12 ก.ย. 2024 เวลา 04:30 • ประวัติศาสตร์

สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ตอนที่ 2

The Birth of the NSC: กำเนิดสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ
การเดินทางสู่การจัดตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSC): จากความคิดสู่การปฏิรูป
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในปี 1945 สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ในด้านความมั่นคงแห่งชาติ ภัยคุกคามจากสงครามเย็นที่กำลังเริ่มต้นและการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตทำให้การจัดการความมั่นคงไม่สามารถพึ่งพาการทำงานแบบแยกส่วนระหว่างหน่วยงานได้อีกต่อไป Harry Truman ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นตระหนักว่าการตัดสินใจด้านความมั่นคงแห่งชาติไม่ใช่เรื่องของการทหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการทูต เศรษฐกิจ และการข่าวกรอง
ในห้วงเวลานั้น การทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสงคราม กองทัพเรือ กลับขาดการประสานงานที่เป็นระบบ แต่ละหน่วยงานต่างพยายามปกป้องอำนาจและผลประโยชน์ของตนเอง ส่งผลให้การตัดสินใจที่สำคัญมักขาดความครอบคลุมและล่าช้า นอกจากนี้ สหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับโครงสร้างด้านความมั่นคงแห่งชาติ หนึ่งในประเด็นหลักคือ "การรวมกองทัพบกและกองทัพเรือ" เข้าด้วยกันเพื่อสร้างกองกำลังที่รวมศูนย์บังคับบัญชามากขึ้น แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากหลายฝ่ายในรัฐบาล
ความขัดแย้ง การต่อต้านของ Forrestal และรายงาน Eberstadt
James Forrestal รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกองทัพเรือ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ต่อต้านแนวคิดการรวมกองทัพบกและกองทัพเรือ Forrestal เกรงว่าการรวมกันนี้จะทำให้กองทัพเรือสูญเสียบทบาทสำคัญในการป้องกันประเทศ
James Vincent Forrestal ที่มาภาพ: https://www.si.edu/object/james-vincent-forrestal%3Anpg_NPG.82.176
ดังนั้น Forrestal จึงมอบหมายให้ Ferdinand Eberstadt ผู้มีแนวคิดเดียวกัน มาพัฒนาแผนการและแนวทางใหม่สำหรับการจัดตั้งองค์กรด้านความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งแผนนี้ถูกเรียกว่า “Eberstadt Report” และเป็นการตอบสนองต่อความพยายามในการรวมกองทัพที่ Forrestal มองว่าไม่เหมาะสม
Ferdinand Eberstadt ที่มาภาพ: https://www.fineartstorehouse.com/bettmann-archive/ferdinand-eberstadt-speaking-microphone-39165015.html
รายงาน “Eberstadt Report” เสนอว่าแทนที่จะรวมกองทัพบกและกองทัพเรือเข้าด้วยกัน สหรัฐฯ ควรพิจารณาจัดตั้งกลไกที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายความมั่นคงอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสงคราม และกองทัพ โดยมี NSC ควรเป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างหน่วยงานเหล่านี้ เพื่อให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกมิติของความมั่นคงแห่งชาติ
รายงาน Eberstadt Report ซึ่งปูทางไปสู่การจัดตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) นั้น ต้องใช้เวลาถึงสองปีในการเตรียมการและต่อสู้ในทางการเมือง เนื่องจาก การจัดตั้ง NSC ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโครงสร้างการทำงานด้านความมั่นคงของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งนำมาซึ่งความขัดแย้งกับหน่วยงานหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
โดยฝ่ายที่สนับสนุนมองว่า NSC จะช่วยประสานงานระหว่างหน่วยงานสำคัญ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และหน่วยข่าวกรอง แต่ฝ่ายที่คัดค้านเกรงว่าองค์กรใหม่นี้อาจแย่งอำนาจการตัดสินใจจากผู้นำหรือสร้างความยุ่งยากในการทำงานระหว่างหน่วยงาน
และสถานการณ์มีความซับซ้อนมากขึ้นจากท่าทีของ Harry Truman เอง แม้ว่าเขาจะเข้าใจถึงความจำเป็นในการมี NSC เพื่อจัดการกับประเด็นความมั่นคงที่หลากหลาย แต่เขาก็มีความกังวลอย่างมากกว่า NSC นี้อาจจะลดทอนอำนาจการตัดสินใจของเขาในฐานะประธานาธิบดี ซึ่ง Truman เน้นย้ำว่า NSC ควรเป็นเพียงหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาเท่านั้น และไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายหรือบังคับใช้การตัดสินใจใดๆ ที่ขัดแย้งกับอำนาจของเขา เนื่องจาก Truman ต้องการให้การตัดสินใจสุดท้ายในทุกเรื่องยังคงอยู่ในมือของเขา
การก่อตั้ง NSC และบทบาทของ NSC Staff
เมื่อเวลาผ่านไปรัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจผลักดันการจัดตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSC) ผ่าน National Security Act of 1947 (และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี 1949) กฎหมายฉบับนี้ไม่เพียงแต่จัดตั้ง NSC แต่ยังรวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างความมั่นคงอย่างครอบคลุมในหลายด้านสำคัญ อาทิ
1. การจัดตั้ง NSC: เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ
2. การสร้างตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม: เป็นการรวมอำนาจบังคับบัญชาของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีกลาโหม
3. การยกระดับกองทัพอากาศ: จากหน่วยงานภายในกองทัพบกมาเป็นกระทรวงอิสระ
4. การจัดตั้ง CIA: ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานรวบรวมและวิเคราะห์ข่าวกรองระหว่างประเทศ รวมถึงปฏิบัติการพิเศษ โดยมีวัตถุประสงค์ในการปกป้องความมั่นคงของชาติ
5. การลดสถานะของรัฐมนตรีเหล่าทัพ (Service Secretaries): ลดบทบาทลงจากตำแหน่งที่เคยมีสถานะใกล้เคียงกับตำแหน่งรัฐมนตรีระดับคณะรัฐมนตรี (Cabinet rank) ไปเป็นตำแหน่งระดับรอง (Sub-cabinet rank) ภายใต้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการกำกับดูแลเหล่าทัพ
เมื่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) ถูกก่อตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของ National Security Act of 1947 เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาแก่ประธานาธิบดีในเรื่องการประสานงานด้านความมั่นคง หน่วยงานนี้ไม่ได้มีบทบาทในการตัดสินใจโดยตรง แต่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และนำเสนอแนวทางเพื่อให้การตัดสินใจของประธานาธิบดีเป็นไปอย่างรอบคอบ
นอกจากนี้ ยังได้มีการก่อตั้ง NSC Staff เพื่อสนับสนุนการทำงานของ NSC หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ถูกกำหนดไว้คือการมี เลขาธิการฝ่ายบริหาร (Civilian Executive-Secretary) ซึ่งต้องเป็นพลเรือนและได้รับการแต่งตั้งโดย ประธานาธิบดี บทบาทของเลขาธิการบริหารคือการนำทีม NSC Staff ในการจัดเตรียมข้อมูลสำคัญและวาระการประชุมที่จำเป็นสำหรับการพิจารณาเรื่องความมั่นคง
ตามแนวคิด “Eberstadt Report” หน้าที่ของ NSC Staff คือ การจัดเตรียมข้อมูล จัดวาระการประชุม และทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดแนวทางการทำงานมีประสิทธิภาพ
ครั้งหน้า: การเปลี่ยนแปลงของ NSC ที่ไม่ได้หยุดอยู่เพียงการเป็น "หน่วยให้คำปรึกษา" ภายใต้ Harry Truman แต่กลายมาเป็นกลไกที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจระดับสูงภายใต้ Dwight D. Eisenhower ผ่านการแต่งตั้ง Special Assistants เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจอย่างเต็มที่ แต่บทบาทของ NSC กลับลดลงในยุคของ John F. Kennedy และ Lyndon B. Johnson ที่หันมาใช้กลุ่มที่ปรึกษาเฉพาะกิจแทน มาดูกันว่าบทบาทของ NSC Staff เปลี่ยนแปลงอย่างไรในช่วงนี้!
แหล่งข้อมูล
John E. Endicott, “The National Security Council: Formalized Coordination and Policy Planning,” in Robert L. Pfaltzgraff, Jr., and Uri Ra’anan, National Security Policy: The Decisionmaking Process (Hamden, Conn.: Archon Books, 1984)
Cited in John Tower, Edmund Muskie, and Brent Scowcroft, Report of the President’s Special Review Board (Washington, D.C.: U.S. Government Printing Office, 1987), p. 11–1.
“The National Security Act of 1947"
Ferdinand Eberstadt, “Post War Organization for National Security,” in Inderfurth and Johnson, eds., Decisions of the Highest Order (Pacific Grove, Calif.: Brooks/Cole Publishing Company, 1988)
โฆษณา