10 ส.ค. เวลา 11:58 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

รีวิวซีรีส์ “Anti Hero” ทนายสีเทา

“อัยการเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบแต่งเรื่องให้พวกของตัวเองได้เปรียบ…มักจะเพิกเฉยต่อหลักฐานที่ไม่เป็นผลดีต่อพวกเขา…อัยการก็เป็นมนุษย์ปุถุชน พูดได้เต็มปากหรือเปล่าล่ะว่าเรื่องแบบนั้นจะไม่เกิดอีก”
”เพราะอคติส่วนตัว คุณยอมรับคำบอกเล่าของอัยการอย่างไม่สงสัยใดๆ คุณมองข้ามข้อเท็จจริงที่เป็นกลาง และพยายามเอาผิดคนนี้ การกระทำของคุณไม่ต่างอะไรจากอาชญากรเลย ไม่สิ อันที่จริง ความรู้ด้านกฎหมายของคุณ ยิ่งทำให้การกระทำนี้แย่กว่าเดิมอีก อคติที่ฝังรากลึก กับการยึดมั่นในความยุติธรรมครึ่งๆ กลางๆ ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด“
“คุณตระหนักว่าตัวเองทำพลาดและเสียใจมาโดยตลอดใช่ไหมล่ะครับ เพราะงั้นคุณถึงได้บริจาคและทำงานอาสาที่บ้านเด็กกำพร้า...อยู่เรื่อยมา อย่างน้อยก็ได้ทำอะไรไถ่บาปบ้าง แต่การทำแบบนั้นก็เหมือนแค่เอาพลาสเตอร์แปะแผลร้ายถึงตายครับ ถ้าคุณยังแกล้งทำเป็นไม่เห็นบาดแผลนี้ต่อไป ชีวิตของคนคนหนึ่งอาจสูญสลายไปก็ได้ครับ“
แค่บทพูดของอาคาซึมิ ตัวเอกเรื่องนี้ที่กล่าวถึงอัยการและว่ากล่าวกับทนายความและผู้พิพากษา ก็เดือดแล้วครับ แน่นอนว่าทุกอาชีพมีทั้งคนดีและคนเลว และบางครั้งก็จะมีคนที่ไม่ได้ขาวหรือดำชัดเจนแต่อยู่ระหว่างกึ่งกล่างที่เรียกว่า สีเทา ไม่เว้นแม้แต่กระบวนการยุติธรรม
เรื่องนี้กล้านำเสนอให้เห็นการทำงานในกระบวนการยุติธรรม ตีแผ่ด้านมืดของตำรวจ ทนายความ อัยการ และผู้พิพากษาบางคนที่มีสีเทา อาจจะไม่ได้เลวสุดขั้วและไม่ได้ดีแบบอาชีพในอุดมคติ แต่มีอุดมการณ์ของตนเองเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการและคิดว่าถูกต้อง
ซีรีส์ญี่ปุ่นยังคงคอนเซ็ปต์เดิมที่ตัวเอกของเรื่องไม่ต้องหล่อขาวใส นักแสดงผู้ชายนี่แทบไม่แต่งหน้าเลยมั้งใต้ตาบวมลึกกันเด่นชัด เรียลสุดๆ (แต่ตัวประกอบเรื่องนี้ อย่างเช่น จำเลยหน้าตาดี อย่างกับดารา นักร้อง หลายคนเลยล่ะ)
ตัวเอกหลักเรื่องนี้ได้ Hasegawa Hiroki มาแสดงเป็นทนายความฉลาดฝีมือดี แถมยังมี Takumi Kitamura พระเอกจากเรื่อง Yu Yu Hakusho คนเก่งฟ้าประทาน มาแสดงร่วมทีมทนายด้วย
-อาคิซึมิ มาซากิ ทนายความจำเลยผู้ช่วยให้จำเลยพ้นผิด การวางตัวที่ทำให้ชวนคิดตลอดว่าเป็นคนดีหรือคนร้ายในคราบทนายกันแน่ เขาไม่เกี่ยงวิธีการเพื่อที่จะชนะคดี โกหกเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน ใช้จิตวิทยาหลอกล่อเพื่อให้พยานพูดสิ่งที่ตัวเองต้องการ บ่งบอกถึงความเป็นสีเทาได้อย่างดี
-อาคามิเนะ เป็นทนายความที่มาฝึกงานที่สำนักงานทนายความของอาคิซึมิ มีความเห็นขัดแย้งกับการทำงานของอาคิซึมิตลอดเวลา เพราะลึกๆ แล้วเขาเชื่อว่าจำเลยที่ถูกอัยการฟ้องด้วยพยานหลักฐานมากมายเป็นผู้กระทำความผิดจริง และการกระทำของอาคิซึมิทำให้ชวนคิดสงสัยตลอดว่าจะช่วยอาชญากรพ้นผิด หรือช่วยคนบริสุทธิ์ให้พ้นจากการถูกกล่าวหากันแน่ เขาจึงพยายามหาหลักฐานมาหักล้างพยานของอาคิซึมิ และสืบเรื่องราวเพื่อที่จะเข้าใจอาคิซึมิมากขึ้น
-ชิโนมิยะ เป็นทนายความอีกคนในสำนักงานของอาคาซึมิ เป็นคนมีไหวพริบ รู้จักใช้เล่ห์เหลี่ยมในการบีบให้คนยอมทำตาม น่าจะเรียนรู้จากอาคามิเนะเซ็นเซมาเยอะ
ส่วนของบทพูดนั้นทำออกมาดีมาก มีการสื่อให้เห็นความเป็นจริงของสังคมที่แม้จะมีการบัญญัติกฎหมายและมีกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการคุ้มครองสิทธิของจำเลยอย่างมากและมุ่งแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดตามทฤษฎีวัตถุประสงค์การลงโทษทางอาญาสมัยใหม่ในปัจจุบันแล้วก็ตาม
แต่มุมมองความคิดของคนในสังคมก็ยังคงตัดสินผู้กระทำความผิดอย่างเลวร้าย ทำให้ชวนตั้งคำถามว่าคนที่เคยถูกตัดสินว่ากระทำความผิดแล้วจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุขโดยไม่ถูกตีตราว่าเป็นอาชญากรได้หรือไม่
ชุดครุยผู้พิพากษาญี่ปุ่น 1
พล็อตเรื่องมีการวางปมและเฉลยได้ดี เดินเรื่องเร็ว ขั้นตอนการหาพยานหลักฐานจนถึงชั้นศาลไวมาก
ฉากในห้องพิจารณาถือว่าทำได้ดี ครุยผู้พิพากษาญี่ปุ่นก็ทำมาได้ถูกต้องไม่มีลวดลายและไม่มีตราสัญลักษณ์ ส่วนทนายและอัยการจะไม่มีครุยแต่มีตราสัญลักษณ์เป็นเข็มกลัดติดที่สูทซึ่งก็ทำมาได้ถูกต้องอีกเช่นกัน ระบบองค์คณะก็ครบถ้วน จะมีแค่การสืบพยานบางฉากที่ดูไม่สมจริง แต่ก็เข้าใจได้ว่าคนเขียนบทอาจจะไม่ใช่นักกฎหมายและการทำแบบนั้นก็เพื่อให้เกิดความสนุกตื่นเต้นของซีรีส์
ส่วนของการอ้างตัวบทกฎหมาย เช่น ฐานฆ่าผู้อื่น ที่ซีรีส์อ้างประมวลกฎหมายอาญาญี่ปุ่น มาตรา 199 หรือเรื่องศาลมีอำนาจถามพยานบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 นั้น เมื่อไปสืบค้นในอินเทอร์เน็ตแล้วก็พบว่าอ้างมาตราได้ถูกต้องตามกฎหมายจริง
ภาพจาก internet
ซีรีส์ชวนให้คิดว่า ในยุคปัจจุบันที่สังคมและเทคนิคของการก่ออาชญากรรมมีความสลับซับซ้อน ลำพังเพียงวิธีการตามกฎหมายแบบตรงไปตรงมาจะเพียงพอกับการนำอาชญากรมาลงโทษและช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ได้หรือไม่ หรือเราต้องมีบุคคลสีเทาที่พร้อมจะแลกกับการทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีบ้างเพื่อรับมือกับอาชญากรและช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ได้ทันท่วงที อย่างที่เราเรียกเขาเหล่านั้นว่า “Anti Hero”
ซีรีส์มี 10 ตอน มีความดราม่าสูง อาจจะน้ำตาแตกได้ ความยาวกำลังดี ไม่ทันเบื่อ ดูได้ใน Netflix
สรุปให้ 5 ดาวเต็ม ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
ข้อดีของการดูเรื่องนี้ทำให้ไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ทำให้ทราบว่า
1.ญี่ปุ่นใช้หลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐอย่างเคร่งครัด อัยการเท่านั้นมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล ประชาชนไม่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาเอง ต่างกับไทยที่ให้สิทธิประชาชนฟ้องคดีอาญาเองได้
2.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของญี่ปุ่น เช่น มาตรา 191 (1), 193, 195 ให้อำนาจอัยการสืบสวนสอบสวนคดีเอง หรือจะร่วมกับตำรวจก็ได้ มิได้แบ่งแยกอำนาจสอบสวนกับอำนาจฟ้องคดีอย่างเด็ดขาดเหมือนของไทย
3.อัยการญี่ปุ่นสังกัดกระทรวงยุติธรรม ไม่ใช่องค์กรอิสระเหมือนอัยการไทย จึงมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการใช้ดุลพินิจของอัยการอาจมีอิทธิพลทางการเมืองแทรกแซงได้
การสอบเป็นทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา ของญี่ปุ่น ทุกคนต้องผ่านการอบรมที่สถาบันฝึกอบรมและวิจัยกฎหมาย (Legal Research and Training Institute) และผ่านการสอบเนติบัณฑิต ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกนี้มีสิทธิเลือกว่าจะเป็นทนายความ อัยการ หรือผู้พิพากษา โดยต้องสอบวัดความรู้รอบที่ 2 ผู้ที่สอบได้ลำดับต้นๆ และผ่านการพิจารณาคุณสมบัติจะถูกเรียกให้ไปสอบสัมภาษณ์เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาหรืออัยการต่อไป ส่วนที่เหลือจะขึ้นทะเบียนเป็นทนายความ
ชุดครุยผู้พิพากษาญี่ปุ่น 2
การเป็นผู้พิพากษา ผู้ช่วยผู้พิพากษาจะต้องฝึกอบรมไปนั่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีถึง 10 ปี จึงจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลล่าง แต่ในปัจจุบันมีการผ่อนปรนว่าศาลสูงอาจเสนอชื่อผู้ช่วยผู้พิพากษาซึ่งปฏิบัติหน้าที่มาแล้ว 5 ปี ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษาได้
4.เดิมญี่ปุ่นมีกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาคล้ายๆ กับของไทย ต่อมาประชาชนรู้สึกว่าเกิดการพิพากษาที่ผิดพลาด จำคุกผู้บริสุทธิ์ เคยมีการนำสถิติการพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาที่อัยการฟ้องมาแสดงให้เห็นว่า ศาลลงโทษจำเลยที่ถูกอัยการฟ้องถึงร้อยละ 99.99 และมีคดีตัวอย่างที่กระบวนการยุติธรรมเกิดความผิดพลาด
เช่น คดีที่นายโตชิกาสุ ซูกายา ถูกกล่าวหาว่า ฆ่าเด็กหญิงคนหนึ่ง เป็นเหตุให้ต้องถูกจำคุกเป็นเวลานานถึง 17 ปี ปรากฏว่าอัยการเจ้าของสำนวนบังคับให้นายโตชิกาสุรับสารภาพทั้งๆ ที่มิได้กระทำความผิด ภายหลังจากที่นายโตชิกาสุได้รับอิสรภาพ ผลการตรวจดีเอ็นเอที่พบที่ศพของเด็กสาวผู้เสียชีวิตอย่างละเอียดพบว่าไม่ใช่ดีเอ็นเอของนายโตชิกาสุ
ต่อมาญี่ปุ่นนำระบบลูกขุนผสมของประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และแบบทางยุโรป เช่น ประเทศฝรั่งเศส มาประยุกต์ใช้ในการพิจารณาคดีอาญาในความผิดร้ายแรงทุกคดี เช่น ความผิดที่มีโทษประหารชีวิต หรือความผิดที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือความผิดประเภทที่ผู้เสียหายได้ถึงแก่ความตาย อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนา
ศาล Saiban-in ภาพจาก internet
กลุ่มคนที่ในซีรีส์ให้ซับไทยว่า “ผู้พิพากษาสมทบ” นั่นคือระบบ Saiban-in seido ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีบางประเภทเพื่อตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของอัยการและศาล ซึ่งจริงๆ น่าจะเรียกว่า ผู้พิพากษาสามัญชน หรือ saiban-in ตรงๆ ดีกว่า เพราะผู้พิพากษาสมทบจะทำให้คิดว่าเป็นคดีเยาวชนและครอบครัว Saiban-in จะร่วมประชุมปรึกษาคดีกับผู้พิพากษาอาชีพเพื่อลงความเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ จึงต่างกับคณะลูกขุนของอเมริกาที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริง ส่วนผู้พิพากษาจะชี้ขาดเฉพาะข้อกฎหมาย
เรื่องนี้ซีรีส์ก็ทำออกมาได้ถูกต้องตามจริง ในซีรีส์ ep.1 ก็มีองค์คณะครบ เพราะองค์คณะของศาล Saiban-In สำหรับการพิจารณาคดีความผิดร้ายแรงอย่างคดีฆ่าคนตาย ต้องมีรูปแบบเต็มองค์คณะ ประกอบด้วยคณะผู้พิพากษาอาชีพ 3 คน และผู้พิพากษาสามัญชน (คณะลูกขุน) 6 คน รวมเป็นองค์คณะของศาล Saiban-in ทั้งหมด 9 คน โดยรูปแบบองค์คณะแบบเต็มคณะนี้ จะเป็นรูปแบบหลักของการพิจารณาที่ต้องใช้ศาล Saiban-in ในกรณีที่จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีอาญาที่อัยการฟ้องร้องคดีอาญาต่อศาลเสมอ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีผู้พิพากษาสามัญชน (คณะลูกขุน) Saiban-in แต่ศาลญี่ปุ่นก็ยังเป็นระบบกล่าวหา โดยการทำหน้าที่ขององค์คณะผู้พิพากษาหรือศาลที่นั่งพิจารณาจะทำหน้าที่เป็นคนกลางอย่างแท้จริง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของอัยการและทนายจำเลยในการซักถามพยาน ถามค้าน หรือถามติง เพื่อค้นหาความจริงเหมือนกับระบบศาลไทย
ขั้นตอนการสืบพยาน ญี่ปุ่นมีการให้อัยการและทนายจำเลยแถลงการณ์เปิดคดีได้ ก่อนเริ่มสืบพยาน ซึ่งต่างกับกฎหมายไทย อาจเป็นเพราะมีระบบ saiban-in ที่คล้ายกับระบบลูกขุนของอเมริกาเข้ามา
ภาพจาก internet
5.ระหว่างดูสังเกตเห็นว่าทนายความญี่ปุ่นจะมีตราสัญลักษณ์วงกลมสีทองติดอยู่ที่ปกคอเสื้อสูทด้านซ้าย ลักษณะเป็นเข็มกลัด เมื่อไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ความว่า เป็นสัญลักษณ์รูปดอกทานตะวัน มีตราชูอยู่ตรงกลาง โดย “ดอกทานตะวัน” เป็นสัญลักษณ์ของ “อิสรภาพและความเที่ยงธรรม”
ส่วน “ตราชู” เป็นสัญลักษณ์ของ “ความยุติธรรมและความเสมอภาค” ทนายความญี่ปุ่นต้องจบเนติบัณฑิต และผ่านการฝึกงานที่สถาบันพัฒนาตุลาการ จึงจะสามารถประกอบอาชีพเป็นทนายความได้ สัญลักษณ์นี้จะได้รับมอบเมื่อลงทะเบียนเป็นทนายความ สามารถใช้แสดงตนเสมือนเป็นบัตรประจำตัวทนายเมื่อเข้าศาลหรือพบลูกความที่สถานีตำรวจได้
ภาพจาก internet
อัยการจะมีตราสัญลักษณ์อีกแบบเป็นเข็มกลัดติดอยู่ที่ปกคอเสื้อสูทด้านซ้าย ลักษณะเป็นกลีบดอกเบญจมาศสีขาว ใบไม้สีทองและสัญลักษณ์พระอาทิตย์สีแดงสด ตราอัยการมีลักษณะคล้ายแสงอาทิตย์และน้ำค้างแข็งมีชื่อเรียกว่า “ชูโซเร็ทสึจิทสึ 秋霜烈日” แปลว่า “น้ำค้างแข็งฤดูใบไม้ร่วง แสงแผดจ้าฤดูร้อน” ที่เป็นสำนวนสื่อถึงความเข้มงวด เปรียบกับการความเข้มงวดในภาระหน้าที่และความยึดมั่นในหลักการของอัยการ
ภาพจาก internet
ส่วนผู้พิพากษาหากไม่ได้สวมครุย เวลาใส่สูทก็จะติดตราสัญลักษณ์ที่ปกคอเสื้อสูทด้านซ้าย มีรูปทรงหยักแปดเหลี่ยม ตรงกลางมีตัวอักษร “裁” (พิพากษา) แบบโบราณ ทรงแปดเหลี่ยมมีที่มาจาก กระจกยาตะ (八咫鏡) หนึ่งในไตรราชกกุธภัณฑ์แห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น กระจกเป็นสัญลักษณ์แห่งการสะท้อนความจริงอันเด่นชัดปราศจากความขุ่นมัว และสื่อถึงความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี
6.ป.วิ.อ.ญี่ปุ่น มาตรา 373 กำหนดให้การอุทธรณ์คำพิพากษาคดีอาญาของญี่ปุ่น ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 14 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ต่างกับของไทยที่ต้องยื่นภายใน 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาตามป.วิ.อ.มาตรา 198
7.การสืบพยานชั้นอุทธรณ์นั้น เมื่อไปสืบค้นดูแล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาญี่ปุ่น มาตรา 382 ถึงมาตรา 384 และมาตรา 393 มีการอนุญาตให้อ้างข้อเท็จจริงใหม่ พยานหลักฐานใหม่ และสืบพยานในชั้นอุทธรณ์ได้
หากเทียบกับกฎหมายไทยก็ไม่มีการพิจารณาคดีสืบพยานในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เพียงพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวนที่คู่ความนำสืบมาในศาลชั้นต้นเท่านั้น คู่ความจะอ้างข้อเท็จจริงใหม่ พยานหลักฐานใหม่ไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
เคยมีแต่กรณีศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงชัดเจนโดยใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (1) เช่น ฎีกาที่ 7950/2549, 2849/2555
8.ได้แง่คิด เห็นมุมมองของจำเลยที่เป็นแพะรับบาป ว่าต้องมีความทุกข์ทรมานไม่ใช่เพียงสูญเสียอิสรภาพ แต่สภาพจิตใจก็แหลกสลาย ทำให้นึกถึงสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ปล่อยคนผิด 10 คน ยังดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว”
ข้อสังเกต
1.ใน ep.1 มีการถามคำให้การเด็กอายุ 5 ขวบ โดยไม่มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ถามพยานให้ ไม่รู้กฎหมายญี่ปุ่นจริงๆ เป็นยังไง แต่ของไทยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรีวรรคหนึ่ง และวรรคสอง กำหนดให้การสืบพยานเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ศาลเป็นผู้ถามพยานเองหรือถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ก็ได้ ส่วนคู่ความต้องถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ โดยต้องจัดให้พยานเด็กอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมและถ่ายทอดภาพและเสียงมายังห้องพิจารณา
