28 มิ.ย. เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ตลาดหุ้นของญี่ปุ่นร้อนแรงและบ้าคลั่ง ทั้งๆที่ GDP ไม่ไปไหนนานนับสิบปี

หากเราพูดถึงตลาดหุ้นที่ร้อนแรง นอกจากตลาดหุ้นของสหรัฐฯ อย่าง S&P500 และ Nasdaq แล้ว ตลาดหุ้นของญี่ปุ่นอย่าง Nikkei เองก็เป็นอีกหนึ่งตลาดหุ้นที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน แถมยังได้มีการพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามในใจใครหลายคน อันเนื่องมาจากว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่เป็นเหมือนตัวบ่งบอกการเติบโตและขนาดของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศญี่ปุ่น นั้นกลับไม่ได้ไปไหนและมีการย่ำอยู่กับที่มานานนับสิบปี ซึ่งแตกต่างจากของสหรัฐฯ ที่ GDP ของพวกเขามีการเติบโตขึ้นอยู่ตลอดเวลา
เมื่อมาลองคิดดูแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะในเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมจริงๆของพวกเขายังย่ำอยู่กับที่มานานนับสิบปี แต่ทำไมราคาหุ้นของบริษัทในญี่ปุ่นถึงเติบโตแล้วเติบโตอีกกัน
อะไรคือสิ่งที่ผลักดันตลาดหุ้น Nikkei อยู่เบื้องหลังกัน?
หากใครเป็นนักลงทุนที่ลงทุนในญี่ปุ่น จะพอทราบกันดีว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นแทบไม่ได้มีการเติบโตขึ้นเลยหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "ทศวรรษที่สูญหาย" หรือ The Lost Decade ในช่วงทศวรรษปี 1990
แต่การซบเซาที่ยาวนานนั้นไม่ใช่สำหรับตลาดหุ้นของญี่ปุ่น
  • ดัชนี Nikkei และ GDP ของญี่ปุ่น
ที่มา fred.stlouisfed.org และ tradingeconomics
ตามแผนภูมิจะเห็นได้ว่า หลังจากเกิด The Lost Decade ในช่วงทศวรรษปี 1990 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นไม่ได้มีการเติบโตขึ้นแต่อย่างใด และตลาดหุ้นอย่าง Nikkei เองก็ได้มีการปรับตัวลดลงอย่างมากหลังจากแตะระดับสูงสุดไปในช่วงก่อนเกิด The Lost Decade
ซึ่งแม้ตลาดหุ้น Nikkei จะมีการขยับขึ้นบ้างแต่ก็กลับมาปรับตัวลดลงอีกหลายครั้ง จนกระทั่งปี 2012 ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
ในปี 2012 ญี่ปุ่นได้มีการดำเนินนโยบายที่เรียกว่า “อาเบะโนมิกส์ (Abenomics)” เป็นชุดนโยบายทางเศรษฐกิจที่นำโดยนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe)
โดยนโยบายนี้ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่หยุดนิ่งมานานและแก้ไขปัญหาเงินฝืด ซึ่งจะแบ่งเป็นสามส่วนหลัก
1. การผ่อนคลายนโยบายการเงิน (Monetary Easing)
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งรวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุน และทำการซื้อพันธบัตรที่ออกมาใหม่จากรัฐบาลญี่ปุ่น หรือที่หลายคนเรียกสิ่งนี้ว่า Quantitative Easing หรือ QE เพื่อให้รัฐบาลมีเงินทุนไว้ใช้จ่าย
2. การกระตุ้นทางการคลัง (Fiscal Stimulus)
รัฐบาลจะเพิ่มการใช้จ่ายทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการให้เงินช่วยเหลือครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เพื่อเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ
3. การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ (Structural Reforms)
ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว เช่น การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การปรับปรุงตลาดแรงงานเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและผู้สูงอายุในตลาดแรงงาน การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และการสนับสนุนการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ
ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2012 นี้ ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้รับความสนใจอีกครั้ง จึงเป็นผลให้ตลาดหุ้น Nikkei ได้เริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังจากที่ได้ซบเซามานานเป็นเวลาหลายปี
ต่อมาในปี 2014 กองทุนบำนาญแห่งชาติของญี่ปุ่น (GPIF) ที่มักถูกเรียกขานว่า "วาฬ" ของวงการตลาดทุนญี่ปุ่น เนื่องจากพวกเขามีอิทธิพลมหาศาลต่อตลาดการเงิน ได้ประกาศว่าจะมีการเริ่มขยายการถือครองหุ้นในประเทศ โดยเพิ่มอัตราส่วนของการถือครองจาก 12% เป็น 25% เป็นผลให้ตลาดหุ้น Nikkei ดีดตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้งในช่วงเวลานั้น
1
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าญี่ปุ่นจะได้มีการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากมายตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา และทำให้ตลาดหุ้นของญี่ปุ่นได้รับความสนใจและกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งแล้วก็ตาม
แต่ GDP ของญี่ปุ่นกลับแทบไม่ได้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเลย นี้จึงเป็นเหตุผลให้หลังจากนั้นในปี 2016 ด้วย GDP และการเติบโตของเศรษฐกิจที่ตกต่ำของญี่ปุ่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จึงได้มีการดำเนินนโยบาย Yield Curve Control
ซึ่งหลายๆ วิธีที่พวกเขาใช้ในการดำเนินนโยบายนี้ ก็คือ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นในให้อยู่ในระดับที่ต่ำ และมีการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดเปิด (Open Market Operations) รวมถึงซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ออกมาใหม่จากรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย เพื่อให้สามารถควมคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลได้ตามเป้าหมาย
  • อัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่น
ที่มา tradingeconomics
อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำนำไปสู่อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเงินที่ต่ำของธนาคารในญี่ปุ่น
สิ่งนี้ทำให้แม้การเติบโตของเศรษฐกิจจะต่ำ แต่บริษัทภายในญี่ปุ่นเองก็จะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำไปด้วย ทำให้บริษัทเหล่านั้นห่างไกลจากปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และยังง่ายมากขึ้นหากบริษัทเหล่านั้นต้องการที่จะกู้ยืมเงินเพื่อนำไปลงทุนหรือขยายกิจการ
อีกทั้งการเข้าซื้อที่เพิ่มขึ้นของพันธบัตรที่ออกมาใหม่จากรัฐบาลของธนาคารกลางญี่ปุ่น ยังทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีเงินทุนไว้ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย
ซึ่งปัจจัยทั้งหลายทั้งเงื่อนไขทางการเงินที่ต่ำ การใช้จ่ายจากภาครัฐที่สูงขึ้น ก็ล้วนแต่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทและธุรกิจต่างๆในประเทศญี่ปุ่น
อีกทั้งในปี 2023 ที่ผ่านมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้มีการปฏิรูปบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องด้วยพวกเขาพบว่า หลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีเงินสดอยู่เป็นจำนวนมากและมีหนี้สินน้อยลง
ที่มา jpinv.substack.com
และหุ้นในตลาดหลายตัวก็มีอัตราส่วน P/B ต่ำเมื่อเทียบกับผลตอบแทนของส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ซึ่งหมายความว่าหุ้นเหล่านั้นมีราคาตลาด (Market Price) ต่ำ เมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share)
หากบริษัทเหล่านั้นสามารถปรับปรุง ROE ของตนให้เพิ่มขึ้นได้อีก ก็อาจทำให้มูลค่าที่แท้ตริงของหุ้นเหล่านี้สูงขึ้นได้และได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกมากขึ้น
โดยรัฐบาลได้มีการผลักดันให้บริษัทเหล่านั้นนำเงินสดที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไปใช้เพื่อเพิ่ม ROE ให้มากขึ้น เช่น การกระจายเงินปันผลหรือการซื้อหุ้นคืน เป็นต้น
ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงแก่ผู้ถือหุ้น ทำให้ในปีที่ผ่านมานี้หุ้นของญี่ปุ่นได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีเจ้าพ่อนักลงทุนจาก Berkshire Hathaway ก็เป็นหนึ่งในนักลงทุนที่สนใจหุ้นญี่ปุ่นเหล่านั้น
1
อย่างไรก็ดี แม้ปัจจัยทั้งหลายที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเข้าซื้อหุ้นญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นของกองทุนบำนาญ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและการปฏิรูปบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะให้ผลในเชิงบวกต่อการเติบโตของบริษัทและหุ้นในตลาด Nikkei
แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจที่อาจเป็นอีกหนึ่งคำตอบให้กับหัวข้อบทความนี้ นั่นก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้นกับสภาพคล่องในระบบ
สภาพคล่อง (Liquidity) ในที่นี้ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ปริมาณเงินในระบบการเงินหรือเศรษฐกิจ สิ่งนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นักลงทุนเชิงมหภาค (Macro Investor) นิยมใช้ประเมินจุดเข้าลงทุนในตลาดหุ้น เนื่องด้วยพวกเขาคิดว่าหากปริมาณเงินในระบบการเงินหรือเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง ตลาดหุ้นเองก็มักจะมีการเปลี่ยนแปลงตามปริมาณเงินเหล่านั้นไปด้วย
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงินในระบบการเงินหรือเศรษฐกิจ ก็มักจะมาจากการดำเนินการอะไรบางอย่างของกระทรวงการคลังของรัฐบาลและธนาคารกลาง
ลองมาพิจารณาข้อมูลต่อไปนี้กัน
  • ตลาดหุ้น Nikkei, การใช้จ่ายของรัฐบาลญี่ปุ่น และงบดุลของธนาคารกลางญี่ปุ่น
ที่มา fred.stlouisfed.org และ tradingeconomics
ตามข้อมูลจากแผนภูมิจะพบว่า นับตั้งแต่ปี 2012 ที่ญี่ปุ่นได้มีการดำเนินนโยบายอาเบะโนมิกส์ (Abenomics) รวมถึงด้านปัจจัยอื่นๆ อย่างการดำเนินนโยบาย Yield Curve Control ของธนาคารญี่ปุ่น การปฏิรูปบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และยังรวมถึงนโยบายกระตุ้นที่เกิดขึ้นในช่วงเกิดโรคระบาด Covid-19
ปริมาณการใช้จ่ายทางการคลังของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหมายความว่าสภาพคล่องในระบบที่มาจากทางกระทรวงการคลังนั้นมีการเติบโตขึ้นอยู่ตลอดเช่นเดียวกัน
และที่เพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจนมากที่สุดเลยก็คือ สภาพคล่องในระบบที่มาจากทางธนาคารกลางญี่ปุ่น
ซึ่งเป็นผลลัพธ์มาจากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องพิมพ์เงินใหม่เพื่อนำไปเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดเปิดและที่ออกมาใหม่จากรัฐบาลจำนวนมาก เพื่อดำเนินนโยบาย Yield Curve Control และเพื่อให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีเงินทุนไว้ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยยืนยันได้จากสัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นที่กว่า 53.8% ณ เดือนธันวาคม 2023 ถูกถือครองโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น จาก 20.1% ในปี 2014
ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรหรือด้วยวิธีใดก็ตาม แต่สิ่งเหล่านั้นทำให้สภาพคล่องหรือปริมาณเงินในระบบการเงินหรือเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และอาจเป็นสาเหตุผลักดันให้ตลาดหุ้น Nikkei เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
หากใครนึกภาพไม่ออกให้ลองจินตนาการตามว่า ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นมานี้โดยทั่วไปทำให้เกิดสิ่งใดขึ้น แน่นอนว่าต้องเป็นเงินเฟ้อ แล้วเมื่อเรารู้แล้วว่าเงินจะด้อยค่าลงในอนาคต สิ่งที่เรามักจะทำก็คงไม่พ้นการนำเงินหล่านั้นไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ รวมถึงหุ้น เพื่อรักษามูลค่าเอาไว้
โดยหากย้อนกลับไปเปรียบเทียบแผนภูมิทั้งสามก่อนหน้านี้ ก็จะเห็นถึงความสอดคล้องนี้
ซึ่งจะตรงกับความเชื่อของเหล่านักลงทุนเชิงมหภาคที่ว่า เมื่อสภาพคล่องหรือปริมาณเงินในระบบการเงินหรือเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง ตลาดหุ้นเองก็มักจะเปลี่ยนแปลงตามปริมาณเงินเหล่านั้นไปด้วยนั่นเอง
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อาจเป็นคำตอบและช่วยไขข้อสงสัยได้บ้างให้กับคำถามที่ว่า เหตุใดตลาดหุ้นของญี่ปุ่นถึงร้อนแรง ทั้งๆที่ GDP ไม่ไปไหนนานนับสิบปี
บทความนี้เป็นเพียงแค่การยกข้อมูลปัจจัยบางส่วนมานำเสนอเท่านั้น เพื่อนๆ หรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ด้วยตนเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา