17 ธ.ค. เวลา 23:00 • ธุรกิจ

ฉันผิด..แต่คนอื่นผิดมากกว่า..ตรรกะวิบัติ?

อาจจะด้วยผมต้องคลุกคลีกับงานที่ต้องพบเจอกับผู้คนมาตลอดชีวิตการทำงาน หลายครั้งต้องทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสอบสวนพนักงานที่ทำความผิดทางวินัยทั้งกรณีร้ายแรงมากไปจนร้ายแรงน้อยลดหลั่นกันไป
ผมมักจะได้ยินข้อแก้ตัวจากพนักงานที่ทำความผิดและถูกสอบสวนแทบจะทุกคนคือ..
"หนูทำผิดแต่ทีคนนั้น(บอกชื่อคน)ทำผิดมากกว่าอีกทำไมบริษัทไม่ทำอะไร"
พนักงานที่ถูกสอบสวนเรื่องลักขโมยทรัพย์สินของบริษัท ก็จะบอกว่าทีคนนั้น(บอกชื่อ..)เขาก็เอาอุปกรณ์เครื่องมือของบริษัทไปใช้งานที่บ้านก็เข้าข่ายลักทรัพย์เหมือนกัน ทำไมบริษัทไม่จัดการ
ถ้าบริษัทลงโทษฉัน(คนที่ทำผิด) ก็ต้องลงโทษพนักงานคนนั้น(คนที่ทำผิดเหมือนกัน)ด้วยถึงจะถูกต้อง?
ซึ่งบางเรื่องที่เขาบอกมาผมก็เพิ่งรู้ก็มี
แต่ตรรกะที่ว่า.. "ถ้าฉันทำผิดแล้วคนอื่นก็ผิดเหมือนฉัน จะมาว่าฉันหรือลงโทษฉันคนเดียวได้ยังไง ต้องลงโทษคนที่ผิดเหมือนฉันด้วยสิถึงจะยุติธรรม"
ตรรกะแบบนี้ถูกต้องแล้วหรือ
100 ผิด = 1 ถูกอย่างงั้นหรือ?
ตรรกะนี้มีตั้งแต่ระดับองค์กรมาจนถึงระดับสังคมเลยนะครับ เรามักจะเจอคำอ้างทำนองนี้อยู่เสมอ และบางคนก็เริ่มคล้อยตามคำกล่าวอ้างตรรกะเพี้ยนๆแบบนี้ซะด้วย
ถ้าใช้สติหยุดคิดสักนิดแล้วตั้งคำถามกลับไปว่า..
"สิ่งที่คุณทำไปเป็นเรื่องผิดกฎระเบียบ กฎหมาย ผิดศีลธรรมจริยธรรมหรือไม่..
ถ้าทำผิดก็คือผิด ไม่ต้องไปกล่าวอ้างความผิดของคนอื่นว่าเขาทำผิดมากหรือน้อยกว่าตัวเองหรอกครับ
ทุกอย่างเป็นตามกฎแห่งกรรมเมื่อทำดีผลดีก็ตามมา ทำชั่วผลร้ายก็จะตามมาตามหลักอิทัปปัจจยตา คนที่รับผลก็คือตัวคนทำนั้นเอง ส่วนคนอื่นที่ทำผิดเขาก็จะรับผลที่เขาทำในวันใดวันหนึ่งเหมือนกัน"
ในที่สุดแม้คนที่ชอบอ้างตรรกะวิบัติแบบนี้ก็ต้องรับผลที่ตัวเองทำเอาไว้ด้วยเช่นกัน
โฆษณา