9 มี.ค. เวลา 23:00 • ธุรกิจ

No work no pay กับ Leave without pay เหมือนหรือต่างกันยังไงหยุดได้กี่วัน?

คำถามมีอยู่ว่าพนักงานใช้วันลาพักร้อน (ที่ถูกต้องคือ “วันหยุดพักผ่อนประจำปี” นะครับไม่ใช่วันลา) หมดแล้วแต่มีธุระจำเป็นแต่อยากจะขอลาแบบ No work no pay จะทำได้ไหม ถ้าทำได้กฎหมายแรงงานให้ได้กี่วัน
ก็เลยเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังอย่างนี้ครับ
1. บริษัทควรเขียนข้อบังคับการทำงานในเรื่องการลากิจให้ชัดเจนและแจ้งให้พนักงานทราบกติกาเงื่อนไขการลากิจให้เข้าใจตรงกันอย่างนี้ครับ
1.1 พนักงานมีสิทธิลากิจได้ปีละกี่วัน ตามกฎหมายแรงงานต้องไม่น้อยกว่าปีละ 3 วัน แต่ถ้าบริษัทให้ลากิจมากกว่านี้ก็ได้เพราะเป็นคุณกับพนักงานมากกว่าที่กฎหมายกำหนด
1.2 ระบุให้ชัดเจนว่าการลากิจนี้จะต้องเป็นการลาเพื่อไปทำกิจธุระที่จำเป็นต้องไปทำด้วยตัวเองไม่สามารถมอบหมายให้ใครไปทำแทนได้ เช่น การลากิจเพื่อไปรับปริญญา, ลากิจเพื่อบวชทดแทนคุณบิดามารดา, ลากิจเพื่อไปแต่งงาน, ลากิจเพื่อดูแลบุพการีคู่สมรสหรือบุตรที่เจ็บป่วย, ลากิจเพื่อไปจัดการงานศพบุพการี ฯลฯ
1.3 บริษัทจะไม่อนุญาตการลากิจที่ไม่เป็นไปตามข้อ 1.2 เช่น การลากิจเพื่อไปเที่ยว
1.4 การลากิจจะต้องลาล่วงหน้าอย่างน้อย....วัน และต้องได้รับการอนุมัติเสียก่อนถึงจะหยุดได้
2. ถ้าหากพนักงานไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับการทำงานเรื่องลากิจตามข้อ 1 บริษัทจะถือว่าพนักงานละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยถูกตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรตามระเบียบการดำเนินการทางวินัย และบริษัทจะไม่จ่ายค่าจ้าง/เงินเดือนในวันที่พนักงานละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรนั้นหรือ No work no pay
3. กรณีพนักงานใช้สิทธิลากิจจนหมดแล้วแต่มีความจำเป็นต้องไปทำธุระที่จำเป็นที่ไม่สามารถมอบหมายให้ใครไปทำแทนได้ ให้พนักงานยื่นขออนุญาตลากิจกับผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าอย่างน้อย......วัน และต้องได้รับการอนุมัติเสียก่อนถึงจะหยุดได้ โดยผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาตามเหตุผลและความจำเป็นเป็นครั้ง ๆ ไป โดยบริษัทจะถือว่าเป็นการลากิจโดยไม่รับค่าจ้าง/เงินเดือนหรือ Leave without pay
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ก็เชื่อว่าท่านจะเห็นความเหมือนและแตกต่างกันระหว่าง No work no pay กับ Leave without pay พร้อมทั้งคำตอบว่าควรจะให้หยุดได้กี่วันแล้วนะครับ
อ่านจบแล้วก็อย่าลืมกลับไปทบทวนระเบียบข้อบังคับการลากิจของบริษัทท่านดูว่าเขียนไว้ครบถ้วนดีแล้วหรือยังจะได้ลดปัญหาที่เล่ามาให้ฟังนี้ลงครับ
ปล. การ “หัก” ค่าขาดงาน
“หัก” ค่ามาสาย
“หัก”ค่ายูนิฟอร์ม
ผิดกฎหมายแรงงานมาตรา 76 ครับ
กรณีขาดงาน(ละทิ้งหน้าที่)โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรนายจ้าง “No work no pay “ ได้ แต่ ”หัก“ ค่าจ้างไม่ได้ครับ
เหตุผลคือเมื่อลูกจ้างขาดงาน นายจ้างมีสิทธิ ”ไม่จ่าย“ ค่าจ้างในวันที่ลูกจ้างขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือ No work no pay
“หัก” กับ “ไม่จ่าย” จึงมีความหมายที่ต่างกันครับ
โฆษณา