24 มิ.ย. 2024 เวลา 08:08 • ประวัติศาสตร์

สร้าง Landmark EP.4 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

24 มิถุนายน ถือเป็นหมุดหมายสำคัญเป็นอย่างยิ่งของการเมืองการปกครองของไทย เนื่องจากหากเราย้อนไปเมื่อ 92 ปี เมื่อปีพุทธศักราช 2475 หรือในปี 1932 เป็นวันคล้ายวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยหรือสยามในเวลานั้น จากระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถือเป็นการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยไปตลอดกาล
เมื่อพูดถึงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย เราคงต้องนึกถึงอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่บริเวณกลางถนนราชดำเนินกลาง อันเป็นแหล่งรวมของชัยชนะของประชาชนที่นำโดยคณะราษฎรที่มีเหนือระบอบเก่าหรือระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ที่ปกครองสยามมายาวนานมากว่า 40 ปี นั่นคือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 หรือการปฏิวัติสยาม 2475 นั้น ถูกมองในทัศนคติที่แตกต่างกันจากหลายฝ่าย โดยในฝ่ายที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นมองว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองถือเป็นสิ่งที่ไม่ช้าก็เร็วจะต้องเกิดขึ้น และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถือว่าหมุดหมายสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสยามไป นอกจากนี้ยังมองอีกว่า การเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย ยังทำให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพที่เสมอภาคโดยไม่แบ่งแยกชนชั้น
แต่กระนั้นก็ตามในด้านของฝ่ายที่สนับสนุนระบอบเก่านั้น พวกเขามองว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเร็วจนเกืนไปและขาดซึ่งความละมุนละม่อม เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ซึ่งกลุ่มที่ไม่พอใจเป็นอย่างมากกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั่นคือ ฝ่ายเจ้านายชั้นสูง ขุนนางชั้นสูงและชนชั้นนำของระบอบเก่า ที่มองว่า ฝ่ายของตนเองเป็นผู้เสียผลประโยชน์และสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยมักจะมองอยู่เสมอว่า ตัวเองเป็นฝ่ายถูกรังแกและคณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัตินั้น เป็นผู้ชิงสุกก่อนห่าม
ภาพของเหล่าทหารที่รวมพลกันบริเวณหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 โดยคณะราษฎร
แต่ถึงจะมีการถกเถียงถึงความเหมาะสมในการปฏิวัติหรือไม่ก็ตามที แต่ในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นเมื่อเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบกับทุกฟากฝั่ง ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยล้วนต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทการเมืองที่ปรับเปลี่ยนไป โดยเฉพาะฝ่ายสถาบันและฝ่ายชนชั้นนำในระบอบเก่า ล้วนต่างต้องปรับตัวให้เข้ากับระบอบใหม่ แม้ว่าในช่วงแรกยังมีกลุ่มที่ยังคงต่อต้านระบอบใหม่อยู่ โดยในปี 2476 ได้เกิดกบฏบวรเดช ซึ่งนำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
นี่เป็นความพยายามในการนำระบอบเก่ากลับมาครั้งใหญ่ที่ทำให้เกิดเป็นสงครามกลางเมืองของไทย หลังจากปราบกบฏบวรเดช รัฐบาลคณะราษฎรก็ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือในอีกชื่อคือ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ เพื่อระลึกถึงการปราบกบฎบวรเดชเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญนี้ เปรียบเสมือนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในกรุงเทพแห่งแรก และมีลักษณะคล้ายคลึงกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่กลางวงเวียนถนนราชดำเนินกลาง
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณวงเวียนหลักสี่ ซึ่งในปัจจุบันถูกรื้อถอนออกไปจากวงเวียนและหายไปจากความทรงจำของใครหลายๆคน
ต่อในปี 2482 ช่วงรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้มีเริ่มการก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้น เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย โดยได้มีการเลือกสถานที่ก่อสร้างอนุสาวรีย์คือ บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ในการเลือกที่ตั้งนั้น เป็นการสื่อถึงชัยชนะของราษฎรต่อระบอบเก่าหรือระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ นอกจากนี้ยังสื่อว่า บัดนี้ ถนนแห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นถนนราชดำเนิน แต่เป็นถนนราษฎรดำเนิน ถนนที่ผู้คนสิทธิที่จะใช้ถนนเส้นนี้สัญจรได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
สถาปนิกผู้ออกแบบอนุสาวรีย์นี้คือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล โดยประติมากรรมต่างๆนั้นได้ประติมากรชื่อดังของไทย นั่นคือ Corrado Feroci หรือที่คนไทยรู้จักนั่นคือ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นดั่งตัวแทนของเหตุการณ์การปฏิวัติอันสำคัญในทุกส่วนของอนุสาวรีย์แห่งนี้ โดยที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์จะมีปืนใหญ่ที่ถูกฝังลงไปจำนวน 75 กระบอก อันสื่อถึงปี 2475 อันเป็นปีที่มีการปฏิวัติ บริเวณมุมของอนุสาวรีย์มีปีกล้อมรอบอยู่ทั้งหมด 4 ด้าน มีประติมากรรมที่สื่อถึงการปฏิวัติที่คนไทยมีส่วนร่วม
นอกจากนี้ปีกทั้ง 4 นั้นยังมีประติมากรรมงูใหญ่อันเป็นตัวแทนของปีมะโรง ปีนักษัตรที่ทำการปฏิวัติ ซึ่งเลื้อยออกมาจากปากของครุฑ อันสื่อถึงการสิ้นสุดระบอบเก่าสู่การถือกำเนิดขึ้นของระบอบประชาธิปไตย บริเวณตรงกลางของอนุสาวรีย์นั้นมีความสูง 3 เมตร หนัก 3 ตัน อันสื่อถึงเดือน 3 หรือเดือนมิถุนายน ซึ่งนักตามปฏิทินแบบไทย
โดยสถาปัตยกรรมของอนุสาวรีย์นั้น เป็นอาคารรูปทรง 6 เหลี่ยม โดยแต่ละด้านมีบานประตูซึ่งมีลักษณะเป็นรูปพระขรรค์ อันสื่อถึงหลักหกประการที่คณะราษฎรยึดถือในการปฏิวัติ นั่นคือ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา เหนือบานประตูเป็นภาพอรุณเทพ เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงช่วงเวลาของการปฏิวัติ นั่นคือ เวลาย่ำรุ่ง ด้านบนเป็นพานแว่นฟ้า 2 ชั้น รองรับรัฐธรรมนูญไว้
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วเสร็จเมื่อปี 2483 และมีพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน 2483 ซึ่งครบ 8 ปี การปฏิวัติ 2475 นับแต่นั้นมา อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลายเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยไทยและได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญต่างๆมากมาย ในฐานะสถานที่ในการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพที่เสมอภาคดังเจตนารมณ์ของคณะราษฎรได้ประกาศไว้ ทั้งในเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ
นักศึกษาและประชาชนชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2516
แม้ว่าภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยจะผ่านมาแล้ว 92 ปี แต่ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ได้ทำให้เราถึงความกระท่อนกระแท่นที่เกิดจากการยื้อยุดฉุดกระชากอยู่เสมอ ทั้งการขึ้นมาของระบอบเผด็จการทหารในช่วงจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์และจอมพล ถนอม กิตติขจร การณัฐประหารถึง 13 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญมาแล้วกว่า 20 ฉบับ มีการก่อกบฏอยู่หลายครั้ง
แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้อยู่เสมอว่า ผู้คนที่มีความรักในประชาธิปไตยนั้นยังคงยืนหยัดต่อสู้กับฝ่ายที่กำลังฉีกกระชากรัฐธรรมนูญออกจากอ้อมแขนของประชาชน และคอยที่จะถวิลหาประชาธิปไตยที่ทุกคนในประเทศจะได้สิทธิและเสรีภาพอย่างเสมอภาค เท่าเทียมและยุติธรรม และตราบใดที่ยังมีผู้ที่ยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางวงเวียนแห่งนี้จะคงอยู่ตลอดไป

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา