Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นักจิตฯเก้ากระบี่
•
ติดตาม
13 ก.ย. เวลา 13:21 • หนังสือ
ข้อคิดจากหนังสือ: The Sweet Spot
ความสุขและความสำเร็จ
เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้
ถ้าเรารู้จักจังหวะที่ลงตัว
และจุดที่พอดีของตนเอง
The Sweet Spot
จุดแห่งความสำเร็จที่แรงต้านเป็นศูนย์
ผู้เขียน: คริสติน คาร์เตอร์
ผู้แปล: พรรณี ชูจิรวงศ์
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้
สามารถเรียบเรียงได้ 5 ประเด็นดังนี้ครับ
[1] การพักผ่อน: เปลี่ยนความเหนื่อยล้าให้เป็นการเติมพลังงาน
ประเด็นนี้ชวนให้เรามีจังหวะการทำงาน
และมีจังหวะการพักผ่อนที่สม่ำเสมอครับ
| การทำงาน = การสร้างสรรค์ & การพักผ่อน = การเติมพลังงาน |
หมายความว่า ทุกครั้งที่เราลงมือทำอะไรบางอย่าง
เราจำเป็นต้องใช้พลังงานไม่มากก็น้อย
สิ่งที่เราพึงทำก็คือ อย่าละเลยสัญญาณแห่งความเหนื่อยล้า
ขนาดเครื่องจักรยังมีเวลาหยุดทำงานและซ่อมแซม
คนเราจึงจำเป็นต้องมีเวลาสำหรับหยุดพัก
รวมทั้งมีเวลาสำหรับเติมพลังงานให้กับร่างกายและจิตใจ
[2] การทำให้เป็นกิจวัตร: เปลี่ยนสิ่งที่ต้องฝืนใจทำให้เป็นกิจวัตร
ประเด็นนี้ชวนให้เราสร้างกิจวัตรประจำวันขึ้นมาครับ
| กิจวัตร = สิ่งที่ตัดสินใจไว้แล้ว (จะทำอะไร & จะทำเมื่อไหร่) |
หมายความว่า เมื่อเรามีตารางชีวิตที่ชัดเจน
มีขั้นตอนการลงมือทำที่คุ้นเคย และมีรูปแบบการตัดสินใจที่เตรียมไว้แล้ว
เราก็จะสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นกิจวัตรได้
โดยไม่จำเป็นต้องออกแรงมาก
และไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามที่สูงมาก
ซึ่งทำให้เรามีพลังงานเหลือมากเพียงพอ
สำหรับการประมวลผลเรื่องที่ซับซ้อน และใช้สำหรับการปรับตัวด้านอื่น ๆ
ชีวิตเราก็จะสะดวกมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งสามารถบริหารพลังชีวิตได้ยืดหยุ่นมากขึ้นครับ
[3] การดูแลความรู้สึกท่วมท้น: เปลี่ยนการทำทุกอย่างให้เป็นการทำในสิ่งสำคัญ
ประเด็นนี้ชวนให้เราค้นหาสิ่งสำคัญในชีวิต และตั้งเป้าหมายในชีวิตครับ
เมื่อเรามีเข็มทิศชีวิต และมีแผนที่ในการเดินทาง
เราก็จะมีตัวกรองในการประมวลผลขึ้นมา คือ
| สิ่งที่กำลังจะทำนั้นสอดคล้องกับสิ่งสำคัญในชีวิตหรือไม่ ? |
-ถ้าสอดคล้อง = ทำ
-ถ้าไม่สอดคล้อง = ไม่ทำ/ขอคิดดูก่อน
ซึ่งช่วยให้เราใช้เวลาและเรี่ยวแรงที่มีในชีวิต
ได้สอดคล้องกับสิ่งที่เราให้ความสำคัญครับ
(ไม่เสียเวลาและหมดแรงไปกับสิ่งที่อยู่นอกเส้นทาง)
[4] การบ่มเพาะความสัมพันธ์: เปลี่ยนความห่างเหินให้เป็นการเชื่อมโยงถึงกัน
ประเด็นนี้ชวนให้เรากลับมาบ่มเพาะและดูแลความสัมพันธ์ในชีวิตครับ
| สร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพและเกื้อหนุนชีวิต |
เนื่องจากมนุษย์มีความต้องการทางจิตใจ (อาหารใจ)
ซึ่งปรารถนาความไว้วางใจ ความรัก ความผูกพัน ความเป็นมิตร
การเชื่อมโยง การมีคุณค่า และสายสัมพันธ์ที่เกื้อกูล
ดังนั้น การมีพื้นที่แห่งความไว้วางใจและเกื้อหนุนชีวิต
จึงเป็นปัจจัยให้เรามีช่องทางในการเชื่อมโยงกับผู้อื่นมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งเป็นโอกาสให้เราได้แบ่งปันน้ำใจ
และในเวลาที่จำเป็นเราก็สามารถขอความช่วยเหลือได้
ซึ่งช่วยให้เราไม่ขังตนเองไว้ในความโดดเดี่ยวและความห่างเหินครับ
[5] การอดทนต่อความยากลำบาก: เปลี่ยนความยากลำบากให้เป็นความเชี่ยวชาญ
ประเด็นนี้ชวนให้เรามีวิถีทางในการพัฒนาความเชี่ยวชาญครับ
| ความทรหด + การพักผ่อน + การมีครูที่เกื้อหนุน = ความเชี่ยวชาญและความสำเร็จ |
ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก มีโอกาสสำหรับการเติบโตซ่อนอยู่ครับ
จังหวะนั้นของชีวิตอาจคล้ายกับการเดินฝ่าพายุ
เราจะเลือกเดินฝ่าไปก็ได้ หรือ เราจะเลือกเปลี่ยนเส้นทางก็ได้
เพราะแต่ละความยากลำบากไม่ได้คุ้มค่าเหมือนกันทุกอัน
(บางอันก็คุ้มค่า บางอันก็ได้ไม่คุ้มเสีย)
โดยปัจจัยที่จะนำไปสู่เส้นทางแห่งการเติบโต คือ
-บ่มเพาะความมุ่งมั่นให้แข็งแรง (ไม่ล้มเลิกความมุ่งมั่นถึงแม้พบเจอกับความล้มเหลว)
-ฝึกฝนทักษะที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง (ฝึกเพื่อรักษาระดับ & ฝึกเพื่อเพิ่มระดับ)
-หยุดพักเมื่อถึงเวลาพักผ่อน (อย่าโกงเวลาพักผ่อนเพราะจะทำให้บั่นทอนตนเอง)
-ถอนตัวเมื่อรู้ว่าได้ไม่คุ้มเสีย (วางมือเมื่อราคาที่ต้องจ่ายไม่คุ้มกับสิ่งที่ได้มา)
-มีครูหรือผู้ที่เกื้อหนุนศักยภาพ (มีผู้ที่เห็นศักยภาพในตัวเราและช่วยให้เราไปถึงจุดนั้นได้)
-เผชิญหน้ากับข้อจำกัดของตนเองอย่างตรงไปตรงมา (อย่าขังตนเองไว้ในเกราะกำบัง)
ดังนั้น จะออกแบบชีวิตให้เติบโตอย่างไร
และจะแลกความยากลำบากเพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญด้านไหน
ก็อยู่ที่การเลือกของเราแล้วครับ ^^
การอ่านหนังสือเล่มนี้
ทำให้ผมได้ใคร่ครวญถึงแนวทางการทำงานของตนเอง คือ
“การพาผู้รับบริการกลับสู่ความสมดุล”
เหมือนเป็นการได้เรียบเรียงฐานข้อมูลไปในตัวเลยครับ เช่น
-พอเหมาะ พอดี มีประโยชน์ (ความสมดุล)
-ขาด ๆ เกิน ๆ มีข้อจำกัด (ความไม่สมดุล)
-ตัดในส่วนที่เกิน เติมในส่วนที่ขาด (การออกแบบชีวิตให้สมดุล)
ในบางครั้งเราอาจลืมตัว/ไม่รู้ตัว/ไม่ทันได้ตั้งหลัก
จนส่งผลให้ชีวิตหลงทางไปบ้าง ออกนอกเส้นทางไปบ้าง
การกลับมารับรู้ประสบการณ์ในจิตใจ และรับรู้ร่างกายอย่างใส่ใจ
ถือเป็นการเชื่อมโยงกับตนเองในฐานะเพื่อนที่ดีคนหนึ่งครับ
ซึ่งการเชื่อมโยงนี้เอง จะมอบเส้นทางให้เราได้สำรวจตนเองว่า
“ตอนนี้เรามีจังหวะชีวิตเป็นอย่างไร และเราอยู่ในจุดที่พอดีกับตนเองมากแค่ไหน”
ขอให้ทุกท่านได้ค้นพบจังหวะที่ลงตัว และจุดที่พอดีของตนเองครับ ^^
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ข้อคิดจากหนังสือ
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย