Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นักจิตฯเก้ากระบี่
•
ติดตาม
1 ส.ค. เวลา 13:13 • สุขภาพ
ข้อคิดจากชีวิต: การปิดผนึกความทุกข์
การปิดผนึกความทุกข์
ไม่เคยทำให้ความทุกข์จางหายไป
กระบวนการปิดผนึก
ฟังผ่าน ๆ อาจทำให้นึกถึงเรื่องราวในภาพยนตร์หรือในนิยาย
ที่มีใครหรืออะไรบางอย่างถูกกักขังไว้
เนื่องจากสิ่งนั้นเป็นอันตรายต่อความมั่นคงปลอดภัยของส่วนรวม
เรียกได้ว่า ถ้าสิ่งนั้นหลุดออกมาจะถือเป็นภัยพิบัติร้ายแรงเลยทีเดียว
โดยที่คุมขังมักจะเป็นเขตหวงห้ามที่มีการป้องกันแน่นหนา
ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและยากต่อการพบเห็น
(ห้ามใครเข้าออก แม้แต่ยุงตัวเดียวก็อย่าให้เล็ดลอดเข้ามา)
ทางเลือกที่ดีที่สุดจึงเป็นการคุมขังสิ่งนั้นไว้ตลอดกาล
ประสบการณ์ทางร่างกายและจิตใจก็มีเรื่องราวแบบนี้ครับ
มนุษย์มีความสามารถในการปิดผนึกประสบการณ์ไว้ด้วย
ซึ่งถือเป็นเครื่องมือเอาตัวรอดชนิดหนึ่ง
เพื่อปกป้องตัวเองจากการเสียสมดุลและการพังทลาย
โดยเครื่องมือปิดผนึกมักจะถูกหยิบนำมาใช้ทันที
เมื่อใครคนนั้นขาดทรัพยากร ขาดทักษะ ขาดโอกาส
และขาดแหล่งให้ความช่วยเหลือ
ที่จะรับมือกับสถานการณ์บางอย่างที่เข้ามาในชีวิต
สถานการณ์ที่เข้ามาจึงกลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรง
มันแรงจนถึงกับทำให้รู้สึกว่า เราทำอะไรไม่ได้เลย เราไม่มีทางเลือก
ในเมื่อยังแก้ไขและยังทำอะไรได้ไม่มาก
อย่างน้อยที่สุดก็ปิดผนึกประสบการณ์อันโหดร้ายนี้ไว้ก่อน
ซึ่งยังเป็นสิ่งที่พอจะทำได้ เพื่อปกป้องจิตใจให้รอดจากการแหลกสลาย
วันนี้ขอฝ่าฟันช่วงเวลาอันโหดร้ายนี้ไปให้ได้ก่อน
เอาไว้วันไหนที่มีแรงพอค่อยกลับมาปลดผนึกประสบการณ์เหล่านั้น
หากจะเล่าเรื่องนี้ให้เห็นภาพ
ผมขอชวนให้ทุกท่านนึกการล่องเรือในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล
ซึ่งสายน้ำก็เคลื่อนไหวไปตามธรรมชาติของตัวเอง
มีจังหวะที่สงบ มีช่วงเวลาที่เกิดพายุ
“คลื่นลมจะถาโถมแค่ไหนแต่สุดท้ายก็จะกลับคืนสู่ผืนน้ำ”
ฟังแล้วก็ดูไม่มีอะไรร้ายแรงใช่ไหมครับ
แต่สำหรับมนุษย์แล้ว บางครั้งการเจอกับพายุขนาดใหญ่
ในขณะที่ตนเองอยู่บนเรือลำเล็ก (ซึ่งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยก็ไม่พร้อม)
อีกทั้งไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการเดินเรือ
แถมยังขาดทักษะและประสบการณ์ในท้องทะเลอีก
และคนที่จะมาช่วยเหลือก็ดันอยู่ห่างไกลซะด้วย
เมื่อต้นทุนชีวิตประกอบด้วยปัจจัยเหล่านี้
การเจอกับพายุเพียงลำพัง จึงเป็นอะไรที่สยองขวัญอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้
ผืนน้ำบริเวณใดก็ตามที่ดูน่ากลัว ดูไม่ปลอดภัย ดูไม่น่าไว้วางใจ ดูปั่นป่วนวุ่นวาย
จึงมักจะถูกแจ้งเตือนว่าเป็นสัญญาณอันตราย
แล้วถ้ามีเรือลำเล็กแล่นผ่านมา
เป็นเรือที่ดูเหมือนจะต้านทานความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติไม่ไหว
ใครคนนั้นก็จะใช้พลังวิเศษปิดผนึกผืนน้ำโดยการแช่แข็งไว้
“สายน้ำ พายุ คลื่นทะเล” ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเนื้อเดียวกัน
ตอนนี้กลับกลายเป็นภูเขาน้ำแข็งและธารน้ำแข็ง
ซึ่งรอวันกลับคืนสู่ผืนน้ำ รอวันกลับคืนสู่ธรรมชาติของตัวเอง
ในระหว่างนี้ทิวทัศน์ของสิ่งที่ถูกแช่แข็งไว้
จะกลายเป็นสิ่งที่กีดขวางทางเรือ
และเป็นสิ่งที่สามารถสร้างรอยแผลให้กับเรือที่แล่นผ่าน
สิ่งที่โดนปิดผนึกจึงไม่เคยจางหายไปไหน
มันยังฝังลึกอยู่ในจิตใจ มันยังฝังลึกอยู่ในร่างกาย
“เรือ กับ สิ่งที่ถูกปิดผนึก” จะเกิดการปะทะกันทันที
เมื่อชีวิตนำพาให้ไปเจอกับประสบการณ์ที่คล้ายกับสิ่งที่โดนปิดผนึกไว้
นี่จึงเป็นเหตุให้เกิดประสบการณ์ทางร่างกายและจิตใจที่ท่วมท้น
จมดิ่ง ด้านชา และเดือดดาล
ซึ่งบางครั้งก็ชวนให้คิดว่า
-แค่เรื่องธรรมดา แต่ทำไมถึงรู้สึกรุนแรงขนาดนี้
-มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องรู้สึกแบบนี้เลย เป็นเพราะอะไรกันนะ
แล้วมีอะไรที่เราสามารถปิดผนึกได้บ้าง ?
ถ้าเรียบเรียงแบบง่าย ๆ จะได้แบบนี้ครับ
๐ สิ่งที่อยู่ในจิตใจ เช่น
-ความคิด ความทรงจำ ความรู้สึก ความต้องการ
-ความเชื่อไม่ยืดหยุ่น ความทรงจำฝังใจ ความรู้สึกสะเทือนใจ ความคาดหวังรอการเติมเต็ม
๐ สิ่งที่อยู่ในร่างกาย เช่น
-สิ่งที่มองเห็น เสียงที่ได้ยิน การได้กลิ่น การรับรส การรับสัมผัสทางผิวหนัง
-การรับรู้อุณหภูมิ การรับรู้แรงกระแทก การรับรู้ระยะห่าง การรับรู้ทิศทาง
ทีนี้เมื่อเหตุปัจจัยภายนอกและภายในครบถ้วน
สิ่งที่ถูกปิดผนึกไว้ก็มักจะส่งสัญญาณออกมา
ในลักษณะของความรู้สึกที่ท่วมท้นและไม่เป็นสุขทั้งกายใจ
การรับรู้ความท่วมท้นที่เกิดขึ้นในร่างกายและจิตใจ
เป็นสัญญาณที่มีประโยชน์อย่างหนึ่งครับ
เราสามารถนำมาเป็นแผนที่สำหรับการสำรวจตัวเอง
การเยียวยารักษา รวมไปถึงการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
ไม่เป็นไรหรอกครับที่บางครั้งเราจะตั้งใจปิดผนึกหรือเผลอปิดผนึก
เพราะตอนนั้นเราได้ทำทุกสิ่งอย่างสุดกำลังและเต็มความสามารถไปแล้ว
ส่วนตอนนี้เรายังมีทางเลือกและยังมีโอกาสในการกลับไปปลดผลึก ^^
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ข้อคิดจากชีวิต
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย