16 ต.ค. เวลา 01:00 • หนังสือ

สรุปหนังสือ 💰 The Psychology of Money - จิตวิทยาว่าด้วยเงิน

ผู้เขียน ✏️ Morgan Housel
เนื้อหา ⭐⭐⭐⭐⭐
อ่านง่าย ⭐⭐⭐⭐⭐
คุ้มเวลา ⭐⭐⭐⭐⭐
ปี 2014 ข่าวการเสียชีวิตของภารโรงคนหนึ่งอย่าง
"Ronald Read" กลายเป็นที่สนใจของคนทั้งโลก
เขามีทรัพย์สินจากหุ้นมูลค่าถึง 8 ล้านเหรียญ
โดยบริจาค 6 ล้านเหรียญให้ รพ. และห้องสมุด
และอีก 2 ล้านเหรียญให้กับลูกเลี้ยง
โดยที่ไม่ได้มีเรื่องของการถูกล็อตเตอร์รี่แต่อย่างใด
เราจะไม่มีทางได้ยินเรื่องราวของภารโรง
ผู้ซึ่งผ่าตัดได้ดีกว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
หรือออกแบบตึกได้ล้ำกว่าสถาปนิก
แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในโลกแห่ง "การลงทุน"
เมื่อเป็นโลกของ "การเงิน"
จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรามีความรู้ทางการเงินมากแค่ไหน
มีระดับสติปัญญาสูงเท่าไหร่ แต่มันขึ้นอยู่กับ…
พฤติกรรมและอารมณ์ของเราตอนใช้เงินมากกว่า
บทที่ 1: ไม่มีใครเป็นคนบ้า
ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องของเงิน
มักขึ้นอยู่กับประสบการณ์ตอนเราเป็นผู้ใหญ่
หากเราโตขึ้นมาในช่วงที่ตลาดหุ้นดี
เราก็มีโอกาสที่อยากจะลงทุนในหุ้นมากขึ้น
นอกจากนี้ ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน
ทำให้เรามีมุมมองต่อเหตุการณ์เดียวกัน
ด้วยความรู้สึกที่ต่างออกไป
ดังนั้น สิ่งที่ฟังดูบ้าบอสำหรับอีกคน
อาจจะเป็นสิ่งที่ดูสมเหตุสมผลสำหรับอีกคนก็เป็นได้
บทที่ 2: โชคและความเสี่ยง
เวลาที่เรามองความสำเร็จของใครสักคนว่า…
เป็นเพราะ "โชคช่วย" จะทำให้เราดูเป็นคนใจแคบ
และขี้อิจฉา แม้ว่ามันจะมีส่วนจริง
และการที่เราจะมองว่าความสำเร็จของเรา
อาจจะเกิดจากโชคช่วยเหมือนกัน
ก็ดูยากเกินจะยอมรับได้
ตัวอย่างที่จะช่วยให้เห็นภาพของ "โชค" มากขึ้น
คือเรื่องราวของ Bill Gates และ Paul Allen
ย้อนกลับไปในปี 1968
มีนักเรียน ม.ปลาย อยู่ราว 303 ล้านคน
มีแค่ 300 คนที่เรียนโรงเรียน Lakeside
และมีคนหนึ่งที่มีวิสัยทัศน์ อยากให้คอมพิวเตอร์
เป็นหนึ่งในวิชาอิสระ ทำให้ Bill และ Paul
ได้สัมผัสและหมกหมุ่นกับคอมตั้งแต่อายุ 13 ปี
ครั้งหนึ่ง Bill เคยพูดว่า "หากไม่มี Lakeside
ก็คงจะไม่มี Microsoft ในวันนี้"
อีกด้านของตัวอย่างที่ชื่อว่า "ความเสี่ยง"
ซึ่งมีเพื่อนสนิทของ Bill อย่าง "Kent Evans"
สมาชิกคนที่ 3 ของแก๊งหัวกะทิคอมพิวเตอร์
พวกเขามักคุยความฝันในการสร้างธุรกิจด้วยกัน
แต่โชคร้ายที่ Kent ได้จากไปก่อนวัยอันควร
ด้วยอุบัติเหตุจากการปีนเขาก่อนจบ ม.ปลาย
ซึ่งโอกาสเกิดกับเด็กวัยนี้อยู่ที่ 1 ในล้านเท่านั้น
เรื่องราวเหล่านี้กำลังบอกเราว่า
ก่อนที่จะตัดสินคนอื่นหรือแม้กระทั่งตัวเราเอง
ควรเปิดใจให้กว้างๆ เพราะไม่มีอะไรที่ดี
หรือแย่ไปกว่าที่เห็นนั่นเอง
บทที่ 3: ไม่เคยพอ
เมื่อคำว่า "พอ" ของเราแต่ละคนไม่เท่ากัน
สิ่งที่ต้องจำให้ดีก็คือ...
1️⃣ ทำให้เป้าหมายหยุดเคลื่อนที่
เป็นทักษะทางการเงินที่ยากที่สุดและสำคัญที่สุด
เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณไม่เคยรู้สึกพอใจในสิ่งที่คุณมีอยู่
แม้ว่าคุณจะก้าวหน้าเพิ่มขึ้น 1 ก้าว
แต่ดูเหมือนว่าเป้าหมายจะขยับหนีไปอีก 2 ก้าวเสมอ
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราไม่เคยพอใจหรือไม่มีความสุข
2️⃣ การเปรียบเทียบทางสังคมคือปัญหา
ในโลกนี้มีคนที่มีมากกว่าเราเสมอ
หากเราไม่หยุดเปรียบเทียบ
เพดานความสำเร็จก็จะไม่มีวันถูกเติมเต็ม
3️⃣ "พอ" นั้นไม่น้อยจนเกินไป
คำว่า "พอ" ไม่ใช่การปล่อยให้
โอกาสหรือศักยภาพหลุดลอยไป
แต่เป็นการตระหนักได้ว่าหากเราไม่รู้จักคำนี้
มันอาจทำให้เราพาตัวเอง
ไปอยู่ในจุดที่อาจจะเสียใจภายหลังได้
4️⃣ มีหลายสิ่งที่ไม่ควรเสี่ยง
แม้จะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนให้ได้มากแค่ไหน
หากมันเสี่ยงที่จะทำให้เราสูญเสียสิ่งที่สำคัญกับเรา
นั่นหมายความว่าเราไม่ควรเสี่ยงที่จะทำ
บทที่ 4: การทบต้นที่ทำให้งงงวย
ทักษะของ "Warren Buffett" คือ การลงทุน
แต่เคล็ดลับของเขา คือ กาลเวลา
นี่คือวิธีการทำงานของ "การทบต้น"
"Jim Simons" ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร
ของ Renaissance Technologies
สร้างเงินทบต้นได้ที่ 66% ต่อปี
มากกว่าที่ Warren ทำได้ถึง 3 เท่า
แต่เขามีความมั่งคั่งสุทธิอยู่ที่ 21,000 ล้านเหรียญ
ขณะที่ Warren มีอยู่ที่ 84,500 ล้านเหรียญ
เพราะ Warren เริ่มลงทุนจริงจังตั้งแต่ 10 ขวบ
การลงทุนที่ดี คือ การได้ผลตอบแทนค่อนข้างดี
ในระยะเวลาที่ยาวนานมากพอ
แล้วปล่อยให้การทบต้นทำงานของมันเอง
บทที่ 5: ได้มาซึ่งความมั่งคั่ง กับ การรักษาไว้
1️⃣ สิ่งที่เราต้องการมากกว่าผลตอบแทน
"เงินสด" คือ กระสุนแห่งโอกาส
แม้ว่าตลาดจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือลง
แต่คุณก็ยังคงอยู่แผนที่วางไว้ต่อไปได้
โดยไม่ถูกบีบให้ต้องออกจากเกมไปก่อน
2️⃣ วางแผนว่าจะไม่เป็นไปตามแผน
แผนที่ดี คือ พื้นที่สำหรับความผิดพลาด
หรือเรียกอีกอย่างว่า...
ส่วนเผื่อความปลอดภัย - Margin of Safety
มันคือพื้นที่ที่ปล่อยให้เราสามารถพลาดได้
สักครึ่งหนึ่งของที่หวัง แต่ก็ยังทำให้มีความสุขได้อยู่
3️⃣ มองอนาคตในแง่ดี
แต่วิตกกังวลและหวาดระแวงต่อสิ่งที่ขัดขวาง
ให้เราไปไม่ถึงอนาคตนั้น…เป็นสิ่งสำคัญ
บทที่ 6: หางยาว คุณชนะ
อะไรที่ยิ่งใหญ่ ทำกำไร มีชื่อเสียง หรือมีอิทธิพล
ล้วนเป็นผลลัพธ์ของเหตุการณ์ปลายหาง (Tail Event)
"Warren Buffett" เป็นเจ้าของหุ้น 400 - 500 ตัว
ระหว่างช่วงขีวิตของเขา แต่ส่วนใหญ่ที่ทำเงินได้
มาจากหุ้นเพียง 10 ตัวเท่านั้น
ดังนั้น เราจึงไม่ควรโฟกัสแต่ที่เหตุการณ์ปลายหาง
เพราะมันจะทำให้เราพลาดสิ่งสำคัญที่ถูกมองข้ามไปได้
บทที่ 7: อิสรภาพ
เรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าผู้คนในอดีต
แต่กลับเครียดและกังวลมากขึ้น
สาเหตุหนึ่งที่เป็นแบบนี้ เพราะเรารู้สึกว่า...
เราควบคุมเวลาของตัวเองไม่ได้
เราทำงานหนักเพื่อหาเงินให้ได้มากๆ
แต่ก็แลกมาด้วยเวลาที่ไม่ได้ใช้
กับสิ่งที่อยากทำจริงๆ หรือคนที่อยากอยู่ด้วย
บางทีการใช้ชีวิตให้น้อยกว่าเงินที่หามาได้
อาจทำให้เราดิ้นรนน้อยลง และมีความสุขมากขึ้น
บทที่ 8: ความย้อนแย้งของชายในรถยนต์
มีแค่เราเองเท่านั้นที่หลงใหลในสิ่งที่เราครอบครอง
เพราะคุณอื่นที่มองคุณ เขาก็แค่เห็นตัวเอง
ได้ครอบครองในสิ่งที่คุณมีอยู่เท่านั้น
เหมือนเวลาที่เราเห็นคนขับรถหรู
เราแค่อยากมีรถแบบนั้นบ้าง
แต่ไม่ได้สนใจตัวคนที่ขับเลยแม้แต่น้อย
บทที่ 9: ความมั่งคั่งคือสิ่งที่คุณมองไม่เห็น
"ความร่ำรวย" คือ สถานะรายได้ปัจจุบัน
"ความมั่งคั่ง" คือ สินทรัพย์ที่ยังไม่แปรสภาพเป็นสิ่งของ
เวลาที่เราเห็นคนอื่นทานหรู อยู่แพง มีรถเครื่องแรงขับ
มันคือเวลาที่เราเห็นเขาใช้เงิน
แต่มันไม่ได้บอกเราว่าเขาเหลือเงินใช้อีกเท่าไหร่
บทที่ 10: เก็บออม
"เงินออม" ช่วยสร้างทางเลือกให้เราได้มากกว่าที่คิด
ในวันที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ตกงาน
เงินออมยังช่วยให้คุณมีเวลาคิด และคอยโอกาสดีๆ
ได้มากกว่าที่จะเลือกทำงานอะไรก็ได้
มันช่วยให้คุณควบคุมชีวิตตัวเองได้ง่ายขึ้น
ซึ่งการมีความสามารถในการควบคุมเวลาและทางเลือก
กำลังกลายเป็นสกุลเงินที่มีค่ามากที่สุดในโลก
บทที่ 11: สมเหตุสมผลมากกว่ายึดเหตุผล
เวลาที่คุณมีไข้ตัวร้อนมันคือกระบวนการ
ที่ร่างกายช่วยให้คุณหายป่วยเร็วขึ้น
ดังนั้น การปล่อยให้มีไข้ในเวลาที่ติดเชื้อ
อาจเป็นเหตุเป็นผล แต่มันไม่สมเหตุสมผล
เพราะคงไม่มีใครอยากทนหนาวสั่น
โดยไม่ทานยาลดไข้ และในโลกของการเงิน
เราเองก็คงไม่ได้ต้องการกลยุทธ์
ที่เหมาะสมในทางคณิตศาสตร์
แต่เราต้องการกลยุทธ์...
ที่ช่วยให้เราหลับสนิทได้ตลอดคืนมากกว่า
บทที่ 12: เซอร์ไพร์ส
เพราะสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนั้น
เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จงเตรียมใจรับมือกับอะไร
ที่อยู่เหนือการควบคุมหรือความเข้าใจของเรา
เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า...
อยู่ๆ จะเกิดเหตุการณ์อะไร
ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเงินของเราได้บ้าง
บทที่ 13: เผื่อพื้นที่ให้กับความผิดพลาด
สิ่งนี้ช่วยให้คุณอดทนต่อผลลัพธ์
ที่อาจจะไม่เป็นไปตามที่หวัง
และช่วยให้เรายังอยู่บนเส้นทาง
การลงทุนที่ตั้งใจต่อไปได้นานพอ
บทที่ 14: คุณจะเปลี่ยนไป
 
เราต้องยอมรับว่าตัวเราเองวันนี้
ก็ไม่รู้ว่าตัวเองในอนาคตอาจต้องการอะไรอีก
เราจึงควรหลีกเลี่ยงแผนการเงินที่สุดโต่งเกินไป
และยอมรับความจริงที่เราจะเปลี่ยนใจในอนาคต
บทที่ 15: ไม่มีอะไรได้มาฟรี
เวลาที่เราซื้อของ เราเห็นป้ายราคาที่ชัดเจน
และรู้ว่าจ่ายไปแล้วจะได้อะไรจากมัน
แต่ราคาของความสำเร็จ
จากผลตอบแทนของการลงทุนนั้น
ให้ความรู้สึกที่ต่างออกไป
มันเหมือนเรากำลังจ่าย "ค่าปรับ"
สิ่งที่เราควรทำคือ เชื่อในการตัดสินใจ
หาราคาของความสำเร็จให้เจอ แล้วจ่ายซะ
บทที่ 16: คุณและผม
จงระวังคำแนะนำทางการเงิน
จากคนที่เล่นเกมต่างจากคุณ
การได้ยินจากข่าวที่บอกว่าหุ้นตัวไหนดี
เขาไม่มีทางรู้ได้ว่าเราเป็นใคร
เป้าหมายทางการเงินของเราคืออะไร
ก่อนที่จะเชื่ออะไร...
ให้จำเป้าหมายของเราให้ขึ้นใจและอย่าไขว้เขว
บทที่ 17: ความเย้ายวนของการมองโลกแง่ร้าย
สิ่งมีชีวิตที่ตอบโต้ภัยคุมคามได้เร็วกว่า
มักมีโอกาสอยู่รอดและขยายพันธุ์ได้มากกว่า
เราจึงมีสัญชาติที่มักจะมองโลกในแง่ร้าย
แต่เราต้องไม่ลืมว่าการมีภัยคุกคาม
ก็นำมาซึ่งแรงจูงใจในการแก้ปัญหาได้เหมือนกัน
บทที่ 18: เวลาที่คุณมีความเชื่อในเรื่องใดก็ตาม
มี 2 สิ่งที่เราต้องระลึกไว้เสมอ
เกี่ยวกับเรื่องเล่าขับเคลื่อนโลกในเวลาที่
เรากำลังบริหารจัดการเงินของเรา
1️⃣ ยิ่งเราต้องการให้อะไรบางอย่าง
เป็นจริงมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีแนวโน้ม
ที่จะเชื่อเรื่องเล่าและประเมินโอกาส
ของการเกิดสิ่งนั้นไว้สูงมากขึ้นเท่านั้น
ยิ่งถ้าเป็นเรื่องของการเงิน
ทันทีที่เราตัดสินใจเลือกข้างหรือกลยุทธ์
นั่นหมายความว่าเรากำลังลงทั้งทุนและใจ
ซึ่งผลลัพธ์มันอาจไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวังไว้
2️⃣ ไม่มีใครมองโลกได้สมบูรณ์แบบ
แต่เราสร้างเรื่องเล่าขึ้นมา
เพื่อเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้น
เพราะเราต่างมีประสบการณ์ในบางอย่าง
และรับรู้ข้อมูลในบางเรื่อง
จึงทำให้เราต่างประกอบความเชื่อ
ความคิดและมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ขึ้นมา
เป็นความเชื่อที่มีแต่เราเท่านั้น
ที่คิดว่าโลกกำลังดำเนินไปในแบบที่เราคิด
บทที่ 19: เอาเรื่องทั้งหมดมาร้อยเรียง
หลังจากได้เรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาทางการเงิน
สิ่งที่ควรเข้าใจมากที่สุดคือเป้าหมายของตัวเอง
เพราะต่อให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่เก่งที่สุด
ก็คงไม่รู้แน่ชัดว่าคุณต้องการอะไร และเมื่อไหร่
เรามาดูคำแนะนำสั้นๆ ที่ช่วยให้เราตัดสินใจ
เรื่องเงินของเราได้ดีขึ้น
1️⃣ ไม่มีสิ่งใดดีหรือแย่ไปกว่าที่เห็น
จงทำใจให้เป็นกลางในเวลาที่เราจะตัดสิน
ทั้งตัวเองและคนอื่น
2️⃣ อัตตาน้อย ความมั่งคั่งเพิ่ม
ความมั่งคั่งคือการยั้บยั้งชั่งใจต่อสิ่งที่เราซื้อได้วันนี้
เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งที่มากกว่าเดิมในอนาคต
3️⃣ บริหารจัดการการเงิน
ในแบบที่คุณจะหลับสนิทได้ทั้งคืน
4️⃣ สิ่งที่มีพลังมากที่สุดคือเวลา
หากอยากเป็นนักลงทุนที่ดี
สิ่งเดียวที่ทำได้คือเพิ่มระยะเวลาการลงทุน
บทที่ 20: คำสารภาพ
50% ของผู้จัดการกองทุนสหรัฐ
ไม่ได้ลงทุนในกองทุนที่พวกเขาบริหาร
นี่คือความต่างระหว่าง...
สิ่งที่ใครบางคนแนะนำเรา
แต่เขาอาจจะไม่ได้ทำแบบที่เขาแนะนำ
และนั่นก็ไม่ได้แย่เสมอไป
เพราะสิ่งนี้หมายถึงคำตอบที่ถูกที่สุด
ไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียวก็เท่านั้น
สิ่งที่ให้ความรู้สึกหรูหราสำหรับบางคน
อาจให้ความรู้สึกอัตคัดสำหรับอีกคนก็ได้
และไม่มีว่าเราจะออมเงินหรือลงทุนอย่างไร
เป้าหมายปลายทางที่ทุกคนต้องการ
อาจซ่อนคำง่ายๆ อย่าง "อิสรภาพ" เอาไว้
ดังนั้น ทุกอย่างที่จะคิดและลงมือทำ
ก็ขอให้ระลึกไว้เสมอว่าเราจะยังได้มาซึ่ง
สิ่งที่เราต้องการไว้แต่แรก
นอกจากนี้ ยังมีบทส่งท้ายที่เรียกได้ว่า
เป็นประวัติศาสตร์ฉบับย่อว่าเพราะอะไร
เราถึงมีพฤติกรรมการใช้เงิน การใช้ชีวิต
และแนวคิดบางอย่างเกิดขึ้นมาได้
เราจึงขอเป็นอีกหนึ่งเสียงที่แนะนำ
ให้เพื่อนๆ ลองอ่านหนังสือเล่มนี้มากๆ
เป็นหนังสือเกี่ยวกับเงิน
ที่ไม่เหมือนเล่มไหนที่เราเคยอ่านมาก่อน
ทั้งยังมีตัวอย่างจากเหตุการณ์จริง
ที่ทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
และยังอ่านสนุกอีกด้วยค่ะ
ตอนนี้ร้านนายอินทร์มีโปรโมชันพอดี
ใครสนใจกดสั่งโล้ด ห่ออย่างดีเลยค่ะ
โฆษณา