2.ใน Ep.1 มีการสืบพยานจำเลยก่อนในนัดแรก นัดที่สองเป็นการสืบพยานโจทก์ ซึ่งน่าจะขัดกับภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาที่โจทก์มีภาระการพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิด ซึ่งโดยปกติแล้วคดีอาญาศาลก็จะต้องให้โจทก์สืบพยานก่อน
3.ฉากการพิจารณาคดีบางฉากไม่สมจริง กลายเป็นให้จำเลยมานั่งบอกเล่าความรู้สึกตัวเอง หรือไม่ก็อยู่ๆ จำเลยก็ลุกขึ้นมาซักถามอัยการโจทก์เพื่อนำคดีอื่นมาเกี่ยวข้องกับคดีที่พิจารณาอยู่ด้วย
คำคมจากเรื่องนี้เพิ่มเติม
“ทุกการค้นพบและการประดิษฐ์ในโลกล้วนมาจากการคาดเดาและการสันนิษฐานทั้งนั้นแหละ” - อาคาซึมิ
“คนที่ได้อำนาจอันบิดเบี้ยวมา จะสูญเสียตัวตนไปเพราะยึดติดกลัวว่าจะเสียอำนาจไป ไม่รู้ตัวแม้กระทั่งว่าสิ่งที่ตนกระทำผิดศีลธรรมในฐานะมนุษย์” - อาคาซึมิ
“กฎหมายคืออะไรกันแน่ เราสามารถใช้กฎหมายเพื่อตัดสินอย่างยุติธรรมว่าใครบริสุทธิ์หรือมีความผิดได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วกฎหมายก็คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นอยู่ดี คนที่ถูกตัดสินว่าบริสุทธิ์ตามกฎหมาย แท้จริงแล้วบริสุทธิ์จริงเหรอ เบื้องหลังความผิดจริงๆ แล้วอาจมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องซ่อนอยู่หรือไม่ คนที่จะต้องไตร่ตรองเรื่องนี้ต่อไป อาจเป็นหน้าที่ของพวกเราในฐานะคนที่สร้างโลกพรรค์นี้ขึ้นมา“ - อาคิซึมิ
คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่ได้จากเรื่องนี้ เช่น
1.saibansho (ไซบันโช) = ศาล
2.kenji (เคนจิ) = อัยการ
3.honto ni arigatou gozaimashita ฮงโตนิ อาริกาโตะ โกไซมาชิตะ = ขอบคุณมากจริงๆ (ตอนที่จะแยกจากกันจะไม่พูดว่า อาริกาโตะ โกไซมัส แบบปกติ แต่จะพูด อาริกาโตะ โกไซมาชิตะ)
อ้างอิง
อรรถพล ใหญ่สว่าง https://www.matichon.co.th/columnists/news_119969
ไชยยศ วรนันท์ศิริ https://dunlaphaha.coj.go.th/upload/2555/1/2555_1_a9.pdf
Mayo nomura วิธีพูดขอบคุณเป็นภาษาญี่ปุ่น 7 แบบ https://matcha-jp.com/th/2577
เข็มกลัดวิชาชีพ https://www.marumura.com/12-profession-badges-in-japan/
ปกรณ์ ยิ่งวรการ https://dunlaphaha.coj.go.th/articles/373
ประมวลกฎหมายอาญาญี่ปุ่น มาตรา 199 “A person who kills another person is punished by the death penalty or imprisonment for life or for a definite term of not less than 5 years”
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาญี่ปุ่น มาตรา 143 “The court may, except as otherwise provided in this Code, examine any person as a witness”
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาญี่ปุ่น มาตรา 191 (1) “A public prosecutor may, if he/she deems it necessary, investigate an offense him/herself.
(2) A public prosecutor's assistant officer shall investigate an offense under the orders of a public prosecutor”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา