14 ส.ค. 2024 เวลา 04:09 • ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ย่อโลก บทที่ 2 ฉากที่ 7

ในดินแดนต่างๆที่อารยธรรมโลกได้ก่อกำเนิดขึ้นมานั้น ดินแดนโดยรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งคั่นกลางทวีปยุโรปและแอฟริกาเอาไว้ เป็นฉากการแสดงหลักของบรรดาอารยธรรมที่ก่อตัวขึ้นเป็นอาณาจักรและจักรวรรดิต่างๆ และยังเป็นแอ่งความรู้ทางปรัชญาและศิลปกรรมในยุคคลาสสิค
จุดเริ่มต้นของอารยธรรมที่สำคัญของโลกที่ถือกำเนิดขึ้นในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนั้นถือเป็นอารยธรรมยุคคลาสสิคที่สำคัญและเป็นพื้นฐานทางความคิดให้กับพื้นที่ต่างๆในทุกๆมุมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพื้นฐานของหลักคิด ศิลปกรรมต่างๆในยุโรป
ในบรรดาอารยธรรมต่างๆในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนั้น บริเวณที่มีความน่าสนใจเป็นที่สุดในบริเวณทวีปยุโรปนั้นถือกำเนิดขึ้นบริเวณคาบสมุทรบอลข่านหรือบริเวณกรีซในปัจจุบัน แต่เรามักจะเรียกชื่อโดยรวมของอารยธรรมยุคคลาสสิคนี้ว่า “กรีก-โรมัน” (ถึงแม้ว่าโรมันจะมาที่หลังก็ตามที แต่เนื่องด้วยโรมันได้นำกรีกมาปรับปรุงฟื้นฟู และมีลักษณะที่มีความคล้ายคลึงกัน)
แม้ว่าอารยธรรมกรีก-โรมัน หรือบ้างก็มักจะมีคนเรียกว่า อารยธรรมคลาสสิค จะถือกำเนิดช้ากว่าบรรดาอารยธรรมโลกลุ่มแม่น้ำในพื้นที่อื่นๆก็ตามที แต่ด้วยพื้นที่และลักษณะที่ตั้งของอารยธรรมกรีก-โรมันนั้นมีลักษณะเป็นคาบสมุทร ซึ่งเหมาะแก่การตั้งเมืองท่าค้าขาย ทำให้เมืองน้อยใหญ่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีเมืองสำคัญในบริเวณอารยธรรมกรีก ได้แก่ เอเธนส์ สปาตัน มาซิโดเนีย
สำนักแห่งเอเธนส์ โดย ราฟาเอล เป็นเสมือนตัวแทนความรุ่งเรืองของอารยธรรมกรีก
ลักษณะที่ตั้งของอารยธรรมกรีกที่เหมาะแก่การเป็นเมืองท่าค้าขายนั้นทำให้อารยธรรมกรีกสามารถก่อร่างสร้างตัวได้อย่างรวดเร็ว ในบรรดาสิ่งต่างๆที่ถูกริเริ่มขึ้นในอารยธรรมกรีกนั้น แนวคิดปรัชญาและศิลปกรรมของอารยธรรมกรีก ถือเป็นสิ่งที่โดดเด่นที่สุดและเป็นสิ่งที่ยังดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าในบริเวณบอลข่านซึ่งเป็นที่ตั้งของอารยธรรมกรีกจะมีวัฒนธรรมร่วมกันก็ตาม
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะรวมตัวกันหนี่งเดียว แต่พวกเขากลับแปลกแยกกันโดยแยกเป็นนครรัฐ (city state) ต่างๆมากมาย แต่ละนครรัฐแม้ว่าจะมีสายสัมพันธ์ร่วมกัน แต่ทั้งหมดล้วนเป็กเอกเทศจากกัน มีการปกครองที่มีความแตกต่างกันและมีผู้ปกครองเป็นของตัวเอง ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในอารยธรรมกรีกนั่นคือ ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล เมื่อ พระเจ้าฟิลิปโปสที่ 2 แห่งนครรัฐมาซิโดเนีย สิ้นพระชนม์ และพระโอรสของพระองค์อย่าง อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์
รูปปั้นใบหน้าของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งมาซิโดเนีย หรือ อเล็กซานเดอร์มหาราช
อเล็กซานเดอร์ที่ 3 หรือที่เรารู้จักกันในนาม อเล็กซานเดอร์มหาราช ได้เริ่มทำสิ่งที่มีความทะเยอทะยานที่แม้แต่กษัตริย์ในยุคนั้น ยังไม่อาจจะคิดที่จะทำ หลังจากเขาขึ้นครองราชย์เขาได้เริ่มแผนการอันทะเยอทะยาน ในการรวบรวมดินแดนบริเวณอารยธรรมกรีกให้อยู่ภายใต้การปกครองของเขา
เขาได้ผนวกดินแดนของจักรวรรดิเปอร์เซียที่มีปัญหากับนครรัฐในอารยธรรมกรีกมาอย่างยาวนาน และอารยธรรมอียิปต์ซึ่งดำรงมาอย่างยาวนานให้มาอยู่ภายใต้การปกครองของเขา ก่อนที่เขาจะนำทัพแผ่ขยายดินแดนต่อไปในบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย และในปี 323 ก่อนคริสตกาล การนำทัพและการเดินทางของทัพทหารของมาซิโดเนียจะสิ้นสุดลง เมื่ออเล็กซานเดอร์มหาราช สิ้นพระชนม์
ภาพการขยายดินแดนและดินแดนทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การยึดครองของ อเล็กซานเดอร์มหาราช
นักประวัติศาสตร์มองอเล็กซานเดอร์ว่า เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีโอกาสที่จะสามารถยึดครองโลกทั้งใบได้ แต่กระนั้นก็ตามหลังจากการสิ้นพระชนม์ของอเล็กซานเดอร์มหาราช ดินแดนต่างๆที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของมาซิโดเนียก็แตกแยกออกจากกัน กลายเป็นแว่นแคว้นและรัฐต่างๆน้อยใหญ่จนกลับสู่สภาพเดิมก่อนที่อเล็กซานเดอร์จะขึ้นปกครอง
ดินแดนต่างๆถูกแยกไปปกครองตนเองโดยผู้ปกครองเป็นนายพลคนสนิทของอเล็กซานเดอร์ ดังเช่นอียิปต์ นายพลปโตเลมี นายพลคนสนิทที่ไว้ใจของอเล็กซานเดอร์ ได้สถาปนาตนเป็น ฟาโรห์ทอเลมีที่ 1 แห่งอียิปต์ พร้อมแยกอียิปต์ออกจากมาซิโดเนีย และการแตกแยกครั้งใหญ่ของจักรวรรดิแห่งอเล็กซานเดอร์ก็นำไปสู่การล่มสลายของอารยธรรมกรีกโบราณ
แม้ว่าความใฝ่ฝันของอเล็กซานเดอร์จะไปไม่ถึงดังที่เขาต้องการและจักรวรรดิที่เขาได้สร้างขึ้นก็ล่มสลายลงในเวลาอันสั้นหลังจากที่เขาลาโลกนี้ไป และอารยธรรมกรีกก็เข้าสู่ความเสื่อมถอยและความวุ่นวาย แต่หลังจากนั้นไม่นาน ชนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่บนคาบสมุทรอิตาลี ซึ่งอยู่ใกล้กับคาบสมุทรบอลข่าน จะก่อร่างสร้างจักรวรรดิและเถลิงอำนาจขึ้นมาเป็นผู้นำของโลก
พวกเขาได้สานต่อเจตนารมณ์ของอเล็กซานเดอร์ในการปกครองดินแดนทั้งมวลบนโลก ภายใต้ชื่ออันเป็นการแสดงออกความเป็นศูนย์กลางของโลก หรือ ความเป็นสากลของพวกเขา นั่นคือ โรมัน
โฆษณา