7 ก.ย. เวลา 11:59 • หนังสือ

ยังไม่รวย...

อยู่อย่างรวย...
จะไม่รวย...
ยังไม่จน...
อยู่อย่างจน...
จะไม่จน....
หลายท่านอาจเคยได้ยินประโยคนี้มาบ้างแล้ว ใครที่เคยเห็นเคยได้ยินผ่านหูผ่านตามาแล้วหรือใครยังไม่เคยได้ยินมาก่อน ลองอ่านซ้ำอีกสักรอบแล้วมาคิดกันเล่น ๆ ว่าคำกล่าวประโยคนี้ให้อะไรแก่เราบ้าง
1
สาระสำคัญอย่างแรกที่ส่งออกมา น่าจะเป็นการกระตุ้นเตือนใจให้เราได้คิดทบทวนเพื่อประมาณฐานะของตนเองว่าเรารวยหรือยัง? หรือว่าเราจนหรือเปล่า? เรายังไม่รวย หรือ เรายังไม่จน? หลายคนตอบคำถามเกี่ยวกับตัวเองไม่ค่อยจะได้ เพราะเวลาในแต่ละวันหมดไปกับการจัดการธุระ การงาน อาชีพ
หรือมัวแต่จัดการกับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อง ลูกค้า บุตรหลาน สามี ภรรยา เพื่อนฝูง พี่น้อง จนไม่เหลือเวลาไว้ดูแลจัดการตัวเอง หากเราได้ลองพิจารณาตัวเองอย่างจริงจังดูสักที เราอาจจะได้คำตอบหลาย ๆ อย่างที่จะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างสุขใจมากขึ้น
เพราะหากเราจัดการตัวเองได้ รู้ฐานะที่แท้จริงของตัวเองเข้าใจตัวเองมากขึ้น เราก็จะเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น รู้ทันสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรามากขึ้น การวิ่งวุ่นไปตามสังคม ตามเพื่อน ตามคนอื่น เพื่อ Update ไม่ให้ตก Trend ก็จะเป็นไปอย่างพอเหมาะพอควรแก่ฐานะ
การตรวจสอบฐานะที่แท้จริงของตัวเองทำได้ง่าย ๆ โดยการรวบรวมข้อมูลทางการเงินทั้งหมด แล้วแยกเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจนว่าเรามีข้าวของ สมบัติต่าง ๆ ประเมินมูลค่าได้เท่าไร แล้วยังเป็นหนี้เป็นสินอยู่อีกเท่าไร
เราจะจนหรือจะรวยก็ขึ้นอยู่ที่ว่าทรัพย์สินที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน รถยนต์ เครื่องประดับ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ชุดโฮมเธียเตอร์ เครื่องครัว เฟอร์นิเจอร์ กระทั่งเสื้อผ้าอาภรณ์เหล่านั้น เมื่อหักลบกลบกับหนี้สินแล้ว ตัวเลขที่ได้ติดลบหรือไม่ คนจำนวนไม่น้อยประเมินฐานะความรวยจากสิ่งที่มี สิ่งที่เห็นหรือจากสินทรัพย์เพียงด้านเดียว ซึ่งไม่ถูกต้องนักเพราะการมีข้าวของเครื่องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ในขณะที่ยังมีภาระหนี้สินรุงรังจากข้าวของเหล่านั้นย่อมไม่ได้แสดงฐานะที่แท้จริง
เพราะความสบายกายที่ได้จากสิ่งของเหล่านี้ ไม่สามารถสร้างความสุขใจได้เสมอไป
เมื่อรู้ฐานะที่แท้จริงแล้ว ลองถามตัวเองต่อไปว่าปัจจุบันเราใช้ชีวิตแบบใด เราอยู่อย่างรวย หรืออยู่อย่างจน? ใครตอบคำถามนี้ไม่ได้ให้ลองทำบันทึกการใช้จ่ายของตัวเองดู รับรองรู้ชัดแจ้งเห็นจริงว่าพฤติกรรมทางการเงินของตัวเองเป็นแบบอยู่อย่างรวยหรืออยู่อย่างจน บันทึกการใช้จ่ายนี้ทำง่าย ๆ เพียงแค่จด จด จด จดตามจริง มีรายได้เท่าไร มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเท่าไร อะไรบ้าง ลองจดดูสักอาทิตย์ สองอาทิตย์ รับรองรู้แน่ ๆ ว่าอยู่อย่างจนหรืออยู่อย่างรวย
ปัญหาทางการเงินคงจะไม่เกิด หากเราใช้จ่ายน้อยกว่าที่หาได้เสมอ การใช้จ่ายเงินของเรามีกรอบอยู่ที่รายได้ที่หาได้ หลายคนใช้จ่ายเงินได้เยอะเพราะหาเงินได้เยอะ การเปรียบเทียบการใช้จ่ายของตนเองกับคนอื่นจึงไม่ถูกต้องนักเพราะรายได้ที่ไม่เท่ากัน ไม่เช่นนั้นอาจเข้าทำนอง
เห็นช้างขี้ขี้ตามช้าง
ยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนี้ได้ง่าย เป็นหนี้ได้ทุกที่ เป็นหนี้ได้ทุกอย่าง เพราะสินค้าแทบทุกชนิด รอพร้อมให้เราซื้อเงินผ่อนได้แทบทุกห้างร้าน การขี้ตามช้างจึงทำได้ไม่ยากนัก ยิ่งง่ายยิ่งอันตราย
นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถประหยัดได้อีกมากมาย ที่หลายคนมองข้าม ไม่เห็นค่าของเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่น หลายบ้านติด Cable TV ที่มีค่าใช้จ่ายรายเดือนหรือใช้บริการ package ราคาสูงที่มีหลายร้อยช่องให้เลือกดูทั้งที่ไม่ค่อยอยู่บ้าน
หากลองปรับเปลี่ยนให้ราคาถูกลงจะประหยัดได้เดือนละหลายร้อยบาท ปีละหลายพันบาทหรือการชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ผ่านเคาน์เตอร์ที่คอยอำนวยความสะดวกให้เรา แต่มีค่าธรรมเนียม แม้จะเป็นเงินเดือนละไม่กี่สิบบาท แต่หลาย ๆ รายการรวมกัน ทุกเดือน ทุกเดือน จนเป็นปี รวม ๆ กันเงินจำนวนนี้รวมแล้วไม่น้อยเลยทีเดียว
หรือแม้กระทั่งกาแฟที่เราซื้อทุกวัน วันละสอง สามแก้ว ลองรวมค่ากาแฟ รายวัน รายเดือน และรายปีดูจะเห็นชัดเจนว่าค่ากาแฟรวมแล้วเป็นเงินไม่น้อยเลย แล้วพอรวมค่า Cable TV ค่าธรรมเนียมความสะดวกสบาย ค่ากาแฟ ค่าน้ำอัดลม ค่าขนมขบเคี้ยว ค่ารองเท้าคู่ที่ยี่สิบ ค่ากระเป๋าใบที่แปด ค่าใช้จ่ายที่รั่วออกจากกระเป๋าเราเหล่านี้
หากนำไปซื้อทองคำ ไปลงทุน ไปซื้อกองทุนรวม รับรองกลายเป็นเงินก้อนเป็นกอบเป็นกำแน่นอน อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า "Latte Effect" หรือผลกระทบจากกาแฟลาเต้ ซึ่งที่มีผลต่อความมั่งคั่งของเรา เพราะหากเรามองข้ามเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน สะสมนาน ๆ เข้า เรื่องเล็กน้อยก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องเรื้อรังได้เสมอ เพียงประหยัดวันละนิดเพื่อเงินออมที่งอกงาม ความมั่นคง ความร่ำรวยก็จะอยู่กับเราอย่างยั่งยืน
เมื่อเรารู้ว่าเรายังไม่รวยหรือยังไม่จน และเพราะเราเลือกได้ว่าจะอยู่อย่างรวยหรือจะอยู่อย่างจน การไปให้ถึงเป้าหมายสำคัญที่ว่าจะไม่จน จึงอยู่ที่เราเป็นผู้กำหนด ซึ่งเป้าหมายที่ดีต้องกำหนดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล เป้าหมายที่เป็นจริงได้ยากจะทำให้เราท้อแท้ เหนื่อยจนอาจหมดกำลังใจได้อย่างหลาย ๆ คน ที่ยังยากจนอยู่เพราะไม่รู้จักพอ ต่อให้มีทรัพย์สินเงินทองเป็นพันล้าน หมื่นล้านก็ไม่รวยเพราะไม่เคยพอ
การรู้จักประมาณตนเอง การรู้จักใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล จะเป็นภูมิคุ้มกันที่นำพาเราไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างสุขใจ
ยังไม่จน อยู่อย่างจน จะไม่จน
• • • • • • • • •
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา