซึ่งมาพร้อมกับปัญหาความรุนแรง การกดขี่ทางเพศ
ขณะที่ความสัมพันธ์ของมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ หรือก็คือคนและสุนัขมีลักษณะของการมองสุนัขเป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ ในแง่สัตว์ถูกมองเป็นเพียงวัตถุหนึ่งที่มนุษย์ใช้ตอบสนองต่อความต้องการทางจิตใจ ต้องการให้คอยรักษา หรือฮีลใจ แต่ขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นที่รองรับอารมณ์ของมนุษย์ รวมถึงหากไม่ได้เป็นดั่งที่เจ้าของหวังก็พร้อมที่จะทอดทิ้ง
ทั้งนี้ งานของ Haraway ไม่ได้กำลังบอกว่ามนุษย์กำลังกระทำกับสุนัขในรูปแบบดังกล่าวเสมอ แต่ต้องการให้มนุษย์จัดความสัมพันธ์กับสุนัขใหม่ โดยไม่ได้หวังแต่เพียงเรื่องของการเป็นวัตถุเพื่อใช้ประโยชน์ แต่เพิ่มความเห็นอกเห็นใจ (empathy) เข้าไปให้มากขึ้น
ด้วยมุมมองของ Haraway ทำให้เรามองสัตว์เลี้ยงในฐานะความสัมพันธ์ที่วางอยู่บนระนาบเดียวกับมนุษย์มากขึ้น แล้วความรู้สึกของการเป็นเข้าของที่บงการชีวิตจะลดลง หากแต่เพิ่มความเห็นอกเห็นใจสัตว์เลี้ยง เหมือนที่เราเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากขึ้น กล่าวคือเราไม่กระทำรุนแรงกับมนุษย์ด้วยกันอย่างไร เราก็ไม่ควรที่จะใช้ความรุนแรงกับสัตว์เช่นเดียวกัน
กฎหมายไทยปัจจุบัน ช่วยป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และจัดสวัสดิภาพสัตว์ได้อย่างไร
ปัญหาที่เกิดจากการมองสัตว์เป็นสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากการเป็นมนุษย์ ทำให้กลายเป็นข้ออ้างรูปแบบหนึ่งที่ผู้กระทำใช้ความรุนแรงต่อสัตว์ ส่วนหนึ่งของพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในสัตว์อาจมาจากความเข้าใจโดยทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายการคุ้มครองสัตว์ไม่ได้พูดถึงมากนัก ขณะเดียวกันก็มีคำถามตามมาว่า แล้วกฎหมายไทยในปัจจุบันครอบคลุมต่อการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์มากน้อยเพียงใด หรืออยู่ในระดับใดบ้าง
งานของ ศศินันท์ แสงทอง (2566) ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ โดยอธิบายว่า ประเทศไทยเริ่มออกกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสัตว์ ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.ปิองกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 อย่างไรก็ตาม ในเชิงปฏิบัติยังคงมีข้อบกพร่องอยู่ โดยเฉพาะการบังคับใช้ ทั้งกรณีการทารุณกรรม และการปล่อยสัตว์ทิ้ง
ในด้านบทลงโทษมีเพียงการระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท แต่ไม่ได้มีการลงโทษจำคุกโดยเฉพาะกรณีที่เจ้าของสัตว์หรือผู้ใดก็ตามที่ไม่มีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ขณะที่อำนาจของศาลหากมองว่าผู้กระทำผิดไม่เหมาะสมที่จะเป็นเจ้าของ ศาลมีอำนาจเพียงสั่งห้ามครอบครองสัตว์เท่านั้น แตกต่างจากกรณีของประเทศอื่นที่มีบทลงโทษแก่เจ้าของที่กระทำต่อสัตว์เลี้ยงโดยกำหนดโทษตั้งแต่ปรับไปจนถึงจำคุก
ทั้งนี้ งานของศศินันท์ ยังแสดงความเห็นได้น่าสนใจว่า การแก้ปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ ควรแก้โดยการทำให้ผู้กระทำตระหนักถึงความสำคัญต่อสัตว์มากขึ้น โดยเฉพาะมุมมองที่สัตว์เองก็มีความรู้สึกเจ็บปวด และทรมานจากการถูกกระทำ ไม่ว่าต่อจิตใจ หรือร่างกาย เช่นเดียวกับที่มนุษย์ถูกกระทำ ดังนั้นการจะแก้ไขให้ข้อกฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเพิ่มบทลงโทษ จึงเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ทำให้ผู้ถูกกระทำตระหนัก และสำนึกถึงผลลัพธ์จากการการกระทำ รวมถึงเกิดความรับผิดชอบต่อการดูแลสัตว์มากยิ่งขึ้น
สุดท้ายนี้ ตัวของผู้เขียนเองมองว่าเมื่อมนุษย์เปิดพื้นที่ให้สัตว์เข้ามาอยู่ในบ้านและสังคมของมนุษย์มากขึ้นแล้ว มนุษย์ควรมองสัตว์ด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และให้คุณค่ากับสัตว์เลี้ยงที่เป็นมากกว่ารูปแบบความสัมพันธ์ของการควบคุมเพียงอย่างเดียว ซึ่งเจ้าของเองควรจะต้องรับผิดชอบในการดูแลสวัสดิภาพของสัตว์เลี้ยงตัวเอง ไม่ต่างจากที่เราดูแลคนในครอบครัวเราเองให้ได้มากที่สุด และไม่เปิดพื้นที่ให้กับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบแก่มนุษย์ด้วยกันเอง หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงของตัวเองเช่นกัน
“เพราะสุดท้ายแล้ว เจ้าของเลือกสัตว์เลี้ยงได้ แต่สัตว์เลี้ยงไม่สามารถเลือกเจ้าของให้ตัวเองได้”
ผู้เขียน ณัฐภัทร ตระกูลทวีสุข
อ้างอิง
ณธัญ วงศ์วานิช. (2562). อาชญากรรมต่อสัตว์: ประสบการณ์การทารุณกรรมสัตว์ผ่านการรับรู้ของสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศศินันท์ แสงทอง. (2566). ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์. สารนิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต กลุ่มวิชากฏหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม.
อัญชลี จัตุรงค์แสง. (2559). มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำทารุณกรรมสัตว์จำนวนมาก. สารนิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต กลุ่มวิชากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา