27 ก.ย. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สาวโรงงาน ความฝัน และวันเกษียณ

“สาวโรงงาน” เป็นคำเรียกขานของผู้หญิงที่เลือกออกมาทำงานในภาคอุตสาหกรรมในเมืองใหญ่ แทนที่จะเลือกทำเกษตรในชนบทบ้านเกิด เหตุผลเบื้องหลังของการตัดสินใจทิ้งภูมิลำเนามาทำงานในที่ห่างไกลครอบครัวของคนกลุ่มนี้คือ “ความยากจน”
ในปัจจุบัน คนที่ทำงานในโรงงานมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต แต่ก็คงยากที่จะบอกว่าคนกลุ่มนี้กลายเป็นคนร่ำรวย เพราะส่วนใหญ่ยังมีทรัพยากรที่จำกัดเมื่อเทียบกับภาระที่ต้องรับผิดชอบดูแล บ่อยครั้งจึงต้องอยู่ในสถานการณ์หมุนเงินเดือนต่อเดือน ชักหน้าไม่ถึงหลัง และจำนวนไม่น้อยต้องจำยอมเป็นหนี้
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ความสุขและความฝันชิ้นใหญ่ที่ได้มาจากการจับจ่ายจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ต้องพูดถึงการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนโรงงานหลายคนไม่อาจจินตนาการถึง ... กระนั้น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หากมีการวางแผนและจัดการที่ดี
นับตั้งแต่ 2562 เป็นต้นมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ริเริ่มโครงการ Fin.ดี Happy Life!!! เพื่อเข้าไปช่วยปรับพฤติกรรมและสร้างทักษะทางการเงินให้แก่กลุ่มคนวัยทำงาน โดย “สาวโรงงาน” เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ ธปท. เข้าไปช่วยดำเนินการฝึกอบรม ถึงตอนนี้ ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมก็เริ่มผลิดอกและออกผลแล้ว
พระสยาม BOT MAGAZINE ฉบับนี้จึงอยากชวนคุณผู้อ่านไปสำรวจเรื่องราวความสำเร็จของ “สาวโรงงาน” ที่ความรู้ทางการเงินเข้ามามีส่วนช่วยให้ความฝันและแผนชีวิตหลังเกษียณเป็นไปได้จริง
กระปุกเติมฝัน
คุณปรีดา พิมพ์นวล หัวหน้างานแผนกซาร์ดีน บริษัท ทรอปิคอล แคนนิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ Fin.ดี Happy Life!!! เล่าถึงประสบการณ์สำคัญหลังจากการอบรมความรู้ทางการเงินด้วยสำเนียงทองแดงปนน้ำเสียงตื่นเต้น
“ทำงานที่นี่มา 38 ปี ทำตั้งแต่อายุ 18 เริ่มจากการเป็นพนักงาน ทำงานไปสักพักผู้จัดการเห็นทำงานดี เขาเลยตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่าย ตั้งแต่ทำงานมาเราก็เป็นเสาหลักของครอบครัว ส่งเงินให้พ่อ แม่ พี่ รวมถึงส่งน้องเรียนด้วย ก่อนหน้านี้ เราก็หา–หมด หา–หมด ทำงานไม่เคยมีเงินเก็บ แต่ไม่เคยยืมเงินใคร ไม่ติดหนี้ใคร ต่อให้ใช้เงินจนหมดก็ตาม”
จากเดิมที่ทำงานเท่าไหร่ก็ไม่มีเก็บสักที แต่เมื่อได้เข้าร่วมการอบรมที่ทาง ธปท. จัดขึ้น ชีวิตของคุณปรีดาก็เปลี่ยนไป
“ได้มาพบกับโครงการอบรมนี้ เขาสอนให้เก็บออม เพราะอายุมากแล้ว ต้องเหลือไว้บ้าง อย่างน้อย 400-500 บาท หรือเดือนหนึ่ง ๆ ก็ 1,000 บาท เราก็เริ่มทำไปเรื่อย ๆ จนน้องก็เรียนจบ พ่อเสีย ตอนนี้มีแม่อยู่คนหนึ่งที่ต้องส่งเสีย อันที่จริงแกก็ไม่ค่อยสบาย ค่าใช้จ่ายก็มีซื้อแพมเพิส ค่าอาหาร แต่พอรู้จักกระปุกของแบงก์ชาติ ตอนนี้ก็มีเหลือเก็บ”
“ตั้งแต่ได้อบรมการเงิน ชีวิตเราโอเคมาก ทำมาหมดแล้ว อยากทาสีบ้าน ก็เก็บตังค์ใส่กระปุก อยากได้โทรทัศน์ ก็เก็บตังค์ใส่กระปุก ซื้อโทรทัศน์เสร็จก็เปลี่ยนหลังคา ตอนนี้ได้ทำหมดทุกอย่างที่อยากทำ ... เราเองก็มีลูกน้อง พวกเขาบ่นว่าตังค์ไม่พอจ่าย เราก็สอนทุกคนว่าอย่าจ่ายเยอะ เพราะว่าตอนนี้ตังค์หายาก งานก็หายาก ให้เก็บออมไว้บ้าง เวลาเราไม่สบายไม่มีเงินค่าใช้จ่ายมันเยอะ มีงานก็ต้องขยันทำ”
เมื่อผ่านการอบรมและสามารถบริหารจัดการการเงินของตนเองได้แล้ว คุณปรีดาก็มีความห่วงใยคนรุ่นใหม่ จึงบอกกับเราว่า
“ในอนาคตก็อยากให้แบงก์ชาติมาสอนให้คนอื่นบ้าง เพราะคนรุ่นพี่ไม่เป็นอะไรแล้ว เอาตัวรอดได้ มาสอนน้อง ๆ ที่เป็นวัยรุ่นให้มีความรู้เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ บ้าง คนแก่แบบพี่ ไม่เป็นไรแล้ว (หัวเราะ)”
ส่วนคำถามที่ว่า อยากมีชีวิตแบบไหนหลังพ้นผ่านวัยเกษียณ คุณปรีดาได้ตอบกลับด้วยคำตอบสุดเรียบง่ายว่า
“หลังเกษียณก็น่าจะไปตัดยาง ... ตัดยางบ้าง ปลูกผักบ้าง ผักสวนครัว ไม่ต้องซื้อ เก็บเอาหลังบ้าน ว่างก็อยากไปวัด ชอบทำบุญ” คุณปรีดาเล่าไปยิ้มไป
การเงิน ยิ่งรู้ ยิ่งดี
“เมื่อก่อนพี่ชอบซื้อหวยค่ะ (หัวเราะ)”
คุณปาณิสรา เหล่าแก้ว เจ้าหน้าที่บริหารงานขาย บริษัท ทรอปิคอล แคนนิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการบอกเล่าประสบการณ์ของเธอให้เราฟัง
“ปีนี้พี่อายุ 50 แล้ว ทำงานที่นี่มาตั้งแต่อายุ 23 เกินครึ่งหนึ่งของชีวิต เราโชคดีที่งานของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดเท่าใดนัก เพราะมีออร์เดอร์เข้ามาเรื่อย ๆ บวกกับมาตรการของบริษัทเราให้เน้นห่อข้าวมากินตอนเที่ยง ลดการออกนอกพื้นที่ ทำให้ช่วยประหยัดได้มาก พอมีโครงการอบรมของแบงก์ชาติที่มาให้ความรู้ด้านการเงิน ถึงพี่จะไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินมากนัก แต่พี่ก็สนใจ เพราะชอบที่จะเพิ่มความรู้ให้กับตัวเอง จะได้นำไปใช้กับชีวิตประจำวันค่ะ
แม้คุณปาณิสราจะไม่ได้เผชิญกับปัญหาทางการเงิน แต่ก็คิดว่าความรู้ทางการเงินเป็นสิ่งที่จะช่วยพัฒนาชีวิต เมื่อเข้ามาอบรมแล้วก็ทำให้ชีวิตด้านการเงินดีขึ้น
“การเข้าอบรมมีส่วนช่วยให้เราเข้าใจเรื่องการเงินมากขึ้น เช่น แต่ก่อนพี่อยากกินอะไรก็กินเลย อยากซื้ออะไรก็ซื้อเลยเพราะว่าเป็นคนชอบซื้อเสื้อผ้า และชอบซื้อลอตเตอรี พอเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมก็เริ่มเห็นผลลัพธ์ จากเดิมที่เรามีเงินแค่พอจ่าย เราก็มีเงินเก็บมากขึ้น
“สารภาพว่ายังมีซื้อลอตเตอรีติดมืออยู่บ้าง แต่ลดลงเยอะนะ ตอนนี้ซื้องวดละ 1-2 ใบ เอาไว้ลุ้นสนุก ๆ มากกว่า”
ออมวันละนิด เพื่อพิชิตเป้าหมายใหญ่
กว่า 26 ปีในโรงงานและสายพานการผลิตของทรอปิคอล แคนนิ่ง คุณผิวพรรณ หนูนิล ชาวหาดใหญ่ ซึ่งเป็นหัวหน้างานแผนกทูน่า คืออีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จในการบริหารจัดการทางการเงิน
“ค่าใช้จ่ายต่อเดือนทุกวันนี้ก็ไม่เยอะมาก ประมาณ 3,000-4,000 บาท เรามีมอเตอร์ไซค์ 1 คัน ไม่มีค่าผ่อน จริง ๆ เราเป็นคนกินน้อยใช้น้อย แต่ก็เก็บเงินไม่เป็น ก่อนแบงก์ชาติจะเข้ามาอบรม เรามีเงินเท่าไหร่ก็ให้พ่อแม่หมด แต่พอได้กระปุกและวิธีจัดการทางการเงิน ก็เริ่มเก็บเงินได้ จาก 5,000 เป็น 6,000 เป็น 10,000 บาท เขาสอนเก็บเหรียญเหลือไป เหมือนวันที่เราจ่าย 100 ไม่หมด ก็เอาไปใส่เก็บไว้เลย บางวันน้อย บางวันเยอะ สลับกันไป เราก็เก็บจนซื้อบ้าน ซื้อที่ดินได้”
“บางคนพอรู้ว่าเรามีเงินเหลือก็ถามว่าทำไมไม่ออกรถยนต์ แต่พี่มองว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ เพราะไม่ได้ไปไหน มีแค่มอเตอร์ไซค์ก็อยู่ได้ เราเองก็ไม่รู้ว่าเราจะอยู่โรงงานนี้ได้นานแค่ไหน ถ้าเราเอาภาระให้กับตัวเอง ก็กลัวจะเป็นปัญหา ตัวเองไม่มีครอบครัว ก็พยายามเก็บเบี้ยให้ได้มากที่สุด ถ้าอยากได้อะไร ก็ซื้อบ้าง ถ้ามีเงินเก็บเยอะ เกษียณแล้วคงกลับไปปลูกผัก ตัดยาง คือพ่อแม่เราทำอยู่แล้ว เราก็ไปสานต่อ ไม่ได้ลงทุนอะไรมากมาย”
“อยากให้มีอบรมบ่อย ๆ เลย ปีละครั้งสองครั้ง อยากให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ ได้เข้ามาอบรมบ้าง ที่ผ่านมาพี่เก็บเงินสร้างบ้านให้น้อง สร้างให้แม่ เหลือของตัวเอง ตอนนี้เลยเก็บเงินเพราะในใจอยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองสักหนึ่งหลัง”
จะเห็นได้ว่าบทบาทหน้าที่ในครอบครัวของทุกคนล้วนแตกต่างกันออกไป ทั้งภาระ หน้าที่ และความจำเป็นด้านต่าง ๆ รวมถึงเรื่องการเงิน แต่หากไม่บริหารจัดการการเงินอย่างเข้าใจ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาทางการเงินที่ไม่สิ้นสุด ธปท. จึงให้ความสำคัญอย่างมากในการยกระดับให้ประชาชนมีทักษะทางการเงินและสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสม
“ในช่วงแรกของโครงการ การเข้าหาองค์กรต่าง ๆ ค่อนข้างยาก แต่หลังจากที่เกิดวิกฤตโควิด ผนวกกับโครงการเราเริ่มไปแล้วระยะหนึ่ง หลายบริษัทเขาก็เห็นความสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงิน ก็ได้เชิญให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปอบรมให้ความรู้”
คุณประภัทร พูนสิน ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ กล่าวอย่างอารมณ์ดี เมื่อพูดถึงการทำโครงการที่ช่วยยกระดับให้ประชาชนมีทักษะทางการเงิน
“การอบรมมีเป้าหมาย 3 ข้อ คือ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ทางการเงิน ปรับพฤติกรรมทางการเงิน และมีทัศนคติ หัวข้อแรกจะเปิดด้วยเรื่อง ‘การวางแผนทางการเงิน’ เพื่อให้มีการตั้งเป้าหมายทางการเงิน เรื่องที่สองคือ ‘การบริหารจัดการหนี้’ เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และถ้าเขามีหนี้แล้วควรจะบริหารจัดการหนี้อย่างไร มีช่องทางไหนบ้างที่จะช่วยเหลือได้ ส่วนเรื่องสุดท้ายก็เป็นเรื่อง ‘ภัยการเงิน’ เพราะตอนนี้ คนไทยถูกหลอกเยอะ หากเราสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนได้ ปัญหาเหล่านี้ก็จะลดลง”
หากท่านใดที่สนใจเพิ่มพูนความรู้และทักษะทางการเงิน แต่ไม่รู้จะหาความรู้ได้จากไหน ธปท. ได้สร้างเพจดี ๆ เพื่อนซี้เรื่องเงินไว้ให้กับทุกท่านแล้ว สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก “สตางค์ Story”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา