7 มิ.ย. 2024 เวลา 23:00 • ธุรกิจ

ทำไมต้องประเมิน Cost Efficiency ตัวชี้วัดสำคัญของบริษัทอาหาร

การบริหารจัดการต้นทุนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทอาหารประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว
ดังนั้นการประเมิน Cost Efficiency หรือประสิทธิภาพเชิงต้นทุน จึงเป็นเครื่องมือที่ไม่ว่ายังไงก็ควรที่จะทำการประเมินเอาไว้ หากจะลงทุนในบริษัทหรือหุ้นในอุตสาหกรรมอาหาร
Cost Efficiency จะทำให้เราทราบถึงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ความสามารถในการแข่งขัน และจุดคุ้มทุน ซึ่งก็ล้วนแต่สำคัญอย่างมากในอุตสาหกรรมอาหาร
โดยในการประเมิน Cost Efficiency นั้นมีตัวชี้วัดอยู่มากมาย ในบทความนี้จะยกมา 3 ตัวชี้วัดหลักๆ เบื้องต้น
  • อัตราส่วนต้นทุนต่อยอดขาย (Cost to Sales Ratio)
อัตราส่วนต้นทุนต่อยอดขายเป็นตัวชี้วัดที่ช่วยให้บริษัทอาหารสามารถเปรียบเทียบสัดส่วนของต้นทุนสินค้าขายและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดกับยอดขายได้
ทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจัดการต้นทุนและสามารถเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมได้
คำนวณโดย ต้นทุนการขาย / ยอดขายสุทธิ x 100
สมมุติว่า บริษัท A มียอดขายสุทธิ 100 ล้านบาท และมีต้นทุนการขาย 60 ล้านบาท เท่ากับ 60 ล้านบาท / 100 ล้านบาท x 100 = 60% ของยอดขายสุทธิ
ตัวเลขที่ต่ำแสดงว่าบริษัทมีประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุนการขาย ในทางกลับกันตัวเลขที่สูงแสดงว่าบริษัทมีต้นทุนการขายที่สูง
  • อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อยอดขาย (Operating Expense Ratio)
ตัวชี้วัดนี้เน้นไปที่การวัดสัดส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดต่อยอดขาย โดยไม่รวมต้นทุนสินค้าขาย ทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น ค่าจ้าง การโฆษณา และค่าเช่า เป็นต้น
คำนวณโดย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน / ยอดขายสุทธิ x 100
สมมุติว่า บริษัทอาหารมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 50 ล้านบาท และยอดขาย 200 ล้านบาท อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อยอดขายจะเป็น 50 / 200 x 100 = 25% ของยอดขายสุทธิ
ตัวเลขที่ต่ำแสดงว่าบริษัทมีประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ในทางกลับกันตัวเลขที่สูงแสดงว่าบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูง ซึ่งจะส่งผลต่อผลกำไรของธุรกิจ
  • จุดคุ้มทุน (Break Even Point)
สำหรับธุรกิจเกี่ยวกับอาหารนั้นการลงทุนก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เช่น ลงทุนสต๊อกวัตถุดิบในคลัง บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อให้ดำเนินงานได้ราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
และแน่นอนว่าทุกการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงซ่อนอยู่ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องทราบ "จุดคุ้มทุน" สำหรับเงินที่ลงทุนไปเพื่อใช้ในการดำเนินงาน
จุดคุ้มทุน คือ จุดที่บริษัทมีรายได้เท่ากับต้นทุนทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ทราบถึงจุดที่บริษัทจะไม่ทำกำไรหรือขาดทุน
คำนวณโดย ต้นทุนคงที่ / อัตรากำไรขั้นต้น x 100
สมมุติว่า บริษัทอาหาร A มีต้นทุนคงที่ 100 ล้านบาท และอัตราส่วนกำไรขั้นต้น 30% จุดคุ้มทุนของบริษัทจะเป็น 100 / 30 x 100 = 333% ของต้นทุนคงที่ หมายความว่า บริษัทอาหาร A ต้องมีรายได้ 333 ล้านบาท หรือมากกว่าเพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนคงที่ และเพื่อไม่ให้บริษัทขาดทุนนั่นเอง
การรู้จุดคุ้มทุนจะช่วยให้บริษัทสามารถวางแผน กำหนดกฎเกณฑ์การดำเนินงานและตั้งเป้าหมายทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การประเมิน Cost Efficiency ช่วยให้ทราบถึงประสิทธิภาพการใช้จ่ายและสัดส่วนของต้นทุนต่อยอดขายของบริษัท ซึงสามารถนำไปต่อยอดในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน รักษาความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มความยั่งยืนและเพิ่มผลกำไรของธุรกิจ
ดังนั้นหากจะลงทุนในบริษัทหรือหุ้นในอุตสาหกรรมอาหาร ทำความเข้าใจ Cost Efficiency จึงเป็นสิ่งที่ควรประเมินเอาไว้ก่อนตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงตัวชี้วัดเบื้องต้นที่ใช้ประเมิน Cost Efficiency แบบง่ายเท่านั้น ยังมีตัวชี้วัดอีกมากมายซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเภทของธุรกิจในอุตสาหกรรม
เพื่อนๆ หรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ด้วยตนเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา