5 มิ.ย. 2024 เวลา 05:02 • ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ย่อโลก บทที่ 2 ฉากที่ 6

สิ่งหนึ่งที่ศาสนาใช้ในการเผยแพร่หลักคำสอนและใช้สื่อสารกับผู้คนในยุคแรกนั้นคือ งานภาพศิลปะอันวิจิตรบรรจง งานศิลปะตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบันนอกจากถูกสร้างขึ้นเพื่อจรรโลงใจแล้ว ยังมีอีกวัตถุประสงค์หนึ่งนั่นคือ ศิลปะมีเพื่อรับใช้ศาสนา
ศาสนาและศิลปะมีความเกี่ยวโยงกัน โดยศิลปะคือเครื่องที่ถูกใช้บอกเล่าเรื่องราวและหลักคำสอนที่ศาสนาเผยแพร่ ทั้งเรื่องราวของประวัติศาสดา ภาพที่แฝงแนวคิดหลักคำสอน ตำนานหรือเรื่องราวต่างๆ
ถึงแม้ว่าจะมีการประดิษฐ์อักษรขึ้นเพื่อใช้ในการสื่อสารและบอกเล่าเรื่องราวที่เข้าใจง่าย กะทัดรัดแล้วก็ตาม แต่ศาสนายังคงผูกความสัมพันธ์กับศิลปะอยู่เหมือนดั่งความสัมพันธ์แบบนายและบ่าวไว้อยู่ และเนื่องจากศาสนาผูกอำนาจอันชอบธรรมในการปกครองของกษัตริย์ ทำให้งานศิลปะนอกจากถูกผูกกับการเผยแพร่ศาสนาแล้วยังถูกนำมาหยิบยกเพื่อใช้สร้างภาพลักษณ์และแสดงถึงความหน้ายำเกรงของตัวกษัตริย์ ดังที่เราจะเห็นได้เป็นอย่างมากในหลากหลายอารยธรรมโบราณโดยเฉพาะในอียิปต์โบราณ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ
มหาวิหารอาบูซิมเบล ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะของอียิปต์ที่มีเหนือนิวเบียในสมรภูมิแห่งคาเดส ซึ่งด้านหน้านั้นเป็นรูปสลักฟาโรห์รามเสสที่ 2 อยู่ด้านหน้าวิหาร
ในอารยธรรมอียิปต์เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างงานศิลปะ ศาสนาและการปกครองได้อย่างดี เนื่องจากฟาโรห์ถูกผูกกับความเชื่อทางศาสนาอียิปต์ ศาสนสถานหลายแห่งและสุสานฝังพระศพฟาโรห์มักจะปรากฎภาพของงานศิลปะในทางศาสนา หลักฐานเหล่านี้ทำให้เราทราบและเข้าใจมากขึ้นว่า อำนาจทางศาสนามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการปกครองจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันจนแยกจากกันไม่ได้
นอกจากความเชื่อทางศาสนาจะได้มอบอำนาจโดยชอบธรรมในการปกครองแล้ว ศาสนายังสร้างภาพลักษณ์ให้กับผู้ปกครองผ่านพิธีกรรมและงานศิลปะ ในสถานที่ต่างๆทั้งในทางศาสนาและการปกครอง มักจะมีภาพแกะสลักที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและฟาโรห์อยู่เสมอ
ฮารัปปา ในบริเวณอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุซึ่งเป็นชนชาติหนึ่งในเขตลุ่มอารยธรรมที่ตั้งอยู่บริเวณปากีสถานและอินเดียตะวันตกในปัจจุบัน แม้ว่านักโบราณคดีไม่สามารถอ่านภาษาของชาวฮารัปปาได้ และหวังว่าจะพบเจอผลงานศิลปะที่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่จากการสำรวจแทบจะไม่พบภาพงานศิลปะใดๆหลงเหลืออยู่เลย หลงเหลือไว้เพียงปะติมากรรมขนาดเล็ก ซึ่งทำจากดินเหนียวหรือสำริด
แต่กระนั้นก็ตามหลักฐานที่หลงเหลืออยู่หนึ่งในนั้นเป็นปะติมากรรมดินเหนียวดูเคร่งขรึมและดูผิดแปลกไม่ธรรมดา นักวิชาการได้ขนานนามรูปปั้นนี้ว่าว่า กษัตริย์นักบวชหรือกษัตริย์นักปราชญ์
รูปปั้นกษัตริย์นักบวช ถูกสันนิษฐานว่าเป็นของชาวฮารัปปา ในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ
แต่หากจะกล่าวถึงผลงานทางศิลปะที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตและการปกครองโดยสอดแทรกหลักความเชื่อทางศาสนา คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เมืองโมเฮนโจดาโร สถานที่ที่เราพบกษัตริย์นักบวช แม้ว่าเราจะไม่พบงานศิลปะที่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้จากสำรวจโบราณสถานเมืองโมเฮนจาโร นั่นคือ งานศิลปะทางศาสนาและการปกครองชิ้นโบว์แดง นั่นคือ จากการสำรวจพบว่า โมเฮนจาโร มีการวางผังเมืองที่เป็นระบบระเบียบเป็นอย่างดี แม้ว่าการวางผังเมืองนี้อาจจะไม่ได้เป็นเอกภาพทางการเมือง
แต่สิ่งหนึ่งที่เราทราบได้คือ การจัดระเบียบตึกรามบ้านช่องนั้นมีการจัดแบ่งพื้นที่ตามลำดับชนชั้นทางสังคม เป็นการบ่งบอกถึงการแบ่งชนชั้น โดยเป็นการแสดงถึงแนวคิดเรื่องระบบชนชั้นวรรณะซึ่งในอินเดียที่มีศาสนิกชนพราหมณ์-ฮินดูอาศัยกันอยู่เนืองแน่นในปัจจุบัน เป็นการนำความเชื่อทางศาสนาเรื่องวรรณะเข้ามามีบทบาททางการเมืองการปกครอง โดยการสร้างผลงานศิลปะขนาดใหญ่ในการจัดลำดับชนชั้นทางสังคมนั่นคือ ศิลปะในการวางผังเมืองเพื่อจัดระเบียบชนชั้น เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการและปกครองผู้คนในสังคม
ภาพโบราณสถานเมืองโมเฮนโจดาโร โบราณสถานที่หลงเหลืออยู่ตั้งแต่อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ
ก่อนที่เราจะเดินหน้าไปสู่ฉากต่อไป สิ่งสุดท้ายที่เราควรจะเรียนรู้ผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานี้นั่นคือ “การบริหารจัดการตัวเอง” กิจกรรม บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆล้วนเกิดขึ้นและเป็นที่เราต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่เราควรจะกระทำก่อนสิ่งอื่นใดคือ การบริหารจัดการตัวเองให้พร้อมรับมือการบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่กำลังจะมาถึง
เมื่อเรามีความพร้อมต่อบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ เราย่อมที่จะประสบความสำเร็จในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่เราได้รับมอบหมาย ไม่เพียงแต่จะประสบความสำเร็จในบทบาทหน้าที่ แต่เราย่อมที่จะประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทเนื่องจากเรานั้นได้จัดการกับตัวเองให้พร้อมกับทุกสิ่งที่ตามมาอยู่เสมอ
โฆษณา