18 ม.ค. เวลา 23:00 • ธุรกิจ

False Consensus Effect

อคติคิดเอาเองว่าคนอื่นก็คิดเหมือนเรา
อคติชนิดนี้มักเกิดกับคนที่ชอบคิดเข้าข้างตัวเองว่าในเมื่อเราชอบอย่างงี้ คนอื่นก็ต้องชอบเหมือนเราด้วยสิ
เช่น พ่อแม่ที่รักลูกมากจนเกินไป ลูกจะทำอะไรก็เห็นว่าช่างน่าร๊ากกกไปทุกสิ่งอย่าง
เวลาพาลูกไปกินข้าวนอกบ้านแล้วลูกจะปีนป่ายข้ามโต๊ะไปหยุมหัวโต๊ะอื่น หรือวิ่งเพ่นพ่านทั่วร้านส่งเสียงกรี๊ด ๆ จะบอกว่าลูกเป็นเด็กกล้าแสดงออก
ก็เลยคิดว่าคนอื่นต้องรักต้องชื่นชมลูกของเราเหมือนกับเราไปด้วยสิ
อคตินี้น่าจะเป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ว่าลูกของเราไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคนนะครับ
 
เรื่องการคิดแบบลำเอียงเข้าข้างตัวเองว่าคนอื่นจะคิดเหมือนเราจะชอบในสิ่งเดียวกับที่เราชอบ ยังมีผลไปถึงการตัดสินใจในการทำงานที่ผิดพลาดได้นะครับ
เช่น บริษัทผู้ผลิตน้ำผลไม้มีแผนจะขายน้ำส้มรสชาติใหม่ แต่แทนที่จะทดลองรสชาติของน้ำส้มด้วยการให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายทดลองชิมแล้วประมวลความคิดเห็นหลาย ๆ กลุ่มเพื่อหาข้อสรุปว่ารสชาติไหนจะถูกปากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
บริษัทกลับเอาน้ำส้มไปให้กรรมการผู้จัดการชิมเพียงคนเดียวแล้วให้เป็นคนตัดสินว่าจะผลิตน้ำส้มรสชาติใด เพราะเชื่อว่าถ้ากรรมการผู้จัดการชอบรสชาติไหน ผู้บริโภคก็ต้องชอบเหมือนกัน
ก็อาจจะทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการขายเมื่อน้ำส้มยี่ห้อนี้ออกวางตลาดแล้วไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
เพียงแค่ลดอคติในเรื่อง False Consensus Effect ลง ด้วยการเปิดโอกาสและเปิดใจรับฟังคนรอบข้างให้ออกความคิดเห็นให้มากขึ้นก็จะลดปัญหาจากอคติตัวนี้ลงได้
หัวหน้าคนไหนที่มี False Consensus Effect เยอะ ๆ ก็มักจะทำให้ลูกน้องแอบนินทาลับหลังว่าทำไมพี่เขาถึงได้เป็นคนเผด็จการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลเยี่ยงนี้หนอ....
ที่น่าคิดไปกว่านั้นคือ ถ้าคนที่เป็นผู้นำเป็นหัวหน้าแล้วมีอคติคิดเข้าข้างตัวเองเยอะ ๆ แบบนี้ แล้วมีลูกน้องบริวารที่คอยประจบสอพลอประเภท "ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับนาย สบายครับทั่น"
หัวหน้าที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลแบบนี้พังเพราะลูกน้องสอพลอมาหลายรายแล้วครับ
โฆษณา