6 พ.ย. เวลา 13:23 • หนังสือ

ข้อคิดจากหนังสือ: How to Fix a Broken Heart (ซ่อมแซมใจแล้วไปต่อ)

หากความเจ็บปวดทางจิตใจ
สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ภาวะใจสลายคงไม่ถูกละเลยเช่นนี้
How to Fix a Broken Heart (ซ่อมแซมใจแล้วไปต่อ)
ผู้เขียน: กาย วินช์
ผู้แปล: ศิริกมล ตาน้อย
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้
สามารถเรียบเรียงได้ 4 ประเด็นดังนี้ครับ
[1] การหมดความอดทนกับตนเอง และการตำหนิตนเอง
ประเด็นนี้มีทั้งปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในมาประกอบกันครับ
ลองนึกภาพใครสักคนที่อยู่ในภาวะใจสลาย (เจ็บปวดและโศกเศร้า)
แล้วจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เช่น เพื่อน คนใกล้ตัว
เพื่อให้ตนเองสามารถผ่านช่วงมรสุมชีวิตนี้ไปได้
ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลตัวเองที่สำคัญ
ทีนี้หากผู้ที่ให้ความช่วยเหลือไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ
(ไม่ได้เป็นนักวิชาชีพที่ทำงานด้านความเจ็บปวด ความสูญเสีย บาดแผลทางใจ และการเยียวยา)
ก็อาจพบเจอข้อจำกัดบางประการได้ เช่น
-ไม่ได้มีการจัดเวลาสำหรับดูแล (ไม่ได้จัดคิวให้แบบนักวิชาชีพ)
-ไม่มีพลังงานมากเพียงพอสำหรับการดูแล
-ไม่เคยถูกฝึกมาให้สามารถอยู่กับภาวะใจสลายของผู้อื่น
(ซึ่งอาจต้องเจอกับภาวะที่ไม่เข้าใจ เช่น การจมอยู่กับความทุกข์ยาวนาน การพูดเรื่องเก่าวนซ้ำ การฟื้นตัวอย่างช้า ๆ)
เมื่อถึงจุดหนึ่งผู้ที่ให้ความช่วยเหลือก็อาจเริ่มหมดความอดทน
และหมดความเมตตากรุณาต่อผู้ที่ใจสลาย
ทำนองว่า “ทำไมไม่หายซักที จะเป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน เหนื่อยแล้วโว้ยยไม่เอาแล้ววว”
ซึ่งนำไปสู่ความไม่เป็นมิตร การตำหนิ และการทอดทิ้ง
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ใจสลายก็อาจซึมซับท่าทีดังกล่าวจากคนรอบตัว
แล้วนำมาฟาดฟันใส่ตนเองจนเจ็บช้ำมากยิ่งขึ้นแบบไม่รู้ตัว
จนเกิดเป็นการทอดทิ้งตนเอง และการหมดความหวังกับตนเอง
ภาวะที่เหมือนถูกทิ้งไว้กลางทาง
โดยต้องเผชิญความทุกข์เพียงลำพังเริ่มต้นจากจุดนี้ครับ
[2] ร่ายกายและจิตใจเจ็บปวดไปด้วยกัน
ภาวะใจสลายไม่ได้เกิดขึ้นที่จิตใจแต่เพียงอย่างเดียว
หมายความว่า สมองและร่างกายยังได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น
-เจ็บที่อกคล้ายกับคนเป็นโรคหัวใจ
-หมดพลังและไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง
-ความคิดสร้างสรรค์ตีบตันในช่วงนั้น
-ความสามารถในการตัดสินใจลดลง
-คุณภาพการนอนหายไป
-ภูมิคุ้มกันลดลงและป่วยง่าย
ซึ่งผู้ที่อยู่ในภาวะใจสลายไม่ได้คิดไปเองครับ
เพราะนี่คือการทำงานที่เชื่อมโยงกันของจิตใจ สมอง และร่างกาย
สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของภาวะใจสลายที่สามารถเกิดขึ้นได้
เป็นเหมือนสัญญาณที่กำลังบอกว่า “ถึงเวลาสำหรับการเยียวยารักษาแล้ว”
[3] ปัจจัยที่เหนี่ยวรั้งการฟื้นฟู
สิ่งที่ทำให้การฟื้นตัวจากภาวะใจสลายเป็นไปอย่างติดขัด
นอกจากผลกระทบของรอยร้าวในใจ
และการไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
รวมทั้งการขาดกัลยาณมิตรที่เกื้อกูลแล้ว
ยังมีความเกี่ยวข้องกับท่าทีซึ่งมีต่อความทุกข์ที่เกิดขึ้นด้วย เช่น
-การหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด (ยิ่งเป็นการเพิ่มความเจ็บปวด)
-การไม่เปิดพื้นที่ให้กับประสบการณ์ภายใน (ยิ่งเป็นการตัดขาดจากความรู้สึก)
-การไม่ได้กลับไปดูแลกิจวัตรประจำวัน (ยิ่งเป็นการสร้างระยะห่างจากการฟื้นฟู)
-การยึดติดอยู่กับสิ่งเตือนใจนานเกินไป (ยิ่งเป็นการตอกย้ำร่องรอยของความทุกข์)
หากเราพิจารณาท่าทีต่อความทุกข์จากตัวอย่างข้างต้น
ในแง่หนึ่งเราจะเห็นกลไกการเอาตัวรอดครับ
ซึ่งมุ่งเน้นให้เราอยู่ห่างจากภัยคุกคามในระยะสั้นไปก่อน
(โดยไม่จำเป็นต้องมองภาพกว้างในระยะยาว)
แน่นอนว่ากลไกเหล่านี้หากใช้เสร็จแล้ววางก็ไม่เป็นไร
แต่หากใช้แล้วไม่ยอมเก็บเข้าที่
และยังฝืนใช้ต่อไปก็อาจสร้างผลกระทบในระยะยาวได้ครับ
[4] ปัจจัยที่เกื้อหนุนการฟื้นฟู
สิ่งที่ทำให้การฟื้นตัวจากภาวะใจสลายเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากการมีกัลยาณมิตรที่เกื้อกูล
และการได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว
ยังมีความเกี่ยวข้องกับท่าทีในการปรับตัวภายหลังเผชิญความทุกข์ด้วย เช่น
-การวางบทบาทเก่าเพื่อเริ่มบทบาทใหม่/การสร้างทางเลือกใหม่หลังความสูญเสีย
(ใช้ความยากลำบากเป็นฐานของการเริ่มต้นสิ่งใหม่)
-การเปลี่ยนสถานที่ฝังใจให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย
(สร้างความสุขครั้งใหม่บนสถานที่เก่าซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีความสุข)
-การเปิดพื้นที่ให้กับประสบการณ์ภายใน
(เชื่อมโยงกับประสบการณ์ภายในจิตใจ ค้นหาสิ่งสำคัญ ค้นหาเป้าหมายชีวิต ออกแบบการเดินทางครั้งใหม่ รวมทั้งเยียวยารักษาประสบการณ์ที่ยังคงเป็นโจทย์ค้างใจ)
-การสร้างกิจวัตรที่ส่งเสริมการฟื้นฟู (กลับมาดูแลคุณภาพชีวิต)
ปัจจัยเหล่านี้เปรียบได้กับการใช้เครื่องมือที่หลากหลาย
เพื่อสร้างเส้นทางของการฟื้นฟูให้มั่นคงและต่อเนื่องครับ
การอ่านหนังสือเล่มนี้
สำหรับผมนอกจากจะเป็นการเรียบเรียงความรู้แล้ว
ยังเป็นการยืนยันข้อมูลส่วนหนึ่ง
ในด้านข้อจำกัดของผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ
ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการดูแลผู้ที่ขอความช่วยเหลือ
ตัวผมที่เป็นนักวิชาชีพจะใคร่ครวญถึงเรื่องนี้ในเวลาทำงานครับ
“ถ้าทำไม่ไหวให้ส่งต่อ”
นี่คือประโยคที่ผมเอาไว้เตือนใจตัวเองเสมอครับ
เพราะนักวิชาชีพจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ
รวมทั้งประโยชน์สูงสุดที่ผู้รับบริการจะได้จากการมาพบนักวิชาชีพ
ไม่ว่าเราจะอยู่ในบทบาทของนักวิชาชีพ หรือคนใกล้ตัวก็ตาม
“ถ้าดูแลไม่ไหวก็คือไม่ไหว” นี่คือการยอมรับในข้อจำกัดของตนเองตามความจริง
ซึ่งจะเปิดประตูให้เรามองหาทางเลือกอื่น ๆ
ที่สามารถเกื้อกูลผู้ที่ขอความช่วยเหลือจากเราได้ ^^

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา