21 มิ.ย. เวลา 12:36 • ความคิดเห็น
สาเหตุเพราะว่า ความไม่เข้าใจใน"บริบท" และ "จุดประสงค์" ในแต่ละตำแหน่งของกันและกันครับ ปัญหาจะมีทั้งในด้านของลูกน้อง และทั้งในตัวของหัวหน้าเองเหมือนกัน
ลูกน้องบางคนก็ถืออคติ คิดว่าตัวเองมีประสบการณ์มากกว่า มีอายุมากกว่า แก่กว่า จึงค่อนข้างต่อต้านความรู้สึก ไม่ยอมรับคำสั่ง เพราะคิดเสมอว่าคนที่เป็นหัวหน้าจะต้องมีความสามารถเก่งกว่า ซึ่งความเป็นจริงแล้ว คำว่าหัวหน้า ไม่จำเป็นต้องเก่งเสมอไป และไม่ใช่จุดประสงค์ของความเป็นหัวหน้าเลย เพราะเหตุนี้จึงทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้าน เกิดการปะทะคารม การใช้วลีต่างๆในการกระแนะกระแหนซึ่งกันและกัน ทีนี้ก็เลยเกิดสงครามประสาทระหว่างลูกน้องกับหัวหน้ากันเลยทีเดียว
จริงๆแล้วจุดประสงค์ความเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องควรจะรู้ คือ การมองภาพรวมที่ใหญ่ การจัดการคนเพื่อบรรลุเป้าหมาย การปรึกษา ฟังและวิเคราะห์การชี้นำของผู้ช่วย การสอบถามเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างลูกน้องกับหัวหน้า หัวหน้าที่ดีจึงต้องมีการประชุมบ่อยๆยังไงล่ะ ไม่ใช่ว่าหัวหน้าต้องเก่งทุกอย่าง เพราะความรู้มันวิวัฒนาการเรื่อยๆ ความรู้บางอย่างก็เปลี่ยนไปตามเวลา การคิดว่าหัวหน้าต้องเก่งทุกอย่างมันเป็นความคิดที่เก่ามาก คำว่าทีมต้องมีการปรึกษาพูดคุยประชุมกันและกันเสมอ
ทีนี้พอหัวหน้าปรึกษาลูกน้องเรื่องงาน ทีนี้ลูกน้องก็เลยได้ใจ แอบข่มหัวหน้าในใจ คิดว่าขนาดหัวหน้ายังถามกูเลย ทีนี้ก็เลยเกิดอาการไม่อยากฟังหัวหน้าอีกแล้ว ลักษณะนี้คือลูกน้องโง่ๆที่ไม่รู้บริบทและจุดประสงค์ในหน้าที่ของตนเองครับ
และนานวันเข้ามันจะเกิดการปะทะกัน ไม่เว้นแม้แต่ในพื้นที่สาธารณะ เพื่อที่จะโชว์และแสดงให้เห็นว่าต่างฝ่ายก็ต่างไม่เบาเหมือนกัน หัวหน้าอาจจะสติแตก ต่อว่าตำหนิเปิดเผยความผิดพลาดในที่ประชุมเพื่อให้ลูกน้องเกิดความอับอาย ส่วนลูกน้องก็เริ่มเถียงหัวหน้าแบบออกหน้าออกตา มีอารมณ์รุนแรงขึ้น ลูกน้องไม่เชื่อใจหัวหน้า ไม่ว่าหัวหน้าจะเลือกวิธีเบาหรือรุนแรง ลูกน้องก็ต่อต้าน หัวหน้าไม่กล้าตำหนิเกรงใจ ลูกน้องก็ยิ่งผยอง รุนแรงก็เถียงอีก
นี่คือความไม่เข้าใจระหว่างกัน ก็เลยไม่มีความเป็นทีม มีแต่การชิงดี ลูกน้องไม่คิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร มีแต่อคติที่คิดในใจว่า นั่นของมึง นี่ของกู กูทำมา 15 ปีแล้ว มึงยังเรียนอยู่เลย และในขณะเดียวกันหัวหน้าก็ไม่สามารถบริหารจัดการให้ลูกน้องคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้ คนทั้งทีมไม่มีความเป็นเจ้าของในองค์กรบริษัทเลย ทีมก็เลยอยู่ไปอย่างนั้นแหละ บริษัทอาจจะอยู่ได้ แต่ก็อยู่ไปแบบตามระบบ ไม่มีอะไรพัฒนาเลย วันๆมีแต่นินทาใส่กัน บางองค์กรหัวหน้าเป็นผู้หญิงก็โดนลูกน้องผู้ชายดูถูก แบบนี้ก็มี
และนี่ก็คือเรื่องจริงในองค์กร และเกิดขึ้นจริงในองค์กรที่ไม่มีการอบรมบทบาทหน้าที่ของพนักงานในแต่ละตำแหน่งให้เข้าใจก่อนเริ่มงาน
และบางครั้งคนที่เป็นหัวหน้าก็ไม่อยากฟังความเห็นลูกน้อง ลูกน้องแนะนำไม่ได้ พอลูกน้องพูดถูก ก็ไม่เคยชมเชยลูกน้อง และไม่สร้างวัฒนธรรมองค์กรในเชิงบวก ทั้งที่ผู้นำเป็นผู้ส่งผ่านวัฒนธรรมองค์กรที่สำคัญที่สุด ทั้งในการสร้างสรรค์ ทั้งเปิดโอกาสให้ลูกน้องจัดการปัญหาให้สำเร็จ ไม่เคยชมเชยลูกน้องเมื่อแก้ปัญหาสำเร็จ ไม่แบ่งปันความรู้สึกที่ได้รับจากการทำงานให้กับองค์กรของตนให้กับลูกน้องเลย ไม่กำหนดลักษณะของวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งองค์กรโดยรวม และภายในทีมของตัวเองเลย
เช่น ไม่มีจิตวิทยาในการจัดการคน ไม่เคยพูดในที่ประชุมเลยว่าตัวเองโชคดีแค่ไหนที่เจอลูกน้องแบบคุณ ไม่เคยขอบคุณลูกทีม เพราะมีทีมที่ดีแบบนี้พี่ถึงมีวันนี้ได้ ไม่มีศิลปะในการพูด พี่เชื่อในตัวเธอ เพราะมีพวกคุณพี่ถึงเบาใจ ไม่เคยขอคำปรึกษาจากลูกน้อง ด่าลูกน้องในที่สาธารณะ ไม่มีการพูดหลังไมค์ ลูกน้องก็เลยไม่เชื่อใจอีกเลย หรือหนำซ้ำหัวหน้าโง่ๆก็สร้างแรงกดดันและการแข่งขันระหว่างลูกน้อง จึงทำให้ลูกน้องแต่ละคนกลายเป็นศัตรูที่ต้องแข่งขันกันเองในองค์กร
จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่มีแต่ความกดดัน เด็กฉัน เด็กเธอ ที่นี่ถ้าไม่เจ๋งอยู่ไม่ได้ วัฒนธรรมการสุมหัว หมกเม็ด ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีในองค์กร เพราะจะทำให้ขาดประสิทธิภาพ ไม่กระจายความรู้ อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน อยู่เพื่อให้ได้ใบผ่านงาน มององค์กรเป็นแค่ทางผ่านเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า นักศึกษาฝึกงานก็คิดว่า อดทนไปเถอะ พอผ่านงานเราก็ค่อยไปสมัครงานที่อื่น กลายเป็นไม่มีใครรักองค์กรเลย กลายเป็นองค์กรห่วยแตก ที่วันๆพนักงานก็ทำไปแบบซังกะตาย บริษัทองค์กรก็รอวันนับถอยหลัง เพราะเนื้อร้ายเต็มองค์กรไปหมด
ดังนั้นเราจึงเห็นข่าวการขายกิจการ ขายธุรกิจองค์กรที่ไปไม่รอดให้กับธุรกิจในเครือนั้นเครือนี้ มีการเปลี่ยนชื่อองค์กร มีการปรับโครงสร้าง
CEO ก็จะต้องลงมาวางโครงสร้างใหม่ และสร้างวัฒนธรรมใหม่ทั้งหมด รีเซ็ตใหม่ วางรากฐานระบบใหม่ทั้งหมด อบรมพนักงานที่ถูกเลือกให้อยู่ต่อ บริษัทที่ดีจะไม่ให้พนักงานแข่งกัน ต้องไม่มีลูกน้องที่แข่งดีกับหัวหน้าตัวเอง
ทุกอย่างต้องมาจากความเข้าใจก่อน ทุกคนจะต้องรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร รักในงาน รักในองค์กร ลูกน้องต้องรักหัวหน้า รักเจ้าของ อยากเห็นรอยยิ้มของหัวหน้า รอยยิ้มของผู้นำ รอยยิ้มของเจ้าของกิจการ ที่เห็นองค์กรเจริญรุ่งเรือง อยากเห็นเจ้านายมีความสุข ลูกน้องต้องมีทัศนคติแบบนี้ครับ องค์กรถึงจะไปต่อได้ยาวๆ
โฆษณา