6 ก.ค. เวลา 23:00 • ธุรกิจ

เรื่องราวการฉ้อโกงของ Parmalat บริษัทผลิตนมที่เคยใหญ่ที่สุดในอิตาลี

Parmalat ก่อตั้งขึ้นในปี 1961 โดย Calisto Tanzi ซึ่งเดิม Parmalat เป็นฟาร์มที่บริหารงานโดยครอบครัวของเขาในทางภาคเหนือของอิตาลี ในช่วงหลายปีต่อมาบริษัทได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นบริษัทผลิตนมและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีขนาดใหญ่ และกลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลี
แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2003 หนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลีแห่งนี้เผชิญกับเรื่องอื้อฉาวทางการเงินจนถึงขั้นต้องล้มละลาย ซึ่งนี้นับเป็นเรื่องอื้อฉาวที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินของยุโรปเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้
บทความนี้เราเลยจะมาบอกเล่าเกี่ยวกับฉดีการฉ้อโกงระดับตำนานนี้กัน
การฉ้อโกงนี้ของ Parmalat เริ่มต้นในลักษณะเดียวกับการฉ้อโกงของบริษัทอื่นๆ ที่เรามักพบเห็นกัน นั่นก็คือ "การพยายามปกปิดการสูญเสียของบริษัท"
โดยเรื่องราวเริ่มต้นตั้งแต่ในปี 1990 ในช่วงเวลานั้น Parmalat มีผลประกอบการทางการเงินที่เรียกได้ว่าย่ำแย่ ซึ่งตามพื้นฐานแล้วเมื่อผลประกอบการของบริษัทเริ่มตกต่ำ บริษัทดังกล่าวก็ควรที่จะหาวิธีแก้ไขผลประกอบการนั้นให้ดีขึ้น
แต่ไม่ใช่สำหรับฝ่ายบริหารระดับสูงของ Parmalat ในปี 1990 แทนที่พวกเขาจะหาทางแก้ไขปัญหา แต่พวกเขาเลือกที่จะปกปิดปัญหาเหล่านั้นเอาไว้ด้วยวิธีต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทรับทราบและมีส่วนร่วมด้วย
ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ใช้วิธีอย่างการออกตราสารหนี้มา เพื่อขายให้กับนักลงทุนในฐานะโอกาสในการลงทุน แต่เงินที่ได้มาจากการขายเหล่านั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจ แต่กลับถูกนำมาใช้เพื่อปิดบังการขาดทุนและหนี้สินที่มีอยู่ของบริษัท
และเพื่อที่จะซ่อนหนี้สินและบิดเบือนข้อมูลทางการเงินต่างๆ Parmalat ได้จัดตั้งบริษัทลูกในต่างประเทศในพื้นที่ปลอดภาษี เช่น หมู่เกาะเคย์แมนและหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน
โดยบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาเหล่านี้ถูกใช้เพื่อโอนย้ายหนี้หรือสร้างใบแจ้งหนี้และใบเสร็จปลอมๆ ที่ไม่มีอยู่จริงเพื่อใช้ในการบิดเบือนงบการเงินของบริษัทแม่ ทำให้บริษัทดูมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงมากกว่าความเป็นจริง
นอกจากนี้พวกเขายังใช้ข้อมูลทางการเงินที่บิดเบือนและตัวเลขปลอมเหล่านั้น ในการขอสินเชื่อจากธนาคารและผู้ให้กู้รายอื่นๆ อีกด้วย
ซึ่งเหตุผลหลักที่หนี้สินและข้อมูลทางการเงินที่บิดเบือนนี้ ไม่ถูกค้นพบตั้งแต่ที่บริษัทเริ่มมีการการฉ้อโกงนั้นก็เพราะว่า บริษัทลูกในต่างประเทศที่พวกเขาใช้ในซ่อนหนี้สินและบิดเบือนข้อมูลนั้น ตั้งอยู่ในประเทศที่มีกฎหมายและข้อบังคับทางการเงินที่หละหลวม
หน่วยงานกำกับดูแลและผู้ตรวจสอบบัญชีในพื้นที่ดังกล่าว ไม่มีความเชี่ยวชาญที่เพียงพอในการตรวจสอบบริษัทเหล่านี้ อีกทั้งบริษัทลูกที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศก็มักจะไม่เปิดเผยข้อมูลทางการเงินต่อสาธารณะ ทั้งนี้ยังรวมถึงการติดสินบนเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ตรวมสอบข้อมูลทางการเงินด้วย
จนกระทั่งถึงปี 2002 ปัญหาต่างๆ ที่ Parmalat ปกปิดเอาไว้นานนับสิบปีนี้ก็เริ่มปรากฏต่อสาธารณะ
โดยในปี 2002 ได้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ของ Cirio ที่เป็นคู่แข่งของ Parmalat ในอุตสาหกรรมอาหารขึ้น การผิดนัดชำระหนี้นี้ของ Cirio แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารในช่วงเวลานั้น
ส่งผลให้ค่าสเปรดสินเชื่อหรือก็คือ ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่ Parmalat เสนอให้กับนักลงทุนกับต้นทุนทางการเงินของ Parmalat สูงขึ้นจาก 250 ถึง 300 จุด
ซึ่งการที่ค่าสเปรดสินเชื่อของ Parmalat สูงขึ้น หมายความว่า หากบริษัทมีการออกตราสารหนี้มาขายนักลงทุน Parmalat ก็จะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นด้วย แต่ถึงจะเป็นอย่างงั้นทาง Parmalat ก็ยังมีการออกตราสารหนี้ใหม่มาอีกเรื่อยๆ
จุดนี้เองที่ทำให้ Merrill Lynch ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ให้บริการด้านการลงทุน คำปรึกษาทางการเงิน และการจัดการความมั่งคั่ง เริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับความสามารถและความเต็มใจของบริษัท Parmalat ในการออกตราสารหนี้
และได้มีการปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของ Parmalat ลง เนื่องจากบริษัทยังคงพึ่งพาเงินทุนจากตลาดตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่มีเงินสดจำนวนมากในงบดุล ทำให้เริ่มเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับ "ความผิดปกติทางบัญชี" ของ Parmalat ขึ้น
ข่าวลือและข้อกล่าวหาเรื่องความผิดปกติทางบัญชีของ Parmalat ที่มาจากบริษัทให้คำปรึกษาทางการเงินและธนาคารเริ่มมีมากขึ้น การตรวจสอบทางบัญชีอย่างเข้มงวดจึงได้เริ่มขึ้น และพวกเขาก็พบความผิดปกติหลายอย่างจริงๆ
เช่น พวกเขาพบว่า แม้ Parmalat จะมีการรายงานในวันที่ 8 ธันวาคม 2003 ว่าบริษัทมีเงินสดและสินทรัพย์ระยะสั้นมูลค่า 4 พันล้านยูโรในงบดุล แต่บริษัทกลับผิดนัดชำระตราสารหนี้มูลค่า 150 ล้านยูโร
หรือการที่ Parmalat ไม่สามารถยืนยันที่ไปที่มาของกำไรกว่า 135 ล้านยูโร ที่ได้รับจากสัญญาอนุพันธ์ที่เป็นของ Epicurum ซึ่งเป็นบริษัทลูกในหมู่เกาะเคย์แมนได้
การตรวจสอบทางบัญชีของ Parmalat ได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในวันที่ 16 ธันวาคม 2003 ธนาคาร Bank of America สาขานิวยอร์กได้มีการเปิดเผยผลการตรวจสอบพบว่าบัญชีหลายบัญชีของ Parmalat นั้นได้ถูกปลอมขึ้นมาและไม่ได้มีอยู่จริง
การฉ้อโกงที่ยาวนานนี้ของ Parmalat จึงได้โป๊ะแตกออกมา!!
ต่อมาในวันที่ 19 ธันวาคม 2003 บริษัท Parmalat ได้ประกาศต่อสาธารณะว่าเงินสดจำนวน 3.95 พันล้านยูโรหายไป ทำให้ราคาหุ้นของ Parmalat ตกจนเข้าใกล้ศูนย์
หลักจากนั้นยังได้มีการพบว่า เหล่าผู้บริหารของ Parmalat ได้ทำการทำลายคอมพิวเตอร์และทำลายเอกสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมนอกงบดุลที่พวกเขาฉ้อโกงเหล่านั้นทิ้งไปเพื่อพยายามหนีความผิด
ท้ายที่สุดบริษัท Parmalat จึงได้ถูกประกาศให้ล้มละลายอย่างเป็นทางการ และ Calisto Tanzi ซึ่งเป็นซีอีโอถูกฟ้องร้องในข้อหาฉ้อโกงและถูกจับกุม ในวันที่ 27 ธันวาคม 2003
โดยหลังจากการค้นพบการฉ้อโกงของ Parmalat ได้มีการตรวจสอบและพบว่า Calisto Tanzi และผู้บริหารอีก 16 คนได้ร่วมกันยักยอกเงินมากกว่า 1 พันล้านยูโรเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว
และจากรายงานสรุปการสอบสวนหลังจากการล่มสลายของ Parmalat โดย PWC พบว่างบการเงินของ Parmalat มีการแสดงข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 1990 เป็นอย่างน้อย
และแม้ว่า Parmalat จะรายงานรายได้ที่เป็นบวกและเพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 1990 ถึงปี 2002 แต่จริงๆแล้วพวกเขาขาดทุนติดต่อกันตลอดเวลา 12 ปี และหนี้สินจริงของบริษัท Parmalat นั้นอยู่สูงถึงประมาณ 17,000 ล้านยูโร โดยกว่า 15,000 ล้านยูโรถูกซ่อนไว้นอกงบดุล
ทำให้การล้มละลายของ Parmalat ครั้งนี้กลายเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรปในขณะนั้น
PWC ยังได้สรุปต่ออีกว่าการฉ้อโกงของ Parmalat นั้นได้เริ่มต้นขึ้นในปี 1990 โดยเกิดจากความพยายามที่จะชดเชยการสูญเสียที่เกิดขึ้นในบริษัทย่อยแห่งหนึ่งของ Parmalat ในอเมริกาใต้นั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา