23 ก.ย. 2024 เวลา 04:31 • ไอที & แก็ดเจ็ต

รู้จัก Microsoft Power Platform (ปรับปรุง กันยา 2024/2567)

ผู้เขียน: อวยชัย โชติจรัสวาณิช
หากชอบบทความนี้ ช่วยกด Like กด Follow และ กด Share และหากต้องการให้เขียนเรื่องไหน สามารถบอกได้ทางคอมเมนท์หรืออินบ๊อกซ์ ขอบคุณมากครับ
1. Power Platform คืออะไร
ไมโครซอฟท์ หวังให้ Power Platform เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาโซลูชัน (Solution) ทางธุรกิจแบบ No Code/Low Code หรือ จะพูดให้ง่ายกว่านั้น สิ่งที่เมื่อก่อนต้องสร้างโดยผ่านนักพัฒนาซอฟต์เแวร์ ต้องเขียนโปรแกรมเป็นและใช้เวลานานในการพัฒนาแต่ถ้าใช้เครื่องมือใน Power Platform การสร้างสิ่งเหล่านั้นจะง่ายขึ้นและใช้เวลาน้อยลง แต่สิ่งที่สร้างขึ้นมาจะต้องทำงานบน Power Platform เท่านั้น
Power Platform ทำงานแบบคลาวด์ภายใต้ Office 365 และ Microsoft 365 มีบางผลิตภัณฑ์ย่อยที่สามารถติดตั้งและทำงานบนเซิฟเวอร์ของตัวเองได้
2. ผลิตภัณฑ์ย่อยของ Power Platform
Power Platform ประกอบไปด้วย
● Dataverse
● Power Apps
● Power Automate
● Power BI
● Copilot Studio
3. Dataverse
Dataverse จัดเป็นฐานข้อมูลของ Power Platform ผลิตภัณฑ์ทุกตัวใน Power Platform ล้วนอ้างอิงหรือมีการใช้งาน Dataverse ด้วยกันทั้งสิ้น
ผู้ใช้สามารถใช้ Dataverse เป็นแหล่งเก็บข้อมูลของตัวเองได้ด้วยเช่นเดียวกัน ผู้ใช้สามารถสร้างเทเบิล (Table) วิว (View) รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเทเบิลได้เหมือนฐานข้อมูลแบบรีเลชันนอล
4. Power Apps
ความหมายของแอป (App) ใน Power Apps คือ สิ่งที่สามารถปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ ดูได้ กรอกข้อมุลได้ กดปุ่มได้ เป็นต้น Power Apps ก็คือสิ่งที่ใช้สร้างแอปนั้นเอง
Power Apps ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เพียงตัวเดียว แต่มี 3 ตัวย่อย ซึ่งทำงานแยกกัน ได้แก่ Canvas apps, Model-driven apps และ Power Pages
4.1 Canvas apps: จัดเป็นตัวสร้างแอปที่มีลูกเล่นมากที่สุด ปรับแต่งหน้าแอปได้ตามใจชอบ ทำงานได้ทั้งบนเว็บหรือบนมือถือ สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เช่น กล้อง หรือ ไมโครโฟนได้ และยังสามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลได้หลายแบรนด์ เช่น Dataverse, SQL Server, MySQL และ Oracle เป็นต้น
ผู้ใช้แอปที่ถูกสร้างจาก Canvas apps จะต้องมีล๊อกอินของบริษัทเท่านั้นถึงจะสามารถใช้งานได้ คนนอกบริษัทไม่มีสิทธิ์ใช้งาน
เมื่อใดก็ตามที่คนทั่วไปพูดถึง Power Apps โดยไม่ระบุเจาะจงผลิตภัณฑ์ ก็มักจะหมายถึง Canvas apps ตัวนี้
4.2 Model-driven apps: จัดเป็นต้วสร้างแอปที่ใกล้ชิด Dataverse มากที่สุดเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของ Dataverse หน้าตาของแอปมีความเป็นเอกลักษณ์และปรับแต่งได้ไม่มากนัก ฐานข้อมูลที่แอปทำงานด้วยได้มีแค่ Dataverse เท่านั้น
ผู้ใช้แอปที่ถูกสร้างจาก Model-driven apps จะต้องมีล๊อกอินของบริษัทเท่านั้นถึงจะสามารถใช้งานได้ คนนอกบริษัทไม่มีสิทธิ์ใช้งาน
4.3 Power Pages: จัดเป็นตัวสร้างแอปที่ใกล้ชิดผู้คนจำนวนมาก เพราะแอปที่ถูกสร้างขึ้นจะเป็นเว็บที่สามารถเข้าถึงจากที่ใดก็ได้บนโลก ผู้ใช้แอปไม่จำเป็นต้องมีล๊อกอินก็สามารถเข้าถึงได้ และถ้าหน้าหนึ่งหน้าใดของแอปต้องการล๊อกอินเพื่อเข้าถึงข้อมูล ล๊อกอินที่ใช้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นล๊อกอินบริษัท อาจเป็นล๊อกอินโซเชียลทั่วไปก็สามารถใช้ได้ เช่น Microsoft, Google หรือ แม้กระทั่ง Facebook เป็นต้น
แอปที่สร้างจาก Power Pages จะทำงานกับข้อมูลที่อยู่บน Dataverse เท่านั้น ไม่สามารถทำงานกับฐานข้อมูลแบรนด์อื่นได้
4.4 เปรียบเทียบความสามารถ
ภาพข้างล่างเป็นการเปรียบเทียบความสามารถของทั้ง 3 ตัว ส่วนตัวคิดว่า Canvas apps เหมาะสำหรับคนในบริษัทที่ทำงานภาคสนาม Model-driven apps เหมาะสำหรับคนในบริษัทที่ทำงานกับข้อมูลโดยตรง Power Pages เหมาะสำหรับคนนอกบริษัทหรือผู้ใช้งานทั่วไป
4.5 ตัวอย่างการใช้งาน
สมมติบริษัททำกิจการเกี่ยวกับซุปเปอร์มาร์เก็ตและใช้ Dataverse ในการเก็บข้อมูล เมื่อถึงวันที่ต้องตรวจสินค้า พนักงานจะนำมือถือที่มีแอปที่สร้างจาก Power Apps ไปด้วยเพื่อกรอกจำนวนสินค้าที่เหลืออยู่และถ่ายรูปเป็นหลักฐาน
ถ้าพนักงานตรวจสินค้าพบความผิดปกติบางอย่างและไม่สามารถทำการแก้ไขข้อมูลผ่านแอปในมือถือของตัวเองได้เพราะไม่มีสิทธิ์หรือแอปไม่รองรับ ก็อาจแจ้งไปยังพนักงานที่ดูแลข้อมูล เพื่อใช้แอปที่สร้างจาก Model-driven apps แก้ไขข้อมูลได้โดยตรง
จากนั้นยอดสินค้าคงเหลือที่ถูกต้องจะถูกนำเสนอผ่านแอปที่สร้างจาก Power Page เพื่อแสดงให้ผู้ซื้อเห็นว่าสินค้าเหลืออยู่เท่าไร
5. Power Automate
Power Automate ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้สามารถสร้างงานที่ทำงานแบบอัตโนมัติ หรือ RPA (Robotic Process Automation) ผลผลิตที่ได้จาก Power Automate จะถูกเรียกว่าโฟลว (Flow)
Power Automate จะมีด้วยกัน 2 ส่วน ซึ่งจะใช้แยกกันหรือรวมกันก็ได้
5.1 Cloud Flow
มันคือโฟลวที่ทำงานบนคลาวด์ ทำหน้าที่เชื่อมประสานและสั่งงานผ่านแอปตัวอื่นพร้อมทั้งลำดับงานที่ต้องทำก่อนหลัง โฟลวจะทำงานเมื่อมีการกระตุ้นหรือ Trigger โดยตัวกระตุ้นจะมี 3 แบบ
● เวลา เช่น โฟลวทำงานเมื่อถึงเวลาตี 2
● มีคำสั่งจากคน(รอคนกดปุ่มให้ทำงาน) เช่น โฟลวทำงานเมื่อมีคนกดปุ่มจากแอปที่สร้างจาก Canvas apps
● เหตุการณ์ เช่น โฟลวทำงานเมื่อมีใครสักคนลบข้อมูลในเทเบิ้ลที่ระบุไว้
5.2 Desktop Flow
โฟลวประเภทนี้ทำงานอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ มีความสามารถในการสั่งงานคอมพิวเตอร์เหมือนที่ผู้ใช้คนหนึ่งทำงานบนหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น อ่านเขียนไฟล์ เปิดปิดโปรแกรม ควบคุมเมาส์และคีย์บอร์ดได้ เป็นต้น โฟลวจะทำงานเมื่อมีการกระตุ้นหรือ Trigger โดยตัวกระตุ้นจะมีเพียงสองแบบเดียวคือ การมีคำสั่งจากคน(รอคนกดปุ่มให้ทำงาน) หรือ การมีคำสั่งจากโฟลวที่สร้างจาก Cloud Flow
5.3 ตัวอย่างการใช้งาน
ในทุกๆตี 5 ของทุกวัน โฟลวจาก Cloud Flow จะทำการเช็คยอดสินค้าในฐานข้อมูล ถ้าพบว่ายอดสินค้ามีค่าน้อยกว่าที่กำหนดจะทำการสั่งของทันที
สินค้าบางตัวต้องสั่งผ่านเว็บเท่านั้น โฟลวจาก Cloud Flow จึงสั่งให้โฟลวจากDesktop Flow ทำงานเพื่อทำการเปิดหน้าเว็บสั่งของ กรอกรายละเอียดและกดปุ่มสั่งของจนเรียบร้อย
6. Power BI
Power BI คือ เครื่องมือในการนำเสนอข้อมูลให้ผู้อ่านข้อมูลเข้าใจข้อมูลได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะนำมาซึ่งการวิเคราะห์ที่ดีขึ้นด้วย Power BI อาจแบ่งได้เป็น 3 ตัวหลัก
● Power BI Service: เป็นการนำเอาข้อมูลมาประมวลผล จัดทำรายงานและนำเสนอผ่านหน้าเว็บที่จัดเตรียมไว้ให้ และทุกอย่างเกิดขึ้นบนคลาวด์
● Power BI Embedded: เป็นการนำเอาข้อมูลมาประมวลผล จัดทำรายงานบนคลาวด์ แต่ไม่ได้จัดเตรียมส่วนนำเสนอรายงานให้ ผู้ใช้ต้องสร้างแอปแล้ววางรายงานบนแอปของตัวเองอีกทีหนึ่ง
● Power BI Report Server: เป็นตัวที่ผู้ใช้ต้องนำมาติดตั้งบนเซิฟเวอร์ของตัวเอง การประมวลผล จัดทำรายงานและนำเสนอ ล้วนทำงานบนเซิฟเวอร์ที่ได้ทำการติดตั้งนั้น
Power BI นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของ Power Platform แล้วยังเป็นส่วนหนึ่งของ Microsoft Fabric อีกด้วย
7. Copilot Studio
ปกติแล้ว สิ่งที่สามารถใช้คุยตอบโต้กับผู้ใช้ได้แบบอัตโนมัติจะถูกเรียกว่า Chatbot แต่ไมโครซอฟท์จะเรียกสิ่งนี้ว่า Copilot ด้วยเหตุนี้ Copilot Studio จึงหมายถึงเครื่องมือที่ใช้สร้าง Chatbot ของตัวเอง
Copilot Studio มี 2 องค์ประกอบหลักผสมกัน
● Power Virtual Agent: เป็นส่วนหลักที่ใช้สร้าง Chatbot สามารถเชื่อมต่อข้อมูลผ่าน Power Automate Cloud Flow ทำให้สามารถอ้างอิงข้อมูลจากหลายแหล่งได้ Chatbot ที่ได้จากองค์ประกอบนี้ ค่อนข้างทื่อ ผู้ใช้ต้องถามให้ตรงคำถาม มิเช่นนั้น Chatbot จะไม่เข้าใจ และคำตอบที่ได้จะต้องเขียนขึ้นโดยผู้สร้าง Chatbot นั้น และจะตอบแบบนั้นไม่บิดพลิ้ว ทำให้ขาดความเป็นมนุษย์ไป
● Text Generative AI: เป็นส่วนเสริมที่ใส่เข้ามาเพิ่มเพื่อให้ Chatbot มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น สามารถใช้แหล่งข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตหรือจากภายในบริษัทเพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงของคำตอบ และการถามตอบยังมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นอีกด้วย
Copilot Studio จัดเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Copilot ด้วย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา