9 ก.ย. 2024 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์

สภาความมั่นคงแห่งสหรัฐอเมริกา #ตอนที่1

“เมื่อการทำงานแยกส่วนพาชาติสู่ความเสี่ยง... เรื่องราวเบื้องหลังการสร้างสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (US NSC)”
"ความพยายามแรก: Roosevelt กับการริเริ่มประสานงานข้ามหน่วยงาน"
ย้อนกลับไปหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง Franklin Delano Roosevelt ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกองทัพเรือ (Department of the Navy) สังเกตเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่แยกส่วนกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะด้านความมั่นคง แต่ละกระทรวง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสงคราม และกองทัพเรือ มักทำงานตามแนวทางของตนเอง
ส่งผลให้การตัดสินใจด้านความมั่นคงขาดความครอบคลุมและไม่ทันต่อภัยคุกคามที่เกิดขึ้นและกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐ
Franklin Roosevelt ขณะดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกองทัพเรือ (Department of the Navy) ที่มาของภาพ: https://warfarehistorynetwork.com/article/how-franklin-d-roosevelt-prepared-us-for-wwii/
ต่อในปี 1919 Roosevelt พยายามเสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานประสานงานระหว่างกระทรวงเหล่านี้ (Joint Plan-Making Body) เพื่อให้พวกเขาทำงานร่วมกันในการวางแผนและตัดสินใจร่วมกัน
แต่แนวคิดนี้กลับประสบความล้มเหลว เหตุการณ์ที่ชัดเจนที่สุดที่สะท้อนถึงปัญหาการขาดประสานงานคือ การประชุม Washington Naval Limitations Conference ในปี 1921 ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อเจรจาข้อตกลงจำกัดเรือรบของประเทศต่างๆ แต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กลับเจรจาโดยลำพัง โดยไม่มีการปรึกษาหรือประสานงานกับกองทัพเรือ ผลคือเกิดข้อตกลงที่ไม่สอดคล้องกับความพร้อมของกองทัพเรือสหรัฐฯ และทำให้เกิดความไม่พอใจระหว่างหน่วยงาน
"Standing Liaison Committee: ความพยายามที่สองภายใต้แรงกดดันจากสงครามโลกครั้งที่สอง"
หลังจากที่ความพยายามแรกของ Roosevelt ล้มเหลว ปัญหาการประสานงานระหว่างหน่วยงานก็ยังคงดำเนินต่อไป แต่ภัยคุกคามจากเยอรมนีและญี่ปุ่นที่มีสัญญาณเพิ่มสูงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930 ผลักดันให้รัฐบาลต้องหาวิธีจัดการกับปัญหานี้อีกครั้ง
ในปี 1935 Cordell Hull รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงาน Standing Liaison Committee ขึ้นมา โดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการกองทัพเรือ เพื่อประสานงานด้านความมั่นคงระหว่างการทูตและการทหาร
Cordell Hull รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่มาของภาพ: https://www.senate.gov/artandhistory/history/common/image/HullCordell.htm
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ดังกล่าว ยังคงประสบความล้มเหลวในการประสานงานอีกครั้ง เนื่องจากสมาชิกแต่ละคนยังคงยึดถือผลประโยชน์ของหน่วยงานตัวเองมากกว่าการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ คณะกรรมการยังไม่มีเจ้าหน้าที่อิสระที่มีอำนาจเพียงพอในการสนับสนุนการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้การประสานงานข้ามหน่วยงานเกิดขึ้นได้ยาก
"War Council: การจัดตั้งกลไกใหม่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง"
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น Franklin D. Roosevelt มองเห็นความสำคัญของการมีโครงสร้างการประสานงานที่ดีขึ้น เขาจึงก่อตั้ง War Council ขึ้นมา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสงคราม กระทรวงกองทัพเรือ และผู้บัญชาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
แม้ว่า War Council จะมีลักษณะการทำงานคล้ายกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) ในแง่ของการประสานงานระหว่างหน่วยงานความมั่นคง แต่ในความเป็นจริง War Council ทำหน้าที่เพียงกำหนดยุทธศาสตร์การทำสงครามเท่านั้น บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศใน War Council ในเวลาต่อมาจึงเริ่มลดลงอย่างชัดเจน
เมื่อสถานการณ์สงครามทวีความรุนแรงขึ้น กระทรวงการต่างประเทศกลับไม่ถูกเชิญให้เข้าร่วมประชุมในหลายโอกาส ทำให้เห็นถึงความขาดประสิทธิภาพในการประสานงานด้านความมั่นคงในระดับที่ครอบคลุมทุกมิติ
"State-War-Navy Coordinating Committee: ความพยายามครั้งสำคัญหลังสงครามโลกครั้งที่สอง"
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองใกล้สิ้นสุดลงในปี 1945 สหรัฐฯ เริ่มเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ในด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ การทำงานแยกส่วนระหว่างหน่วยงานจึงไม่สามารถตอบโจทย์สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อีกต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหานี้ State-War-Navy Coordinating Committee จึงถูกจัดตั้งขึ้น โดยมีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเพื่อประสานงานในประเด็นด้านความมั่นคงระหว่างประเทศที่ข้ามหน่วยงาน
ถึงแม้ว่าคณะกรรมการนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญในการพัฒนาระบบการประสานงาน แต่ปัญหาเดิมยังตกค้างอยู่ เนื่องจากคณะกรรมการขาดอำนาจที่แท้จริงในการกำหนดนโยบายและไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความพยายามนี้จึงไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้
มรดกสำคัญของ State-War-Navy Coordinating Committee
แม้ว่าความพยายามต่างๆ ก่อนหน้าจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างเต็มที่ แต่ก็ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่นำไปสู่การจัดตั้ง สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSC) ในปี 1947 NSC เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการประสานงานด้านความมั่นคงระหว่างหน่วยงานสำคัญของรัฐบาล เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสงคราม และกองทัพเรือ
NSC มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับภัยคุกคามที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจด้านความมั่นคงระดับชาติที่มีประสิทธิภาพที่สุดของสหรัฐฯ
ครั้งถัดไป เตรียมพบกับเรื่องราวการจัดตั้ง NSC และบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงของสหรัฐฯ ในยุคต่อไป!
#USNSC
แหล่งข้อมูล
  • 1.
    Ernest R. May, “The Development of Political-Military Consultation in the United States,” in Karl F. Inderfurth and Loch K. Johnson, eds., Decisions of the Highest Order (Pacific Grove, Calif.: Brooks/Cole Publishing Company, 1988)
  • 2.
    John E. Endicott, “The National Security Council: Formalized Coordination and Policy Planning,” in Robert L. Pfaltzgraff, Jr., and Uri Ra’anan, National Security Policy: The Decisionmaking Process (Hamden, Conn.: Archon Books, 1984)
โฆษณา