Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
2 ต.ค. เวลา 11:00 • การเกษตร
เรื่องเล่ากลางทะเลสาบสงขลา : ปลากะพงสามน้ำ กับชีวิตชาวประมงเกาะยอ
“พื้นดินเราน้อย เราเลยต้องหากินกับน้ำ” เสียงดังฟังชัดของประธานวิสาหกิจชุมชนรักเกาะยอที่เล่าให้ฟังเกี่ยวกับปัญหาของพื้นที่และวิถีทำกินของชาวประมงเกาะยอ
ปลากะพง วัตถุดิบขึ้นชื่อและได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI หรือสินค้าตามแหล่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพราะนอกจากจะขึ้นชื่อในแง่ของรสชาติ เนื้อแน่น นุ่มลิ้น ไม่มีกลิ่นคาวแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็น “ปลากะพงสามน้ำ” เพราะถูกเลี้ยงในทะเลสาบสงขลา แหล่งบรรจบของน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่ต้องการและกลายเป็นวัตถุดิบที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
วารสารพระสยาม BOT MAGAZINE ขอพาท่านผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักเกาะยอ กลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพงสามน้ำ จ.สงขลา ที่จะมาบอกเล่าถึงความเป็นมา ปัญหา และทางออกที่ตอบโจทย์ของพวกเขา ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับภาคธุรกิจ (Business Liaison Program) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “BLP” เพื่อรับฟังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และนำข้อมูลมาใช้ประเมินภาวะเศรษฐกิจ และออกแบบมาตรการให้ตอบโจทย์และตรงจุด
ขณะที่เรากำลังพูดคุยกับสมาชิกของวิสาหกิจอยู่นั้น ก็มีลูกค้าประจำและลูกค้าขาจรหลายราย ทั้งคนในพื้นที่และคนที่ข้ามมาจากตัวเมืองเข้ามาสั่งปลาถึงหน้ากระชัง อีกทั้งยังมีพ่อค้าคนกลางที่มารับปลาจำนวนมากเพื่อนำไปขายต่อ ภาพที่เห็นนี้คือ วิถีทำกินที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงเกาะยอ
ทีม BLP ธปท. ลงพื้นที่พูดคุยกับประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักเกาะยอ
เริ่มต้นจากวิกฤต พลิกกลับเป็นโอกาส
คุณจีรวัฒน์ ชุตินธร ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักเกาะยอ ผู้ดูแลสมาชิกกว่า 35 ราย และปลากะพงกว่า 450 กระชัง ผู้ทำหน้าที่ตั้งแต่เลี้ยงปลากะพง ไปจนถึงทำการตลาดเพื่อกระจายสินค้าและหารายได้เข้าวิสาหกิจฯ เล่าถึงจุดเริ่มต้นให้เราฟังว่า
“ก่อนมาทำวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักเกาะยอ พี่เป็นชาวประมงมาตั้งแต่ปี 2545 ชีวิตดั้งเดิมพ่อแม่พี่น้องก็ทำประมงกันหมด บวกกับเราเป็นคนเกาะยอ พื้นดินเราน้อย ที่ดินเพาะปลูกมันก็น้อย เราเลยต้องหากินกับน้ำ ต้องอาศัยทะเลเป็นที่ทำมาหากิน”
การเลี้ยงปลาในกระชังปลาของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักเกาะยอ
“การรวมกลุ่มเกิดขึ้นมาราว 3 ปีแล้ว ตั้งแต่มีโควิด ตอนนั้นเราขายปลาไม่ได้กันทั้งเกาะ ปลาน็อกตายไป 3-4 ตัน เลยไปขอความช่วยเหลือจากศูนย์ดํารงธรรมให้ช่วยระบายปลาให้ ฝั่งกรมการค้าภายในก็เข้ามาช่วยระบายออก และชดเชยส่วนต่าง จากนั้นกรมประมงก็บอกว่าให้เราเกาะกลุ่มกัน จึงกลายมาเป็นที่มาของกลุ่มนี้”
ที่สำคัญปัจจุบันวิสาหกิจนี้เข้มแข็งขึ้นมาก สามารถสร้างรายได้จากปลากะพงได้ทุกวัน
“ตอนนี้สินค้าเราขายได้ทั้งปี เพราะเราตั้งคอนเซปต์ไว้ว่าไม่มีวันหยุด ผู้ประกอบการร้านค้า ลูกค้าของเราเปิดร้านกันตลอด และมาซื้อปลาทุกวัน เราก็ขายได้เรื่อย ๆ อีกอย่างเราก็ไม่ได้ใช้พ่อค้าคนกลาง เราเป็นผู้กำหนดราคาเอง โดยคำนวณจากต้นทุนการผลิต ส่วนสินค้านอกจากเนื้อปลา สินค้าแปรรูป ตอนนี้เราก็จะมีแบบแช่เย็นแช่แข็ง แล้วก็พวกสินค้า by-product ทำน้ำซุปชาบู"
จากกระชังปลากะพง สู่รายได้ที่มั่นคงของชุมชน
บริเวณท่าเทียบเรือ คุณทินกร ปลอดทอง หัวหน้าพรานทะเล และคุณวิโชค สนิทมัจโร พรานทะเล กำลังนั่งเรือกลับเข้าฝั่ง หลังจากออกไปอนุบาลปลากะพงใหญ่ที่กระชังกลางทะเลสาบ ทั้งคู่เป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักเกาะยอที่ทำหน้าที่สลับกันระหว่างอยู่บนฝั่งเพื่อทำปลาตามที่ลูกค้าสั่ง กับออกทะเลเพื่ออนุบาลปลาและจับปลา
“อยู่ในกลุ่มตั้งแต่ต้นเลย เข้าปีที่ 3 แล้ว เมื่อก่อนก็หากินในทะเล ชีวิตก็ไม่แน่นอน รายได้แล้วแต่วันว่าจะได้ปลาอะไร ทุกวันนี้ชีวิตดีขึ้นมาก พอเข้ามารวมกลุ่ม ตื่นเช้ามาทำงาน มา 6 โมง กลับทุ่มนึง รายได้ชัดเจน กลายเป็นงานประจำ ตอนนี้ลูกค้าก็เยอะ ส่งร้านอาหาร” คุณทินกรเล่าถึงชีวิตที่เปลี่ยนไปให้ฟัง
ฝั่งคุณวิโชค ที่วันนี้สลับบทบาทกับคุณทินกร (หรือน้ากรของเหล่าพรานทะเล) เล่าว่าตนเป็นสมาชิกกลุ่มมากว่า 3 ปีแล้วเช่นกัน ก่อนหน้านี้เคยดักด้วยไซนั่ง (เครื่องมือหาปลาชนิดหนึ่ง) พอเข้ามารวมกลุ่มรายได้ก็ดีขึ้น
“ปกติตื่นเช้า นอนขนำ (กระท่อม) ผลัดเวรกันกับน้ากรคนละสองคืน ถ้ามีเหยื่อ (อาหารปลา) ก็ให้เหยื่อ แล้วกลับเข้ามาทําปลาตามออร์เดอร์ร้านอาหาร เราก็จะจับปลามาพักไว้แล้วทำขายไปเรื่อย ๆ พอหมดก็ไปจับใหม่”
“ออร์เดอร์ลูกค้าที่เข้ามา เขาจะบอกว่าอยากได้แบบไหน แกงส้ม ต้มยํา สเต๊ก สั่งมา ทำให้ได้หมด ลูกค้าเขาเอาไปทำต่อก็ง่าย โดยจะใช้ปลาใหญ่เป็นหลักคือตัวละประมาณ 5-6 โล ชิ้นเนื้อมันจะได้หนา ๆ”
“จุดเด่นของเราคือ เป็นปลากะพงสามน้ำ เราเลี้ยงกระชังที่เดี๋ยวน้ำขึ้น น้ำลง เดี๋ยวน้ำจืดเยอะ น้ำเค็มเยอะ น้ำกร่อยเยอะ มันจะไม่เหมือนปลาบ่อ เพราะปลาบ่อคือเขาจะคุมสภาพน้ำแบบเดิม ปลาเราแตกต่างและรสชาติจะดี เนื้อหวานไม่มีกลิ่นคาว”
พรานทะเลอย่างคุณทินกรและคุณวิโชค ต่างก็ยอมรับว่าการรวมกลุ่มของวิสาหกิจชุมชนนั้นทำให้ทิศทางและอนาคตชัดเจน ไม่เพียงแต่รายได้ที่แน่นอน แต่ยังมีแนวทางใหม่ ๆ ให้ลองบุกเบิก
“ในฐานะสมาชิก หลังจากที่มีการรวมกลุ่ม ผมว่าดีมากเลย คือมีรายได้ประจํา แล้วก็เป็นอาชีพที่แน่นอน เพราะถ้าเราดักไซนั่งเหมือนแต่ก่อน บางวันก็ได้เยอะ บางวันก็ได้น้อย ปนเปกันไป แต่นี่คือมันอยู่ตัว”
“ตั้งแต่รวมกลุ่มกันมา เราก็เห็นอนาคตที่ดีขึ้น ผมว่ามันก็ไปในแนวทางที่ดีเพราะว่าตอนนี้ก็มีเชฟมาสอน แล้วก็เริ่มจะไปไกลแบบแช่เย็นแช่ฟรีซแล้ว จากที่แต่ก่อนเราทำปลาตามงานเลี้ยง ส่งงานศพ งานบวช งานแต่ง ตอนนี้มันเริ่มไต่ระดับไปอีกแบบหนึ่ง”
ต่อยอดสินค้าท้องถิ่น ให้คนท้องที่ภูมิใจ
นอกจากการพูดคุยกับวิสาหกิจชุมชนรักเกาะยอแล้ว ทางทีม BLP ของ ธปท. ยังได้พูดคุยกับคุณมนัญญา วิเศษสินธุ์ นักวิชาการประมง สำนักงานประมง จ.สงขลา ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสนับสนุนหลักของวิสาหกิจนี้
“จุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มปลากะพงเกาะยอมาจากโจทย์ที่ว่า ปลากะพงล้นตลาด เราเลยต้องมาช่วยชาวประมงเพื่อระบายปลากะพง กรมประมงได้เข้าไปสอนอาชีพ เช่น การแล่ปลาสำหรับแช่แข็ง วิธีการรีดเลือดปลา แล้วก็วิธีการแปรรูปปลากะพงเพื่อจําหน่ายออกนอกพื้นที่ เพราะว่าช่วงนั้นปลากะพงมันล้นตลาด ต้องใช้วิธีแปรรูปให้กับเกษตรกร”
“จริง ๆ ไม่ได้มีแค่วิธีแปรรูป แต่เราพาไปหาตลาดด้วย พาไปจําหน่ายตามงานต่าง ๆ ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นที่น่าพอใจ หลังจากที่ได้กระจายสินค้าออกไปสู่ตลาด ต่างจังหวัดก็รู้จักปลากะพงสามน้ำของสงขลาเยอะขึ้น”
นอกจากความเป็นมาในอดีต คุณมนัญญายังเล่าถึงแผนการในอนาคตที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเตรียมผลักดันร่วมกัน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าในฐานะของดีที่ชาวสงขลาภาคภูมิใจ
“ตรงนี้ก็จะมีโครงการสร้างอาคาร งบประมาณ 100,000 บาท แล้วก็เข้ามาช่วยเกี่ยวกับสินค้า by-product การทําน้ำซุป ทางเราก็จะเข้ามาดูแลพร้อมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ภายในจังหวัดสงขลา เพื่อพัฒนาสินค้าและคุณภาพให้ได้มาตรฐาน และในอนาคตก็จะพยายามผลักดันให้เป็นสินค้า GI ที่จะส่งออกไปทั่วประเทศให้รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เพราะปลากะพงของที่นี่อร่อยจริง ๆ อยากให้ได้ทานกันทุกคน” นักวิชาการประมงทิ้งท้าย
การรับฟังแนวโน้มธุรกิจและมุมมองของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างในกรณีของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักเกาะยอนี้ เป็นกระบวนการทำงานสำคัญที่ ธปท. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ออกแบบนโยบายและมาตรการที่ตรงกับความต้องการของแต่ละกลุ่ม และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพี่น้องชาวไทยในทุกพื้นที่
ธุรกิจ
เศรษฐกิจ
การลงทุน
บันทึก
9
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
บทความใหม่
9
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย