10 มิ.ย. เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ผลลัพธ์จาก Yield Curve Control ของญี่ปุ่นที่หลายคน อาจจะยังไม่รู้

ก่อนที่จะทราบถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นนั้นเรามาลองทำความเข้าใจกับ Yield Curve Control (YCC) กันเสียก่อน
Yield Curve Control เป็นนโยบายทางการเงินเชิงผ่อนคลายที่ธนาคารกลางใช้ในการควบคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล เพื่อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นหรือระยะยาวอยู่ในระดับที่ต้องการเพื่อสนับสนุนภาคเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงสนับสนุนนโยบายบางอย่างของภาครัฐ
แล้ว Yield Curve Control สามารถควบคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลได้อย่างไร?
โดยปกติแล้วการดำเนินนโยบาย Yield Curve Control นั้นสามารถทำได้ด้วยหลายวิธี อย่างการประกาศเป้าหมายอัตราผลตอบแทนหรือการสื่อสารนโยบายของธนาคารกลาง
หลายคนอาจสงสัยว่า การประกาศเป้าหมายอัตราผลตอบแทนหรือการสื่อสารนโยบายนั้นสามารถช่วยควบคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลได้อย่างไร
การประกาศเป้าหมายอัตราผลตอบแทนหรือการสื่อสารนโยบาย จะเป็นเหมือนการส่งสัญญาณไปยังตลาดว่า ธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายทางการเงินไปในทิศทางใด เมื่อนักลงทุนทราบเรื่องนี้พวกเขาก็จะมีการปรับการตัดสินใจของตนเองตามสัญญาณนั้น ซึ่งช่วยให้ธนาคารกลางสามารถควบคุมอัตราผลตอบแทนได้ง่ายขึ้น
แต่วิธีที่สามารถใช้ได้ผลและเห็นผลชัดเจนที่สุด ในการควบคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล นั่นก็คือ การเข้าซื้อหรือขายพันธบัตรรัฐบาลของธนาคารกลาง ร่วมกับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั่นเอง
เมื่อพวกเขาต้องการให้อัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำ ธนาคารกลางจะทำการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดเปิด (Open Market Operations) การซื้อพันธบัตรในปริมาณมากของธนาคารจะทำให้อัตราผลตอบแทนลดลงตามกฎอุปสงค์และอุปทาน เมื่อมีผู้ถือครองเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลก็จะลดลง
กลับกันหากพวกเขาต้องการให้อัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับสูง ธนาคารกลางจะทำการขายพันธบัตรรัฐบาลที่อยู่ในงบดุลในตลาดเปิด และเมื่อมีผู้ถือครองน้อยลง ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลก็จะเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ซึ่งหากพวกเขาต้องการควมคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ธนาคารกลางอาจมีการปรับอัตราดอกเบี้นนโยบายร่วมด้วย หากปรับขึ้นอัตราผลตอบแทนก็จะเพิ่มขึ้น หากปรับลงอัตราผลตอบแทนก็จะลดลง
แต่อย่างไรก็ดี การปรับอัตราดอกเบี้นนโยบายร่วมด้วยนั้นธนาคารกลางจะพิจารณาตามตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจโดยรวม เพราะในบางกรณีอาจไม่จำเป็น เนื่องด้วยการปรับอัตราดอกเบี้นนโยบายจะส่งผลกระทบในวงกว้างมากกว่าการควบคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลนั่นเอง
กลับมาที่ญี่ปุ่น....
อย่างที่รู้กันว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นเติบโตช้า มีการชะลอตัวอยู่บ่อยครั้ง และขนาดของเศรษฐกิจนั้นย่ำอยู่กับที่มานานนับสิบปีนับตั้งแต่เกิด "ทศวรรษที่สูญหาย" หรือ The Lost Decade ในช่วงต้นทศวรรษปี 1990
แต่ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็กลายเป็นสังคมผู้ส่งอายุมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งประชากรภายในประเทศยังนิยมเก็บความมั่งคั่งของพวกเขาไว้ในรูปแบบของเงินสด หรือก็คือ พวกเขาไม่ค่อยจะใช้จ่ายเงินกัน ด้วยเหตุนี้ญี่ปุ่นจึงถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการหมุนเวียนเงินที่ต่ำ
และด้วยอัตราการออมรวมที่สูงราวๆ 22.5% ถึง 40% รวมถึงปัญหาด้านประชากรศาสตร์และพฤติกรรมการใช้เงินของประชาชน เป็นผลให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นแทบไม่ได้เติบโตขึ้นเลย และถึงขั้นเกิดภาวะเงินฝืดในหลายๆครั้ง
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่น
  • อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่น
ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้มีการเริ่มดำเนินนโยบายทางการเงินที่แปลกใหม่ที่เรียกว่า Yield Curve Control (YCC) ในเดือนมกราคม ปี 2016 โดยมีวัตถุประสงค์
1. เพื่อให้หลุดออกจากอัตราเงินเฟ้อต่ำและภาวะเงินฝืด
2. รักษาเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศ
3. กระตุ้นเศรษฐกิจให้หลุดออกจากภาวะชะลอตัวและกลับมาเติบโตอีกครั้ง
4. กระตุ้นการกู้ยืมและการลงทุนของภาคเอกชนและครัวเรือน เพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุนและการบริโภคของธุรกิจและประชาชน
โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้ประกาศการตั้งเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ประมาณ 0% นอกจากนี้ยังกำหนดขอบเขตเผื่อไว้ 0.5% ด้านบนและด้านล่างเป้าหมายผลตอบแทน รวมถึงคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่ต่ำ
  • อัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่น
อีกทั้งยังได้ทำการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศตนเองในตลาดเปิด เพื่อควบคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
โดยยืนยันได้จากสัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นที่กว่า 53.8% ณ เดือนธันวาคม 2023 ถูกถือครองโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น จาก 20.1% ในปี 2014
ซึ่งผลลัพธ์ก็ได้ตามที่พวกเขาหวังไว้ หลังจากการดำเนินนโนบาย Yield Curve Control อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับที่ตั้งเป้าหมายไว้
  • อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์นั้นกลับไม่ได้เป็นไปตามที่หวังเอาไว้สักเท่าไหร่นัก
โดยวัตถุประสงค์เพื่อให้หลุดออกจากอัตราเงินเฟ้อต่ำและภาวะเงินฝืดข้อนี้พวกเขาทำได้สำเร็จ (ย้อนไปดูแผนภูมิอัตราเงินเฟ้อก่อนหน้านี้) รวมถึงกระตุ้นการกู้ยืมของภาคเอกชนและครัวเรือนได้ในระดับนึง ก่อนจะพุ่งขึ้นสูงจากเหตุการณ์โรคระบาด Covid-19
  • หนี้สินของภาคเอกชนและครัวเรือนต่อ GDP ของญี่ปุ่น
  • สินเชื่อภายในประเทศแก่ภาคเอกชนโดยธนาคารต่อ GDP
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าด้วยนโยบาย Yield Curve Control จะทำให้ญี่ปุ่นหลุดออกจากภาวะเงินฝืดและกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมในภาคเอกชนและครัวเรือนแล้วก็ตาม
แต่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นหลังปี 2016 กลับไม่ได้เติบโตขึ้นอย่างที่คิด (ย้อนไปดูแผนภูมิผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของญี่ปุ่นก่อนหน้านี้) อีกทั้งการใช้จ่ายของประชาชนก็ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย
  • การใช้จ่ายของประชาชนชาวญี่ปุ่น
แต่ในทางกลับกันนโยบาย Yield Curve Control กลับทำให้งบดุลของธนาคารกลางญี่ปุ่นขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • Japan Central Bank Balance Sheet
การที่งบดุลของธนาคารกลางญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ส่งผลกระทบเชิงลบต่อพวกเขาอยู่หลายประการ แต่ที่รับตรงๆเลยก็คือ ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน
การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ในงบดุล โดยเฉพาะในกรณีของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของตนเองในปริมาณมาก
ทำให้งบดุลของพวกเขาขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน โดยหากมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือเกิดภาวะเศรษฐกิจที่ไม่คาดคิด
แล้วนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าของพันธบัตร อาจทำให้เกิดการขาดทุนในงบดุลของธนาคารกลางญี่ปุ่นเอง และส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินโดยรวมของญี่ปุ่น
อีกทั้งความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินด้านอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นจากนโยบาย Yield Curve Control ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้สินภาคเอกชน รวมถึงสินเชื่อภาคเอกชนที่ปล่อยโดยธนาคารในระดับที่สูง
รวมถึงด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นในช่วงโรคระบาด Covid-19 ทำให้การขยายตัวของงบดุลธนาคารกลางญี่ปุ่น และหนี้สินภาคเอกชนและสินเชื่อภาคเอกชนที่ปล่อยโดยธนาคารปรับตัวสูงยิ่งขึ้นไปอีก
สิ่งเหล่านั้นทำให้ความยืดหยุ่นในเชิงการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นน้อยลงไปอย่างมาก พวกเขาไม่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้โดยง่ายอีกต่อไป แม้จะเกิดเงินเฟ้อขึ้นหรือค่าเงินเยนเกิดอ่อนค่าลงมากก็ตาม
เนื่องด้วยญี่ปุ่น ณ ขณะนี้ กลายเป็นประเทศที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยอย่างมากไปเสียแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลลัพธ์ของนโยบาย Yield Curve Control นั่นเอง
บทความนี้เป็นเพียงแค่การยกข้อมูลปัจจัยบางส่วนมานำเสนอเท่านั้น เพื่อนๆ หรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ด้วยตนเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา