31 ส.ค. เวลา 01:58 • ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ “อุตสาหกรรมผ้าฝ้าย”แฟชั่นและเศรษฐกิจในอดีตอันรุ่งโรจน์แห่งคาตาโลเนีย

“การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ใคร ๆ ก็รู้จักว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์ที่พลิกโฉมหน้าเข้าสู่ยุคใหม่ผ่านเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้เกิดพัฒนาการทางเศรษฐกิจขึ้นมาอย่างมาก โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ยกตัวอย่างเช่นอุตสาหกรรมเหล็กกล้า ไปจนถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอ
อย่างไรก็ดีการปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ได้กระจุกอยู่เพียงแค่ทางตอนเหนืออย่างในสหราชอาณาจักรเท่านั้น การปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ได้เผยแพร่ไปยังส่วนอื่น ๆ ของยุโรป โดยอีกหนึ่งประเทศที่มีอุตสาหกรรมที่รุ่งเรืองก็ยกตัวอย่างเช่นสเปน โดยมีอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นตัวบุกเบิกการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของสเปน
ศูนย์กลางแห่งความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมสเปนนั้น ตั้งอยู่ในเมืองที่รุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรมอย่าง “บาร์เซโลน่า” ในแคว้นกาตาลุญญ่า หรือ คาตาโลเนีย ซึ่งในวันนี้ Bnomics จะพาย้อนไปดูอดีตของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในสเปนที่น้อยคนจะนึกถึง
⭐ แฟชั่น “ผ้าลาย” เชื้อไฟแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมของสเปน
ก่อนอื่นต้องขอพูดถึงประวัติของอุตสาหกรรมสิ่งทอในสเปนกันสักหน่อย ต้นตอการกำเนิดอุตสาหกรรมสิ่งทอในสเปนนั้นเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติผ้าลาย”
1
โดยเป็นเหตุการณ์ที่ชาวยุโรปแต่เดิมมีความนิยมในผ้าลายที่นำเข้าจากอินเดียเป็นอย่างมาก อันนำมาซึ่งการนำเข้าเยอะเกินไปจนผ้าพื้นเมืองเดิมไม่มีที่ยืน ทำให้เกิดการแบนผ้าลายจากอินเดียนี้โดยรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นทั้งในสหราชอาณาจักรหรือในฝรั่งเศสก็ดี
1
สเปนก็เหมือนกัน พวกเขาแบนผ้าลายเพื่อพยุงกลุ่มอาชีพคนทำผ้าในประเทศให้สามารถยืนหยัดได้ในกระแสเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งก็ได้ริเริ่มการพิมพ์ลายผ้าเองในบาร์เซโลน่าในช่วงศตวรรษที่ 18
แฟชั่นผ้าลายได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแค่ในสเปนเท่านั้น แต่ยังส่งไปถึงอาณานิคมสเปนในอเมริกา โดยมีเมืองกาดิซเป็นเมืองท่าหลักในการขนส่งสินค้าออกไป เมื่อมีลูกค้ามากขึ้น ก็ย่อมต้องเร่งกันผลิตสินค้าออกมา ทำให้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นจุดกำเนิดของอุตสาหกรรมสิ่งทอในสเปน ก่อนที่จะเกิดการก้าวกระโดดภายในระยะเวลาไม่กี่ปีให้หลัง
⭐วิกฤต “ฝ้าย” วัตถุดิบที่หายไปพร้อมกับอาณานิคม
ในการทอผ้านี้มีการใช้วัสดุที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นขนแกะ, ไหม, ไปจนถึงฝ้าย โดยในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่คาตาโลเนียจะเน้นหนักไปที่ผ้าฝ้าย ซึ่งเป็นผลผลิตได้มาจากไร่ฝ้ายในอาณานิคม
อย่างไรก็ดี เมื่อเหล่าอาณานิคมเริ่มประกาศอิสรภาพกัน ทำให้การได้มาซึ่งฝ้ายเป็นปํญหาของอุตสาหกรรมในคาตาโลเนีย ตลาดฝ้ายถูกจำกัดไว้เพียงในประเทศ สเปนจึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่เพื่อให้ได้มาซึ่งฝ้ายสำหรับอุตสาหกรรมในคาตาโลเนีย
“การค้า” ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของรัฐบาลในขณะนั้น แต่อย่างไรก็ดี การค้าของสเปนกับประเทศอื่นในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับยุโรปตอนเหนืออย่างสหราชอาณาจักรก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่นัก จากเดิมที่สเปนส่งออกไวน์และบรั่นดีไปยังสหราชอาณาจักร ก็เริ่มลดบทบาทลงเพราะสหราชอาณาจักรมีตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นจากวอดก้าของรัสเซีย และวิสกี้ของสก็อตแลนด์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น
1
ทำให้ยุโรปเหนือไม่ใช่ตลาดที่ดีสำหรับการค้าบรั่นดีอีกต่อไป สเปนจึงตัดสินใจหาลูกค้าใหม่โดยการไปค้าขายกับสหรัฐอเมริกา โดยที่สหรัฐอเมริกาเองก็มีการปลูกฝ้ายในประเทศอยู่แล้ว จึงทำการค้ากับสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ได้มาซึ่งฝ้ายเหล่านั้น
1
การนำเข้าฝ้ายจากอเมริกาของสเปนเพิ่มขึ้นมากเรื่อย ๆ โดยไม่ได้มีเพียงฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น จากบราซิลเองก็มีฝ้ายมาเหมือนกัน ตลอดจนยังได้ฝ้ายมาจากอาณานิคมอื่น ๆ ที่ยังคงอยู่กับสเปนอย่างคิวบาและเปอโตริโก
⭐การก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมสิ่งทอสเปน
ในปี 1833 สเปนก็ก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคใหม่อย่างเต็มตัวผ่านการที่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่นำเอาเครื่องจักรไอน้ำเข้ามาใช้งาน ซึ่งรัฐบาลสเปนก็หนุนหลังโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี
ไม่เพียงเท่านั้น ภาคการเกษตรของสเปนในยุคนั้นก็ยังเพิ่มขึ้นตลอดจนจำนวนประชากร ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของสเปนในแคว้นคาตาโลเนียเพิ่มขึ้นในทุกชั่วขณะ และกลายเป็นอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะสามารถผลิตผ้าฝ้ายพิมพ์ลายได้เอง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงเป็นสินค้าที่มีราคาสูงมากเนื่องจากสเปนต้องนำเข้าฝ้ายเพื่อมาผลิตเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่สามารถสู้ราคากับประเทศอื่นที่สามารถผลิตผ้าได้และมีฝ้ายเป็นผลผลิตทางการเกษตรหลักของประเทศ
ซึ่งแน่นอนว่านี่ไม่ใช่ผลดีต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของสเปนอย่างแน่นอน
⭐การล่มสลายของอุตสาหกรรมผ้าฝ้าย
ในเมื่อการอุตสาหกรรมของสเปนขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ก็ย่อมสามารถผลิตได้เยอะ ซึ่งอาจจะฟังดูเป็นเรื่องดี แต่คงไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไหร่ถ้าหากว่าสามารถผลิตได้เยอะ แต่ผู้ซื้อน้อยแข่งกับเจ้าอื่นไม่ได้
1
คำถามคือใครกันล่ะที่จะมาซื้อผ้าฝ้ายของสเปน?
คำตอบก็คือ “อาณานิคมสเปน” โดยสเปน “บังคับ” ให้ประเทศอาณานิคมต้องซื้อผ้าฝ้ายจากสเปนเท่านั้น จะได้ซื้อผ้าฝ้ายพิมพ์ลายจากเจ้าอื่นประเทศอื่นไม่ได้
และใช่, ในเมื่อประเทศแม่ทำอย่างนี้ ประเทศอาณานิคมจึง “ปฏิวัติ” โดยเปอโตริโกประกาศอิสรภาพไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และคิวบาประกาศอิสรภาพเป็นประเทศสุดท้ายในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้สเปนไม่หลงเหลือลูกค้าที่จะมาซื้อผ้าฝ้ายอีกต่อไป และนั่นก็นำมาซึ่งการล่มสลายของอุตสาหกรรมผ้าฝ้ายในสเปน
อุตสาหกรรมสิ่งทอค่อย ๆ เริ่มถดถอย โดยพอสงครามโลกครั้งที่ 1 อุบัติขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โรงงานหลายแห่งปิดตัวลง และมีคนงานที่ถูกเลิกจ้างหลายหมื่นคน ตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่ดีนักทั้งจากสงครามภายในและสงครามภายนอก ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอของสเปนไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้อีกเลย
ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ ๆ และความนิยมผ้าแบบอื่น ๆ จนฃในท้ายที่สุด นิคมอุคสาหกรรมแห่งสุดท้ายในคาตาโลเนียก็ปิดตัวลงอย่างเป็นทางการราวปี 1980
จากบทเรียนอุตสาหกรรมผ้าฝ้ายของสเปนในแคว้นคาตาโลเนีย เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง? อย่างแรกเลยคือเราได้เห็นความเป็นไปของระบบอุตสาหกรรมที่ล่มสลายลงไปจากความผิดพลาดหลาย ๆ อย่าง
อย่างแรกเลยคือการรั้นที่จะทำ สเปนอยู่ในช่วงที่ไม่มีแม้แต่วัตถุดิบอย่างฝ้ายหลงเหลืออยู่ แต่ก็ยังคงลงทุนเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทว่ากลับไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นที่มีกำลังในการผลิตวัตถุดิบเองอยู่ก่อนได้เลยทำให้สินค้าล้นตลาด ขายไม่ออก
ตลอดจนการพยายามบังคับยัดเยียดสินค้าให้ประเทศอาณานิคมอุดหนุนในราคาที่แพงกว่าทำให้เหล่าอาณานิคมพากับประกาศอิสรภาพจนกระทั่งสเปนไม่เหลืออะไรเลย ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นบทเรียนเล็ก ๆ อีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของสเปนตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี
อ้างอิง:
Rosés, Joan R. “Why Isn’t the Whole of Spain Industrialized? New Economic Geography and Early Industrialization, 1797-1910.” The Journal of Economic History 63, no. 4 (2003): 995–1022. http://www.jstor.org/stable/3132363.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา